Skip to main content
sharethis

ยอดผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กว่า 4 ล้าน ครม.มีมติขยายเวลาระยะ 2 ต่อไป ถึง มิ.ย.62 เพิ่มเงินให้ผู้ผ่านการอบรมพัฒนาคุณภาพชีวิตอีกรายละ 100-200 บาท ต่อไปอีก 6 เดือน ใช้งบกลาง 4.37 พันล้าน หลังสำรวจพบผู้เข้าอบรม 80% มีรายได้เพิ่ม 50 เปอร์เซ็นต์ พร้อมปรับเงื่อนไขให้ชาวบ้านที่ถือบัตรคนจน 14.5 ล้านคน กดเงินสดผ่านบัตรสวัสดิการฯได้รายละ 100-200 บาท เหลือใช้ในร้านค้าประชารัฐแค่รายละ 100 บาท 

16 ม.ค.2562 การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่อาคารบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จ.ลำปาง พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมวานนี้ (15 ม.ค.62) นั้น ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) จ.ลำปาง เห็นชอบให้ขยายเวลาโครงการมาตรการพัฒนาคุณภาพ ชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 2 ต่อไปตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย.2562 หลังจากโครงการสิ้นสุดไปเมื่อเดือน ธ.ค.2561 วงเงินดำเนินการจำนวน 4,370 ล้านบาท เป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการ 4,145,397 ราย ใช้เงินจากงบประมาณรายจ่ายภายใต้กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ให้กระทรวงการคลังดำเนินการเสนอขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 จากงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เมื่อร่างพระราชบัญญัติการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมมีผลบังคับใช้

“สำหรับโครงการมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 2 นี้ จะให้ประชาชนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาลงทะเบียนเพื่อเข้าอบรมพัฒนาคุณภาพชีวิต หลังผ่านการอบรมจะรับเงินเพิ่มจากระยะแรก ถ้ามีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปีจะได้รับเงินเพิ่มรายละ 200 บาทต่อเดือน จากโครงการระยะแรกได้รายละ 300 บาท รวมเป็น 500 บาทต่อเดือน ส่วนผู้ที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาทแต่ไม่เกิน 100,000 บาท เมื่อผ่านการฝึกอบรมจะได้รับเงินเพิ่มรายละ 100 บาทต่อเดือน จากระยะแรกรับรายละ 200 บาท รวมเป็น 300 บาทต่อเดือน เงินที่ได้รับเพิ่มรายละ 200 บาทและ 100 บาทในระยะที่ 2 นี้ ครม.เคยมีมติให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถเบิกออกมาใช้เป็นเงินสดได้ผ่านตู้เอทีเอ็มและสาขาของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้แล้วก่อนหน้านี้ ส่วนเงินที่ได้รับในโครงการระยะที่ 1 รายละ 300 บาทและ 200 บาท มติ ครม.เดิมกำหนดให้ต้องใช้จ่ายผ่านร้านค้าประชารัฐเท่านั้น มีระยะเวลาสิ้นสุดโครงการเดือน ก.ย.2562” พุทธิพงษ์  กล่าว

พุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามการประชุม ครม.ครั้งนี้เห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนการใช้จ่ายเงินในส่วนที่ได้รับในโครงการระยะที่ 1 รายละ 300 บาทและ 200 บาทต่อเดือน ซึ่งเดิมกำหนดให้ต้องใช้จ่ายผ่านร้านค้าประชารัฐเท่านั้น ปรับใหม่ให้สามารถเบิกเป็นเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็มและสาขาของธนาคารกรุงไทยได้ 200 บาทและ 100 บาทต่อเดือน เหลือเงินสำหรับที่ต้องใช้จ่ายผ่านร้านค้าประชารัฐ 100 บาท กำหนดให้เบิกเป็นเงินสดช่วงเวลาตั้งแต่เดือน ก.พ.-เม.ย.2562 เป็นเวลา 3 เดือน เหตุผลที่ให้ปรับเปลี่ยนมาเบิกเป็นเงินสดได้รายละ 200 บาท และ 100 บาทต่อเดือนรอบนี้ เนื่องจากเมื่อต้นปีมีผลสำรวจระบุว่า ประชาชนต้องการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าที่ไม่อยู่ในร้านค้าประชารัฐจำนวนมาก

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวด้วยว่า ส่วนความคืบหน้าของโครงการพบว่า จากจำนวนผู้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 14.5 ล้านคน มีผู้เข้าร่วมโครงการมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 2 จำนวน 4,145,397 ราย ได้รับการพัฒนาแล้ว 3,267,941 ราย จากการติดตามความคืบหน้าการพัฒนาตนเองของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ข้อมูล ณ สิ้นปี 2561 สามารถติดตามได้ 2,607,195 ราย หรือคิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ที่พัฒนาแล้วพบว่า หลังเข้าร่วมโครงการมีรายได้ เพิ่มขึ้นมากกว่า 30,000 บาทต่อปี จำนวน 1,566,353 ราย แบ่งเป็นจำนวนที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 1,451,237 ราย และรายได้เกินกว่า 100,000 บาทต่อปีจำนวน 115,116 ราย สำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ผ่าน การพัฒนาแล้ว แต่ยังมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ต่อปีลดลงอย่างมีนัยสำคัญจำนวน 1,012,727 ราย คงเหลือ 1,040,842 รายหรือคิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์

รายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ระบุในสาระสำคัญของเรื่องว่า กระทรวงการคลังเสนอว่า     

1. ความคืบหน้าของการดำเนินมาตรการฯ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้าร่วมมาตรการฯ จำนวน 4,145,397 ราย ซึ่งได้รับการพัฒนาแล้วจำนวน 3,267,941 ราย และจากผลการติดตามความคืบหน้าการพัฒนาตนเองของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ข้อมูล ณ สิ้นปี 2561 สามารถติดตามได้ จำนวน 2,607,195 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของผู้ที่พัฒนาแล้ว สรุปได้ ดังนี้  

(1) มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 30,000 บาทต่อปี จำนวน 1,566,353 ราย โดยแบ่งเป็นจำนวนที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 1,451,237 ราย (ก่อนพัฒนามีจำนวน 553,626 ราย) และรายได้เกินกว่า 100,000 บาทต่อปี จำนวน 115,116 ราย (ก่อนพัฒนามีจำนวน 0 ราย)

(2) สำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ผ่านการพัฒนาแล้ว แต่ยังมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ลดลงอย่างมีนัยสำคัญถึง 1,012,727 ราย คงเหลือ 1,040,842 ราย (ก่อนพัฒนามีจำนวน 2,053,569 ราย) หรือคิดเป็นร้อยละ 50

2. ข้อเสนอในการดำเนินการต่อไป จากผลการติดตามความคืบหน้าการพัฒนาตนเองของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เข้าร่วมมาตรการฯ ข้อมูล ณ สิ้นปี 2561 สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการฯ มีผลสำเร็จซึ่งมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหลุดพ้นจากเส้นความยากจน (Poverty Line) หรือมีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อปีมีจำนวนที่เพิ่มขึ้น และหลุดพ้นจากความยากจนหรือมีรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อปี มีจำนวนถึง 115,116 ราย จากเดิมก่อนพัฒนาที่ไม่มีผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรายใดมีรายได้เกินกว่า 100,000 บาทต่อปี ดังนั้น เพื่อให้การสนับสนุนและส่งเสริมโอกาสในการพัฒนาตนเองของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และก่อให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพและการมีรายได้ของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว เห็นควรขยายการดำเนินมาตรการฯ ต่อไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2562 ภายใต้ชื่อ “มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2” (มาตรการฯ ระยะที่ 2) โดยมีรายละเอียดดังนี้

(1) หลักการและโครงสร้างการดำเนินงาน คงหลักการและโครงสร้างการดำเนินการเช่นเดียวกับการดำเนินมาตรการฯ ที่ผ่านมา และเพื่อให้ผู้เข้าร่วมมาตรการฯ จำนวน 4,145,397 ราย มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน ให้ได้รับการเติมเงินรายเดือนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ในปี 2559 จะได้รับเงินจำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทในปี 2559 จะได้รับเงินจำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือน ต่อไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2562

(2) กลุ่มเป้าหมายสำหรับมาตรการฯ ระยะที่ 2 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ (2.1) ผู้เข้าร่วมมาตรการฯ ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา (2.2) ผู้ที่ผ่านการพัฒนาแล้วแต่ยังมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี

(3) การพัฒนาภายใต้มาตรการฯ ระยะที่ 2 แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

(3.1) กลุ่มผู้เข้าร่วมมาตรการฯ ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนายังคงเหลือจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มดังกล่าวได้มีการแสดงความประสงค์ว่าจะเข้าร่วมพัฒนาในโครงการพัฒนาของหน่วยงานพัฒนาที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย (กรมการพัฒนาชุมชน) ธ.ก.ส. และ ธ.ออมสิน ดังนั้น จึงเห็นควรเสนอให้หน่วยงานพัฒนาที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาผู้เข้าร่วมมาตรการฯ ในกลุ่มนี้ให้เป็นกลุ่มเป้าหมายแรกภายใต้โครงการของแต่ละหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณประจำปีของหน่วยงานนั้น ๆ หรืองบประมาณที่แต่ละหน่วยงานจะทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป โดยการพัฒนาดังกล่าวจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2562

(3.2) กลุ่มผู้ที่ผ่านการพัฒนาแล้วแต่ยังมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี เห็นควรให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถพัฒนาทักษะและศักยภาพจนสามารถประกอบอาชีพให้มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี ดังนั้น จึงเห็นควรเสนอให้ ธ.ก.ส. และ ธ.ออมสิน ในฐานะผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐดำเนินการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในกลุ่มนี้ต่อไป

(4) งบประมาณ การเติมเงินรายเดือนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับผู้เข้าร่วมมาตรการฯ จำนวน 4,145,397 ราย ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2562 เป็นเงินจำนวน 4,370 ล้านบาท (ประมาณ 728 ล้านบาทต่อเดือน) โดยจะใช้จ่ายจากเงินกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะดำเนินการเสนอขอรับจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เมื่อร่างพระราชบัญญัติการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. .... มีผลบังคับใช้  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net