สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 8-14 ม.ค. 2562

รมว.แรงงาน เปิดศูนย์บริการวีซ่า One Stop Service ที่ จ.เชียงใหม่/แฉแทคติก 'มหาวิทยาลัย' ทำ 'สัญญาเลิกจ้าง พนง. อัตโนมัติ' ลดคนเพื่อให้อยู่รอด/กยศ. เตรียมหักหนี้ผ่านบัญชีเงินเดือนหน่วยงานที่ร่วมมือ 1.6 แสนราย เริ่ม ก.พ. 2562/แรงงานไทยลักลอบทำงานในเกาหลี รายงานตัวกลับบ้านกว่า 9 พันคน หลังเกาหลีปลดแบล็กลิสต์/สหภาพยุโรป (EU) ประกาศปลดล็อกใบเหลือง IUU ประมงไทย

รมว.แรงงาน เปิดศูนย์บริการวีซ่า One Stop Service ที่ จ.เชียงใหม่

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2562 ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงานจังหวัดเชียงใหม่ (One Stop Service : DIGITAL WORK PERMIT) สำหรับคนต่างด้าวที่ทำงานในสถานประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

เพื่ออำนวยความสะดวกในการยื่นขออนุญาตทำงาน ลดขั้นตอน ลดเวลาการยื่นเอกสาร ลดเจ้าหน้าที่และโปร่งใส ตอบโจทย์ Thailand 4.0 โดยมี นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ร่วมเปิดศูนย์ฯ

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเปิดศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงานจังหวัดเชียงใหม่ ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) โดยวางแผนประเทศระยะยาวภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 ที่มุ่งเน้นปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ และยกระดับการให้บริการภาครัฐให้เกิดความเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ลดการใช้เอกสารซ้ำซ้อน

นำไปสู่การเป็น Smart Thailand ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อให้บริการแบบที่เดียว ทันใด ทั่วไทย ทั่วโลก ทุกเวลา ซึ่งการที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กำหนดกระบวนการยื่นคำขออนุญาตทำงานและออกใบอนุญาตทำงานผ่านระบบ Single Window for Visa and Work Permit สำหรับคนต่างด้าวที่ทำงานในสถานประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน

นับเป็นการตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ได้เป็นอย่างดี กล่าวคือเป็นการอำนวยความสะดวกในการยื่นขออนุญาตทำงาน ลดขั้นตอน ลดเวลาการยื่นเอกสาร ลดเจ้าหน้าที่ ลดเอกสาร มีการพิจารณาที่เป็นมาตรฐานและโปร่งใส สำหรับใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวนั้น ก็จะไม่เป็นเล่มเอกสารหรือบัตรแข็งอีกต่อไป แต่จะเป็นใบอนุญาตทำงานแบบดิจิทัล (Digital Work Permit) บนโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน

ซึ่งสะดวกต่อการพกพา สามารถตรวจสอบได้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ยากต่อการปลอมแปลง และไม่มีการสูญหาย โดยมีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ รองรับ BOI ปัจจุบันศูนย์บริการฯ เปิดให้บริการใน 3 แห่ง คือ 1. ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน ที่อาคารจัตุรัสจามจุรี กรุงเทพมหานคร 2. จังหวัดภูเก็ต 3. จังหวัดเชียงใหม่ โดยในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่นั้น ได้มีการเปิดใช้งานระบบ Single Window for Visa and Work Permit ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา

สำหรับศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงานจังหวัดเชียงใหม่แห่งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันนี้เป็นวันแรก โดยได้ร่วมกันจัดตั้งขึ้นในรูปแบบของ One Stop Service ให้บริการ ณ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเชียงใหม่ ถนนสนามบิน ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

เป็นศูนย์ที่ให้บริการแก่คนต่างด้าวที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อย่างครบวงจร โดยมีหน่วยงานหลักให้บริการภายในศูนย์ฯ จำนวน 2 หน่วยงาน ได้แก่

1. สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงใหม่ในการให้บริการเกี่ยวกับวีซ่า และ 2. สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ ในการให้บริการออกใบอนุญาตทำงาน การดำเนินงานภายในศูนย์ฯ คือ เมื่อคนต่างด้าวยื่นคำขออนุญาตทำงานผ่านระบบ Single Window แล้ว หน่วยงานที่ให้บริการจะพิจารณาอนุญาตในระบบ และแจ้งผลการพิจารณาทาง E-mail

เมื่อคนต่างด้าวได้รับการอนุญาต จะต้องนัดหมายในระบบเพื่อมาแสดงตน ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่เพื่อชำระค่าธรรมเนียม และถ่ายรูปลงลายมือชื่อดิจิตอล เพื่อจะได้ User Name และ Password มาลงทะเบียนใน Application ชื่อ “Thailand Digital Work Permit” ซึ่งรองรับการใช้งานทั้งในระบบ IOS และ Android เมื่อคนต่างด้าวลงทะเบียนแล้ว จะปรากฏ Digital work permit บนโทรศัพท์มือถือของคนต่างด้าว จากนั้น คนต่างด้าวต้องมาแสดงตนเพื่อขอ VISA ต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงใหม่

รมว.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ จังหวัดเชียงใหม่มีคนต่างด้าวที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จำนวนทั้งสิ้น 555 คน เข้าสู่ระบบ Single Window แล้วจำนวน 419 คน เหลืออีก 136 คน เนื่องจากใบอนุญาตทำงานเดิมยังไม่หมดอายุ การจัดตั้งศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงานที่จังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ นับเป็นการปรับโครงสร้างการให้บริการภาครัฐ เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัด และทันสมัย

ที่มา: ข่าวสด, 14/1/2562

แฉแทคติก 'มหาวิทยาลัย' ทำ 'สัญญาเลิกจ้าง พนง. อัตโนมัติ' ลดคนเพื่อให้อยู่รอด

เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2562 รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ในฐานะเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) เปิดเผยกรณี นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่าตัวเลขการรับนักศึกษาเข้าเรียนของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศลดลง 10-15% ขณะที่กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็กในต่างจังหวัด บางแห่งลดลงมากถึง 30% เชื่อว่าภายใน 1-2 ปีนี้จะลดลงมากกว่านี้ว่า ตัวเลขการรับนักศึกษาลดลงจริง ส่วนจะลดลงเท่าไหร่อยู่ระหว่างหาข้อมูลตัวเลขมายืนยัน อย่างข้อมูลตัวเลขจาก ทปอ.จำนวนนักเรียนที่เข้าลงทะเบียนออนไลน์สมัครในระบบการคัดเลือกบุคคลกลางเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2562 หรือทีแคส มีที่นั่งเกือบ 4 แสนที่นั่ง แต่มียอดนักเรียนลงทะเบียนไม่ถึง 3 แสนคน ซึ่งเป็นไปได้ว่าจำนวนนักศึกษาลดลง 10-15%

รศ.ดร.ประเสริฐกล่าวต่อว่า จำนวนนักศึกษาที่ลดลง สาเหตุมาจากจำนวนประชากรเกิดลดลง เด็กบางส่วนไม่เข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาเพราะต้องการเข้าสู่ตลาดแรงงาน หรือต้องการทำงานหาประสบการณ์ก่อน หรือเพราะวิกฤตเศรษฐกิจของครอบครัว เป็นต้น และปัจจุบันมีทางเลือกเรียนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษานอกระบบ ทำให้นักศึกษาเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยลดลง

"ในส่วนของ 9 มทร.ได้หารือถึงประเด็นนี้อยู่เสมอ โดย 9 มทร.เริ่มปรับตัวตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว เพราะสัญญาณนักศึกษาลดลงไม่ได้เพิ่งมาเกิดวันนี้ แต่ส่งสัญญาณกันมานานแล้ว ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง มีหลักสูตรที่ทันสมัย จัดสอนหลักสูตรใหม่ที่ตอบโจทย์อาชีพใหม่ อย่าง มทร.ธัญบุรี ไม่รับพนักงานเพิ่มมา 1-2 ปีแล้ว และปรับตัวโดยส่งอาจารย์ไปฝึกอบรม สร้างทักษะใหม่ ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และเปิดสอนหลักสูตรทันสมัย อาจารย์อาจเปลี่ยนหน้าที่โดยทำงานวิจัย และงานวิชาการเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น" รศ.ดร.ประเสริฐกล่าว

ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่าแนวโน้มเป็นเช่นนั้น นักศึกษาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยลดลงตามจำนวนประชากร ซึ่งมีเรื่องที่น่ากังวลอย่างหนึ่งคือ ในแผนนโยบายของรัฐบาล ต้องการให้นักเรียนเรียนอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น 60% แต่ขณะนี้มีไม่ถึง 40% ถ้านโยบายนี้ประสบความสำเร็จ สามารถดึงนักเรียนเข้าเรียนอาชีวะได้ 60% มหาวิทยาลัยจะได้รับผลกระทบมากขึ้นแน่นอน มองว่าถึงเวลาที่ต้องมารื้อระบบกันใหม่ ทบทวนว่าการแยกอุดมศึกษา และอาชีวะออกจากกันเป็นเรื่องดีหรือไม่ มองว่าทั้ง 2 ส่วนนี้ มีหน้าที่เหมือนกัน คือผลิตและพัฒนากำลังคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน และการวิจัยเพื่อหาความรู้ ฉะนั้น การที่ประเทศไทยแยกอาชีวะและอุดมศึกษาออกจากกัน ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องนัก

"ผมเคยเสนอข้อคิดเห็นแล้วว่าการตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ควรควบรวมอาชีวศึกษาเข้าไปด้วย ไม่เช่นนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยได้ หากสองส่วนนี้ไม่ถูกบริหารงานภายใต้เนื้อเดียวกันจะลำบาก เพราะไม่สามารถบริหารงาน และผสมผสานเนื้อหาทางวิชาการร่วมกันได้" ศ.พิเศษ ดร.ภาวิชกล่าว

ศ.พิเศษ ดร.ภาวิชกล่าวต่อว่า ปัจจุบันการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของแต่ละแห่ง ไม่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ เพราะขณะนี้เปิดรับเสรี มหาวิทยาลัยอยากรับเท่าไหร่ก็เปิดรับได้เรื่อยๆ กลายเป็นมหาวิทยาลัยใหญ่ที่มีชื่อเสียง เปิดรับนักศึกษาจำนวนมาก ทำให้มหาวิทยาลัยขนาดเล็กได้รับผลกระทบอย่างมาก อาจถึงขั้นปิดตัวลง หากทุกมหาวิทยาลัยวางแผนร่วมกัน จัดสรรจำนวนนักเรียนให้ลงมาสู่มหาวิทยาลัยขนาดเล็กบ้าง จะทำให้มหาวิทยาลัยขนาดเล็กอยู่รอดได้ แต่มหาวิทยาลัยขนาดเล็กต้องไปพิจารณาคุณภาพทางวิชาการด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่เป็นธรรมกับผู้เรียนได้

"ผลที่ตามมาจากการที่มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่รับนักศึกษาไม่จำกัด คืออาจารย์มีภาระงานสอนเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักเรียน ทำให้เวลาสอนรุกล้ำเวลาในการทำงานวิจัย ทำให้งานวิจัยอ่อนลง กลายเป็นปัญหาระดับประเทศ เพราะจากงานวิจัยที่แย่ ทำให้อันดับมหาวิทยาลัยของไทยแย่ตามไปด้วย เนื่องจากเกณฑ์หนึ่งของการจัดอันดับมหาวิทยาลัย คือดูเรื่องงานวิจัย ว่ามหาวิทยาลัยได้สร้างความรู้ให้กับสังคมมากแค่ไหน ดังนั้น หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไป อันดับของมหาวิทยาลัยไทยจะแย่ลงตามไปด้วย” ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช กล่าว

ศ.พิเศษ ดร.ภาวิชกล่าวอีกว่า ที่มหาวิทยาลัยบางแห่งต้องปรับลดพนักงาน และเจ้าหน้าที่ เพื่อความอยู่รอด ซึ่งเป็นไปได้ที่มหาวิทยาลัยจะปรับลดพนักงาน เพราะสอดคล้องกับระบบบริหารบุคคลในมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนไป จากเดิมเป็นข้าราชการ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหมดแล้ว ทำให้คนออกจากงานง่ายมาก และปัจจุบันบางมหาวิทยาลัยเริ่มทำสัญญากับพนักงานเพิ่มเติม นอกเหนือจากข้อกำหนดทั่วไป โดยเพิ่มเงื่อนไขว่าเมื่อหมดภาระงาน หรือไม่มีภาระงาน หรือเมื่อใดที่มหาวิทยาลัยปิดสอนหลักสูตรใด เป็นเหตุให้เลิกจ้างโดยอัตโนมัติ ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยไม่สามารถร้องเรียนได้ เพราะถูกใส่อยู่ในสัญญาแล้ว ตนมองว่าถึงเวลาที่อุดมศึกษาควรจะหันหน้ามาระดมความคิดร่วมกัน ว่าจะช่วยกันผ่านปัญหานี้ไปได้อย่างไร

ที่มา: มติชนออนไลน์, 14/1/2562

กยศ. เตรียมหักหนี้ผ่านบัญชีเงินเดือนหน่วยงานที่ร่วมมือ 1.6 แสนราย เริ่ม ก.พ. 2562

14 ม.ค. 2562 นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า กยศ.จะนำมาตรการหักหนี้ กยศ.จากบัญชีเงินเดือนของลูกหนี้ที่ทำงานกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชนขนาดใหญ่  ธนาคารพาณิชย์ และข้าราชการที่สังกัดหน่วยงานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แบบอัตโนมัติ มาใช้ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2562 เป็นต้นไป โดยเบื้องต้นมีลูกหนี้เข้าข่ายจะถูกหักบัญชีเพิ่มเติมอีก 1.6 แสนราย แบ่งเป็นภาคเอกชน 8 หมื่นราย รัฐวิสาหกิจ 1 หมื่นราย ที่เหลือเป็น อปท. เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล

สำหรับวิธีหักเงินเดือนจะมีการหักเฉลี่ยเท่ากันเป็นประจำทุกเดือน เช่น วงเงินที่ชำระหนี้ต่อปีจะมีการหาร 12 และนำไปเฉลี่ยเป็นรายเดือน ซึ่งไม่ใช่จำนวนเงินที่มากเกินไป เช่น ปีแรกที่จะต้องจ่าย 1,500 บาท เมื่อหาร 12 ก็จะเฉลี่ถูกหักเดือนร้อยกว่าบาท ยกเว้นงวดปีการศึกษา 2562 ที่เหลือรอบบัญชีเพียง 5 เดือนก็จะหาร 5 จากยอดวงเงินที่ต้องชำระ โดยระหว่างนี้ถ้าลูกหนี้คนใดได้รับผลกระทบจากมาตรการหักเงินเดือน ก็สามารถเข้ามาเจรจากับ กยศ.เพื่อหาทางผ่อนปรน ให้ลูกหนี้สามารถปรับตัว บรรเทาความเดือดร้อนจากการรับชำระหนี้ได้ด้วย

“ขณะนี้ กยศ.ได้ทยอยส่งหนังสือแจ้งถึงลูกหนี้ที่เข้าข่ายจะถูกหักบัญชีเงินเดือนเพิ่มแล้ว เพื่อให้รับรู้และเข้าใจถึงวิธีการหักชำระหนี้ หลังจากที่ผ่านมา กยศ.ได้นำร่องหักหนี้ กยศ.จากกลุ่มข้าราชการ ที่ได้รับเงินเดือนผ่านระบบจ่ายตรงเงินเดือนของกรมบัญชีกลางไปแล้ว ซึ่งก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี” นายชัยณรงค์ กล่าว

ขณะเดียวกัน กยศ.ได้ร่วมกับประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเสวนา นายจ้างมีหน้าที่นำส่งเงินตาม พ.ร.บ. กยศ. กับนายจ้างทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการหักเงินเดือนพนักงานที่เป็นผู้กู้ยืม กยศ. แก่ผู้ประกอบการนายจ้าง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนลูกหนี้ให้รับทราบซึ่งได้รับความเข้าใจเป็นอย่างดี

นายชัยณรงค์ กล่าวอีกว่าผลการดำเนินหักเงินเดือนข้าราชการที่ได้รับเงินเดือนผ่านระบบจ่ายตรงเงินเดือนของกรมบัญชีกลางในเดือน ธ.ค. 2561 ซึ่งถือเป็นเดือนแรกที่เริ่มมีการหักนั้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมียอดการรับชำระหนี้ ณ วันที่ 25 ธ.ค. 2561 จำนวนทั้งหมด 155,704 รายการ รวมยอดเงินสูงถึง 225 ล้านบาท และหากครบ 1 ปี คาดว่าจะมีรายรับจากการรับชำระหนี้จากลูกหนี้กลุ่มข้าราชการมากกว่า 2,500 ล้านบาท โดยแผนการจัดเตรียมวงเงินให้นักเรียน นักศึกษากู้ยืมเงินไปใช้ในปีการศึกษา 2562 กยศ.ได้จัดวางกรอบงบประมาณไว้ 30,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเข้าถึงกลุ่มนักเรียน นักศึกษาทั้งรายเก่า และรายใหม่ได้ใช้กู้ยืมได้ ไม่ต่ำกว่า 6.2 แสนราย โดยวงเงินที่ กยศ.ให้กู้ยืมครั้งนี้เป็นเงินที่ กยศ.ได้รับจากการชำระคืนจากลูกหนี้ และมีการบริหารจัดการเอง โดยไม่ต้องของบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาลแต่อย่างใด

ที่มา: ไทยโพสต์, 14/1/2562

เร่งช่วยเอสเอ็มอี-วิสาหกิจชุมชน 438 รายประสบภัยพายุปาบึก

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามข้อสั่งการของนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานพันธมิตรร่วมบูรณาการออก 7 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึก โดยเน้น “ทำทันที” ซ่อม สร้าง ฟื้นฟูผู้ประกอบการทุกพื้นที่ (7 มาตรการ กระทรวงอุตสาหกรรม) นั้น ล่าสุดผลสำรวจผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน จาก 16 จังหวัด พบ 10 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 483 ราย ประเมินความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 359 ล้านบาท โดยกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดมาตรการเยียวยา 7 มาตรการ ดังนี้

มาตรการที่ 1 จัดกิจกรรม Big Cleaning ช่วยทำความสะอาดโรงงาน ซ่อมแซมเครื่องจักรและอาคาร โดยในเบื้องต้นได้ดำเนินการไปแล้ว 7 ราย โดยร่วมกับสถานประกอบการรายใหญ่ เช่น เหมืองแร่ผาทอง จัดรถน้ำ จำนวน 5 คัน มาช่วยฉีดล้าง ทำความสะอาดในพื้นที่ สถานประกอบการในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2562

มาตรการที่ 2 ซ่อม สร้างฟื้นฟู อุปกรณ์ เครื่องจักร อาคารสถานที่ จากการสำรวจพบว่ามีอุปกรณ์ เครื่องจักรที่ได้รับความเสียหาย ส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักรขนาดเล็ก ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประสานงานกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาในพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือซ่อม ทำความสะอาดเครื่องจักร คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 17 ม.ค. 2562

มาตรการที่ 3 ร่วมกับบริษัทรถยนต์ชั้นนำ และ ปตท.บริการตรวจเช็ก สภาพรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ทั้งจักรยานยนต์และรถสี่ล้อฟรี ซึ่งจะดำเนินการระหว่างวันที่ 14-16 ม.ค. 2562 ณ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา และพื้นที่ใกล้เคียง

มาตรการที่ 4 ออกประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง การช่วยเหลือผู้ประกอบการกิจการโรงงานกรณีโรงงานได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ (วาตภัย) พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2562 โดยจะยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี/ใบอนุญาตต่ออายุโรงงานให้กับสถานประกอบการโรงงานที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งสำนักงานอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการสำรวจ รวบรวมตัวเลขความเสียหาย และจะรายงานตัวเลขมายังกรมโรงงานอุตสาหกรรมภายในวันที่ 22 มกราคมนี้ เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมต่อไป

มาตรการที่ 5 เพิ่มช่องทางการตลาด ซึ่งสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะจับมือห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลสุราษฎร์ธานี ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลหาดใหญ่ และกรุงเทพฯ จัดมหกรรมจำหน่ายสินค้าเพื่อผู้ประกอบการ พื้นที่กว่า 1,000 ตารางเมตร ในช่วงเดือน มี.ค. 2562

มาตรการที่ 6 ด้านการเงิน ขณะนี้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้ออกมาตรการฉุกเฉินและมีลูกค้าในพื้นที่มาขอใช้มาตรการ โดยขอพักการชำระหนี้จำนวน 20 ราย วงเงิน 52.2 ล้านบาท และขอยื่นกู้หนี้ฉุกเฉิน 140 ราย วงเงินสินเชื่อ 151 ล้านบาท ในส่วนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีวิสาหกิจชุมชมขอกู้เพิ่ม พักชำระหนี้ และขยายเวลาการชำระหนี้ รวมทั้งสิ้น 91 ราย ซึ่งจะได้รับการลดอัตราดอกเบี้ยตามมาตรการนี้จากร้อยละ 4 เหลือร้อยละ 1/ปี เป็นระยะเวลา 2 ปี ส่วนมาตรการที่ 7 สำรวจ เยี่ยมเยียน ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ

จากการสำรวจในพื้นที่พบว่าส่วนใหญ่มีความต้องการเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะเสื้อผ้านักเรียน ผ้าห่ม หมอน มุ้ง ซึ่งได้รับความเสียหายจากวาตภัย กระทรวงอุตสาหกรรมจะได้ประสานงานกับหน่วยงานพันธมิตรและผู้ประกอบการที่มีจิตศรัทธาบริจาคเพื่อจัดเสื้อผ้า ชุดนักเรียน และถุงเท้าเพื่อไปมอบแก่นักเรียนที่ประสบภัยในพื้นที่ต่อไป นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงาน แก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 13/1/2562

ก.แรงงาน ระดมช่างฝีมือซ่อมแซมอุปกรณ์ บ้านเรือนหลังวิกฤตพายุปาบึก

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าหลังจากพายุโซนร้อนปาปึกเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งอ่าวไทย และอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเพรสชั่นไปสู่ทะเลอันดามัน และสลายตัวในที่สุดนั้น ส่งผลให้พื้นที่ 16 จังหวัดภาคใต้ได้รับผลกระทบบ้านเรือน อาคาร สถานที่ราชการ รวมไปถึงอุปกรณ์ยังชีพ สิ่งของอำนวยความสะดวก ต่างได้รับความเสียหาย พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยในประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุดังกล่าว ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ร่วมบูรณาการในพื้นที่ เร่งให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนภายหลังน้ำลด

นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) 16 จังหวัดภาคใต้ ได้ระดมเจ้าหน้าที่ ครูฝึก ช่างชุมชน และผู้เข้ารับการฝึกในสาขาช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ให้ความช่วยเหลือประชาชน เช่น สพร. 22 นครศรีธรรมราช จัดหน่วยออกบริการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อำเภอปากพนัง โดยให้บริการซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน เครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตร เครื่องยนต์การเกษตร รถจักรยานยนต์ ที่ศาลาประชาคม องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมตะลุมพุก นอกจากนี้ได้มอบหมายให้นายประทีป ทรงลำยอง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจประชาชนและเจ้าหน้าที่ด้วย

ในส่วน สนพ.ตรังประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำรถโมบายเคลื่อนที่ออกให้บริการซ่อมรถจักรยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน ตรวจเช็คระบบไฟฟ้าภายในบ้านและอาคาร ด้านจังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุในครั้งนี้ จำนวน 12 อำเภอ 57 ตำบล 316 หมู่บ้าน 25 ชุมชน ราษฎรได้รับผลกระทบ จำนวน 9,511 ครัวเรือน 23,987 คน หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานได้เยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัย ณ ศูนย์อพยพ โรงเรียนชุมชนบ้านนางกำ ซึ่งมีผู้อพยพจาก 4 หมู่บ้านรวม 230 คน พร้อมได้นำอาหาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง และน้ำดื่มจำนวนหนึ่งไปมอบให้กับผู้ประสบภัยด้วย โดยทาง สพร. 18 สุราษฎร์ธานี ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า พัดลม หม้อหุงข้าว จำนวน 18 รายการ ซ่อมแซมเครื่องมือทางเกษตร ตรวจเช็คสภาพรถยนต์ รถจักรยานยนต์ 20 รายการ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถจักรยานยนต์ 20 รายการ

“หลังจากนี้ กพร.มอบหมายให้ สพร. และ สนพ. จะดำเนินการสำรวจความต้องการในการฝึกอาชีพในสาขาที่ชุมชน ซึ่งสามารถนำความรู้ไปต่อยอดช่วยเหลือคนในชุมนในการซ่อมแซมที่พักอาศัย ยานพาหนะต่อไปได้” อธิบดี กพร.กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 หรือ กองสื่อสารองค์กร กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 02 245 4035

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 12/1/2562

รมว.แรงงาน เผยไทยหลุดใบเหลืองประมงอียู เหตุคุมเข้มต่างด้าว จัดสวัสดิการ ค่าตอบแทนเป็นธรรม

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีอียูประกาศปลดใบเหลือง IUU หรือการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุมของไทย ว่า การปลดใบเหลืองประมงให้กับประเทศไทยในครั้งนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์มาก อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีปัญหาเนื่องมาจากการจับปลาโดยขาดการควบคุม ขาดการรายงานมาอย่างยาวนาน การใช้แรงงานต่างด้าวโดยมีการใช้แรงงานบังคับ ทำให้อียูให้ใบเหลืองประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2558 ในส่วนการแก้ไขปัญหานั้น เกิดจากการบูรณาการร่วมกันของหลายฝ่าย

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน ทั้งด้านอายุแรงงานที่เหมาะสมในการทำประมง เวลาพักในขณะทำงาน การกำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรม ให้แรงงานประมงได้เข้าถึงสวัสดิการทั้งประกันสังคมและประกันสุขภาพ การปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่เก็บเงินแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เพิ่มประสิทธิภาพของการควบคุมโดยให้กองทัพเรือเป็นเจ้าภาพในการดำเนินงานของศูนย์ PIPO โดยบูรณาการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจตราการอนุญาตการทำประมง

ในส่วนของกระทรวงแรงงานได้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ในการตรวจแรงงาน พร้อมทั้งจัดล่ามในการสื่อสารกับแรงงาน การเพิ่มช่องทางร้องทุกข์ร้องเรียนทาง 1506 ให้เป็นศูนย์ร้องเรียนแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ จัดทำทะเบียนประวัติ การออกใบอนุญาตทำงาน โดยกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการจำนวน 1.2 ล้านคน ทำให้มีการควบคุมแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบมากขึ้น มีการสแกนม่านตาแรงงานในกิจการประมงกว่า 1.7 แสนคน ออกกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน การรับรองอนุสัญญา P29 และล่าสุดเตรียมการรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 188 ซึ่งเน้นเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย ความปลอดภัย และให้แรงงานที่ทำงานในเรือมีระบบประกันสังคมอีกด้วย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 10/1/2562

กรมการจัดหางานเตือนอย่าเชื่อคำชวนไปทำงานเก็บผลไม้ป่า 'สวีเดน-ฟินแลนด์' เพราะยังไม่ถึงฤดูกาลสมัคร

นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่าจากการตรวจสอบเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่ามีผู้ชักชวนแรงงานไทยไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย ดังนั้น กรมการจัดหางานจึงขอแจ้งให้ทราบว่า ฤดูกาลเก็บผลไม้ป่าในประเทศสวีเดน และฟินแลนด์จะอยู่ในช่วง ก.ค. - ก.ย. ของทุกปี จึงอย่าหลงเชื่อผู้ที่ชักชวนไปทำงานเก็บผลไม้ป่าดังกล่าว และขอแจ้งให้ทราบว่า การไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดนและฟินแลนด์เป็นงานที่หนักและตรากตรำ เพราะสภาพภูมิประเทศในการเก็บผลไม้ป่าเป็นพื้นที่ลาดชันภูเขา บางครั้งต้องเดินทางเป็นระยะทางไกลท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวเย็นจัด บางครั้งมีปัญหาอากาศแปรปรวน ซึ่งค่าใช้จ่ายก่อนการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ ประมาณ 60,000-70,000 บาทต่อคน เช่น ค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับ เป็นต้น

นางเพชรรัตน์ กล่าวว่ากรมการจัดหางาน อยู่ระหว่างการเจรจาหารือกับทั้ง 2 ประเทศ เพื่อให้คนไทยได้รับการคุ้มครองดูแลมากที่สุด ตลอดจนจำนวนโควตาที่เหมาะสมที่คนไทยจะไปเก็บผลไม้ป่าดังกล่าว จึงขอให้คนหางานศึกษาข้อมูลการทำงานให้ถี่ถ้วนกับกรมการจัดหางานก่อนตัดสินใจเดินทาง สำหรับการเดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในประเทศสวีเดนจะดำเนินการในรูปแบบนายจ้างพาลูกจ้างไปทำงานในต่างประเทศ ขณะที่ฟินแลนด์จะดำเนินการในรูปแบบการแจ้งการเดินทางด้วยตนเอง โดยจะมีหนังสือเชิญจากบริษัทที่รับซื้อผลไม้ป่าในต่างประเทศเชิญแรงงานไทยไปทำงาน ซึ่งในปี 2561 ที่ผ่านมา กรมการจัดหางานได้รับโควตา เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 7,400 คน เป็นโควตาในประเทศสวีเดน 4,900 คน และฟินแลนด์ จำนวน 2,500 คน กรมการจัดหางานสามารถจัดส่งแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่า รวมทั้งสิ้นจำนวน 7,397 คน จำแนกเป็นจัดส่งไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดน จำนวน 4,903 คน และประเทศฟินแลนด์ จำนวน 2,494 คน

หากคนหางานใดประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศ ขอให้ติดต่อสอบถามได้ที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 10/1/2562

กสร.ช่วยลูกจ้างปลดหนี้นอกระบบปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ

นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กสร. โดยกองทุน เพื่อผู้ใช้แรงงานได้จัดทำโครงการเงินกู้เพื่อวิถีแห่งคุณภาพชีวิตที่ดีตามศาสตร์พระราชา เปิดโอกาสให้สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจกู้ยืมเงินกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงานได้สูงสุดไม่เกินสหกรณ์ ละ 10 ล้านบาทอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เพื่อนำไปให้ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้ประจำต่อเดือนไม่เกิน 35,000 บาท กู้เงินเพื่อนำไปปลดหนี้นอกระบบ หนี้บัตรเครดิต หรือพัฒนารายได้ของตนเองและครอบครัวในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี

นายวิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจที่สนใจ ดาวน์โหลดเอกสารยื่นคำขอกู้เงินและรายละเอียดได้ที่ www.labour.go.th โดยสามารถยื่นคำ ขอกู้ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0 2245 6774 หรือ 0 2246 0383

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 10/1/2562

แรงงานไทยลักลอบทำงานในเกาหลี รายงานตัวกลับบ้านกว่า 9 พันคน หลังเกาหลีปลดแบล็กลิสต์

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้รับการเปิดเผยจาก น.ส.พินยุดา แจ่มจันทร์ศรี อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล เกาหลีใต้ ถึงสถานการณ์แรงงานไทยลักลอบทำงานในเกาหลี หรือ "ผีน้อย" ว่า จากสถิติจำนวนคนไทยที่เดินทางไปทำงานถูกกฎหมายภายใต้ระบบอนุญาตจ้างงาน (Employment Permit System-EPS) จนถึงเดือน พ.ย.61 มีจำนวน 25,013 คน ขณะที่แรงงานผิดกฎหมายและคนไทยที่อยู่อย่างผิดกฎหมาย ประเภทอยู่เกินกำหนดวีซ่า จนถึงเดือน ก.ย.61 มีประมาณ 128,520 คน โดยแรงงานไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตเมืองฮวาซ็อง และเขตเมืองอันซัน และตลอดปี 61 มีคนไทยถูกปฏิเสธเข้าเมืองประมาณ 26,400 คน

น.ส.พินยุดา กล่าวต่อว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ได้พยายามแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลี มีการเจรจาแก้ปัญหาแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานแบบผิดกฎหมาย ในรูปแบบการปลดแบล็กลิสต์ ขอให้เพิ่มโควตาแรงงานไทยมากขึ้น ขยายระยะเวลาในการทำงานตลอดจนช่วงอายุของแรงงานให้สามารถทำงานได้นานขึ้น แต่ก็ยังมีแรงงานไทยที่แอบแฝงเข้าไปในรูปแบบนักท่องเที่ยว

"หลังจากกระทรวงยุติธรรมเกาหลีออกประกาศให้คนต่างชาติที่อยู่เกินวีซ่า หรือลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย ออกมารายงานตัวเพื่อกลับประเทศโดยสมัครใจระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2561-31 มี.ค. 2562 จะไม่ติดแบล็กลิสต์ห้ามเข้าประเทศ 10 ปี มีโอกาสกลับเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องได้อีกครั้ง จนถึงขณะนี้มีคนไทยทยอยรายงานตัวเดินทางกลับบ้านแล้วกว่า 9,000 คน" น.ส.พินยุดา กล่าว

น.ส.พินยุดา กล่าวอีกว่าแรงงานไทยที่เดินทางมาทำงานอย่างถูกต้องในระบบ EPS ต้องผ่านการสอบคัดเลือกเข้ามาทำงาน ขณะนี้มีทำงานในเกาหลีกว่าสองหมื่นคนจะได้รับการคุ้มครองดูแลตามกฎหมายตลอดสัญญาจ้าง และในเดือน ม.ค.จะมีแรงงานไทยส่วนหนึ่งเดินทางกลับ รวมทั้ง น.ส.จินตหรา บรรดาศักดิ์ แรงงานสาวไทยดวงเฮงจาก อ.ประทาย จ.นครราชสีมา ที่ไปทำงานตามระบบ EPS ในเมืองอันซอง พร้อมกับสามี หลังจากโชคดีจากการซื้อลอตเตอรี่จากร้านค้าคนไทย ที่นำสลากจากประเทศไทยไปขายในเกาหลี ถูกรางวัลที่ 1 งวดวันที่ 16 ธ.ค. 2561 หมายเลข 356564 จำนวน 5 ใบ ได้นำสลากกลับมาขึ้นเงินรางวัล 30 ล้านบาทแล้ว จากนั้นได้กลับมาทำงานที่เกาหลีต่อ จนครบสัญญาจ้าง 3 ปี ในเดือน ม.ค.ได้แจ้งไม่ต่อสัญญา โดยวางแผนใช้เงินจากการทำงาน และเงินรางวัลที่ได้ไปทำธุรกิจในไทย และอยากจะกลับมาทำธุรกิจถูกกฎหมายในเกาหลีด้วย

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 9/1/2562

พรรคภูมิใจไทยเสนอใช้ภาษีเงินได้ประจำปีมาหักลดยอดหนี้เงินกู้ กยศ.

9 ม.ค. 2562 นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ว่า หนี้ กยศ.หนี้ของเด็ก แต่เป็นปัญหาใหญ่ของชาติ ไม่แก้ไม่ได้แล้ว ซึ่งเงินของรัฐไม่ว่าจะเท่าไร ที่ใช้ไปเพื่อการเรียนการศึกษาของคนในชาติ ต้องนับเป็นเงินลงทุนเพื่อการพัฒนา การสร้างคน ต้องไม่นับเป็นเงินลงทุนในเชิงธุรกิจ ที่หวังผลตอบแทนหวังผลกำไรได้ และต้องไม่ทำให้ผู้เรียนที่เข้าสู่กระบวนการพัฒนาคนต้องเป็นหนี้ ต้องหนีหนี้เช่นทุกวันนี้

"ได้ติดตามการทำงานของ กยศ.มานาน และได้พูดคุยกับนักเรียน นักศึกษา หลายคน หลายรุ่น ที่เป็นลูกหนี้ กยศ. จนได้ข้อสรุปเป็นแนวทางที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาหนี้ กยศ.ที่มีมูลหนี้มากกว่า 4 แสนล้านบาท ผูกพันอนาคตของเยาวชน มากกว่า 4.5 ล้านคน และผู้ค้ำประกันอีกหลายล้านคน ซึ่งหนี้ กยศ.เป็นหนี้ของเด็ก แต่เป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ที่จะชี้เป็นชี้ตายอนาคตของประเทศไทยได้ หากเราไม่ช่วยกันแก้ปัญหานี้ให้หมดไปเร็วที่สุด" นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาหนี้ กยศ. ดังนี้ 1. ปลดภาระผู้ค้ำประกันทันที ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันอีกต่อไป ทั้งหนี้เก่าและหนี้ใหม่ 2. ไม่มีดอกเบี้ย กยศ.ไม่ใช่องค์กรธุรกิจ แสวงหากำไร 3. ไม่ต้องมีเบี้ยปรับ กยศ.ต้องช่วยหาทางให้ลูกหลาน มีความสามารถชำระหนี้ ไม่ใช่คิดหาประโยชน์สูงสุดจากลูกหนี้ ต้องมองเขาเป็นลูกหลานที่ต้องให้โอกาส 4. ใช้ภาษีเงินได้ประจำปี มาหักลดยอดหนี้เงินกู้ได้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทุกคนเข้าสู่ระบบภาษี และเงินรายได้จากภาษี มีความคุ้มค่ากว่าเงินกู้หลายเท่า 5. เอาคืนแค่เงินต้น กยศ.ไม่ใช่องค์กรแสวงหากำไร และสถาบันการเงิน 6. พักหนี้ 5 ปี สำหรับลูกหลานที่ไม่มีเงินจะชำระจริงๆ เพื่อเป็นการหยุดการดำเนินคดี ไม่ต้องฟ้องร้องบังคับคดี หรือฟ้องยึดทรัพย์ไว้สัก 5 ปี ให้ลูกหลานได้มีเวลาตั้งสติ ตั้งตัว กันอีกครั้ง

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า พักหนี้ 5 ปี กยศ.ไม่ต้องฟ้องคดี 5 ปี จะประหยัดงบประมาณไปปีละ 1,000 ล้านบาท ที่ผ่านมา กยศ.ฟ้องคดีปีละ 100,000 คดี จ้างทนายฟ้องคดีละ 10,000 บาท เราจึงสามารถเอาเงิน 1,000 ล้านบาท ไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์มากกว่าจ้างทนายฟ้องลูกหลานได้มากมาย

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 9/1/2562

ประกันสังคมเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรเป็น 600 บาท เริ่ม 31 ม.ค. 2562 นี้

พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจากสำนักงานประกันสังคม จากเดิม 400 บาท เป็น 600 บาท โดยจะจ่ายให้กับผู้ประกันตนที่มีบุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี ซึ่งสำนักงานประกันสังคมได้ประกาศกฎกระทรวง เรื่อง การจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร พ.ศ.2561 โดยมีสาระสำคัญในการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ กรณีสงเคราะห์บุตรให้กับผู้ประกันตน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรของประชาชนและภาคแรงงานให้สามารถเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันพัฒนาประเทศชาติ

ทั้งนี้การปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร จะจ่ายเงินในส่วนที่ปรับเพิ่มขึ้นย้อนหลังจำนวน 200 บาท ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 ให้กับผู้ประกันตน โดยจะเริ่มจ่ายในวันที่ 31 มกราคมนี้เป็นต้นไป โดยผู้ประกันตนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ ทั้ง 12 แห่ง และสำนักงานประกันสังคมทุกจังหวัด หรือโทร.1506 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th

ที่มา: ช่อง 7, 9/1/2562

สหภาพยุโรป (EU) ประกาศปลดล็อกใบเหลือง IUU ประมงไทย

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2562 นายเคอเมนู เวลลา กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง ได้ประกาศแถลงการณ์ผลการพิจารณาปลดใบเหลืองการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุมของไทย หรือไอยูยู ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม หลังไทยสอบผ่านการปฏิรูปเพื่อควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และยังกล่าวภายหลังพบหารือกับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีว่า การต่อสู้การทำ ประมงผิดกฎหมายเป็นภารกิจแรกเริ่มของอียู ซึ่งในขณะนี้รู้สึกตื่นเต้นที่อียูได้มีหุ้นส่วนใหม่ที่ให้คำมั่นร่วมจัดการปัญหานี้จริงจัง โดยก่อนหน้านี้อียูแจกใบเหลืองไทย ฐานล้มเหลวแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย แต่ด้วยการหารือกับอียู และการออกกฎหมายเกี่ยวข้องและดำเนินการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง ทำให้อียูถอนคืนใบเหลืองของไทย

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับปลดใบเหลือง หรือ ประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการทำประมงผิดกฎหมายแล้ว ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและเป็นความสำเร็จที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันพยายามแก้ไขปัญหาการทำประมงไอยูยูมาโดยตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปี นับตั้งแต่ไทยได้ใบเหลือง เมื่อเดือนเม.ย.2558 ซึ่งประเทศไทยได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ทั้งการออกกรอบกฎหมาย การบริหารจัดการประมง การบริหารจัดการกองเรือ การติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง การตรวจสอบย้อนกลับ และการบังคับใช้กฎหมาย

“ประเทศไทยได้แสดงความรับผิดชอบและบทบาท ทั้งในฐานะรัฐเจ้าของธง รัฐชายฝั่ง รัฐเจ้าของท่าและรัฐตลาด ในระดับมาตรฐานสากล ส่งผลให้อียูปลดใบเหลืองให้ไทย ซึ่งสะท้อนความสำเร็จที่ไทยได้ยกระดับของการทำประมงเชิงพาณิชย์ ทั้งในและนอกน่านน้ำเข้าสู่มาตรฐานสากล และพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกับอียูเพื่อส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค และจากนี้ไปรัฐบาลไทยยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะขจัดปัญหาการทำประมงไอยูยู เพราะเห็นความจำเป็นในการรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ ไม่เพียงเฉพาะประเทศ แต่รวมถึงทรัพยากรของโลกด้วย ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูได้ถูกกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ”

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ประเทศไทยได้วางรากฐานระบบป้องกันการทำประมงไอยูยูไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว ใน 6 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านกฎหมาย 2.การบริหารจัดการประมง 3.การบริหารจัดการกองเรือ 4.การติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) 5.ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ และ 6.ด้านการบังคับใช้กฎหมาย โดยการดำเนินการระยะต่อไป ทั้งอียูและไทย เห็นชอบร่วมกันเกี่ยวกับแผนงานความร่วมมือเพื่อให้ไทยบรรลุการเป็นประเทศปลอดประมงไอยูยู หรือไอยูยูฟรี ได้โดยสมบูรณ์ รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือในระดับอาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงไอยูยูร่วมกัน

ประกอบด้วย 3 แผนหลัก ได้แก่ 1. การจัดตั้งคณะทำงานไทย-สหภาพยุโรป เรื่องการต่อต้านการทำประมงไอยูยู 2.การจัดตั้งคณะทำงานร่วมอาเซียนเพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมงไอยูยู หรือ ASEAN IUU Task Force เนื่องจากประสบการณ์การแก้ไขปัญหาการทำประมงไอยูยู ที่ไทยสั่งสมเกือบตลอด 4 ปีที่ผ่านมา สามารถร่วมแบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศอื่นๆ ที่ประสบปัญหาเดียวกันได้โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน

“โดยไทยได้เสนอที่จะผลักดันการจัดทำนโยบายประมงอาเซียน (ASEAN General Fisheries Policy) ให้มีผลเป็นรูปธรรม รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานร่วมอาเซียนเพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมงไอยูยูเพื่อเป็นกลไกการป้องกันการทำประมงไอยูยูในระดับภูมิภาคด้วย โดยไทยกำลังเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ASEAN IUU Workshop ในช่วงเดือน เม.ย.2562 เพื่อผลักดันการจัดตั้ง ASEAN IUU Task Force”

สำหรับประเด็นที่ 3 คือ การส่งเสริมการประมงปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากการทำประมงไอยูยู หรือ IUU-free Thailand ตามที่ไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการประมงปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากการทำประมงไอยูยู และนำเสนอการดำเนินงานด้านการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางที่ไทยจะศึกษาเพื่อนำไปสู่ IUU-freeThailand ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมต่อไป

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 9/1/2562

ผู้ประกันตนหากจ่ายเงินสมทบประกันสังคมเกิน ติดต่อขอเงินคืนได้ภายใน 1 ปี

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการดำเนินการประมวลผลระบบกรณีคืนเงินสมทบให้กับผู้ประกันตนที่ทำงานกับนายจ้างหลายราย และส่งเงินสมทบเกิน ว่า สำนักงานประกันสังคมได้มีการประมวลผลระบบดังกล่าว ปีละ 2 ครั้ง และส่งหนังสือแจ้งในช่วงเดือนมิถุนายน และธันวาคม เพื่อคืนเงินสมทบส่วนที่เกินให้กับผู้ประกันตน

โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมได้จัดทำหนังสือส่งถึงผู้ประกันตน เพื่อแจ้งให้ทราบจำนวนเงินสมทบที่ชำระไว้เกินซึ่งมีถึง 60,409 ราย ดังนั้นขอให้ผู้ประกันตนที่ต้องการรับเงินส่วนเกินคืน ด้วยการกรอกข้อความและลงนามในคำขอรับเงินคืนพร้อมแนบหลักฐาน รายละเอียดเงินสมทบส่วนที่เกิน สำเนาสมุดบัญชี เงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ (ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคาร ไทยพาณิชย์ ธนาคารธนชาต ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย) รับรองสำเนาถูกต้อง ส่งทางไปรษณีย์ถึงสำนักงานประกันสังคมภายในเวลาที่ระบุไว้ในคำขอรับเงินคืนตามที่อยู่ซึ่งแจ้งในหนังสือ และให้วงเล็บมุมซองว่า “ขอคืนเงินสมทบ”

หากผู้ประกันตนไม่ได้ยื่นคำขอรับเงินสมทบ ส่วนที่เกินคืนภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่นำส่งเงินสมทบ เงินจำนวนดังกล่าวจะตกเป็นของกองทุนประกันสังคม ดังนั้นจึงขอให้ผู้ประกันตนตรวจสอบและรักษาสิทธิของตนเองให้ถูกต้อง โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลการส่งเงินสมทบของตนเองได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ หรือจังหวัดที่นายจ้างนำส่งเงินสมทบ

ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักเงินสมทบ สำนักงานประกันสังคม หมายเลขโทรศัพท์ 0 2956 2264-7 หรือที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขา ที่ท่านสะดวก และทางโทรศัพท์ สายด่วน 1506 ซึ่งให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 8/1/2562

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท