Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สวนดุสิตโพลสำรวจความเห็นประชาชนคิดอย่างไรกับการเลื่อนเลือกตั้ง ความเห็นอันดับ 1 เป็นไทยมาก ยังกับลุงตู่มาเอง 31.50% “ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายเห็นแก่ส่วนรวมไม่สร้างความวุ่นวายให้บ้านเมือง” อันดับถัด ๆ ไปค่อยแสดงความไม่เห็นด้วย (ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับวิธีตั้งคำตอบให้เลือก)

แต่พอถามว่าเลื่อนเลือกตั้งคุ้มหรือไม่ 63.75% ก็บอกไม่คุ้มค่า เพราะกระทบความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจการเมืองขาดเสถียรภาพ เสื่อมเสียภาพลักษณ์

นั่นแสดงว่า คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่คนส่วนน้อยอยากทำให้เกิดความวุ่นวาย ไม่ใช่แค่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งรับใบสั่งออกมาเคลื่อนไหว อย่างที่ผู้บัญชาการทหารบก ลูกชายอดีตประธาน รสช. กล่าวหา

ซึ่งโลกออนไลน์สวนทันควันว่า “ตอนออกไปไล่พ่อคุณ ผมก็ไปเองไม่ต้องมีใบสั่ง (โว้ย)” (ดัดแปลงภาษาพ่อขุนรามแล้ว)

การเลื่อนเลือกตั้งแม้มีเหตุผลเห็นพ้องกันว่าต้องจัดพระราชพิธี แต่ที่กระทบความเชื่อมั่นก็เพราะรัฐบาล คสช. เลื่อนมาหลายครั้งแล้ว ตั้งแต่ยึดอำนาจมาจะ 5 ปี “ขอเวลาอีกไม่นาน” ร่างรัฐธรรมนูญ 2 ครั้ง ร่างกฎหมายเกือบ 2 ปี ประกาศใช้แล้วยังมีบทเฉพาะกาลยืด 3 เดือน รับปากไปทั่วโลกก็ยังเลื่อนแล้วเลื่อนอีก เห็นชัดว่าต้องการยื้อเวลาให้นานที่สุด

กระทั่งการประกาศผลเลือกตั้ง ซึ่งรัฐธรรมนูญให้เวลา กกต. 60 วัน แต่ความเป็นจริง กกต.ไม่เคยใช้เวลาขนาดนั้น เลือกตั้ง 23 ธ.ค. 2550 กกต.ประกาศผล 3 ม.ค. 2551 เลือกตั้ง 3 ก.ค. 2554 กกต.ประกาศผล 12 ก.ค. 2554 ครั้งนี้ กกต.ก็บอกว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน (ซึ่งถ้าเลือกตั้ง 24 ก.พ. ก็จะได้รัฐบาลใหม่ทันจัดพระราชพิธี) แต่วิษณุ เครืองาม ยังชักใบให้เรือล่ม อ้างว่าระบบบัตรใบเดียวร้องคัดค้านกันมากกว่า

การที่ประชาชนรู้ผลไม่เป็นทางการ รู้ว่าพรรคไหนชนะ รู้ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ตั้งแต่คืนวันเลือกตั้ง แต่ต้องรอนาน 2 เดือน ระหว่างนั้นมันจะเกิดความอึมครึม ปั่นป่วน ไม่ไว้วางใจ และไม่สงบ

การยื้อเวลาทุกวินาที ใช้ทุกโอกาส เพื่ออยู่ในอำนาจต่อไป ประกอบกับคำพูดแบบ “ประชาธิปไตยต้องไม่วุ่นวาย” ประชาชนอย่าให้นักการเมืองหลอก คสช.อุตส่าห์นำบ้านเมืองกลับสู่ความสงบ เหมือนเพลง “ในความทรงจำ” อย่าให้ใครมาทำลาย ฯลฯ

เหล่านี้ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ไว้วางใจ คสช.จะไม่ยอมปล่อยมือจากอำนาจ กองทัพจะไม่เลิกคุกคามการเมือง (ทั้งที่รัฐธรรมนูญ 2560 ให้นั่งคุมวุฒิสภาและกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ) โดยอาจยอมไม่ได้ ต้องทำอะไรสักอย่าง หากประยุทธ์ไม่ได้เป็นนายกฯ ต่อ (ทั้งที่ขอเพียง 126 ส.ส.+250 ส.ว.) หรือไปต่อได้ แต่ถูกต่อต้านหนักจากกระแสประชาธิปไตย

ท่าทีของกองทัพในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจึงสำคัญ ผู้นำต้องนิ่ง ไม่เลือกข้าง ปล่อยให้การเมืองเดินไปตามครรลองประชาธิปไตย (ที่ไม่เต็มใบอยู่แล้ว) อย่าก้าวร้าว อวดเบ่ง กล้ามใหญ่ ทำตัวเป็นผู้ควบคุมประเทศ มองคนเห็นต่างเป็นศัตรู

อย่าลืมว่า 5 ปีที่ผ่านไป ความรู้สึกที่ประชาชนมีต่อทหาร ก็เป็นอย่างที่หม่อมอุ๋ยเขียนไว้ “ความรู้สึกที่ว่าทหารมีอภิสิทธิ์เหนือพลเรือนและความรู้สึกที่ว่าทหารทำตัวเป็นผู้ปกครอง เมื่อนานไปก็มีผลให้ประชาชนทั่วไปไม่ชอบทหารมากขึ้นทุกที ความรู้สึกไม่พอใจทหารในขณะนี้ไม่ต่างจากช่วงเวลา พ.ศ. 2510 ถึง พ.ศ. 2516 หากปล่อยให้สะสมมากขึ้นต่อไป อาจจะเป็นอันตรายต่อบ้านเมืองได้”

ยังจำได้ไหม “สุไม่เอาให้เต้” คนลุกฮือเพราะอะไร เพราะเป็นคำพูดแบบทหารใหญ่ ที่ไม่เห็นหัวประชาชนเลยสักนิด

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/272866

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net