Skip to main content
sharethis

ตั้งแต่ต้นปี 2561 จนถึงวันครบรอบ 4 ปีรัฐประหารโดย คสช. กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเคลื่อนไหวเรียกร้องไม่ให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งจากที่เคยสัญญาว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน พ.ย. 2561 สุดท้ายข้อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในปี 2561 ก็ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามสิ่งที่พวกเขาได้รับจากการเรียกร้องอย่างต่อเนื่องในเวลานั้นคือ ช่วงเวลาในการจัดการเลือกตั้งซึ่งถูกขยับออกไป 3 เดือน คือ ก.พ. 2562

แต่เมื่อเข้าใกล้การเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อยๆ กระแสเรียกร้องให้เลื่อนเลือกตั้งก็ถูกจุดขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปี 2561 ข้ออ้างแรกที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือ กกต. อาจจะไม่สามารถจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งได้ทันเวลา แต่ก็เป็นข้ออ้างที่หลายพรรคการเมืองเห็นร่วมกันอย่างชัดเจนว่า “ฟังไม่ขึ้น”

ต่อมาหลังจากสำนักพระราชวัง เผยแพร่ประกาศสำนักพระราชวัง เมื่อวันที่ 1 ม.ค. เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยกำหนดวันพระราชพิธีสำคัญตั้งแต่วันที่ 4-6 พ.ค. 2562 รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ก็เร่งรุดหน้าไปพูดคุยชี้แจงข้อมูลกับคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า กิจกรรมที่จะต้องเกิดขึ้นก่อนและหลังงานราชพิธีประกอบด้วยอะไรบ้าง และจะมีการจัดพิธีต่างๆ ในช่วงเวลาใดบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดวันเลือกตั้ง

เหตุผลหลักที่รัฐบาล โดยวิษณุ กล่าวอ้างคือ กิจกรรมในการเมืองหลังการเลือกตั้งจะต้องไม่ทับซ้อนกับกิจกรรมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และรัฐบาลเห็นว่าวันที่เหมาะกับการเลือกตั้งคือ วันที่ 24 มี.ค. 2562 ซึ่งเป็นการขยับเข้าใกล้งานพระราชพิธีเข้าไปอีก 1 เดือน เพื่อให้การประกาศผลการเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาลเกิดขึ้นหลังจากงานพระราชพิธีบรมราชาษิเษกลุล่วงไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม 2 ม.ค. เป็นวันที่รัฐบาลเคย ระบุว่า จะมีการประกาศพ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ กกต. ไม่สามารถประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจนได้

กระแสไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนการเลือกตั้งก่อตัวขึ้นในชั่วข้ามคืน ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในประเทศไทย ต่างแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนการเลือกตั้ง และพร้อมใจกันติดแฮชแท๊ก “เลื่อนแม่มึงสิ” ก่อนจะมีการนัดชุมนุมในวันที่ 6 ม.ค. 2562 และอีกหลายวันถัดมา ไม่เพียงแต่เกิดการรวมตัวชุมนุมแสดงออกในกรุงเทพฯ ตั้งแต่การรวมตัวกระจายไปในหลายจังหวัด เหตุผลสำคัญคือ พวกเขาเชื่อว่าการเลือกตั้งสามารถเกิดขึ้นได้ในวันที่ 24 ก.พ. กกต. สามารถเร่งประกาศผลการเลือกตั้งได้ภายใน 30 วัน และประเทศไทยสามารถมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ก่อนวันงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยที่เวลาไม่ทับซ้อนกัน

ไม่นานนักปฏิกิริยาโต้กลับจากกองทัพ และรัฐบาล ก็เกิดขึ้น โดยภาพรวมการให้สัมภาษณ์ของบุคคลต่างๆ ในกองทัพ และรัฐบาลนั้น เป็นการติดป้ายให้เห็นว่า กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ฟังเหตุผล ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจเรื่องนี้ดี ทั้งยังพุ่งเป้าว่ากลุ่มคนอยากเลือกตั้งจงใจมาหาเรื่อง ป่วน และหวังผลให้เกิดความวุ่นวาย ประชาไทรวบรวมปฏิกิริยาของรัฐบาล และกองทัพ โดยมีรายละเอียดดังนี้

00000

ประวิตร บอกคนอยากเลือกตั้งเข้าใจทุกอย่าง แต่อยากให้มีเรื่อง

7 ม.ค. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่า การชุมนุมแต่ละครั้งจะต้องขออนุญาต และเชื่อว่าการชุมนุมจะไม่บานปลาย เพราะการเลือกตั้งยังอยู่ในกรอบ 150 วัน ซึ่งคนที่ออกมาชุมนุมก็เข้าใจหมด แต่อยากให้มีเรื่อง (มติชนออนไลน์)

อนุพงษ์ ย้ำหากชุมนุมโดยสงบก็ไม่มีปัญหาอะไร

8 ม.ค. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่า ถ้าทำตามกฎหมายได้ก็ทำ ซึ่งเราทำตามอำนาจหน้าที่ และตนไม่ได้สั่งการให้ควบคุมกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหว แต่ทางฝ่ายมั่นคงเขาดูแลอยู่ หากทำด้วยความสงบเรียบร้อยก็ไม่มีปัญหาอะไร (ไทยโพสต์ออนไลน์)

ประยุทธ์ ติงสื่ออย่าไปให้ค่า กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ต้องรู้ว่าอะไรควรไม่ควร

8 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ตอบคำถาม สื่อมวลชนว่า รัฐบาล และ คสช. จะรับมือกับกลุ่มเคลื่อนไหวอย่างไร หลังมีกระแสต่อต้านการเลื่อนการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ไปปลุกระดมกันเรื่อยๆ มันก็คงจะมี วันนี้ที่บอกว่ามีกระแสต่อต้านมากขึ้น ถามว่ามีมากขึ้นเท่าไหร่ มีกี่คน ที่บอกว่ารวมกันแน่นขนัด มีกี่คน สื่อเขียนกันเข้าไป กลัวจะไม่ยุ่งหรืออย่างไรไม่รู้ ขอร้องสื่อโซเชียลมีเดียอย่าไปเขียนปลุกระดม อย่าไปให้ค่าความสำคัญมากนัก ก็รู้กันอยู่ว่ามันควรหรือไม่ควร ถูกหรือผิดกฎหมาย ทุกคนรู้กันหมด เพียงแต่วันนี้มันถูกครอบงำจากหลายๆ อย่าง (ผู้จัดการออนไลน์)

อภิรัชต์ ซัดคนอยากเลือกตั้งตั้งใจทำให้ประเทศวุ่นวาย บางคนถูกสั่งให้มาทำ

12 ม.ค. พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก และเลขาธิการ คสช. กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่า ต่างคนต่างความคิด คนบางคนคิดอย่างนี้และโดนสั่งให้มาทำอย่างนี้ ก็คิดอยู่ในโหมดนี้อย่างเดียว ไม่ได้มององค์ประกอบต่างๆว่าจะมีผลอย่างไร ไม่ได้มองถึงรัฐธรรมนูญและกรอบเวลาที่ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งได้กำหนดไว้แล้ว

"มันก็มีคนประเภทนี้ในสังคมไทย ผมก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร ถ้าอยากให้เป็นอย่างนี้ อยากจะให้เกิดความวุ่นวาย ก็เป็นหน้าที่ของฉันที่จะต้องทำให้เกิดความวุ่นวายอยู่อย่างนี้ ผมคิดว่าคนที่เขาเข้าใจคงจะรำคาญ ประชาชนที่อยากทำมาหากินตามปกติและที่มีเหตุผล ว่าทำไมจะต้องเลื่อนเลือกตั้ง ซึ่งผมก็ยังไม่ได้รับทราบเพราะกกต. ไม่ได้ประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ก็ตีความกันไป ทุกอย่างมันมีเวลาทุกอย่างมีกรอบเวลาและมีกฎหมายรองรับโดยเฉพาะ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ถ้าไปคิดตาม Timeline ปฏิทิน การเลือกตั้งทุกอย่างก็อยู่ในกรอบเวลา ส่วนงานพระราชพิธี ต้องบอกว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทยแต่คนพวกนี้ก็ไม่เคยคิด อย่างที่ผมบอกคนพวกนี้ก็คิดแบบนี้จะไปเปลี่ยนเขาก็ไม่ได้" พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว (ไทยรัฐออนไลน์)

วินธัย อัดคนอยากเลือกตั้งเป็นพวก ประชาธิปไตยบกพร่อง เคลื่อนไหวเป็นอาชีพ

13 ม.ค. พ.อ.วินธัย สุขวารี  โฆษกคสช. กล่าวว่า ภาคส่วนต่างๆ ส่วนใหญ่รับข่าวสารเรื่องการเลือกตั้งด้วยวิจารณญาณ มีความเข้าใจในเหตุผล และเฝ้าดูการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีความพร้อมที่จะสร้างบรรยกาศที่ดีให้กับประเทศไทย เพื่อเตรียมสำหรับพิธีที่เป็นมหามงคลยิ่ง และสามารถจัดการเลือกตั้งได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

พ.อ.วินธัย กล่าวด้วยว่า หากสังคมจะมองการเคลื่อนไหว อย่างมีนัยที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ด้วยความรู้สึกกังขา และมองว่าไม่เหมาะ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นอารมณ์ประชาธิปไตย ที่ใครๆ ก็มีสิทธิจะเกิดความรู้สึกแบบนั้นได้ และถ้ามองอย่างพิจารณา อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าการเคลื่อนไหวบางอย่างได้กลายเป็นอาชีพหนึ่งไปแล้ว เป็นวิธีการเดิมๆ ที่บางกลุ่มนำมาใช้ โดยบางครั้งไม่ได้สนใจบริบทสังคมโดยรวม

“การเคลื่อนไหวแบบมีนัยยะ วิจารณ์ด้วยทัศนคติเชิงลบ ไม่น่าจะเป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตย ไม่เกิดประโยชน์ต่อสังคม กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ระยะหลังมีความกราดเกรี้ยวในถ้อยคำยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการชูประเด็นเป็นฝ่ายประชาธิปไตยแล้วผลักผู้อื่นให้ไปอยู่ตรงข้าม อาจมองได้ถึงวุฒิภาวะทางประชาธิปไตยที่กำลังบกพร่อง” พ.อ.วินธัย กล่าว (ข่าวสดออนไลน์)

โฆษกกองทัพไทย ระบุกลุ่มเคลื่อนไหวมีเบื้องหลังหวังผลให้เกิดความวุ่นวาย

14 ม.ค. พล.ต.กฤษณ์ จันทรนิยม โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ว่า จากสภาวะสถานการณ์ในปัจจุบัน ขอให้ประชาชนคนไทยมีสติ และใช้วิจารณญานในการรับรู้ข่าวสารต่างๆ ว่ามีเจตนาอย่างไร หวังให้เกิดผลอะไรหรือไม่ การจัดการเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดในกรอบ 150 วัน คือไม่เกินวันที่ 9 พ.ค. 2562 โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.จะพิจารณาเหตุผลและความจำเป็นเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลจะต้องอำนวยการพระราชพิธีสำคัญให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ ขอให้คอยรับฟังข่าวสารและเหตุผลจาก กกต.ต่อไป กองทัพซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ และสร้างสภาวะแวดล้อมให้มีเกิดความสงบสุข ขออย่าได้นำกองทัพไปเป็นคู่ขัดแย้งกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือกลุ่มที่มีเบื้องหลังหวังผลยั่วยุให้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายหรือความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง พี่น้องประชาชนควรเข้าใจในบริบทที่เกิดขึ้น ดูอย่างรอบด้านและช่วยกันนำพาประเทศไปสู่ความสงบเรียบร้อยต่อไป (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์)

ประวิตร เชื่อกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จงใจมาป่วน แต่มากันแค่ร้อยกว่าคน

14 ม.ค. พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ไม่กังวลกับกรณีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากตั้ง เพราะเห็นว่ามีคนอยู่นิดเดียว เทียบกับคน 70 ล้านคน กลุ่มคนอยากเลือกตั้งมีแค่ 100 กว่าคน จะไปกังวลอะไร เขาตั้งใจมาป่วน (มติชนออนไลน์)

ผบ.ทบ. เตือนคนอยากเลือกตั้งอย่ามัวขีดเส้นให้คนอื่นเดิน เตือนตัวเองด้วยว่า อย่าล้ำเส้น

15 ม.ค. พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวถึงกรณีการชุมนุมเรียกร้องให้ไม่เลื่อนการเลือกตั้งของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่า จำเป็นที่จะต้องส่งเจ้าหน้าที่ ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงลงไปดูแลความสงบ ซึ่งต้องให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ และขอให้อดทนต่อการยั่วยุทุกประเภทที่จะเกิดขึ้น พร้อมระบุด้วยว่า ถ้าทุกคนไม่ล้ำเส้น อยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตย ก็ไม่ว่ากัน

“บางอย่างมันเรียนกันมาคนละอาจารย์ เขาถูกปลูกฝังมาอย่างนี้ เขาก็ต้องคิดอย่างนี้ ต่อให้เอาใครมาพูดก็ไม่เชื่อ แต่คนส่วนใหญ่ในประเทศเขามีเหตุมีผล เขารับฟังว่าเหตุผลคืออะไร ในเรื่องของปัญหาที่เขากำลังชุมนุมกันอยู่ในปัจจุบัน ประชาชนเขาทราบดี เขาติดตามข่าวสารข้อมูลที่เชื่อถือได้ ก็คงทราบดีว่า เหตุผลคืออะไร ผมบอกไปหลายครั้งแล้วว่าจะไปเปลี่ยนแปลงความคิดคนนั้นคงลำบาก” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว

พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวต่อว่า การทำอะไรก็ตามต้องอยู่ในกรอบ วันนี้ผู้ชุมนุมพยายามขีดเส้นให้คนอื่นเดิน แต่ก็ควรขีดเส้นให้ตัวเองด้วย คนที่ออกมาก็เป็นกลุ่มเดิม แม้เวลานี้รัฐบาลจะยังเป็นรัฐบาล คสช. ซึ่งมีกฎหมาย และอำนาจ แต่ก็ไม่เข้าไปดำเนินการอะไร และปล่อยให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้แสดงความคิดเห็นไป เพราะทุกวันนี้เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความเห็นใจรัฐบาล (ประชาไท)

ประยุทธ์ บอกเลื่อนเลือกตั้งไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ต้องไปถาม กกต.

15 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งขณะประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นมี พล.อ.ประวิตร เป็นผู้ดูแลความสงบอยู่แล้ว ส่วนหน่วยงานอื่นๆ ต้องไปชี้แจงว่า การจะเลื่อนการเลือกตั้งนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาล หากอยากทราบเหตุผลให้ไปสอบถาม กกต. ดังนั้นการชุมนุมจะสร้างเงื่อนไขกับรัฐบาลไม่ได้ (มติชนออนไลน์)

ไพศาล ชี้อย่าเสียเวลาชุมนุม เพราะตอนนี้ กกต. ยังไม่มีอำนาจกำหนดวันเลือกตั้ง

16 ม.ค. ไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร) ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความเห็นว่า อย่าชุมนุมให้เสียเวลาเลย! ถ้าไม่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไป กกต. ก็ไม่มีอำนาจจัดการเลือกตั้งได้ พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไป จะเกิดขึ้นได้ ต้องประกอบด้วย 3 กระบวนการคือ 1.รัฐบาลมีหน้าที่กราบบังคมทูลขอรับพระราชทานพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไป 2.ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ตราพระราชกฤษฎีกา 3.ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น ตอนนี้จึงไม่ใช่ปัญหาว่า กกต. จะกำหนดการเลือกตั้งเมื่อใด  เพราะ กกต. ยังไม่มีอำนาจที่จะกำหนดอะไรทั้งนั้น จนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไป (Paisal Puechmongkol)

วิษณุ ชี้คนอยากเลือกตั้ง กดดันรัฐบาลไม่ได้ เว้นแต่ตั้งใจกดดันคนอื่น?

17 ม.ค. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการรักษาความสงบเรียบร้อย ว่าทุกคนต้องช่วยกัน เพราะกำลังจะเลือกตั้งและมีพระราชพิธีสำคัญ หากทำอย่างที่เป็นทุกวันนี้ถือว่าดีเพราะถูกจับตาจากทั่วโลกที่ต้องการให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย การที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จะชุมนุมวันที่ 19 ม.ค. นี้ไม่ถือว่าเป็นการกดดันรัฐบาล เพราะไม่สามารถกดดันได้ เว้นแต่ต้องการจะกดดันคนอื่น (สำนักข่าวไทย)

อนึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เคยให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2561 โดยตอบคำถามว่า สถานการณ์ทางการเมืองในอนาคตจะนำไปสู่การรัฐประหารอีกหรือไม่ โดย พล.อ.อภิรัชต์ ระบุว่า “ผมมั่นใจว่าถ้าการเมืองไม่เป็นต้นเหตุการจลาจล ก็ไม่มีอะไร”

หมายเหตุ: สาเล็ม มะดูวา เป็นนักศึกษาฝึกงาน จากคณะรัฐศาสตร์ การปกครอง ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net