Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงาน ตำรวจอุบลฯ แจ้งข้อหาข้าราชการบำนาญหญิงวัย 67 ปี ฐานยุยงปลุกปั่น เป็นอั้งยี่ และพ.ร.บ.คอมฯ เหตุถือธงกลุ่มสหพันธรัฐไทถ่ายรูป

17 ม.ค.2562 จากเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมาศาลอาญาอนุมัติ รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ฝากขัง 2 หญิงชาวเชียงราย 66 ปี และ 48 ปี จาก จ.เชียงราย ไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลางบางเขน ซึ่งถูกกล่าวหาในคดีครอบครองเสื้อที่มีสัญลักษณ์ 'สหพันธรัฐไท' ในข้อหายุยงปลุกปั่นและอั้งยี่ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 209 นั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า พ.ต.ท.เฉลิมยศ พรหมสุวรรณ สารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี นัดหมาย กาญจนา (นามสมมติ) ข้าราชการบำนาญ อายุ 67 ปี เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสหพันธรัฐไท โดยแจ้งข้อกล่าวหา ยุยงปลุกปั่นและ เป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 209 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ทั้งนี้กาญจนาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมในภายหลัง หลังสอบปากคำ พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวผู้ต้องหา โดยกาญจนารับว่าจะมาตามกำหนดนัดของพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวนต่อไป

บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาระบุถึงพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาโดยสรุปว่า ผู้ต้องหากับพวกร่วมกันเป็นสมาชิกคณะบุคคลซึ่งปกปิดการดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อการมิชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้ต้องหาเข้าอินเตอร์เน็ตดูช่องยูทูบ ช่องของลุงสนามหลวง แล้วได้ออกมาเคลื่อนไหว ตามขบวนการสหพันธรัฐไท ตามคำสั่งการของลุงสนามหลวงกับพวก โดยแสดงสัญลักษณ์สวมเสื้อสีดำในวันที่ 5 ธ.ค. 61 และด้วยการชูธงขาวแดงซึ่งผู้ต้องหาตัดเย็บเอง แสดงสัญลักษณ์ของกลุ่มเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย และใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพ ที่ห้างเซ็นทรัลพลาซ่าอุบลราชธานี ต.แจระแม อ.เมืองอุบลราชธานี แล้วผู้ต้องหาส่งภาพนั้นไปทางเฟซบุ๊ค เข้าไปในกลุ่มสหพันธรัฐไท  ซึ่งผู้กล่าวหากับพวกได้สืบสวนการกระทำของผู้ต้องหากับพวก เห็นว่า ได้กระทำความผิดจริง จึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

พนักงานสอบสวนระบุว่า พฤติการณ์และการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐาน ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน ด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, เป็นอั้งยี่ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนแจ้งกาญจนาด้วยว่า หลังสรุปสำนวนจะนัดหมายกาญจนาเพื่อส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนคดีให้พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา โดยคดีที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสหพันธรัฐไททั้งหมดจะอยู่ในความรับผิดชอบของกองบังคับการปราบปราม และถูกส่งฟ้องที่ศาลอาญารัชดา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังรายงานด้วยว่า กรณีดังกล่าวนี้สืบเนื่องจากเมื่อเช้าวันที่ 8 ธ.ค. 61 เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบประมาณ 20 นาย ได้เดินทางไปที่บ้านของกาญจนา แล้วนำตัวกาญจนาไปสอบปากคำที่ สภ.เมืองอุบลราชธานี โดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา จากกรณีที่เจ้าหน้าที่พบภาพหญิงคนหนึ่งใส่เสื้อแจ๊กเก็ตสีดำถือธงสัญลักษณ์ของกลุ่มสหพันธรัฐไทในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งที่ส่งต่อกันในสื่อออนไลน์ ก่อนนำกาญจนาไปควบคุมตัวที่มณฑลทหารบกที่ 22 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จนถึงช่วงสายวันที่ 11 ธ.ค. 61 เจ้าหน้าที่ทหารจึงได้นำตัวกาญจนาไปส่งที่บ้าน โดยไม่ได้มีการดำเนินคดีใด ๆ ต่อมา ช่วงสายวันที่ 12 ธ.ค. 61 กาญจนาได้ถูกควบคุมตัวอีกครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ทหารที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ควบคุมตัวเธอขึ้นรถตู้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ และนำไปควบคุมไว้ที่มณฑลทหารบกที่ 11 ก่อนนำตัวกลับไปส่งที่บ้านในช่วงบ่ายของวันที่ 14 ธ.ค. 61 จากนั้น วันที่ 25 ธ.ค. 61 นางกาญจนาจึงได้รับหมายเรียกจาก สภ.เมืองอุบลฯ ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ทั้งนี้ นางกาญจนาให้ข้อมูลว่า ในระหว่างถูกควบคุมหลายวันดังกล่าวนั้น เธอถูกเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจสอบปากคำหลายครั้ง

ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่กาญจนาถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร มีข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวบุคคลอื่นอีกอย่างน้อย 16 ราย ในหลายจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี แพร่ กำแพงเพชร อุดรธานี ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่า บุคคลเหล่านี้ถูกตำรวจดำเนินคดีในภายหลังเช่นเดียวกับกาญจนาหรือไม่

ขณะที่ช่วงต้นเดือน ธ.ค.2561 มีการควบคุมตัวบุคคลจำนวนหลายรายที่เกี่ยวเนื้องกับเสื้อ 'สหพันธรัฐไท' ก่อนปล่อยตัวในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม ปลายเดือน ต.ค.2561 ก็มีบุคคลจำนวนหนึ่งถูกคดีเสื้อสหพันธรัฐไท ถูกควบคุมตัวไปสอบที่มณฑลทหารบกที่ 11 จากกรณีครอบครองเสื้อสหพันธรัฐไท ก่อนถูกส่งตัวให้กองบังคับการปราบปรามดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นและอั้งยี่ และถูกฟ้องต่อศาลอาญารัชดาฯ แล้ว แต่คดียังไม่เริ่มการสืบพยาน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net