Skip to main content
sharethis

ภาคประชาชน ประกาศพร้อมทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับหน่วยบริการ มั่นใจช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ได้ ระบุการเรียกร้องสิทธิไม่ได้มุ่งเอาผิดใคร ย้ำความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ หากแต่ต้องแก้ไข-ร่วมกันป้องกัน

18 ม.ค.2562 กรรณิการ์ กิจติเวชกุล เครือข่ายภาคประชาชน และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “Outside in : inside out : เสียงลูกค้ากับคุณภาพบริการ” ภายในงานสัมมนาเครือข่ายคุ้มครองสิทธิ ประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2561 ตอนหนึ่งว่า ยอมรับว่าไม่มีข้อสงสัยเรื่องคุณภาพบริการ ทั้งจากการทำงานหนักของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ไปจนถึงหน่วยบริการต่างๆ ที่ทำงานเรื่อง Hospital Accreditation (HA) กันอย่างจริงจังเป็นอย่างมาก แต่เรายังมีความท้าทายจากความคาดหวังของประชาชน

กรรณิการ์ กล่าวว่า ก่อนที่ประเทศไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นการเข้าถึงการรักษาของประชาชนยังมีไม่มาก แต่หลังจากมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้นทุกคนต่างเกิดความคาดหวัง ประกอบกับการเกิดขึ้นของระบบหลักประกันสุขภาพ มาจากการผลักดันของหลายภาคส่วนอย่างเข้มข้น นั่นทำให้คนเหล่านั้นรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของ ดังนั้นระบบหลักประกันสุขภาพ จึงมีความหมายกับคนจำนวนมากเป็นอย่างมาก

กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า ต้องขอขอบคุณหน่วยบริการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่จริงๆ แล้วภาคประชาชนอยากมีส่วนร่วมมากกว่านั้น และหากพิจารณาในเครือข่ายคุ้มครองสิทธิก็จะพบว่ามีทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปจนถึงหน่วยงานต่างๆ ซึ่งหากมีการทำงานร่วมกันก็จะทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นว่า การที่ประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธินั้น ไม่ได้หมายความว่าการทำหน้าที่ของผู้ให้บริการจะมีภาระมากขึ้น ในทางกลับกันยังอาจเป็นการผ่อนภาระลงด้วย

“ถ้าเราดูประสบการณ์ของเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่เกิดเป็นกลุ่มตามโรงพยาบาลต่างๆ นั้น เนื่องจากธรรมชาติของแพทย์ในโรงพยาบาลต่างจังหวัดจะหมุนเวียนเข้ามาอยู่ในเมืองค่อนข้างสูง ขณะที่พยาบาลจะค่อนข้างมีประสบการณ์มากกว่า แต่ผู้ที่จะมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการแพ้ยา ดื้อยา ส่วนมากจะเป็นคนไข้ผู้ติดเชื้อฯ รุ่นพี่ ซึ่งเขาจะสามารถอธิบายได้ว่าการกินยาตรงเวลาสำคัญอย่างไร หรือทำไมต้องสังเกตตัวเองว่าเมื่อกินยาไปแล้วเกิดผลข้างเคียงอย่างไรหรือไม่ เช่นเดียวกับการทำงานของศูนย์หลักประกันสุขภาพภาคประชาชน หรือหน่วย 50 (5) เมื่อเขาอธิบายสิทธิให้กับผู้รับบริการ ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเอาผิดคุณหมอหรือพยาบาล แต่มันเป็นการทำงานร่วมกัน” กรรณิการ์ กล่าว

กรรณิการ์ กล่าวอีกว่า แน่นอนว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ หากเป็นความผิดพลาดในเชิงระบบก็จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข แต่ถ้าเป็นความผิดพลาดเชิงบุคคลก็จำเป็นต้องได้รับการป้องกัน ฉะนั้นหากภาคประชาชนสามารถทำงานร่วมกับหน่วยบริการได้ก็จะยิ่งช่วยกันได้มากขึ้น โดยเฉพาะความเข้าใจเรื่องพื้นฐาน

นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นความคาดหวังของประชาชนคนไทยคืออยากเห็นความเท่าเทียมและเป็นธรรมมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าบุคลากรทางการแพทย์ได้รับการยกย่องอย่างมากในสังคมไทย ถ้าแพทย์บอกว่ายาตัวนี้ดี ส่วนใหญ่ผู้ป่วยก็ไม่ค่อยกล้าเถียง ฉะนั้นเราอยากเห็นบุคลากรทางการแพทย์ที่อธิบายสิ่งเหล่านี้ด้วยพื้นฐานจริงๆ เราไม่อยากเห็นคำอธิบายว่าต้องจ่ายเพิ่มเพื่อให้ได้รับบริการที่ดีกว่า

“สิ่งที่อยากเห็นคือที่ผ่านมาจะมีโรงพยาบาลชุมชนที่สามารถผ่าตัดได้ ทำหมันสดได้ ผ่าตัดไส้ติ่งได้ แต่ระยะหลังมีแพทย์กลุ่มหนึ่งไปเที่ยวบอกว่าอย่าทำๆ นะ จนทำให้การผ่าตัดเล็กๆ จำเป็นต้องส่งต่อไปที่โรงพยาบาลอีกระดับหนึ่ง นั่นทำให้โอกาสเสียชีวิตของผู้ป่วยสูงขึ้น คำถามคือมีหนทางใดไหมที่จะพัฒนาคุณภาพวิชาชีพ หรือทำให้โรงพยาบาลชุมชนเหล่านี้สามารถทำงานได้จริงในพื้นที่” กรรณิการ์ กล่าว

กรรณิการ์ กล่าวว่า ประชาชนไม่ได้อยากเป็นลูกค้า แต่อยากมีส่วนร่วมในการทำงานเพื่อทำให้ระบบสุขภาพทั้งระบบของประเทศไทยดีขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net