Skip to main content
sharethis

‘วรเจตน์’ เห็นว่าการถกเถียงเกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ของพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญไทยเริ่มต้นจากความอื้ออึงและกลายเป็นความเงียบงันในที่สุด เป็นความเงียบชนิดที่เข็มหล่นยังได้ยิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ไม่มีการถกเถียงอภิปรายในประเด็นนี้เลย

  • การถกเถียงเรื่องสถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญเริ่มต้นจากความอื้ออึงและกลายเป็นเงียบงันในภายหลัง
  • อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของใคร?
  • อำนาจรัฐในระบอบประชาธิปไตยต้องสืบสาวความชอบธรรมย้อนกลับไปได้ถึงตัวประชาชน
  • รัฐธรรมนูญปี 2560 มีความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับอำนาจพระมหากษัตริย์อย่างมีนัยสำคัญ

ในงานเปิดตัวหนังสือ ‘นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง ข้อถกเถียงว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญของไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2475-2550’ เขียนโดยสมชาย ปรีชาศิลปกุล ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ภายในงานมีการเสวนาหัวข้อ ‘ข้อ (ไม่) ถกเถียง ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ’

วิทยากรคนหนึ่งที่มาร่วมเวทีคือวรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้พูดถึงหนังสือเล่มนี้ และความอื้ออึงสู่ความเงียบงันเกี่ยวกับประเด็นพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญว่า

งานของอาจารย์สมชายเล่มนี้เป็นข้ออภิปรายที่เกิดขึ้นจริงๆ ในการจัดทำรัฐธรรมนูญหลายฉบับ ถ้าอ่านหนังสือนี้ทั้งหมดจะเห็นว่าอาจารย์สมชายไม่ได้พยายามประเมินคุณค่าของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่พยายามชี้ว่ามีข้อถกเถียงอะไรเกิดขึ้นบ้าง แล้วก็ให้ผู้อ่านได้อ่าน ทำความเข้าใจ จะคิดเห็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของผู้อ่าน แล้วจะเห็นว่ามีอะไรที่เป็นข้อถกเถียงบ้างและอะไรที่ไม่ถกเถียงกัน

ในหนังสือเล่มนี้อาจารย์สมชายแบ่งบทเป็นเรื่องอำนาจอธิปไตย สถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ อำนาจวีโต้ร่างกฎหมาย การสืบราชสมบัติ เรื่ององคมนตรี ฐานะความเป็นประมุขแห่งกองทัพ และจบลงด้วยการประกอบสร้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็พยายามนำข้อถกเถียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการร่างรัฐธรรมนูญมาจัดหมวดหมู่ เอาประเด็นเป็นตัวตั้ง ซึ่งมีข้อดีคือเห็นบรรยากาศของการอภิปราย เห็นความลึกของการอภิปรายในช่วงเวลาที่ไม่เหมือนกัน

รายละเอียดเกี่ยวกับการสั่งซื้อหนังสือ 'นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง' เพิ่มเติมได้ที่ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน 

จากความอื้ออึงสู่ความเงียบงัน

เมื่ออ่านทั้งหมดเราจะพบได้อย่างหนึ่งว่า ข้อถกเถียงเรื่องพระมหากษัตริย์ในการร่างรัฐธรรมนูญนั้น มันเริ่มจากความอื้ออึงไปสู่ความเงียบงัน คือถกเถียงกันเต็มที่พอสมควร มีความเห็นต่างกันได้ค่อนข้างตรงไปตรงมาพอสมควร แล้วไปสู่การไม่ถกเถียงกันในที่สุด

อย่างไรก็ตาม มันมีบางเรื่องที่อาจจะเป็นประเด็นที่หลายท่านจะศึกษาต่อไป พระราชอำนาจอันหนึ่งที่ปรากฏตัวในช่วงหลังและมีความสำคัญก็คือประเด็นเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญที่มีการทำประชามติ ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญทางกฎหมายที่จะบ่งชี้ให้เห็นว่า ตกลงแล้วอำนาจสูงสุดจริงๆ ในการสถาปนารัฐธรรมนูญนั้นเป็นของใคร เพราะถึงจะมีการอธิบายว่าเป็นเรื่องพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์กับประชาชนร่วมกันก็ตาม แต่สุดท้ายจะต้องมีหน่วยใดหน่วยหนึ่งที่มีอำนาจอย่างแท้จริงในการสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นมา ซึ่งผมคิดว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ยังไม่มีการอภิปรายได้อย่างตรงไปตรงมาในสังคมไทย

แต่ถ้าเราดูจะพบว่าพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในเรื่องนี้มีมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านการลงประชามติมาแล้ว พระองค์ก็ยังสามารถวีโต้หรือไม่ลงพระปรมาภิไธยได้ ซึ่งในช่วงต้นๆ อาจไม่เป็นแบบนี้ ในรัฐธรรมนูญปี 2489 ถึงขนาดที่รัฐธรรมนูญนั้นไม่ให้อำนาจพระมหากษัตริย์ไม่ลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญที่ผ่านสภาแล้ว อำนาจวีโต้ในรัฐธรรมนูญฉบับนั้นจำกัดอยู่แต่ในพระราชบัญญัติเท่านั้น แล้วก็มีความเปลี่ยนแปลงพอสมควรเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระองค์

เวลาอ่านหนังสือเล่มนี้ เราอาจสนุกถ้าพยายามเถียงไปด้วย ที่อาจารย์สมชายคัดมา แต่ละคนเถียงอย่างไร มีประเด็นอย่างไร แล้วแต่ละฝ่ายมีเหตุผลอย่างไร เหตุผลฝ่ายไหนมีความน่าเชื่อถือมากกว่ากัน ตอนที่ผมอ่าน อ่านแล้วอยากรู้จัก ส.ส. บางท่านว่า เขามีภูมิหลังชีวิตอย่างไร ทำไมจึงอภิปรายได้ในลักษณะแบบนี้ มีหลายคนที่น่าสนใจ คนหนึ่งที่อยากรู้ประวัติเขามากคือร้อยโททองดำ คล้ายโอภาส ส.ส.ปราจีนบุรี ท่านพูดได้ตรงไปตรงมาดี และเราจะหาการอภิปรายแบบนี้ในยุคสมัยหลังไม่ได้แล้ว

อีกอันหนึ่งก็คือการอภิปรายในการจัดทำรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ข้ออภิปรายมีทั้งส่วนที่เป็นความเห็นและข้อเท็จจริง ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่อาจต้องมีคนทำต่อไปก็คือตรวจสอบว่าข้อมูลที่มีการอภิปราย อ้างอิงกฎหมายหรือแนวทางปฏิบัติของต่างประเทศ มันถูกต้องหรือไม่ เพราะในการอภิปราย คนที่ไม่เห็นด้วยก็อาจไม่มีเวลาไปเช็คข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางท่านเรียนจบจากต่างประเทศมาก็จะอ้างแบบนั้น แต่ความจริงคือข้อที่อ้างเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือเปล่า

ยกตัวอย่างการอ้างประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการมีสภาขุนนางเพื่อสนับสนุนการมีวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง ซึ่งดีเบตเรื่องนี้ไม่ไปไหนเลย เพราะเมื่อ 11 ปีก่อนตอนที่ผมได้ไปอภิปรายที่บ้านมนังคศิลา ตอนดีเบตรัฐธรรมนูญปี 2550 อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งนี้ซึ่งเป็นคู่อภิปรายกับผม ท่านยืนยันว่าอังกฤษ House of Lords ยังมาจากการแต่งตั้งเลย เพราะผมสนับสนุนให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งมากกว่า เพราะถ้ามาจากการแต่งตั้งอาจมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยด้วย แต่ท่านอ้างอังกฤษ ข้อถกเถียงระหว่างผมกับท่าน ถ้าย้อนกลับไป มันก็เคยมีข้อถกเถียงนี้มาแล้วในสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ผ่านไปหลายสิบปี ประเด็นก็ยังเป็นแบบนี้อยู่

แต่ประเด็นคือเวลายกมาเทียบไม่มีการพูดถึงอำนาจหน้าที่ แล้วประเด็นนี้มันเทียบกันได้หรือไม่ House of Lords อาจจะมาจากการแต่งตั้ง ซึ่งทุกวันนี้อำนาจก็เปลี่ยนไปมากแล้วในปัจจุบัน แต่ถามว่าเขามีอำนาจแบบที่วุฒิสภาเราเคยมีหรือที่กำลังจะมีหรือไม่ มันสามารถเทียบกันได้หรือไม่ ยิ่งถ้าเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2560 House of Lords มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้หรือเปล่า เขามี House of Lords 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งแล้วสามารถร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือเปล่า

เพราะฉะนั้นเวลาที่เราอ่าน เราอาจต้องลองเช็คข้อมูลและห้วงเวลาด้วย อังกฤษเองก็มีพัฒนาการของเขา มันมีห้วงเวลาที่ต่างกัน ขึ้นกับว่าคุณหยิบพัฒนาการในช่วงเวลาไหนมาอ้างเพื่อสนับสนุนความเห็นของตัวเอง

รัฐธรรมนูญ การปะทะกันทางอุดมการณ์

ในส่วนที่ผมอยากจะพูด ถ้าเราดูหนังสือเล่มนี้ทั้งหมด เราจะพบประเด็นสำคัญของข้อถกเถียงคือการปะทะกันของคุณค่า ความเชื่อ ผลประโยชน์ ของคนซึ่งมีบทบาทในการจัดทำรัฐธรรมนูญไม่ว่าในห้วงเวลาไหนก็ตาม อาจารย์สมชายได้ชี้ให้เห็นในเบื้องต้นแล้วว่าหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองแบบใหม่

แน่นอนว่าการจัดวางสถานะหรือตำแหน่งแห่งที่ของพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ มันเป็นเรื่องที่แต่ละฝ่ายอาจมองไม่ตรงกัน และต้องมาปะทะ ต่อสู้ เพื่อให้เกิดข้อสรุปขึ้นเป็นกฎเกณฑ์ว่าจะเอาอย่างไร หลายคนคงทราบว่าก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในหลวงรัชกาลที่ 7 มีดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ ตรงนี้ถูกหยิบยกมาอ้างบ่อยๆ ว่าคณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม แต่ถ้าเราย้อนกลับไปดูร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างขึ้นแล้วไม่มีการประกาศใช้ เราจะเห็นว่ามันมีความไม่ลงรอยกันอยู่แล้วในเรื่องตำแหน่งแห่งที่ของพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ

ในร่างรัฐธรรมนูญที่มีการทำขึ้นก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง กำหนดว่าอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดตลอดพระราชอาณาจักรนั้นเป็นของพระมหากษัตริย์ ในขณะที่ปฐมรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าอำนาจสูงสุดนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย การบอกว่าแหล่งที่มาของอำนาจอยู่ที่ใคร มันไม่ตรงกัน พอคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วมีการนำรัฐธรรมนูญที่ทำไว้ขึ้นทูลเกล้าให้ในหลวงรัชกาลที่ 7 ลงพระปรมาภิไธย พระองค์จึงเติมคำว่าชั่วคราวลงไป รัฐธรรมนูญฉบับแรกจึงเรียกว่าธรรมนูญการปกครองสยามชั่วคราว 2475

ถามว่าทำไมพระองค์จึงเติมคำว่าชั่วคราวลงไป ในด้านหนึ่งคือเข้าใจไม่ตรงกัน ในหลวงรัชกาลที่ 7 เองก็มีพระราชดำรัสว่าพอได้อ่านธรรมนูญการปกครองแล้วก็ไม่เห็นด้วย เมื่อเติมคำว่าชั่วคราวลงไป ก็มีผลให้ต้องกลับมาร่างกันใหม่ในเวลาต่อมา และเกิดการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอาจารย์สมชายก็ได้ยกข้ออภิปรายบางเรื่องมาไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย

แต่ผมอยากชี้ประเด็นว่า เอาเข้าจริงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จะว่าไปอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญตามที่คณะราษฎรต้องการไม่ได้เกิดขึ้นจริง อำนาจจริงๆ อาจจะอยู่ 3 วันเท่านั้น และเมื่อประกาศใช้ธรรมนูญชั่วคราวแล้วก็ต้องกลับมาประนีประนอมกัน

การประนีประนอมเกิดจากการที่ผู้มายกร่างรัฐธรรมนูญ มีคนยกร่าง 7 คน ปรีดี พนมยงค์ เป็น 1 ใน 7 ที่เหลือเป็นขุนนางจากระบอบเดิม ในชั้นของการร่างเห็นได้ชัดว่ามีความพยายามอะลุ้มอล่วยกัน เราจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญสยาม 10 ธันวาคม 2475 มีหน้าตาเปลี่ยนไปเลยจากพระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองสยามชั่วคราว เรียกว่าเป็นคนละเรื่องเลย เปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย อาจารย์สมชายได้เขียนไว้ แต่ไม่มีใครอภิปรายว่าการเปลี่ยนนี้มีนัยสำคัญอย่างไร มีความหมายอย่างไร เพราะเดิมทีองค์กรที่ใช้อำนาจแทนราษฎรมี 4 องค์กรคือพระมหากษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎร และศาล แต่รัฐธรรมนูญ 2475 ได้เปลี่ยนเป็นว่า อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวสยาม แต่พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้

เราอาจจะเห็นว่าการปะทะกันของคุณค่า ความเชื่อ อุดมการณ์ต่างๆ ได้สรุปออกมาในรัฐธรรมนูญในลักษณะที่ประนีประนอมพอสมควร แต่ผมก็ยังมองว่าการประนีประนอมความคิดที่มีมาแต่เดิมกับแนวความคิดใหม่ มันน่าจะมีส่วนผสมที่ในสมัยนั้นลงตัวในระดับหนึ่ง แน่นอนว่าโดยทัศนะผม ผมจะเห็นพ้องกับพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยามมากกว่า แต่ถามว่าเมื่ออ่านรัฐธรรมนูญ 2475 เข้าใจได้หรือไม่ว่าเป็นการประนีประนอมสถาบันทางจารีตที่มีมาแต่เดิมกับความคิดใหม่ที่มาจากต่างประเทศได้ลงตัวในระดับหนึ่ง ผมคิดว่าพอจะพูดแบบนั้นได้

เราจะเห็นได้จากคำอภิปรายของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาพูดถึงหลัก The king can do no wrong และเมื่อเราอ่านคำอภิปรายของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ถ้าจัดในยุคสมัยเราต้องถือว่าเป็นฝ่ายนิยมกษัตริย์ จะพบว่าคำอธิบายของท่านไปด้วยกันได้กับตัวรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นใหม่ ท่านบอกว่าพระมหากษัตริย์จะทำกิจกรรมใดต้องมีคนลงนามรับสนองพระบรมราชโองการถึงจะมีผลในทางกฎหมายได้ เป็นความเข้าใจที่ตรงกันในช่วงที่มีการประนีประนอมกัน

จุดกำเนิดแท้จริงของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แต่กฎเกณฑ์ที่เกิดขึ้นมาก็ใช้ประมาณ 15 ปี ต่อมาเกิดรัฐธรรมนูญปี 2489 หลังจากนั้นเกิดการรัฐประหารในปี 2490 ซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญยิ่ง มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2490 ที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มหรือตุ่มแดง แล้วต่อมาก็มีการจัดทำสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้น ผลพวงของการตั้ง สสร. ในปี 2490 ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญปี 2492 สำหรับผมรัฐธรรมนูญปี 2492 คือจุดกำเนิดอย่างแท้จริงของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การประเมินคุณค่ารัฐธรรมนูญปี 2492 ค่อนข้างถูกประเมินแตกต่างกัน นักวิชาการจำนวนหนึ่งเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2492 มีความเป็นประชาธิปไตยสูงมาก อย่างน้อยก็มีความพยายามแยกข้าราชการการเมืองกับข้าราชการประจำออกจากกัน แต่ถ้าดูทั้งหมดจะพบว่าในแง่ความก้าวหน้าของรัฐธรรมนูญสู้ปี 2489 ไม่ได้ ถ้านำเรื่องนิติรัฐ การปกครองแบบประชาธิปไตยไปจับ

แต่ที่สำคัญรัฐธรรมนูญปี 2492 ได้สถาปนาอำนาจพระมหากษัตริย์เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าดูช่วงยาวของประวัติศาสตร์การเมืองไทย การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ครั้งสำคัญในรัฐธรรมนูญไทย ครั้งหลักและส่งผลค่อนข้างมากต่อความเป็นไปทางการเมือง ผมคิดว่ามี 3 ครั้ง และทั้ง 3 ครั้งเป็นการเปลี่ยนแปลงภายหลังเกิดรัฐประหารทั้งสิ้น มันอาจจะมีครั้งที่เปลี่ยนแปลงในระดับย่อยๆ อยู่ เช่นการเกิดขึ้นของมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือการกำหนดไว้ว่าถ้าไม่มีพระราชโอรส รัฐสภาอาจให้ความเห็นชอบให้พระราชธิดาขึ้นครองราชย์ได้ในปี 2517 ก็ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงจริง แต่ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างและบางส่วนเป็นเรื่องแนวความคิดด้วยก็คือรัฐธรรมนูญปี 2492 รัฐธรรมนูญปี 2534 ซึ่งเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกฎมณเฑียรบาลและการขึ้นครองราชย์ และรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่การบัญญัติในส่วนพระมหากษัตริย์ก็เปลี่ยนไปอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งทั้งสามฉบับเกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร

ถ้าเราสังเกตดู การเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วง ในปี 2492 การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มีข้อถกเถียงในสภาร่างรัฐธรรมนูญและเถียงกันค่อนข้างตรงไปตรงมาพอสมควร ผมเคยตั้งคำถามว่าทำไมตอนปี 2492 จึงพูดได้ในระนาบที่ลึกและด้วยเหตุผลได้มากขนาดนั้น ทั้งที่มันต่อเนื่องจากรัฐประหารปี 2490 ข้อเสนอผมคือบรรยากาศหรือความเป็นประชาธิปไตยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 มันยังดำรงอยู่ต่อมาและยังมีพลังถึงช่วงต้นทศวรรษ 2490 โดยประมาณ จึงทำให้ปี 2492 การถกเถียงทำได้มาก แต่ต้องไม่ลืมว่าเกิดกบฏวังหลวงด้วย ต่อมาทำให้ฝ่ายก้าวหน้าถูกปราบปรามไปมาก และในที่สุดการจัดทำรัฐธรรมนูญ เราไม่มีการอภิปรายในสภาร่างฉบับใดเลยที่สามารถยกระดับได้เช่นเดียวกับในการจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2492

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในปี 2534 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่อภิปรายกันไปตามซองขาว แล้วในปี 2560 การเปลี่ยนแปลงไม่มีการอภิปรายใดๆ ทั้งสิ้น ผมจึงบอกว่าจากความอื้ออึงสู่ความเงียบงันในการถกเถียงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ แล้วก็ทำให้ระดับการถกเถียงไม่เท่ากันด้วย

ถ้าเราดูผลจากการถกเถียง ในรัฐธรรมนูญที่พยายามประนีประนอมคุณค่าหลายฝ่ายเข้าด้วยกัน จะเห็นว่าใช้ได้นานพอสมควร คือรัฐธรรมนูญสยาม 10 ธันวาคม 2475 จนถึงปัจจุบัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังถือว่ามีการใช้บังคับยาวนานที่สุด และเป็นการเปลี่ยนแปลงตามวิถีของรัฐธรรมนูญคือจาก 2475 ไปเป็น 2489 แต่ฉบับปี 2489 ใช้ได้แค่ช่วงสั้นๆ ก่อนเกิดรัฐประหารปี 2490

ความยาวนานของการใช้รัฐธรรมนูญปี 2475 อาจบอกได้เราระดับหนึ่งว่ามีการประนีประนอมกัน แม้ในช่วงต้นจะเกิดความขัดแย้งระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 7 กับคณะราษฎร แล้วนำมาซึ่งการสละราชสมบัติและการขึ้นครองราชย์ของในหลวงรัชกาลที่ 8 แต่ก็ใช้บังคับได้ต่อเนื่องพอสมควร เกิดกฎเกณฑ์บางอย่างที่เริ่มจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติได้ระดับหนึ่ง แต่ในที่สุดความต่อเนื่องถูกตัดเมื่อมีการฉีกรัฐธรรมนูญในปี 2490

แล้วหลังจากนั้นรัฐธรรมนูญไทยก็ไม่มีลักษณะต่อเนื่องแบบนั้นอีก เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญโดยการรัฐประหารเป็นระยะๆ จนถึงปัจจุบัน

ในรัฐธรรมนูญ 2475 ที่ผมบอกว่าพยายามผสานคุณค่าต่างๆ จากข้ออภิปรายในสภา เขาก็พยายามจะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าจะมีความเห็นบางกฎเกณฑ์แตกต่างกัน แต่ก็มีความกลมกลืนกันอยู่ในระดับหนึ่ง

พอหลังปี 2492 ปี 2534 จนถึงปี 2560 ที่ผมว่าเป็นการเปลี่ยนแปลง 3 จังหวะ ผมพบว่าการที่ไม่มีการถกเถียงอย่างถึงรากอีก ทำให้การกำหนดคุณค่าในรัฐธรรมนูญของเราขัดแย้งกัน ตอนนี้เกิดการปะทะกันของคุณค่า อุดมการณ์บางอย่างในตัวรัฐธรรมนูญ อย่างรัฐธรรมนูญปี 2560 มีหลักเรื่องนิติธรรม มีประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเรายังไม่รู้ว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง

ปัญหาสำคัญในวงการนิติศาสตร์ เราอาจจะบอกว่ามันเกิดระบอบนี้ขึ้นมาถ้ามองในแง่ความเป็นจริง แล้วก็มีคำทางกฎหมายว่า ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในทางปฏิบัติเวลาที่เกิดปัญหาถกเถียงกัน บางทีศาลก็ต้องนำไปใช้ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีใครอธิบายได้ว่าองค์ประกอบหรือหลักเกณฑ์ของสิ่งนี้มีอะไรบ้าง แล้วถ้าต้องนำไปใช้ในการตัดสินคดีจะใช้ยังไง นี่คือเรื่องใหญ่

อีกเรื่องหนึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 มีเรื่องอำนาจของหัวหน้า คสช. ที่สามารถใช้อำนาจนั้นแล้วเป็นที่สุด เด็ดขาด ผมกำลังชี้ให้เห็นว่าการผสมคุณค่าต่างๆ ในตัวรัฐธรรมนูญยังไม่สามารถทำให้มันกลมกลืนกันได้ มันเหมือนเป็นกลุ่ม แล้วเวลาใช้มันจะเป็นเรื่องที่ขึ้นกับดุลอำนาจหรืออุดมการณ์ของคนที่ใช้เป็นสำคัญ ซึ่งจะทำให้มีภาวะความไม่แน่นอนในการใช้กฎหมายสูง

ปัญหาความชอบธรรม

ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือเรื่องแหล่งที่มาของอำนาจอธิปไตยกับปัญหาเรื่องความชอบธรรม ถ้าเราอ่านข้ออภิปรายในองค์กรทำรัฐธรรมนูญ หลายเรื่องน่าสนใจ การอภิปรายจำนวนหนึ่งของสมาชิกเห็นได้ชัดว่าเป็นคนที่มีโวหารดี แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปในการอภิปรายบางส่วนคือการอภิปรายในเชิงหลักการ เราอาจบอกได้ว่ารัฐธรรมนูญเป็นผลของการปะทะกันของคุณค่าต่างๆ ในห้วงเวลาหนึ่ง ใช่ แต่การที่มันต้องเขียนเป็นกฎหมาย มันไม่ได้ปลอดจากคุณค่าหรือหลักใดทั้งหมด มันต้องมีหลักคิดบางอย่างที่ทำให้เขาสามารถเขียนเป็นตัวบทขึ้นมา เท่าที่ผมอ่านดู ผมพบว่าการอภิปรายของสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญในบางเรื่องยังไปไม่ถึงหลักการ ทำให้การปะทะกันระหว่างคุณค่าบางอย่างมันคลุมเครือ

ยกตัวอย่างเช่นมีการอภิปรายเรื่องหนึ่งในรัฐธรรมนูญปี 2492 ให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา แล้วให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ มันมีการเถียงกันว่าการกำหนดแบบนี้ขัดต่อหลักประชาธิปไตยหรือเปล่า ประเด็นนี้เป็นประเด็นอีกครั้งหนึ่งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ปรากฏขึ้นในปี 2517 แล้วในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านไม่ส่งเห็นด้วยอย่างยิ่ง แล้วในภายหลังรัฐธรรมนูญก็มีการแก้ ไม่ให้ประธานองคมนตรีลงนาม

แต่ปี 2490 มีการสถาปนาองคมนตรีขึ้น แล้วประธานองคมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา มีการอภิปรายว่ามันสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ฝ่ายที่สนับสนุนก็จะอ้างพระราชอำนาจแต่เดิมหรืออ้างจากต่างประเทศบ้าง ฝ่ายที่คัดค้านก็อภิปรายว่าถ้าอย่างนั้นทำไมให้ประชาชนเลือก ส.ส. ก็ให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้ง ส.ส. ด้วยพระองค์เอง เพราะมีผู้โต้แย้งว่าพระองค์เป็นแหล่งที่มาของอำนาจเหล่านี้ มีการถกเถียงที่ไปได้ลึกพอสมควร แต่มีประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายสนับสนุนยกขึ้นมาเถียงคือเมื่อรัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างนี้ พระมหากษัตริย์ก็ทรงทำตามรัฐธรรมนูญ

ข้อถกเถียงแบบนี้ไปไม่ถึงรากฐานของความชอบธรรม ผมไม่มีปัญหาถ้าจะบอกว่าพระมหากษัตริย์มีอำนาจแต่งตั้งวุฒิสภาด้วยพระองค์เองจะด้วยเหตุผลอะไรก็ว่ากันไป ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็จะเถียง แต่ต้องให้ประเด็นมาชนกัน เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าประเด็นความชอบธรรมในทางรัฐธรรมนูญ ถ้ามีเขียนในรัฐธรรมนูญแล้วมันสร้างความชอบธรรมได้ คือตัวบทที่เขียนในรัฐธรรมนูญจะเป็นตัวสร้างความชอบธรรม ถามว่าความเข้าใจแบบนี้ผิดหรือไม่ ก็ไม่ถึงขนาดผิด เพราะรัฐธรรมนูญก็สร้างความชอบธรรมให้กับองค์กรที่ใช้อำนาจในทางรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญที่จะให้ความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยต้องมีฐานความชอบธรรมทางประชาธิปไตยด้วย

แต่เกณฑ์สำคัญที่ไม่มีการพูดกันคือ ถ้าวุฒิสภามีอำนาจมากใกล้เคียงกับสภาผู้แทน คนซึ่งจะมีอำนาจแต่งตั้งวุฒิสมาชิกก็คือคนที่เป็นเจ้าของอำนาจ ก็คือประชาชน องค์กรที่ใช้อำนาจรัฐในระบอบประชาธิปไตยต้องสืบสาวความชอบธรรมย้อนกลับไปได้ถึงตัวประชาชน ประชาชนเป็นตัวส่งความชอบธรรมขึ้นไปผ่านกฎเกณฑ์รัฐธรรมนูญให้ไปถึงตัวผู้ใช้อำนาจ ถ้าการส่งผ่านไปถูกตัดก็เท่ากับขาดความชอบธรรมในมิตินี้

การอภิปรายเรื่องความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยไม่ค่อยมีการอภิปรายกันเท่าไหร่ และผมคิดว่านี่เป็นประเด็นใหญ่ของสังคมไทย คือสุดท้ายการที่รัฐธรรมนูญนำสถาบันทางจารีตเข้ามาอยู่ในระบอบใหม่ มันคือปัญหาความชอบธรรมของแหล่งที่มาของอำนาจและการใช้อำนาจ ซึ่งอาจจะมีการอภิปรายประเด็นนี้น้อยเกินไป

ลองสังเกตดู เรากำลังพูดถึงเรื่องการเลือกตั้งที่มีปัญหาว่าจะได้เลือกหรือไม่ เลือกเมื่อไหร่ ถ้าเลือกแล้ว กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ต้องประกาศผลในกี่วัน ผมว่าประเด็นเล็กๆ แบบนี้ เอาเข้าจริงเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกลับไปหาเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตยทั้งสิ้น แล้วเราไม่ได้เคลียร์กัน หรือการก่อรูปของตัวระบอบทำให้ประเด็นเหล่านี้มันเลือนไป

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคืออะไรในระบอบประชาธิปไตย ก็คือการแต่งตั้งโดยประชาชน เราสังเกตเห็นว่าองค์กรในรัฐธรรมนูญที่มีความพยายามจัดวางตำแหน่งของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ ตำแหน่งส่วนใหญ่มาจากการโปรดเกล้าแต่งตั้งทั้งนั้น นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ศาล ตำแหน่งศาสตราจารย์ก็มาจากการโปรดเกล้าแต่งตั้งทั้งสิ้น ตำแหน่งเดียวที่ไม่ได้มาจากการโปรดเกล้าแต่งตั้งคือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่มาจากประชาชนเป็นคนตั้ง

ถามว่าความเข้าใจเรื่องนี้สำคัญอย่างไร มันเกี่ยวกับการจัดวางความสัมพันธ์ในทางระบอบ รัฐธรรมนูญจะเปลี่ยนไปหรือมีการเพิ่มขึ้นของพระราชอำนาจอย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ยังเป็นประเด็นที่ไม่เคยถูกแตะ แต่มีความเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติเกี่ยวกับความสำคัญของการเลือกตั้ง ซึ่งต้องกลับไปดูฝั่งการให้ประชาชนแต่งตั้งด้วย

ตอนปี 2540 มีการก่อตั้ง กกต. มีการรับรองผลการเลือกตั้ง เมื่อประชาชนเลือกแล้วต้องรอ กกต. ตรวจสอบก่อนว่าคุณสะอาดหรือไม่ ผมจำได้ว่าช่วงปี 2540 กว่าๆ มี กกต. ท่านหนึ่งบอกว่าจะไม่ยอมให้คนชั่วเหยียบบันไดสภาแม้แต่คนเดียว แล้วผมก็พยายามโต้แย้งว่ามันไม่เป็นไปตามหลักที่ควรจะเป็น เพราะชั่วหรือดีประชาชนเป็นคนตัดสิน แล้วถ้าเกิดว่าเขาทำผิดกฎหมายคุณก็ต้องไปเพิกถอนให้เขาพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. แต่หลักคือเมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว กกต. ต้องประกาศผลลงคะแนนและผลการเลือกตั้ง ถ้าไม่ถึงขนาดมีอะไรที่ผิดปกติ ไม่ใช่รับรอง คุณมีหน้าที่ต้องประกาศ เพราะเจ้าของอำนาจใช้อำนาจในการแต่งตั้ง หลักมันเป็นแบบนั้น แต่เราสังเกตดูว่าหลักแบบนี้เริ่มเลือนไปเรื่อยๆ

แล้วการรับรองผลการเลือกตั้งมันเริ่มยาวขึ้นๆ และอำนาจ กกต. ก็มีมากขึ้นอีก แปลว่าเมื่อประชาชนไปแสดงเจตจำนงเลือกบุคคลผ่านการเลือกตั้งแล้ว ต้องถูกรับรองอีกทีโดย กกต. แล้วการรับรองมันมีเวลาและขยายได้อีก ซึ่งเจตจำนงของประชาชนมันถูกหน่วงลง

ถามว่าอันนี้เป็นผลของอะไร ผมว่าส่วนหนึ่งเป็นผลของความเปลี่ยนแปลงทางความคิดให้เอาคุณค่าแบบใหม่ผสานกับคุณค่าแบบเก่า เราเห็นว่าทุกวันนี้ความคิดเรื่องประชาธิปไตยถูกลดความสำคัญลงไปเป็นลำดับ ถ้าดูจากตัวบทรัฐธรรมนูญและการปฏิบัติที่มีอยู่

จากมาตรา 7 สู่มาตรา 5 และอำนาจของกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ 60

หนังสือเล่มนี้พูดถึงการจัดวางสถาบันพระมหากษัตริย์ในการจัดทำรัฐธรรมนูญไทยว่าเขาเถียงอะไรกันบ้าง แล้วมีอะไรที่เราต้องทำหรือเถียงกันต่อไปอีก ประเด็นหนึ่งคือการกำเนิดของมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นมาตรา 5 ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ผมแค่อยากชี้ประเด็นนี้เอาไว้ ในทางรัฐศาสตร์มีการศึกษาแล้ว แต่ในทางนิติศาสตร์ยังไม่มีการศึกษาเท่าไหร่

ผมเคยให้ความเห็นเอาไว้ประปรายตอนที่มีการหยิบมาตรา 7 มาใช้ช่วงปี 2549 มาตรา 7 เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ต่อเนื่องมาจากปี 2492 คือเดิมรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ ถ้าฉบับที่มุ่งหมายให้ใช้บังคับถาวร จะไม่มีการบัญญัติไว้ว่าถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น แล้วไม่มีข้อกฎหมายให้วินิจฉัยได้ ให้วินิจฉัยตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกำเนิดของความคิดแบบนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2502 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพราะธรรมนูญปกครองราชอาณาจักรนั้นค่อนข้างสั้น มีประมาณ 20 มาตรา พอมันสั้นก็เลยเขียนว่าถ้ามีกรณีเกิดขึ้นและไม่มีตัวบทจะใช้วินิจฉัยได้ ก็ให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครอง

การเขียนแบบนี้เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นครั้งแรก ตอนทำอาจจะไม่มีใครคิดว่าจะกลายเป็นมาตราที่สำคัญมากมาตราหนึ่ง เท่าที่ตามอ่านก็ไม่ได้ข้ออภิปรายนี้ชัดเจน บางคนอธิบายว่าเขียนตามกฎหมายแพ่งมาตรา 4 เพื่อเป็นการอุดช่องว่างของกฎหมาย ไม่คิดว่าจะมีอะไรเป็นพิเศษ แต่เราเห็นว่ามาตรา 7 ถูกนำมาใช้ในปี 2549 รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็เขียนมาตรา 7 เอาไว้ เป็นมาตราที่เป็นสัญลักษณ์หนึ่งแล้วของรัฐธรรมนูญไทย เพราะในรัฐธรรมนูญปี 2560 บทบัญญัติในชั้นร่างของมาตรานี้ถูกเปลี่ยน คือไม่ได้เขียนมาตรา 7 ไว้แบบเดิม แต่เขียนว่าในกรณีที่มีปัญหาให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญเรียกผู้นำองค์กรต่างๆ มาประชุมกันเพื่อแก้ปัญหา

แต่ว่าบทบัญญัติแบบนี้ถูกแก้หลังจากประชาชนออกเสียงลงประชามติแล้ว กลับไปใช้บทบัญญัติมาตรา 7 แบบเดิม แต่เปลี่ยนเป็นมาตรา 5 ผมไม่มีข้อมูลและไม่ทราบว่าการเปลี่ยนแบบนี้มีนัยแค่ไหนในทางกฎหมาย แต่ผมคิดว่ามีนัยสำคัญมากๆ แม้อาจจะยังไม่รู้ว่าคืออะไร เพราะเป็นการเปลี่ยนหลังลงประชามติและเปลี่ยนกลับไปใช้แบบเดิม แปลว่าบทบัญญัติที่ถูกเขียนขึ้นด้วยความมุ่งหมายอย่างหนึ่ง เมื่อกาลเวลาผ่านไปมันอาจแปลงกายไปเป็นอะไรบางอย่าง ซึ่งคนทำรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ได้คิดไปถึง แล้วอาจจะกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของตัวระบบที่ปรากฏอยู่

พูดถึงเรื่องความเงียบหลังจากที่อื้ออึงมาในปี 2492 แล้วค่อยๆ เงียบไป จนปัจจุบันอาจจะบอกว่าความเงียบของการถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เงียบกระทั่งว่าขนาดเข็มตกยังได้ยิน มันมีหลายอย่างที่ผมคิดว่าเดิมที่ไม่เคยมี ประเด็นที่ขาดไปคือเรื่องเงินปีที่ถวายพระบรมวงศานุวงศ์ เรื่องการรับบริจาค และเรื่องทรัพย์สินที่ไปอยู่ในกฎหมายปี 2491 อาจต้องดูในชั้นร่างกฎหมาย แต่ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่คนรัฐธรรมนูญในช่วงนั้นไม่ได้เขียนถึง มันจึงไม่มีปรากฏในรัฐธรรมนูญ

ประการที่ 2 คือเรื่องบุคลากรในองค์พระมหากษัตริย์ก็ไม่มีการเขียนเป็นกฎเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ อาจจะมีเป็นพระราชบัญญัติบางส่วนกำหนดไว้ แต่ในชั้นทำรัฐธรรมนูญไม่มีการถกเถียงกันในเรื่องนี้ ผมจำได้ว่ามีกรณีช่วงก่อนสละราชสมบัติ รัชกาลที่ 7 ขอตำรวจวัง มีข้ออภิปรายเรื่องนี้ในสภาบ้าง แต่ก็ไม่มีการพูดถึงอีก แม้ว่าจะมีการเขียนในบางมาตราเกี่ยวกับการแต่งตั้งราชองครักษ์เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย แต่ก็ไม่มีการอภิปรายถึงนัยความสำคัญนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทที่ภายหลังมีระบบตรวจสอบในทางปกครองที่เกี่ยวกับเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ก็ไม่ปรากฏข้อถกเถียงแบบนี้ในชั้นการจัดทำรัฐธรรมนูญ

อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่มีการเถียงกันคือเรื่องผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เรื่องนี้น่าสนใจมากขึ้นไปอีก เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ในช่วงปี 2492 จะเป็นเรื่องอันเป็นที่เคารพสักการะและการคุ้มกันพระมหากษัตริย์ให้ไม่ทรงถูกฟ้องร้องเป็นประเด็นสำคัญหนึ่งที่เถียงกันอย่างดุเดือดในช่วงนั้น เรื่องการถือกำเนิดใหม่ขององคมนตรีในช่วงปี 2492

หลังจากนั้นในปี 2534 จะมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์กฎมณเฑียรบาลและการสืบสันตติวงศ์ เรื่องการกำหนดว่าถ้ามีการแต่งตั้งรัชทายาทไว้แล้ว ให้สภารับทราบการขึ้นครองราชย์

ในปี 2560 มีอยู่สองสามประเด็นที่ผมคิดว่ามีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญคือเรื่องผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เรื่องบุคลากรในพระมหากษัตริย์ และเรื่องของทรัพย์สิน สามเรื่องนี้อาจเป็นคาแร็กเตอร์ของการเปลี่ยนกฎเกณฑ์เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในช่วงการใช้รัฐธรรมนูญปี 2560

แปลว่าในแต่ละห้วงเวลา ถ้าเราดูกฎเกณฑ์ที่เปลี่ยน มันเปลี่ยนแตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม ผมพยายามชี้ให้เห็นว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ที่มีนัยสำคัญในทางกฎหมายอยู่ บังเอิญก็รับกับความเห็นผมที่ว่ามีการเปลี่ยนแปลง 3 ช่วงใหญ่ๆ และกฎเกณฑ์นี้สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมือง เพราะกฎเกณฑ์แบบนี้เกิดขึ้นหลังจากการยึดอำนาจทั้งสิ้น เพียงแต่ในช่วงปี 2492 มี สสร. ที่อภิปรายได้ 2534 มีกรรมการร่างก็มีการอภิปรายกันน้อยลง ปี 2560 แทบจะไม่มีการอภิปรายอะไรเลยและมีการเปลี่ยนกฎเกณฑ์เรื่องนี้หลังการลงประชามติอีกด้วย

‘มาจาก’ หรือ ‘เป็นของ’

มีประเด็นทิ้งท้ายอีกนิดหนึ่ง เรื่องข้อถกเถียงอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นข้อถกเถียงที่ปรากฏในชั้นการจัดทำรัฐธรรมนูญจนถึงปี 2517 หลังจากนั้นก็นิ่งไป ถ้าใครเคยอ่านหนังสือของคุณลุงสุพจน์ ด่านตระกูล ซึ่งค่อนข้างให้ความสำคัญกับคำว่า ‘เป็นของ’ หรือ ‘มาจาก’ มาก แล้วข้ออภิปรายของคุณลุงสุพจน์ไม่มีการถกเถียงกันในองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญ ท่านเห็นว่าคำที่ถูกต้องต้อง ‘เป็นของ’ ไม่ใช่ ‘มาจาก’

ถ้าบอกว่าข้าวในยุ้งฉางมาจากชาวนา ก็ไม่ได้แปลว่าข้าวในยุ้งฉางเป็นของชาวนา ท่านอธิบายในเชิงภาษาได้อย่างแหลมคม คำว่า ‘มาจาก’ ในปี 2475 เปลี่ยนอย่างมีนัยใหญ่หลวงและผมเห็นด้วย แต่มันก็มีข้ออภิปรายเรื่องนี้เหมือนกัน และถ้าไปดูรัฐธรรมนูญต่างประเทศ หลายประเทศใช้คำว่า ‘มาจาก’ ท่านอาจารย์ปรีดี เกษมทรัพย์เคยอภิปรายว่า คำนี้ไม่ได้มีนัยอะไรเป็นพิเศษ ซึ่งถ้ามองในทางกฎหมายก็มองได้ 2 อย่าง เพราะรัฐธรรมนูญหลายประเทศก็ใช้คำว่าอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชน ไม่มีนัยอะไรในแง่การจัดวางโครงสร้างในรัฐธรรมนูญ

แต่ของเราเวลาเขียนแบบนี้ ข้อถกเถียงนี้ก็จบไป สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือคำว่า ‘มาจาก’ หรือ ‘เป็นของ’ กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีนัยอะไรอีกแล้ว ยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เขียนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ก็แปลว่าเอาเข้าจริงสิ่งที่เคยถกเถียงกันในอดีตถูกทำให้หมดความหมายไปอย่างสิ้นเชิง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net