Skip to main content
sharethis

ในวงถก ‘ข้อ (ไม่) ถกเถียง ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ’ ‘วรเจตน์’ ตอบประเด็นพระราชอำนาจในการวีโต้ร่างพระราชกฤษฎีกาโดยอธิบายแนวคิดหลายสาย แต่สถานการณ์ปัจจุบันทำให้ตอบได้ไม่ถนัดเนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดเรื่องพระราชอำนาจเปลี่ยนแปลงไป

16 ม.ค. 2562 ในงานเปิดตัวหนังสือ ‘นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง ข้อถกเถียงว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญของไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2475-2550’ เขียนโดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล ภายในงานมีการเสวนาหัวข้อ ‘ข้อ (ไม่) ถกเถียง ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ’ จัดโดย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นั้น

ผู้ร่วมฟังการเสวนารายหนึ่งได้สอบถาม วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในวิทยากรว่า

“ขอถามอาจารย์วรเจตน์ อยากให้ช่วยไขข้อข้องใจ กรณีทูลเกล้ากฎหมายขึ้นไปแล้วจะลงหรือไม่ลงพระปรมาภิไธย ในรัฐธรรมนูญบัญญัติเรื่องพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ไว้ชัดเจน แต่ในกรณีของพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) มันยังไงกันแน่ สามารถที่จะไม่ลงพระปรมาภิไธยหรือเก็บเอาไว้ หน่วงเวลาไว้ได้กี่วัน”

วรเจตน์ตอบคำถามนี้ว่า

“เราต้องเข้าใจก่อนว่าพระราชกฤษฎีกาก็เป็นปัญหาในทางกฎหมาย มันถูกใช้ในหลายลักษณะมากๆ มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร มีพระราชกฤษฎีกาที่เป็นกฎหมายที่ออกตามความในพระราชบัญญัติ ประเด็นก็คือในส่วนพระราชกฤษฎีกา ในรัฐธรรมนูญไม่มีฉบับไหนเขียนไว้แม้แต่ฉบับเดียวว่าพระมหากษัตริย์จะมีอำนาจในการวีโต้ร่างพระราชกฤษฎีกาหรือไม่

“พระราชอำนาจในการวีโต้กฎหมายที่ผ่านมามี 2 อย่างคือการวีโต้พระราชบัญญัติที่ผ่านสภาไปแล้ว กับการวีโต้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่มีพระราชอำนาจนี้คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2489 อีกฉบับหนึ่งที่ไม่มีก็คือในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ แต่ฉบับอื่นมีพระราชอำนาจในการวีโต้พระราชบัญญัติมาตลอด แต่เป็นพระราชอำนาจที่ไม่เด็ดขาด ซึ่งอาจารย์สมชายเขียนไว้ในหนังสือว่าการวีโต้ทำได้โดยปริยายคือทิ้งไว้เกิน 90 วันหรือโดยชัดแจ้งนั่นคือส่งคืนสภา ไม่ว่าจะเป็นการวีโต้แบบไหน สภาจะสามารถประชุมกันใหม่และสามารถยืนยันได้

“เรื่องนี้ผมมีความเห็นแตกต่างจากนักกฎหมายมหาชนชื่อดังท่านหนึ่งที่บอกว่า เมื่อสภาร่างพระราชบัญญัติแล้วนำทูลเกล้าถวายแล้วไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยส่งกลับมา ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่าสภาต้องปล่อยร่างนั้นออกไป เพราะท่านมองว่าในสมัยคุณทักษิณ ชินวัตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยวีโต้กฎหมายอยู่สองสามฉบับ แล้วส่งกลับมา สภาก็ปล่อยตก เกิดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติขึ้นมาว่าถ้ากษัตริย์ทรงวีโต้ก็จะปล่อยตก ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับความเห็นนี้เพราะขัดกับตัวบทที่ระบุไว้ชัดเจนให้สภาวีโต้ได้

“ผมจึงมองว่าตัวประเพณีจะเกิดขึ้นโดยขัดกับลายลักษณ์อักษรไม่ได้ อาจเสริมกันได้ แต่ขัดแย้งไม่ได้ ปัจจุบันสภายังมีอำนาจโต้การวีโต้ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่สภาจะใช้อำนาจนี้หรือไม่ หรือมีบริบททางการเมืองให้สภาใช้หรือไม่ใช้ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“ในกรณีพระราชกฤษฎีกาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง พระราชกฤษฎีกาไม่ใช่กฎหมายที่สภาตราขึ้น พระราชกฤษฎีกาบ้านเรามีหลายลักษณะ กฎเกณฑ์สำคัญๆ บางทีก็ทำในฟอร์มของพระราชกฤษฎีกา เช่น การยุบสภา ซึ่งไม่ได้เป็นกฎหมายใช้บังคับกับคนทั่วไป แต่เป็นการสั่งให้สมาชิกภาพของผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง และให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งอำนาจนี้เป็นกรณีที่รัฐบาลถ้าจะยุบสภาจะทำร่างพระราชกฤษฎีกาขึ้นทูลเกล้าถวายให้กษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย

“กรณียุบสภามีการเถียงกันว่าพระมหากษัตริย์จะปฏิเสธไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยได้หรือไม่ บางท่านมีความเห็นว่าปฏิเสธได้ การยุบสภาก็จะไม่เกิดขึ้น อีกฝ่ายก็มองว่าพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจให้คำแนะนำต่างๆ ถ้ารัฐบาลยังคงยืนยัน พระองค์ก็จะทรงอนุโลมตาม มันก็มีความไม่นิ่งอยู่ อันนี้สัมพันธ์กับตัวกฎเกณฑ์ของพระมหากษัตริย์ด้วย

“พอเกิดเรื่องพระราชกฤษฎีกาขึ้นก็อาจจะต้องดูว่ากรณีอะไร อย่างกรณียุบสภามีข้อถกเถียงอยู่ แต่ในพระราชกฤษฎีกาอื่นๆ ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติ เวลาทูลถวายขึ้นไป โดยปกติพระมหากษัตริย์ก็จะทรงลงพระปรมาภิไธย ถือว่าอำนาจรับผิดชอบไปอยู่ที่รัฐมนตรีผู้ที่ลงนามสนองพระราชโองการ อันนี้เป็นปัญหาเรื่องการตีความ ไม่มีกฎหมายที่เขียนไว้ชัดเจนเหมือนเรื่องพระราชบัญญัติ

“ผมคิดว่าตอนที่มีการร่างพระราชกฤษฎีกาคงไม่มีใครคิดว่าจะเป็นปัญหา คำอธิบายอีกอันหนึ่งจากหนังสืออาจารย์หยุด แสงอุทัย กรณีที่รัฐบาลส่งร่างพระราชกฤษฎีกาขึ้นไปแล้วพระองค์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย รัฐบาลต้องลาออก เป็นกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถทำงานหรือประสานงานกับองค์พระมหากษัตริย์ได้แล้ว เป็นความเห็นหนึ่งในทางตำรา แต่ไม่มีใครเขียนเรื่องนี้ไว้ชัดเจน

“แปลว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญบางส่วนที่เป็นความสัมพันธ์แบบนี้ บางเรื่องถูกปล่อยไว้ ไม่มีความชัดเจน และขึ้นกับบริบททางการเมืองแต่ละครั้งว่าเป็นอย่างไร อันนี้จะสัมพันธ์กับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ด้วย หมายความว่าถ้าเข้าใจพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในลักษณะหนึ่ง อาจต้องอธิบายว่าพระองค์อนุโลมที่จะลงพระปรมาภิไธยตามที่รัฐบาลเสนอ เนื่องจากว่าการลงพระปรมาภิไธยนั้น ถ้ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นไม่ต้องรับผิดชอบในทางการเมืองตามหลัก King can do no wrong เป็นเรื่องของผู้ทูลเกล้าถวาย

“แต่แน่นอน ในบางบริบทอาจมีคนเห็นด้วยเป็นอย่างอื่นว่านี่คือพระราชอำนาจแท้ๆ ตามอัธยาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในทางรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น ดังนั้น ผมไม่สามารถให้คำตอบได้

“ตามความเห็นส่วนตัวผมก็เห็นว่า พระองค์มีพระราชอำนาจในการให้คำแนะนำ ตักเตือน และท้วงติง ถ้ารัฐบาลยังคงยืนยันตามนั้น โดยปกติก็จะทรงอนุโลมตามว่าพระองค์ไม่ได้รับผิดชอบเอง แต่หลักเกณฑ์แบบนี้อาจจะอธิบายในปัจจุบันไม่ถนัด เนื่องจากตัวกฎเกณฑ์เรื่องการใช้พระราชอำนาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 มีอำนาจบางอย่างที่รัฐธรรมนูญเขียนให้ใช้ตามพระราชอัธยาศัยด้วย” วรเจตน์ กล่าวตอนท้าย

สำหรับการประกาศร่างพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. .... (พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส.) ที่มีประเด็นขณะนี้นั้น เนื่องจากยังไม่มีประกาศส่งผลต่อการกำหนดวันเลือกตั้งที่อาจะต้องเลื่อนจากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 24 ก.พ.2562 โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วพบหนังสือเวียนกรมการปกครองถึงนายทะเบียนทุกจังหวัด สั่งระงับการดำเนินการตามแผนงานเตรียมการเลือกตั้งไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากได้รับการประสานจาก กกต. ว่า พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส. ยังไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต่อมา (ตามรายงานของ ช่อง 7 ) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงหนังสือเวียนดังกล่าวว่า ไม่มีนัยแอบแฝงเพราะเมื่อกระทรวงมหาดไทย ที่รับผิดชอบงานทะเบียนราษฎร์ ต้องจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ จัดพื้นที่หน่วยเลือกตั้ง และแจ้งเจ้าบ้าน เมื่อได้รับการประสานจาก กกต. ว่ายังไม่มีประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งตามกำหนดเดิม ก็เลยขอชะลอแผนงานเตรียมการเลือกตั้ง ที่ได้แจ้งไว้เท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net