ประสบการณ์ตรง ‘จอน อึ๊งภากรณ์’ รัฐสวัสดิการที่โอบอุ้ม ‘บิดา-มารดา’

รำลึก 11 ปี นพ.สงวน 'จอน อึ๊งภากรณ์' บอกเล่าถึงประสบการณ์ตรงที่ประทับใจจากระบบรัฐสวัสดิการ 2 ครั้งสำคัญในชีวิต ตั้งแต่ เรื่องของ ‘อ.ป๋วย’ รักษาฟรีโดยไม่ต้องมีสัญชาติ และการดูแลตราบจนลมหายใจสุดท้ายของมารดาจะสิ้นสุด

14 ม.ค.2562 จอน อึ๊งภากรณ์ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ในฐานะองค์ปาฐกของงาน “รำลึก 11 ปี นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์” ได้แสดงปาฐกถาสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ปี 2561 เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา หัวข้อ “จากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เดินหน้าสู่รัฐสวัสดิการครบวงจร” โดยได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ตรงที่ประทับใจจากระบบรัฐสวัสดิการ 2 ครั้งสำคัญในชีวิต

ครั้งแรกเกี่ยวข้องกับการรักษาโรคเส้นสมองแตกของบิดา “อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์” และอีกครั้งคือประสบการณ์การดูแลรักษามารดาของตัวเองจนถึงลมหายใจสุดท้ายของชีวิต ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรทั้งสิ้น

เรื่องของ ‘อ.ป๋วย’ รักษาฟรีโดยไม่ต้องมีสัญชาติ

“ส่วนตัวผมได้รับประสบการณ์ในเรื่องระบบรัฐสวัสดิการของสหราชอาณาจักร 2 ครั้งในชีวิต ครั้งแรกในช่วงเดือน ก.ย.2520 ในเวลานั้นคุณพ่อ คุณแม่ ตัวผมเอง และน้องชายของผม ได้พักอาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้านลอนดอน ขณะนั้นเป็นเวลาเกือบ 1 ปี ที่คุณพ่อ (ป๋วย อึ๊งภากรณ์) ได้เดินทางมาประเทศอังกฤษ หลังจากเหตุการณ์นองเลือดวันที่ 6 ต.ค. 2519

“ในวันรุ่งขึ้น คุณพ่อมีกำหนดการไปสหรัฐอเมริกาเพื่อพบกับคนไทยที่เรียกร้องประชาธิปไตยให้มาสู่ประเทศไทย ขณะนั้นเวลาค่ำ อยู่ดีๆ คุณพ่อก็หมดสติ คุณแม่รีบโทรศัพท์เลขฉุกเฉิน และอีกประมาณ 10 นาที ก็มีรถพยาบาลจากโรงพยาบาลในละแวกใกล้เคียงมารับตัวไป

“วันรุ่นขึ้น คุณพ่อได้รับผ่าตัดเส้นเลือดในสมอง และพักอาศัยในโรงพยาบาลอีกเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้นได้ย้ายไปอยู่สถานพักฟื้นเพื่อฝึกฝนการพูด การออกเสียง การใช้มือ การเดิน และกว่าที่คุณพ่อจะกลับมาอยู่บ้านอีกครั้งก็เป็นเวลาร่วมๆ 3 เดือน หลังจากเกิดเส้นเลือดในสมองแตก

“หลังจากนั้นอีกหลายเดือน คุณพ่อต้องไปฝึกกายภาพบำบัดและอรรถบำบัดเป็นประจำสัปดาห์ละ 2 วัน โดยมีรถพยาบาลมารับส่ง”

“คุณพ่อไม่มีสัญชาติอังกฤษ มีแค่ใบอนุญาตพำนักอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรเท่านั้น แต่ตลอดระยะเวลาการรักษาหลายเดือน ครอบครัวไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แม้แต่ปอนด์เดียว แม้แต่ค่าอาหารในโรงพยาบาลก็ไม่ต้องจ่าย”

“โชคดีที่พ่อป่วยก่อนเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพราะถ้าเกิดเหตุที่นั่น ครอบครัวของเราเป็นต้องล้มละลายแน่นอน”

ดูแลตราบจนลมหายใจสุดท้ายของมารดาจะสิ้นสุด

“ประสบการณ์ครั้งที่สอง เกิดขึ้นช่วงเดือน มี.ค. 2555 เมื่อผมเดินทางไปเยี่ยมคุณแม่ ซึ่งอายุ 93 ปี ที่กำลังอดข้าวอดน้ำอยู่ในแฟลตที่ลอนดอน

“เมื่อผมไปถึง พบว่าคุณแม่อ่อนแรงมากจนพูดไม่ได้ แต่ก็ยังรู้เรื่องการมาเยี่ยมของผม คุณแม่เขียนป้ายไว้ที่ห้องรับแขกว่า จอน ปีเตอร์ ใจ แม่รักนะ โดยคุณแม่นอนอยู่ในเตียงนอนของคุณแม่ ในห้องนอนของคุณแม่”

“ในเวลากลางวัน จะมีพนักงานจากองค์กรสาธารณประโยชน์ที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงมาดูแลคุณแม่ พนักงานจะมาวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมง และก่อนที่คุณแม่จะป่วยหนัก พนักงานเหล่านั้นก็ได้เข้ามาช่วยคุณแม่ทำความสะอาดแฟลต และช่วยคุณแม่ทำงานบ้านเป็นประจำ”

“ในเวลากลางคืน ช่วงที่คุณแม่อดน้ำอดข้าว จะมีพยาบาลวิชาชีพมาเฝ้าคุณแม่ทุกคืน พยาบาลจะนั่งอยู่บนเก้าอี้ข้างเตียงคุณแม่ ให้ยาและมอร์ฟีน ส่วนตัวผมเองก็จะนอนพักอยู่ในห้องข้างเคียง และส่วนในเวลากลางวัน ก็จะมีคุณหมอมาเยี่ยมและให้ยา คุณหมออายุ 40 ปี อยู่คลินิกใกล้เคียง เป็นหมอประจำคุณแม่”

“บริการที่คุณแม่ได้รับเป็นบริการในระบบรัฐสวัสดิการในสหราชอาณาจักรโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ผมมีโอกาสอยู่กับคุณแม่ 5 วัน คุณแม่ก็จากไปอย่างสงบ เมื่อคุณแม่หยุดหายใจผมได้โทรเรียกหมอมาตรวจ หมอก็รีบมาตรวจ ผมสังเกตเห็นว่าคุณหมอมีอาการเศร้าและจะร้องไห้”

“ตรงนี้คือสิ่งที่ผมประทับใจที่ผมมีต่อระบบรัฐสวัสดิการของอังกฤษ ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวางกว่าเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเป็นระบบที่ดูเหมือนจะเอาความต้องการของผู้รับบริการมาเป็นศูนย์กลาง เช่น ไม่ได้บังคับคุณแม่ให้ไปนอนโรงพยาบาล แต่กลับนำบริการมาสู่คุณแม่ที่บ้าน ทั้งๆ ที่คุณแม่ก็เป็นหญิงวัยชราคนธรรมดาคนหนึ่ง”

“คุณแม่มีความประทับใจกับพนักงานองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่มาช่วยงานบ้านของคุณแม่ตั้งแต่ก่อนที่คุณแม่จะป่วย พนักงานกลุ่มนี้เป็นแม่บ้านวัยกลางคนที่เป็นแรงงานข้ามชาติที่อพยพมาทำงานโดยได้รับค่าแรงค่อนข้างน้อย แต่ทำงานอย่างตั้งใจ เป็นผู้ดูแลที่ดี และในวันเผาคุณแม่ ยังพบว่ามีผู้ดูแลคนหนึ่งสละเวลามาร่วมงานด้วย”

“ระบบรัฐสวัสดิการเป็นระบบโครงสร้างทางสังคมที่รัฐทำหน้าที่ดูแลกำกับให้ประชาชนทุกส่วนมีหลักประกันด้านคุณภาพชีวิตในระดับที่พออยู่พอกินอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งมักจะประกอบด้วยหลักประกันถ้วนหน้าด้านที่อยู่อาศัย สุขภาพ การศึกษา รายได้ และด้านบริการสังคมอื่นๆ ที่มีความจำเป็นสำหรับคุณภาพชีวิต”

“เรียกได้ว่าเป็นระบบสวัสดิการที่ทุกคนมีสิทธิได้รับ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท