Skip to main content
sharethis

 

ประชุมหารือยกเลือกคำขอสิทธิบัตรกัญชาล่ม กรมทรัพย์สินฯ อ้างข้อตกลง TRIPs ยกเว้นให้มีการขอสิทธิบัตรได้ ภาคประชาสังคมระบุ ยกเลิกจริง 3 คำขอฯ มีโอกาสยื่นอุทธรณ์ ขณะที่อีก 7 คำขอฯ ยังไม่ยกเลิก เป็นของบริษัทเดียวกัน นักกฎหมายชี้ กระทรวงพาณิชย์แก้กฎหมายตามอำเภอใจ ตีความสิ่งที่ไม่มีในกฎหมาย เอื้อทุนต่างชาติ

 

17 ม.ค. 2562 วันนี้ ภายหลังการประชุมหารือระหว่างฝ่ายภาคประชาสังคม กับฝ่ายกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาข้อยุติกรณีการเรียกร้องให้มีการยกเลิกคำขอสิทธิบัตรกัญชาที่ผิดกฎหมายที่ยังเหลือค้างอยู่อีก 7 คำขอ โดยมี กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch, ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย และ คมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต ตัวแทนจากภาคประชาสังคมร่วมแถลงผลการประชุม

 

กรมทรัพย์สินฯ อ้างข้อตกลง TRIPs ยกเว้นให้มีการขอสิทธิบัตรได้

 

กรรณิการ์กล่าวว่า วันนี้ภาคประชาสังคมค่อนข้างสงสัยในเจตนาของกรมทรัพย์สินทางปัญญาและกระทรวงพาณิชน์ เพราะเราพบว่า รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ไม่มาและอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาอ้างว่าติดราชการไปต่างจังหวัด ทั้งที่กำหนดการนี้เราให้ไว้ตั้งแต่ศุกร์ที่แล้ว ซึ่งเป็นวันที่เราว่างตรงกัน สามทางกรมฯ ไม่ต้องการยกเลิกสิทธิบัตรที่ขัดกับ พ.ร.บ.สิทธิบัตร ในมาตรา 9 โดยคำอธิบายของกรมทรัพย์สินทางปัญหายกแนวปฏิบัติตามความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPs) ภายใต้องค์กรการค้าโลก ในมาตรา 27.2

 

สมชาย รัตนชื่อสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ได้อธิบายการตีความมาตรา 27.2 ไว้ในเพจกุ๊กกิ๊กกฎหมายกับอ.สมชายว่า “สิ่งประดิษฐ์ที่ในตัวมันเองไม่ได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยอะไรเลย แต่ใช้มันไม่ได้ เพราะมีกฎหมายห้ามไว้ แบบนี้จะถึงกับไม่ให้สิทธิบัตรไม่ได้ ดังนั้น แม้กฎหมายจะห้ามไม่ให้ใช้สิ่งประดิษฐ์นั้น(ในประเทศ) แต่ถ้าหากมายื่นขอสิทธิบัตรการประดิษฐ์นั้น ก็ยังต้องให้สิทธิบัตรอยู่นะ จะปฏิเสธไม่ให้เสียเลยไม่ได้”

 

กรรณิการ์กล่าวต่อว่า วันนี้มีเพียงฝ่ายกฎหมายของกรมทรัพย์สินทางปัญญามา และแจ้งว่ามาเพียงรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แล้วเจ้าหน้าที่จะดำเนินการต่อ เช่น ถ้ากฎหมายไม่ชัด ก็จะไปแก้กฎหมาย แต่แนวปฏิบัติที่ทำมาแล้วมีข้อสงสัยว่าจะผิดกฎหมายกลับไม่บอกว่าจะยกเลิก เช่น การไม่ยกเลิกคำขอสิทธิบัตรที่ไม่ถูกต้องตามมาตรา

นอกจากนี้ทางฝ่ายกฎหมายของกรมฯ ยังยกตัวอย่างประเทศที่มีมาตรา 9(5) คือ สิ่งประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะขัดต่อศีลธรรมอันดี ขัดต่อความสงบ แต่ยกตัวอย่างเฉพาะประเทศที่ให้สิทธิบัตรกัญชา โดยไม่ยกบริบทของแต่ละประเทศ เพราะบางประเทศให้สิทธิบัตรหลังปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์หรือเชิงสันทนาการแล้ว ส่วนประเทศที่มีมาตรา 9(5) แล้วไม่ให้สิทธิบัตรอย่างบราซิล หรือหลายประเทศในยุโรป กลับไม่ยกตัวอย่างมา

 

ยกเลิกจริง 3 คำขอฯ มีโอกาสยื่นอุทธรณ์ ขณะที่อีก 7 คำขอฯ ยังไม่ยกเลิก เป็นของบริษัทเดียวกัน

 

กรรณิการ์กล่าวต่อว่า ส่วนสิทธิบัตรที่กรมฯ บอกว่ายกเลิกแล้ว เราเห็นว่ามีการแจ้งยกเลิกตามมาตรา 5 แล้วให้โอกาสผู้ขอสิทธิบัตรมาอุทธรณ์ภายใน 90 วัน แต่ทั้ง 3 สิทธิบัตรเป็นของบริษัทอื่นๆ เพราะอีก 7 คำขอสิทธิบัตรกัญชามาจากบริษัทเดียวของ GW Pharmaceuticals และ โอซูกะ

“ใน 7 คำขอฯ นี้ประกอบด้วยโรคลมบ้าหมู ต่อต้านเนื้องอก โรคลมชัก ยาต้านโรคจิต มะเร็ง บำบัดประสาท ฉะนั้นต้องบอกว่าประชาชนที่กำลังรอการปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์ ขณะนี้คุณได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะดูเหมือนกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะไม่ดำเนินการอย่างจริงจังกับคำขอเหล่านี้ และด้วยเหตุผลนี้ก็ทำให้ สนช. ไม่ทูลเกล้าถวาย พ.ร.บ. ยาเสพติดที่ปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์” กรรณิการ์กล่าว

ปานเทพตั้งข้อสังเกตว่า กรณี 3 คำขอที่ถูกยก ใช้มาตรา 5 เรื่องความใหม่ ซึ่งยังเปิดโอกาสให้อุทธรณ์ได้ แต่ถ้าใช้มาตรา 9 คือปิดประตูทันที ยกเลิกทั้งหมด ดังนั้นเขาหลีกเลี่ยงไม่ใช่ 9(5) ทั้งที่เป็นสารที่มาจากกัญชา นอกจากนี้ 7 คำขอฯ เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ทั้งสิ้น และเป็นบริษัทที่สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปพบกับบริษัทโอซูกะที่ญี่ปุ่น

“สิ่งที่คุณกำลังทำคือข้อกฎหมายมาตบตาประชาชน ผมคิดว่าไม่มีประโยชน์ และถ้ามีการประชุมแบบนี้อีกเราขอไม่เข้าร่วมแล้ว ถ้ารัฐบาลยังไม่มีความจริงใจในเรื่องของประโยชน์กัญชาต่อประชาชน ประชาชนเองก็ต้องตัดสินใจในวันเลือกตั้ง” ปานเทพกล่าว

ปานเทพระบุว่า หลังจากนี้ภาคประชาสังคมจะดำเนินการทั้งมาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางสังคม และมาตรการทางการเมือง ขอให้ติดตามต่อไป

 

นักกฎหมายชี้ กระทรวงพาณิชย์แก้กฎหมายตามอำเภอใจ ตีความสิ่งที่ไม่มีในกฎหมาย เอื้อทุนต่างชาติ

 

คมสันกล่าวว่าจะยกข้อตกลง TRIPs หรืออะไรก็ตาม จะต้องแก้กฎหมายภายในประเทศก่อน เพื่อเปิดให้มีการใช้ข้อยกเว้นได้ ดังนั้นโดยหลักการเรื่องนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ไปแก้กฎหมายแนวปฏิบัติกรมโดยไม่มีอำนาจ เท่ากับกรมแก้กฎหมายโดยไม่ผ่านสภา ถ้ายอมแบบนี้แสดงว่าฝ่ายบริหารจะแก้กฎหมายได้ตามอำเภอใจโดยสภาไม่ต้องรับรู้ จะละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างไรก็ได้

คมสันอธิบายว่า การตีความกฎหมายทำได้เมื่อกฎหมายเขียนไม่ชัด จำเป็นต้องตีความ ขณะที่การอุดช่องว่างทางกฎหมายคือกรณีที่กฎหมายไม่เขียนแล้วจำเป็นต้องใช้กับกรณีที่เกิดขึ้น ในลักษณะที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ แต่กรณีนี้เห็นได้ชัดว่ามาตรา 9(5) เขียนแบบไม่มีความคลุมเครือ กรมทรัพย์สินทางปัญญาพยายามยกกฎหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.ยา, พ.ร.บ.อาวุธปืน เพื่อบอกว่ากฎหมายเหล่านี้มีข้อยกเว้นที่สามารถขอใบอนุญาตได้ ดังนั้น พ.ร.บ.สิทธิบัตร ก็ควรเป็นเช่นกัน ซึ่งตนบอกว่าก็เพราะ พ.ร.บ. เหล่านั้นเขียนชัดว่ามีข้อยกเว้น แต่ พ.ร.บ. สิทธิบัตรไม่ได้เขียน เพราะฉะนั้นตีความเอาสิ่งที่ไม่มีในกฎหมายมาอุดช่องว่างในกรณีนี้ไม่ได้

นอกจากนี้คมสันกล่าวว่า ที่ยกว่าหลายประเทศทำได้ ต้องแยกว่าเป็น common law หรือ civil law ถ้า common law  ตีความตามคำพิพากษาได้ แต่ไทยเป็น civil law เป็นระบบประมวลกฎหมาย กฎหมายเขียนอย่างไรไปขยายไม่ได้ ซึ่งทางกรมฯ ก็ยอมรับในข้อนี้

“เปรียบเทียบว่า กติกาของกรมฯ เอื้อให้ต่างชาติไปรออยู่ที่หน้าเส้นชัย ส่วนคนไทยอยู่ที่จุดสตาร์ท ปลดล็อกเมื่อไหร่เขาก็เข้าเส้นชัยได้เร็วกว่า ดังนั้นแนวปฏิบัติแบบนี้จึงเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างคนไทยกับต่างชาติ ซึ่งชัดกับรัฐธรรมนูญ” คมสันกล่าว

 

แถลงการณ์หลังหารือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา
โดย มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI), มหาวิทยาลัยรังสิต, สภาการแพทย์แผนไทย และ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)

1. การหารือในวันนี้เกิดขึ้นจากการประชุมร่วมเมื่อวันศุกร์ที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ขอให้ภาควิชาการและภาคประชาสังคมช่วยหาทางออกกับปัญหาสิทธิบัตรกัญชาที่กระทรวงพาณิชย์กำลังเผชิญอยู่ แต่ปรากฏว่า การประชุมในวันนี้ ไม่มีฝ่ายนโยบายในระดับรัฐมนตรี หรือผู้มีอำนาจตัดสินใจในระดับกรม เช่น อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือรองอธิบดีเข้าร่วมประชุม แต่อย่างใด มีเพียง ผอ.สำนักกฎหมายและ ผอ.กองสิทธิบัตร เข้าร่วมประชุม โดยอ้างว่า อธิบดีติดภารกิจต่างจังหวัด ซึ่งสะท้อนให้เห็นเจตนาที่ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา

2.ผลการหารือเพื่อแก้ปัญหาสิทธิบัตรกัญชาระหว่างภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ชัดเจนว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์มีเจตนาไม่ต้องการยกเลิกสิทธิบ้ตรคำขอสิทธิบัตร ที่ขัดมาตรา 9 ที่ว่าด้วยสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือขอสิทธิบัตรไม่ได้ โดยเฉพาะมาตรา 9(5) ที่ว่าด้วยการประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีอนามัย หรือสวัสดิภาพของประชาชน

โดยทางกรมฯ ยกแนวปฏิบัติของประเทศที่อนุญาตให้จดสิทธิบัตรกัญชา โดยไม่ยกตัวอย่างอีกหลายประเทศที่สาระกฎหมายสิทธิบัตรตาม ม.9(5) ของไทย แต่ปฎิเสธคำขอโดยใช้ประเด็นขัดต่อความสงบเรียบร้อย ด้วยเหตุที่กัญชายังเป็นยาเสพติด เช่น บราซิล และบางประเทศในสหภาพยุโรป เป็นต้น อีกทั้งไม่ได้รายงานเงื่อนเวลาว่า ประเทศที่ให้จดสิทธิบัตร เกิดขึ้นหลังการปลดล็อคการใช้กัญชาทางการแพทย์แล้วหรือไม่

แสดงให้เห็นเจตนาในการเลือกใช้ข้อมูลเพื่อสร้างความชอบธรรมในการไม่ยกคำขอสิทธิบัตรกัญชาที่ค้างคาอยู่

3. ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา แจ้งผู้เข้าร่วมประชุมเพียงว่า จะรับความคิดเห็นของภาควิชาการและภาคประชาสังคมเท่านั้น เจ้าหน้าที่จะไปพิจารณาดำเนินการต่อ โดยไม่ได้รับปากจะดำเนินการใดๆเพื่อการยกเลิกคำขอแต่ประการใด

4. แม้ว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ทำหนังสือแจ้งปฏิเสธคำขอรับสิทธิบัตรกัญชา 3 คำขอไปยังผู้ขอแล้วดังนี้ คือ 0501005232, 0601002456 และ 0301001207 ตาม มาตรา 27 โดยให้เวลาอุทธรณ์ 90 วัน และอีก 3 คำขอ ผู้ยื่นขอละทิ้งเอง

อย่างไรก็ตาม คำขอสิทธิบัตร เลขที่ 1101003758 ของบริษัท GW Pharma และ Otsuka ซึ่งนายสนธิรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 ว่าได้เพิกถอนไปแล้วนั้น ไม่เป็นความจริง กรมฯยังไม่ได้ดำเนินการเพิกถอน เช่นเดียวกับคำขอของบริษัท GW Pharma และ Otsuka อีก 6 คำขอที่ยังอยู่ในระบบคำขอสิทธิบัตร โดยเป็นคำขอที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิบัตรกัญชาเพื่อรักษาโรคลมบ้าหมู ต่อต้านเนื้องอกรักษาโรคลมชัก ยาต้านโรคจิต รักษามะเร็ง บำบัดประสาท เป็นต้น

การที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาปล่อยให้คำขอเหล่านี้ยังคาอยู่ในระบบ เป็นเหตุผลหลักที่รัฐบาลยังไม่ทูลเกล้า ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติด แม้จะผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อปลดล็อคการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อลงพระปรมาภิไธย ทำให้ผู้ป่วยในประเทศไทยเข้าไม่ถึงการใช้กัญชาและพืชกระท่อมทางการแพทย์ในการรักษาโรคและยังขัดขวางการทำวิจัยและเสียโอกาสในพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาและพืชกระท่อมทางการแพทย์

ย้ำอีกครั้งว่า 7 คำขอสิทธิบัตรกัญชาที่เป็นปัญหาขณะนี้ ล้วนแต่เป็นคำขอของบริษัท GW Pharma และ Otsuka ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกับที่ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายก ไปเยือนทั้งในไทยและญี่ปุ่น อีกทั้งคำขอทั้ง 7 ประกาศโฆษณาและยื่นตรวจสอบในรัฐบาล คสช.ทั้งสิ้น

5.ดังนั้น ตัวแทนภาควิชาการและภาคประชาสังคม เห็นร่วมกันว่าไม่มีประโยชน์ใดๆที่จะเข้าร่วมประชุมเพื่อหาทางออกเรื่องนี้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาและกระทรวงพาณิชย์อีกต่อไป จากความไม่จริงใจจะแก้ปัญหาเพื่อยกเลิกสิทธิบัตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามคำแถลงก่อนหน้านี้ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ภาคประชาสังคมกัญชาเพื่อการแพทย์ จึงขอประกาศว่า จะดำเนินการโดยการฟ้องร้องต่อศาล พร้อมกับการหารือกับประชาชนทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และผู้มีอำนาจ เพื่อเคลื่อนไหวทั้งทางสังคมและการเมืองให้มีการยกเลิกคำขอสิทธิบัตรดังกล่าวโดยเร็ว

17 มกราคม 2562

หมายเหตุ 7 คำขอของ GW Pharma และ Otsuka ประกอบไปด้วย 1101003758, 0901002471, 1301003751, 0801006631, 1201004672, 1401001619 และ 1201005115

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net