สำรวจเทคนิควิธียื้อ และเลื่อนการเลือกตั้งของรัฐบาล คสช.

ขยับออกไปอีกนิดมาหลายครั้งแล้ว จากการล้มการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 ถึงเวลานี้คนไทยห่างหายจากการเลือกตั้งมานานเกือบ 5 ปี สัญญารายปีของรัฐบาล คสช. ถูกขยับเลื่อนออกไปเรื่อย ด้วยเหตุผล เทคนิควิธีที่หลากหลาย ประชาไทสำรวจข้ออ้าง เทคนิควิธีในการยื้อ และเลื่อนการเลือกตั้ง โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.สปช. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ บวรศักดิ์ เฉลยเป็นเพราะ “เขาอยากอยู่ยาว”

9 ก.พ. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางเยือนกรุงโตเกียว พบชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ไทยจะมีการเลือกตั้งปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559

5 ก.ย. 2558 สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับซึ่ง บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ โดย สปช. ลงมติ เห็นชอบ 105 เสียง ไม่เห็นชอบ 135 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง เป็นเหตุให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกตีตกไป ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) 2557 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 กำหนดให้ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะเปิดให้มีการลงประชามติ การที่จะนำร่างรัฐธรรมนูญไปออกเสียงประชามติได้ จึงต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของ สปช. ก่อน หากได้รับมติเห็นชอบ มีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญต่อไป และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ

ต่อมา 19 ก.พ. 2559 บวรศักดิ์ ได้กล่าวตอนหนึ่งหลังการแถลงข่าวการอบรม หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย” (นธป.) รุ่นที่ 4 โดยระบุว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่จะเสียใจ เพราะร่างรัฐธรรมนูญมาหลายเดือน แต่ถูกล้มในวันเดียว แต่ก็เสียใจเพียงแค่วันเดียว

“หลังจากนั้นก็กลับไปนอนคิดว่า มันอะไรกัน อ่อ...เขาอยากอยู่ยาว ก็ไม่เป็นไร รุ่งขึ้นผมก็ไปทำงานตามปกติ” บวรศักดิ์ กล่าว

2.ขยายเวลาร่างกฎหมายลูก จาก 6+4 สู่ 8+5

27 ก.ย. 2558 ระหว่างการประชุมสหประชาชาติ ครั้งที่ 70 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวกับ บันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติว่า จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงกลางปี 2560

ต่อมา 5 ต.ค. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ แต่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ขึ้น โดยให้มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน และกำหนดกรอบเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน เมื่อร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จให้เข้าสู่ขั้นตอนของการลงประชามติ 4 เดือน และหลังจากรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากประชาชนจะต้องร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 6 เดือน จากนั้นจะใช้เวลา 4 เดือนในการเตรียมการหาเสียงเลือกตั้ง

ฉะนั้นหากมองตามโรดแมปนี้ การเลือกตั้งควรจะเกิดขึ้นในเดือน มิ.ย. 2560 ซึ่งก็คือ ช่วงกลางปี ดังที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวกับเลขาธิการสหประชาชาติ ทว่าในกระบวนการของการร่างรัฐธรรมนูญนั้น กรธ. ได้เขียนใน มาตรา  267 ระบุว่า ให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน (8 เดือน) นับจากวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ และมาตรา 268 ระบุว่า เมื่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ ให้จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน (5 เดือน)

นั่นจึงหมายความว่าการเลือกตั้งที่เคยให้คำมั่นไว้กับ บันคีมูน ต้องเลื่อนออกไปโดยปริยาย

3.รัฐธรรมนูญประกาศใช้หลังประชามติ 8 เดือน ถูกปรับแก้ทั้งหมด 4 ครั้ง

หากยึดตามร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 หากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วกระบวนการต่อจากนั้น กรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ ในระยะเวลาทั้งหมด 240 วัน (8 เดือน)

แต่เนื่องจากการลงประชามติคำถามพ่วงที่กำหนดให้ในช่วง 5 ปีแรก ให้การเลือกนายกรัฐมนตรีมาจากการออกเสียงของรัฐสภา ซึ่งรวมสมาชิกวุฒิสภาด้วย ได้ผ่านความเห็นชอบ จึงทำให้ต้องปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง นี่จึงถือเป็นการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1 ต่อมาเกิดกรณีการตีความคำถามพ่วงว่า ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น สมาชิกวุฒิสภาสามารถที่จะร่วมเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ จึงได้มีการยื่นเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกวุฒิสภา 250 คน สามารถร่วมเสนอชื่อผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ จึงมีการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

จากนั้นขั้นตอนต่อไปคือ การนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าเพื่อให้พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ทรงลงพระปรมาภิไธย กระนั้นก็ตาม ในวันที่ 13 ต.ค. 2559 รัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จสวรรคต จึงเป็นเหตุทำให้กระบวนการดังกล่าวต่อเลื่อนออกไป และจำเป็นต้องมีการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของคำปรารภให้สอดคล้องกับความเป็นจริงหลังรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต ถือเป็นการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งที่ 3 ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าถวายพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10

10 ม.ค. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า องคมนตรีได้แจ้งให้ทราบว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10  ทรงมีรับสั่งให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับผ่านการลงประชามติ ในหมวดพระมหากษัตริย์ เรื่องพระราชอำนาจ

ต่อมา 17 ก.พ. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุว่า รัฐบาลได้นำร่างรัฐธรรมนูญที่ปรับแก้ไขขึ้นทูลเกล้าเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย โดยทรงมีพระราชอำนาจพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญกลับคืนลงมาภายใน 90 วัน ที่สุดแล้วในวันที่ 6 เม.ย. 2560 รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ถูกประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ทำให้โรดแมปการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพิ่งเริ่มต้นจากวันนั้น

4.ใช้เทคนิคทางกฎหมายยื้อการร่างกฎหมายลูก 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง

ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาตรา 267 กำหนดให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ ในระยะเวลา 240 วัน (8 เดือน) ส่วนมาตรา 268 กำหนดว่าเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง , พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง , พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีผลบังคับใช้จะต้องดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ซึ่งนั่นหมายความว่า กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สามารถจัดทำกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จทั้ง 4 ฉบับเพื่อนำพาประเทศกลับสู่การเลือกตั้ง

ต่อมา 3 ต.ค. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา เพื่อพบกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และได้กล่าวกับทรัมป์ว่า ไทยจะมีการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2561

อย่างไรก็ตามกระบวนการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้จัดทำ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นกฎหมายสองฉบับแรก แต่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กลับถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. เป็นสองฉบับท้ายสุด จึงทำให้การเลือกตั้งซึ่งสามารถย่นระยะเวลาให้เกิดขึ้นได้เร็วกว่าที่กรอบเวลาเต็มไม่เกิดขึ้นจริง

5.สนช. แก้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจาฯ 90 วัน

ในวันที่ 30 พ.ย. 2560 สนช. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวภายในระยะเวลา  58 วัน ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีการเสนอให้ปรับแก้ร่างกฎหมายดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้หลังจากประกาศลงราชกิจจานุเบกษา

ต่อมา 26 ม.ค. 2561 สนช. ลงมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็น พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นกฎหมาย โดยจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน ส่งผลให้การเลือกตั้งจะต้องเลื่อนออกไปอีกครั้ง ทั้งนี้หลังจากนั้น สมาชิก สนช. จำนวน 27 คนได้เข้าชื่อรวมกันเพื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในประเด็นการตัดสิทธิการเป็นข้าราชการจากการไม่ไปออกเสียงเลือกตั้ง และประเด็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ กกต. สามารถกาบัตรเลือกตั้งแทนให้กับผู้พิการซึ่งไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ โดยวันที่ 17 เม.ย. 2561 ศาลรัฐธรรมนูญรับตีความกฎหมายดังกล่าว และต่อมาวันที่ 30 พ.ค. 2561 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

ที่สุดแล้วกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งถูกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2561 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.) มีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธ.ค. เป็นวันแรก จึงเริ่มนับหนึ่งกำหนดเวลาต้องจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ให้เสร็จภายใน 150 วัน คือ ไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม 2562

6.อ้างเลือกตั้งเร็ว กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลจะกระทบงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

8 พ.ย. 2561 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวถึงการเตรียมการของคณะรัฐมนตรีในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า ยังคงยืนยันว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 2562 แต่ในทางปฏิบัตินั้นวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ กกต. จะเป็นผู้กำหนด ต่อมาในวันที่ 7 ธ.ค. 2561 ในการประชุมชี้แจงแผนขั้นตอนการดำเนินการทางการเมืองและแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อพรรคการเมือง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ได้มีการชี้แจงโรดแมปสู่การเลือกตั้ง โดยยังคงยืนยันกรอบวันเลือกตั้งเดิมคือวันที่ 24 ก.พ. 2562

ทว่าในช่วงสิ้นปี 2561 มีกระแสข่าวว่าการเลือกตั้งอาจจะถูกเลื่อนออกไปประมาณ 1 เดือน เนื่องจาก กกต. ไม่สามารถจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งได้ทันเวลา ซึ่งหลายพรรคการเมืองต่างเห็นร่วมกันว่าเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น ต่อมา วันที่ 1 ม.ค. 2562 สำนักพระราชวัง เผยแพร่ประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยกำหนดวันพระราชพิธีสำคัญตั้งแต่วันที่ 4-6 พ.ค. 2562

จากนั้นได้เกิดกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งภายหลังงานพระราชพิธีเสร็จสิ้น เพื่อความสงบ ราบรื่น อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่ได้ตอบรับกับการเรียกร้องดังกล่าว แต่เห็นว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะต้องไม่มีกิจกรรมที่เกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้ง เช่นการ จัดตั้งรัฐบาล ทับซ้อนกับช่วงพระราชพิธี ซึ่งตามธรรมเนียมประเพณีไม่ได้มีเพียงแค่ 3 วันเท่านั้น หากแต่พระราชพิธีซึ่งเป็นองค์ประกอบของพิธีบรมราชาภิเษกจะเกิดขึ้นก่อนและหลังวันจริงประมาณครึ่งเดือน

โดย วิษณุ เครืองามได้นำกำหนดการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เข้าชี้แจ้งกับ กกต. แล้วตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. 2561 และเวลานี้ กกต. กำลังรอการประกาศใช้ พ.ร.ฎ. ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งวิษณุ ระบุว่า ร่าง พ.ร.ฎ. ให้มีการเลือกตั้ง เวลานี้ไม่ได้อยู่ในสถานะที่ประกาศใช้ได้

 

หมายเหตุ: สาเล็ม มะดูวา เป็นนักศึกษาฝึกงาน จากคณะรัฐศาสตร์ การปกครอง ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท