Skip to main content
sharethis

คุยยาวๆ กับซีแลน ปาเลย์ ศิลปินชาวสิงคโปร์ผู้แสดงงานศิลปะด้วยกระจก หนังสือและป้ายผ้าด้วยตัวคนเดียวแล้วถูกตำรวจจับกุม ใช้เวลาขึ้นศาล 1 ปีด้วยข้อหาชุมนุมผิดกฎหมายก่อนติดคุกอีก 2 สัปดาห์ กระจกของเขาสะท้อนอะไรจากสังคมที่คนนอกมองว่าเจริญและเป็นระเบียบ โดยเฉพาะกับภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ที่รัฐบาลอำนาจนิยมนั่งเก้าอี้เต็มไปหมด

"มนุษย์ที่มีจิตใจเสรีจะถูกจำกัดด้วยพื้นที่บังคับของรัฐหรือไม่ และในทางเดียวกัน ผลงานศิลปะที่เสรีจะถูกจำกัดด้วยพื้นที่บังคับของรัฐหรือไม่" "พวกคุณรู้คำตอบของทั้ง 2 สิ่งนี้ไหม? เดี๋ยวผมจะโชว์ให้ดู"

เป็นคำถามที่ซีแลน ปาเลย์ ศิลปินและนักกิจกรรมชาวสิงคโปร์ถามกับ “กระจก” หนึ่งในวัตถุแสดงงานศิลปะชื่อ “32 ปี: การสอบสวนของกระจกบานหนึ่ง” ที่แสดงเมื่อบ่ายวันที่ 1 ต.ค. 2560 ที่ “มุมนักพูด (Speaker Corner)” ในสวนสาธารณะหงลิ้ม จุดที่รัฐบาลสิงคโปร์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความเข้มงวดอนุญาตให้เป็นพื้นที่ในการแสดงออก

สิ้นสุดคำถาม เขาเดินออกจากมุมนักพูด แล้วเดินไปยังหอศิลป์แห่งชาติ ซึ่งในอดีตเป็นอาคารศาลฎีกา เพื่อวาดภาพเงาสะท้อนของหอศิลป์ในกระจก จากนั้นเดินไปยังอาคารรัฐสภาซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามของถนน วาดเงาสะท้อนของรัฐสภาในกระจกแล้วยืนอยู่หน้ารัฐสภาจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาสอบถาม จบด้วยตำรวจจับกุมซีแลนหลังจากโน้มน้าวให้เขาออกจากพื้นที่ไม่สำเร็จ

หลังเรื่องเข้ากระบวนการยุติธรรมเป็นเวลาหนึ่งปีกว่า ศาลตัดสินให้ซีแลนมีความผิดตาม พ.ร.บ. ระเบียบสาธารณะ ฐานจัดการรวมตัวสมาคมอย่างผิดกฎหมาย โดยทำการแสดงงานศิลปะโดยไตร่ตรองมาก่อน เพื่อรำลึกถึง เชียะไทปอ (Chia Thye Poh) อดีตสมาชิกรัฐสภาและผู้นำพรรคแนวร่วมสังคมนิยม (Barisan Sosialis) อดีตนักโทษการเมืองชาวสิงคโปร์ที่ถูกควบคุมตัว 32 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2509 - 2533 โดยใช้กฎหมายความมั่นคงภายในควบคุมตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหา

การแสดงผลงานศิลปะของซีแลน ปาเลย์ ก่อนถูกตำรวจจับกุม (ที่มา: The Online Citizen)

ศาลตัดสินปรับซีแลนเป็นเงินจำนวน 2,500 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 59,000 บาท) เขาปฏิเสธไม่จ่ายเงินประกันตัว ทำให้ถูกจำคุกเป็นเวลาสองสัปดาห์แทน

สิงคโปร์เป็นที่รู้จักในฐานะประเทศที่ประสบความสำเร็จหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ แม้รัฐธรรมนูญสิงคโปร์จะประกันไว้ซึ่งเสรีภาพในการพูดและการแสดงออกเอาไว้ แต่การจับกุมคนที่คิดต่างกลับมีมากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเหมือนกับว่าพื้นที่แสดงออกทางสาธารณะของประชาชนกลายเป็นเครื่องบัตรพลีเซ่นสังเวยความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ

ประชาไทคุยกับซีแลนในช่วงต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา หลังจากเขาออกจากเรือนจำชางยีมาแล้วสองสัปดาห์เพื่อถอดรหัสแนวคิดการพูดถึงเสรีภาพในการแสดงออกผ่านงานศิลปะในแบบของเขา การจัดการคนเห็นต่างในสิงคโปร์ที่หลายคนอาจรู้แต่ไม่เห็นภาพ ท้ายที่สุดแล้ว กระจกของซีแลนสะท้อนอะไรให้คนไทยได้เห็นบ้างในวันที่สิทธิ เสรีภาพเราจะเป็นอย่างไรก็สุดแล้วแต่ปลายกระบอกปืนทหารและตำรวจ

ใจความสำคัญของงานแสดงผ่านกระจกใน 3 สถานที่

ซีแลนเริ่มต้นอธิบายเนื้อในของงานศิลปะที่แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่จับกุมเขาตอนแรกก็ไม่เข้าใจ สำหรับซีแลน การแสดงของเขาจบสิ้นลงหลังจากได้รับการปล่อยตัวจากคุก ถือเป็นการแสดงยาวนานกว่าหนึ่งปีที่รัฐเป็นผู้ร่วมแสดง

“มันมีหลายชั้นนะ งานเรื่อง “32 ปีแห่งการสอบสวนของกระจก” สะท้อนการถูกคุมขังเป็นเวลา 32 ปีของ ดร.เชียะ (เชียะไทโป) โดยไม่มีการไต่สวน มันยังสะท้อนประสบการณ์ชีวิตของผมที่ตอนนั้นอายุ 32 ปีด้วย ส่วนมากเป็นเรื่องชีวิต ประสบการณ์ของชีวิตที่ครุ่นคิดตลอดเวลาว่าเสรีภาพการแสดงออกคืออะไรสำหรับเรา

“เมื่อผมพูดถึง ‘งานศิลปะที่เป็นเสรี’ ผมไม่ได้หมายความว่างานผมถูกปลดปล่อยแล้วนะ แต่มันเป็นคำถามที่ผมถามต่อกระจกว่าจะมีงานศิลปะใดที่จะเป็นอิสระ ถูกปลดปล่อยได้ไหม และผมคิดว่าในด้านที่กว้างกว่าศิลปะก็คือการพูดถึงเสรีภาพของมนุษยชาติ เสรีภาพของมนุษยชาติที่ทุกคนควรมีสิทธิที่จะแสดงออก ตราบเท่าที่การใช้สิทธินั้นไม่ไปแย่งชิงสิทธิของคนอื่น”

แต่ละสถานที่ที่เลือกมีนัยสำคัญ ระหว่างการแสดง ผมวาดเงาสะท้อนของสิ่งที่อยู่ในกระจกที่มุมนักพูด หอศิลป์แห่งชาติและรัฐสภา ผมเริ่มที่มุมนักพูดเพราะว่ามันเป็นที่ๆ คุณน่าจะสามารถแสดงงานศิลปะได้ แต่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน มันยังเป็นที่ที่ผมเคยไปร่วมประท้วงมาแล้วหลายครั้ง

จากนั้น ผมเดินไปที่หอศิลป์แห่งชาติซึ่งส่วนหนึ่งในฐานะที่เป็นสถาบันสูงสุดของทัศนศิลป์ในสิงคโปร์ แต่ตึก (อาคารหอศิลป์) มันเคยเป็นอาคารศาลและศาลาว่าการเดิมของสิงคโปร์ มันมีหน้าที่การใช้งานสองอย่างคือในอดีตและปัจจุบัน ผมจึงเห็นว่ามันมีความสำคัญในฐานะศิลปินและในสิ่งที่มันเคยเป็นในอดีต และท้ายสุด ผมเดินไปที่อาคารรัฐสภา ที่ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนผมประท้วงอยู่ด้านนอกพร้อมกับนักกิจกรรมจากหลายที่มา บางคนเป็นคนขับแท็กซี่ บ้างเป็นนักกฎหมาย พวกเราประท้วงกันนอกอาคารรัฐสภาในเรื่องอัตราเงินเดือนของเหล่ารัฐมนตรี สิงคโปร์จ่ายเงินเดือนให้กับสมาชิกสภาผู้แทนฯ และรัฐมนตรีสูงที่สุดในโลก สวนทางกับค่าครองชีพของชาวสิงคโปร์ พวกเราทั้งหมดถูกจับกุม นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่าผมได้รับการปลดปล่อย”

“รู้อะไรไหม การโตขึ้นมาโดยรู้ว่าไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ในที่ต่างๆ ได้ แต่การได้ไปยืนที่หน้าอาคารรัฐสภาและประท้วงกับคนกลุ่มหนึ่งทำให้ผมรู้สึกเป็นอิสระ ผมรู้สึกว่าผมไม่ได้ไปก่ออันตรายให้ใคร เพียงแค่แสดงออกออกมาอย่างอิสระ และผมยังรู้สึกได้ว่าผมมีความเป็นเจ้าของ ผมมีเสียง”

อีกหนึ่งเหตุผลที่ซีแลนเลือกหน้ารัฐสภาเพราะว่า ดร.เชียะก็เคยเป็นผู้แทนในสภา เขาจึงรู้สึกว่ารัฐสภามีความทรงจำทั้งของเขาที่ได้ไปประท้วงมาก่อน และมีความทรงจำเกี่ยวกับ ดร.เชียะด้วย

ปากคำในศาล การปกป้องงานศิลปะที่อัยการสั่งทำลาย

ซีแลนถูกตัดสินว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ. ระเบียบสาธารณะ เพราะเขาได้ทำกิจกรรมอุทิศให้กับการถูกคุมขังของเชียะไท่ปอ และฝ่าฝืนการตัดสินใจของรัฐบาลที่ให้สวนสาธารณะหงลิ้มและมุมนักพูดเป็นที่แสดงงานเพื่อความบันเทิง เนื่องจากซีแลนได้พูดทั้งเรื่องโทษประหารและการคุมขังโดยไม่มีการไต่สวน

ในชั้นศาล ซีแลนปฏิเสธโดยตลอดว่างานของเขาไม่ได้มีแค่มิตินั้น เขาบอกว่ามันเป็นการปกป้องความหมายของงานศิลปะซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ

“สิ่งที่ผมพยายามจะบอกศาลก็คือ ศาลพยายามจะบอกว่า เหตุผลในการแสดงของผมคือการประท้วงกรณีการคุมขัง ดร.เชียะ ผมพยายามให้การว่าผมสะท้อนทั้งเรื่องการคุมขังของ ดร.เชียะ และชีวิตของซีแลนในวัย 32 ปี

“ถ้ามันเป็นการประท้วงการคุมขังของ ดร.เชียะ ผมคิดว่าการแสดงออกจะต้องชัดเจนกว่านี้ ประมาณว่ามีกระจก มีการวาดภาพ และป้ายที่มีข้อความ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่จับกุมผมก็ยังพูดว่าเขาไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าผมทำอะไร เพราะเขาไม่สามารถเห็นสิ่งของที่ผมใช้ประกอบการแสดงใดๆ ที่สื่อถึงการคุมขังของ ดร.เชียะ"

กระนั้น วัตถุประกอบการแสดงที่เขาใช้อย่างกระจก หนังสือและป้ายผ้า อัยการสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำลายมันเพราะถือเป็นหลักฐานในคดี ซีแลนรู้สึกผิดหวังต่อเรื่องนี้มาก แต่อีกหนึ่งวัตถุประกอบการแสดงศิลปะที่ยังไม่หายไปก็คือ ‘รัฐ’ ซึ่งซีแลนมองว่าเป็นผู้ร่วมแสดงในงานศิลปะความยาวหนึ่งปี

“ผมรู้สึกผิดหวังมากเพราะว่ามันไม่ใช่วัตถุอันตรายอะไร มันเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะของผม และที่จริงก็มีคนติดต่อขอซื้อกระจกบานนั้นแล้ว แต่นั่นไม่ใช่เรื่องหลัก มันเป็นส่วนหสึ่งของงานศิลปะผม แต่พอมาคิดแล้วก็ตกลงว่า ไม่เป็นไร ให้มันถูกบันทึกลงไปในประวัติศาสตร์ว่าไม่มีใครได้เห็นมันอีก เพราะรัฐตัดสินใจแบบนั้น

ตั้งแต่ต้นจนจบเมื่อผมได้รับการปล่อยตัว ผมคิดอยู่เสมอว่ารัฐเป็นหนึ่งในผู้ร่วมแสดงงานศิลปะ กระบวนการและผลของการแสดงนั้นขึ้นอยู่กับรัฐ พวกเขาจะจับผมที่มุมนักพูด หอศิลป์ หรือที่รัฐสภาก็ได้ เขาสามารถตัดสินใจได้ หลังจากจับกุม เขาก็ยังสามารถเลือกที่จะตั้งหรือไม่ตั้งข้อหากับผมก็ได้ บางครั้งรัฐก็ไม่ได้ตั้งข้อหาคุณนะ หลังจากตั้งข้อหา ศาลก็ยังสามารถชี้ได้ว่าคุณผิดหรือไม่ผิด จะต้องโทษนานแค่ไหน”

ไม่มีนักโทษทางการเมืองในสิงคโปร์...มีก็แต่นักโทษทางความคิด

สำหรับซีแลน เขาไม่มองว่าตัวเองเป็นนักโทษการเมือง แต่เป็นเหยื่อของกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมที่ปิดกั้นการแสดงออกเท่านั้นของเขา และแน่นอน ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ซีแลนไม่ใช่คนเดียวที่ขึ้นโรงขึ้นศาลเพราะการแสดงออก โดยเฉพาะวันที่คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย

“ตอนนี้คุณไม่สามารถพูดได้ว่าใครเป็นนักโทษการเมือง หลังจากช่วงทศวรรษ 1990 ที่เราเคยมีคนที่ถูกคุมขังโดยไม่มีการไต่สวน หลายคนก็ถูกขังสองปี 10 ปี 16 ปี ที่ยาวนานสุดก็คือ ดร.เชียะ ที่ถูกคุมขังไว้ 32 ปีโดยไม่มีการไต่สวน เป็นวิธีที่ใช้จัดการกับกลุ่มคอมมิวนิสต์หรือพวกสังคมนิยม

แต่ตอนนี้พวกเขา (รัฐ) ไม่สามารถใช้มันได้แล้ว นั่นจึงเป็นเหตุผลให้พวกเขากำหนดกฎหมายที่เข้มงวดมากๆ ขึ้น ตอนนี้เรามี พ.ร.บ. ระเบียบสาธารณะ แม้คนหนึ่งคน (จัดกิจกรรม) ก็สามารถกลายเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมายได้ ยกตัวอย่างเช่น ผมที่จัดงานแสดงศิลปะคนเดียวก็ถูกมองเป็นการเดินขบวน (procession) ซึ่งส่วนมากจะต้องเกิดจากคนหลายคน พวกเขาแค่ช่ำชองในการใช้กฎหมายมากขึ้นเพื่อทำให้ทุกอย่างสามารถถูกเซ็นเซอร์หรือถูกหยุดได้

โดยเฉพาะในวันที่อินเทอร์เน็ตเป็นที่เข้าถึงได้อย่างเปิดกว้างขึ้น รัฐไม่สามารถควบคุมสื่อได้อีกต่อไป แน่นอนว่าพวกเขายังครอบครองและควบคุมสื่อกระแสหลักในสิงคโปร์ได้ แต่อินเทอร์เน็ตก็กลายเป็นพื้นที่ที่นักกิจกรรมและนักข่าวอิสระใช้เขียน หรือแสดงออกอย่างเสรี ซึ่งหมายถึงว่า เมื่อรัฐทำอะไรไป ก็จะมีการโต้แย้ง สิ่งนี้ไม่มีในสมัยทศวรรษ 1990 หรือก่อนหน้านั้น และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐกลัวและระแวดระวังมากเมื่อจะจับใครขังคุก"

ซีแลนยกตัวอย่างการดำเนินคดีกับการแสดงออกทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งบ่อยครั้งออกมาในรูปแบบของคดีหมิ่นประมาท

“มีบล็อกเกอร์ที่ชื่อว่ารอยเหงิง (Roy Ngerng) เขาเขียนโพสท์ที่มีรายละเอียดมากๆ ตั้งคำถามกับโครงการเงินเกษียณของสิงคโปร์ (Central Provident Fund - CPF) แต่นายกรัฐมนตรี (ลีเซียนลุง) ก็ฟ้องเขาเป็นการส่วนตัว ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่บ้ามากเพราะว่า หนึ่ง พวกเขาไม่ได้ออกมาปฏิเสธประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ตัวนายกฯ กลับให้ทีมกฎหมายของเขาฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาท”

รอยเหงิงโพสท์ในบล็อกของเขาเมื่อเดือน พ.ค. ปี 2557 กล่าวหาว่ารัฐบาลใช้เงินกองทุน CPF จากเจ้าอาวาสโบสถ์คริสต์แห่งหนึ่ง ซึ่งเขากล่าวหาว่าเป็นการทุจริตงบประมาณ ต่อมาเขาถูกทีมกฎหมายของลีเซียนลุงฟ้องในเดือน ธ.ค. ปีเดียวกัน ศาลตัดสินให้รอยเหงิงมีความผิดและต้องจ่ายค่าปรับจำนวนทั้งสิ้น 150,000 เหรียญสิงคโปร์  (ราว 3,540,000 บาท) ซึ่งซีแลนระบุว่ามีการระดมทุนจ่ายค่าปรับไปแล้ว (ที่มา: The Online Citizen)

“(เมื่อเดือน ต.ค. ที่แล้ว) มีนักกฎหมายคนหนึ่งที่คอยช่วยคดีนักโทษประหาร โดยเฉพาะในคดียาเสพติด แล้วมีนักโทษคนหนึ่งที่ถูกตัดสินให้ถูกประหารด้วยการแขวนคอ และผมคิดว่ากรณีนี้กระทบกับตัวนักกฎหมายคนนั้นระดับหนึ่ง เขาเลยเขียนกลอนว่าเขารู้สึกอย่างไรกับโทษประหาร ต่อมาเขาถูกอัยการนำตัวขึ้นศาล”

คนที่ซีแลนพูดถึงคือยูจีน ธูรายซินกัม (Eugene Thuraisingum) ทนายความที่โพสท์กลอนจำนวน 22 บรรทัดในเฟซบุ๊คว่าเหล่าผู้พิพากษาต่างทำเป็นมองไม่เห็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ต่อมาเขาถูกนำตัวขึ้นศาลตัดสินวินัยของนักกฎหมาย และถูกสั่งปรับเป็นจำนวน 8,000 เหรียญสิงคโปร์ (ราว 188,000 บาท) เมื่อเดือน ส.ค. 2560 และอีก 18,000 (ราว 425,000 บาท) เหรียญสิงคโปร์ในเดือน เม.ย. 2561 แม้เขาได้ลบโพสท์นั้นทันทีที่ได้จดหมายแจ้งการกระทำความผิดจากอัยการ พร้อมโพสท์ขอโทษไปแล้ว (ที่มา: The New Paper)

“เขาถูกบังคับให้ขอโทษ ลบกลอนออก...มันเป็นแค่โพสท์ในเฟซบุ๊ค แค่กลอน ไม่ใช่การประท้วง นี่คือความหนักของสถานการณ์การเซ็นเซอร์และเสรีภาพในการพูด”

‘มุมนักพูด’ เศษชิ้นพื้นที่แสดงออกเล็กๆ จากรัฐ

เมื่อถามว่าในเมื่อรัฐบาลจัดที่ให้พูดอยู่ในสวนสาธารณะหงลิ้มแล้วทำไมถึงยังมีปัญหากัน ซีแลนตอบในทางหลักการว่าแท้ที่จริงมนุษย์ควรมีพื้นที่ในการแสดงออกอย่างเสรีมากกว่ามุมเล็กๆ ในสวน แต่ปัญหาที่จับต้องได้ก็คือระเบียบยิบย่อยในการขอใช้พื้นที่และการต้องเผชิญกับการสอดส่องตลอดเวลา

ซีแลน ขณะแสดงงานศิลปะกับหนังสือ ป้ายผ้า และกระจกที่มุมนักพูด (ที่มา: seelanpalay.com)

“มุมนักพูดไม่ได้ถูกใช้มากขนาดนั้นด้วยเหตุผลว่า คุณบอกว่ามันเป็นมุมนักพูด แต่มีกล้องสองตัวตั้งอยู่ทั้งด้านซ้ายและขวาเพื่อบันทึกทุกอย่างตลอด 24 ชั่วโมง คุณต้องลงทะเบียนเพื่อขอใช้สวน และสถานีตำรวจก็อยู่ข้างๆ สวน มันมีความกลัวในลักษณะนี้ต่อผู้ที่จะไปร่วมงานที่มุมนักพูด”

ซีแลนในฐานะผู้เคยใช้มุมนักพูดจัดกิจกรรมระบุว่า ผู้ขอใช้งานจะต้องทำการสมัครออนไลน์กับหน่วยงานอุทยานแห่งชาติ ส่งรายละเอียดทั้งชื่องาน จำนวนผู้เข้าร่วมโดยประมาณ ใช้เวลาเท่าไหร่ ถ้าเป็นประเด็นอ่อนไหวผู้จัดจะถูกตำรวจเรียกไปพบ นอกจากนี้ ชาวต่างชาติก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในมุมนักพูดนั้นและร่วมกิจกรรมการประท้วง

“ประชาชนควรมีสิทธิที่จะประท้วงและแสดงออกที่ไหนก็ได้ ในรัฐธรรมนูญก็ได้การันตีเสรีภาพในการพูด การชุมนุมและการแสดงออก และสิทธินั้นไม่สามารถถูกริบไปตราบใดที่ระเบียบของสาธารณะและความมั่นคงของชาติยังถูกรักษาไว้ ถ้าเรายอมรับมันโดยการบอกว่าเรามีมุมนักพูด ให้ไปอยู่ได้แค่ตรงนั้น ก็หมายความว่าเราทิ้งสิทธิในการแสดงออกทั้งหมด”

คนภายนอกมองสิงคโปร์ว่าดี ทำไมคนข้างในถึงเคลื่อนไหว

เมื่อยกตัวอย่างสิงคโปร์และจีน ที่รัฐบาลอำนาจนิยมสร้างรัฐที่มีความเจริญและสังคมที่เป็นระเบียบได้ ซีแลนโต้แย้งว่าการตั้งสมการเช่นนั้นเป็นปัญหาที่ชวนทำให้เข้าใจผิด

“มันไม่ได้เป็นเพราะว่าเราไม่มีเสรีภาพ เราจึงมีการพัฒนา หากไม่พูดถึงชาติตะวันตกแต่ในเอเชีย ถ้าคุณดูที่ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น (ประเทศ) เหล่านี้มีการพัฒนาทางโครงสร้าง การบริการสาธารณะและทุกๆ อย่าง แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็มีเสรีภาพการแสดงออกและประชาธิปไตย มีสื่อที่อิสระกว่าที่นี่ ผมไม่เห็นว่าคุณจะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง”

เขายังมองว่ากระบวนทรรศน์เช่นว่าไปหนุนเสริมระบอบเผด็จการให้ยืนยาวต่อไป โดยยกตัวอย่างว่า ถ้าไทยมองสิงคโปร์แล้วบอกว่าดี แล้วมีคนพม่ามามองไทยแล้วบอกว่าไทยดี มันก็เป็นข้ออ้างที่อนุญาตให้ผู้ที่กดขี่มีสิทธิที่จะกดขี่ต่อไปเท่านั้น เป็นภาวะการตกต่ำวนเวียนไปเรื่อยๆ (Spiral downward)

“สิงคโปร์มีปัญหาที่คนเข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยวไม่เห็น เพราะหากดูจากภายนอกทุกอย่างก็ดูโอเค แต่มันมีปัญหาเยอะ อย่างเช่นเรื่องโทษประหารชีวิต การเลือกปฏิบัติทั้งต่อชาติพันธุ์ ศาสนา หรือกลุ่มความหลากหลายทางเพศ รายได้ที่ไม่เท่าเทียม รัฐมนตรีและ ส.ส. ที่ได้รับเงินเดือนสูงสุดในโลก แตไม่มีใครคอยตรวจสอบ ถ่วงดุล เรามีคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ไม่เป็นอิสระ และกฎหมายทั้งหลายที่ไปปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก เรามีสถานการณ์ที่ผู้คนไม่สามารถแสดงออกซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเสรี และเมื่อพวกเขาพยายามแสดงออก มันก็ไม่เป็นที่รับรู้ของโลกภายนอก

ขอบคุณอินเทอร์เน็ตที่ทำให้เราติดต่อกับคนอื่น แต่มันก็ยังมีขีดจำกัดของมัน เราไม่มีกลุ่มกิจกรรมนักเรียน นักศึกษาที่ทำเรื่องการเมือง เราเคยมีในช่วงทศวรรษ 1970-1980 แต่ก็ถูกยุบ รัฐบาลเอาพวกเขาไปขัง อันที่จริงรัฐบาลไปจับกุมพวกเขา พวกเขา (รัฐบาล) ปิดหนังสือพิมพ์อิสระไปในปีทศวรรษที่ 1990 เพื่อไม่ให้เรื่องเหล่านั้นถูกมองเห็น

นั่นเป็นเหตุผลที่ในการเลือกตั้งสองครั้งล่าสุด พรรคฝ่ายค้านได้ที่นั่งร้อยละ 40 ถ้าทุกอย่างมันเพอร์เฟ็คท์หมด ทำไมคนถึงยังคงพูดถึงแต่ปัญหา ทำไมนายกฯ ฟ้องบล็อกเกอร์ นั่นคือเหตุผลที่ผมบอกว่าความผิดมันมีอยู่ และพวกเขารู้ว่าพวกเขาทำอะไรลงไป”

ศิลปินชาวสิงคโปร์คิดว่าถ้ารัฐบาลให้พื้นที่เสรีภาพการแสดงออก การพูด การเข้าถึงข้อมูลและการมีส่วนร่วมของพลเมืองมากขึ้น อะไรๆ ก็อาจจะดีขึ้น แต่หากทำเช่นนั้นรัฐบาลก็จะเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรง

“ปัญหาก็คือ ถ้ารัฐบาลทำแบบนั้น ข้อวิจารณ์ส่วนใหญ่ก็จะพุ่งเข้าหารัฐบาลและทำให้พวกเขาเสียคะแนนเสียงหรือแม้แต่การควบคุม (สังคม) มันดีต่อสังคม แต่ไม่ดีต่อรัฐบาล และรัฐบาลจะพยายามหยุดยั้งมัน”

“แต่ว่าพวกเขาจะเป็นแบบนั้นต่อไปได้นานแค่ไหนเมื่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตรวดเร็วขึ้น คนรุ่นใหม่เข้าถึงมันมากไม่ ไม่มีทางน้อยลงและยังมีความชำนาญกับมันขึ้น”

บทเรียนจากสองสัปดาห์ในเรือนจำ

ศิลปินชาวสิงคโปร์เล่าถึงชีวิตสองสัปดาห์ในเรือนจำชางยีว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ เป็นชีวิตที่ไม่ได้สะดวกสบาย ปัญหาที่เขาเห็นคือการใช้กฎหมายของสิงคโปร์ทำให้นักโทษกำลังล้นคุก

“ผมคิดว่าเจ้าหน้าที่หรือผู้คุมไม่ใช่คนที่ไม่ดีนะ พวกเขาพยายามช่วยเหลือสภาพในนั้น แต่กฎหมายในสิงคโปร์ที่อาจจะถูกใช้อย่างหนักมือเกินไป หลายคนต้องเข้าคุกด้วยเหตุผลง่ายๆ เรือนจำชางยีนั้นเกือบจะเต็มความจุของมันเพราะว่าหลายคนถูกตัดสินให้เข้าคุก คนที่มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถจ่ายค่าปรับหรือหาทนายดีๆ

(นักโทษ) หลายคนในนั้นโดนคดียาเสพติด แค่การสูบกัญชาก็ทำให้ต้องติดคุกยาวหกเดือนถึงหนึ่งปีแล้ว ส่วนตัวผมไม่คิดว่ามันจะแก้ปัญหาอะไร และยังเป็นภาระกับผู้จ่ายภาษีเสียอีก

มันไม่ได้เยียวยาใคร ตอนผมอยู่ในนั้นผมเห็นวัยรุ่นจำนวนมากที่น่าจะอยู่ในช่วงอายุ 20 ปี ในนั้น ถ้าเป็นคนที่เคยพยายามฆ่าตัวตาย จะถูกจัดให้เป็นกลุ่มเฝ้าระวังการฆ่าตัวตาย คุณจะต้องสวมเสื้อยืดสีขาวและมีเส้นสีน้ำเงินตรงนี้ (คาดไปตามเสื้อ) ผมเห็นวัยรุ่นหลายคนคาดเส้นสีน้ำเงิน หลายคนถูกตัดสินให้จำคุกหนึ่งปี ไปจนถึงหลายปีเพราะว่าพวกเขาพยายามฆ่าตัวตาย"

"เรือนจำไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการ เพราะพวกเขาไปถึงจุดที่จะฆ่าตัวตายแล้ว พวกเขาน่าจะต้องการอย่างอื่น"

‘ประเทศกูมี’ คลื่นลูกหนึ่งในกระแสต้านอำนาจนิยมในภูมิภาค

เมื่อพูดคุยเรื่องเพลงประเทศกูมีของกลุ่ม Rap Against Dictator (RAD) ซีแลนเองก็เคยฟังแล้ว ในฐานะศิลปินและนักกิจกรรมด้านการสื่อสารเขาคิดว่าเป็นเรื่องน่าสนใจที่กระแสการตอบโต้อำนาจนิยมเป็นที่มองเห็นชัดเจนขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในวันที่อินเทอร์เน็ตถูกใช้กว้างขวาง

“ผมคิดว่ามันเป็นพัฒนาการที่น่าสนใจนะ มันจะเกิดขึ้นแน่นอนเพราะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เรากำลังอยู่กับระบอบเผด็จการที่มีมานานแล้ว จนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ต้องขอบคุณอินเทอร์เน็ตที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้จากหลายที่ และยังใช้เป็นที่ในการแสดงออกด้วย พวกเขา (แรปเปอร์) ไม่สามารถเอามิวสิควิดีโอ (เอ็มวี) ไปขึ้นในโทรทัศน์ แต่พวกเขาสามารถเอามันไปไว้ในยูทูปและทุกคนก็เข้าไปดูได้

การสื่อสารในแนวราบที่ทุกคนเข้าถึงได้เท่ากันผ่านอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแนวโน้มที่มีแต่เพิ่มขึ้น ไม่มีทางลดลง พร้อมกับคนรุ่นใหม่ที่ชินไม้ชินมือกับเทคโนโลยีมากขึ้น เหตุการณ์ในมาเลเซียที่ล้มพรรครัฐบาลที่อยู่ในตำแหน่งมา 60 ปีเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ก้าวหน้า แต่ก็ยังมีตัวอย่างการเถลิงอำนาจของโรดริโก ดูเตอร์เตในฟิลิปปินส์ที่เป้นตัวอย่างของการถอยหลัง"

แม้กระแสเกิดขึ้นกว้างขวาง แต่ซีแลนมองว่าการเดินหน้ารณรงค์เรื่องเสรีภาพการแสดงออกไม่ควรไปคาดหวังกับผล หากแต่ควรสนใจกับกระบวนการเดินหน้าต่อไปอย่างเชื่อมั่น

“มันเหมือนกับการบรรลุนิพพานนะ ถ้าคุณพร่ำพูดว่าคุณอยากได้มัน คุณก็จะไม่มีวันได้มัน ถ้าคุณเชื่อมั่นในตัวเองต่อไปเรื่อยๆ และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในระบบของคุณ คุณก็จะประสบความสำเร็จ ผมคิดว่าเรื่องเสรีภาพก็เหมือนกัน เราไม่สามารถได้เสรีภาพให้ทั้งประเทศ ให้ทุกคนได้พร้อมกัน แต่ถ้าเราลุกขึ้นมา และปกป้องเสรีภาพของตัวเอง พวกเราก็จะเป็นอิสระ

นั่นคือที่ผมรู้สึก แม้แต่ตอนที่ถูกจับและเข้าคุก จนถึงตอนที่ออกมา ใช่ พวกเขาอาจจะคุมขังผมไว้ แต่ตลอดทั้งกระบวนการผมรู้สึกอิสระในฐานะของมนุษย์ เพราะพวกเขาไม่สามารถหยุดอะไรที่ผมอยากทำได้

บางครั้งคนก็ผิดหวังที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายแห่งการปลดปล่อยทุกคนได้ แต่ผมจะบอกว่า อย่างน้อยที่สุดคุณควรลองที่จะรู้สึกพึงพอใจกับการได้ปลดปล่อยตัวเอง อย่างน้อยพยายามยึดโยงกับมันและค่อยๆ ทำงานเพื่อปลดปล่อยคนอื่น”

ซีแลนมีเว็บไซต์แสดงงานศิลปะของตนเองที่ seelanpalay.com ซึ่งมีภาพของงานแสดง “32 ปี: การสอบสวนของกระจกบานหนึ่ง” อยู่ด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม

Activist fined $2,500 for illegal procession from Hong Lim Park to Parliament House, The Strait Times, Oct. 3, 2018

ศิลปินถือกระจกสะท้อน 32 ปีการจองจำนักโทษการเมืองสิงคโปร์-ก่อนถูกรวบตัว, ประชาไท, Oct. 2, 2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net