รมว. ต่างประเทศอาเซียนถกทิศทางภูมิภาค จ่อส่งทีมหนุนพม่าส่งโรฮิงญากลับ

ประชุม รมต. ต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ คุยทิศทางรัฐมนตรีต่างประเทศต่อประเด็นทะเลจีนใต้ RCEP ความรุนแรงในยะไข่ รมว.ต่างประเทศไทยยัน บทบาทอาเซียนในยะไข่เพิ่มขึ้น จ่อส่งทีมสนับสนุนการเดินทางกลับประเทศอย่างปลอดภัย แต่ยังติดเรื่องสถานการณ์ในพื้นที่ ไม่มีการกล่าวถึงการมีส่วนร่วมของประชาสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ไม่มีคำว่า 'โรฮิงญา' เลยในแถลงการณ์ สมาชิกทีมจัดเวทีประชาชนอาเซียนระบุ อาจไม่จัดภายใต้รัฐบาลทหาร

เหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศของสมาชิกอาเซียนคล้องแขนจับมือก่อนการประชุม

18 ม.ค. 2562 ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้แถลงข่าวเรื่องผลการพูดคุยในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ที่มีขึ้นในวันที่ 17-18 ม.ค. ที่โรงแรมแชงกรี-ลา จ.เชียงใหม่ พร้อมทั้งได้แจกเอกสารแถลงการณ์กับสื่อมวลชนด้วย

ดอนตอบคำถามสื่อมวลชนประเด็นของวิกฤตรัฐยะไข่ ประเทศพม่าว่ามีความคืบหน้าในการทำให้อาเซียนไปมีบทบาทในประเด็นนี้มากขึ้น ในระดับภูมิภาคมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานสำหรับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (AHA Center) ขึ้นแล้ว และในการลงพื้นที่รัฐยะไข่ของเลขาธิการอาเซียน ลิม จ๊อก ฮอย เมื่อ 16-18 ธ.ค. ปีที่แล้ว อาเซียนได้ยินดีต่อการรับรองในส่วนของขอบเขตงานของคณะสำรวจความจำเป็น (Need Assesment Mission) จากศูนย์ AHA ไปยังรัฐยะไข่เพื่อสนับสนุนรัฐบาลพม่า โดยเวลาในการส่งทีมไปยังพม่านั้นมีกำหนดอยู่ในช่วงวันที่ 12-26 ม.ค. นี้ แต่ต้องพิจารณาจากสถานการณ์ในพื้นที่ก่อนว่ามีสันติภาพและเสถียรภาพแล้วหรือไม่ ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนก็มีข้อตกลงทวิภาคีกับพม่าอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่นไทยที่มีโครงการในรัฐยะไข่ที่ทำเรื่องการเตรียมการต่อผู้อพยพที่จะเดินทางกลับเข้าพม่าสวัสดิภาพของกลุ่มชาติพันธุ์และยังส่งทีมแพทย์เคลื่อนที่ลงไปในพื้นที่ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์รัฐยะไข่ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นหลังกองทัพพม่าเข้ากวาดล้างชาวโรฮิงญาเมื่อเดือน ส.ค. ปี 2560 จนเป็นเหตุให้มีอพยพมากกว่าเจ็ดแสนคน มีรายงานเรื่องของชาวโรฮิงญาตกเป็นเหยื่อความรุนแรงนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นการบังคับสูญหาย การข่มขืน ซ้อมทรมานไปจนถึงการถูกสังหาร จนองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้มีการนำตัวผู้นำของกองทัพพม่าขึ้นไต่สวนที่ศาลอาญาระหว่างประเทศในความผิดข้อหาอาชญากรสงคราม อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เมื่อ 27 ส.ค. 2561 และปัจจุบันหัวข้อการพูดคุยในประเด็นโรฮิงญานั้นส่วนมากเป็นเรื่องของการนำตัวชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งจำนวนมากอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่เมืองคอกบาซาร์ บังคลาเทศ กลับสู่พม่า

นอกจากนั้น ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีการใช้คำว่า 'โรฮิงญา' ในเอกสารแถลงการณ์ชุดนี้เลย แต่ใช้คำว่าสถานการณ์ในรัฐยะไข่ (situation in Rakhine State) แทน และยังไม่มีการพูดถึงประเด็นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาสังคมในภูมิภาคกับเหล่ารัฐมนตรี และผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนในปีนี้อย่างเป็นรูปธรรมเลยในแถลงการณ์และการแถลงข่าว

ใจความสำคัญในแถลงการณ์ต่อประเด็นใหญ่ๆ ของภูมิภาคมีดังต่อไปนี้

ประเด็นความรุนแรงในรัฐยะไข่ แถลงการณ์ระบุว่า รัฐมนตรีประเทศสมาชิกได้รับรองข้อกำหนดว่าด้วยการส่งคณะประเมินความจำเป็น จากศูนย์ AHA ลงไปในพื้นที่รัฐยะไข่เพื่อสนับสนุนรัฐบาลพม่าในกระบวนการพาชาวโรฮิงญากลับประเทศ โดยหวังว่าบันทึกความเข้าใจระหว่างพม่าและข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) จะถูกนำมาปฏิบัติอย่างเต็มที่เพื่ออำนวยความสะดวกต่อกระบวนการนำผู้พลัดถิ่นกลับสู่พม่า และสนับสนุนกระบวนการส่งตัวกลับแบบสมัครใจ โดยที่ผู้พลัดถิ่นจะกลับมาอย่างมั่นคง ปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี ทั้งยังคาดหวังให้คณะกรรมการการไต่สวนอิสระที่ตั้งโดยรัฐบาลพม่าจะสืบสวนกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเรื่องที่เกี่ยวข้องอย่างยุติธรรม

5 เรื่องควรรู้หลังยูเอ็นจัดหนักพม่าด้วยรายงานที่ดุดันในกรณีโรฮิงญา

ศาลพม่าปัดตกอุทธรณ์คดีสองนักข่าวรอยเตอร์เปิดโปงสังหารหมู่โรฮิงญา

ประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับชาติสมาชิกอาเซียน แถลงการณ์ระบุว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนได้ตกลงกันเรื่องการเจรจาแนวทางปฏิบัติ (Code of Conduct - CoC) ในทะเลจีนใต้แล้ว และหวังว่าจะมีการอ่านเพื่อตรวจทาน CoC ครั้งแรก (First reading) ตามกำหนดภายในปีนี้ จากทั้งหมดสามครั้ง เหล่ารัฐมนตรีต่างเห็นพ้องว่าระหว่างนี้มีความจำเป็นที่จะคงสภาพแวดล้อมที่จะนำไปสู่การเจรจาให้ได้ และพร้อมรับฟังมาตรการที่จะลดความตึงเครียด การเข้าใจผิด การประเมินผิดและความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงมาตรการการสร้างความเชื่อมั่นต่อกันและกันระหว่างภาคีเจรจา

เหล่ารัฐมนตรียังได้พูดคุยและรับทราบข้อกังวลเรื่องการเข้าครอบครองแผ่นดินและกิจกรรมในทะเลจีนใต้ โดยรัฐมนตรีประเทศสมาชิกยังคงยืนยันถึงความสำคัญของการสร้างสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ ความปลอดภัยและเสรีภาพในการเดินเรือและบินผ่านทะเลจีนใต้ โดยเน้นย้ำถึงการแก้ไขปัญหาโดยสันติให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึง อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) พ.ศ. 2525 ด้วย

สถานการณ์นิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี เหล่ารัฐมนตรียินดีต่อพัฒนาการด้านบวกและขอให้ทุกฝ่ายเดินหน้าต่อไปเพื่อทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และแสดงความยินดีต่อความพยายามของจีน สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ต่อความพยายามสร้างการสานเสวนากับเกาหลีเหนือ และต่อความตั้งใจของเกาหลีเหนือในการปลดอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงคำมั่นที่จะหยุดการทดลองขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ เหล่ารัฐมนตรีหวังว่าความพยายามจากประชาคมระหว่างประเทศ และมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องจะถูกนำมาใช้เพื่อทำให้เกิดสันติภาพ เสถียรภาพและนำมาซึ่งคาบสมุทรเกาหลีที่ไม่มีนิวเคลียร์ถาวร

ประเด็นเรื่องความมั่นคงไซเบอร์ เพื่อการสร้างพื้นที่ไซเบอร์ที่ปลอดภัย มั่นคงและฟื้นตัวได้เร็ว เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค เหล่ารัฐมนตรียินดีที่จะให้มีศูนย์อาเซียน-ญี่ปุ่นว่าด้วยการสร้างศักยภาพด้านความมั่นคงไซเบอร์ (AJCCBC) ที่กรุงเทพฯ และคำประกาศของศูนย์ความเป็นเลิศด้านความมั่นคงไซเบอร์อาเซียน-สิงคโปร์ รวมทั้งเน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาความร่วมมือในด้านนโยบายความมั่นคงไซเบอร์และการสร้างเสริมศักยภาพในอาเซียน

ประเด็นความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (The Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP) แถลงการณ์ระบุว่าเหล่ารัฐมนตรีตระหนักถึงความสำคัญในการทำให้เกิดแรงผลักทางการเมืองให้เกิดการเจรจา RCEP

จับตาเจรจาการค้าเสรี RCEP เมื่อผลประโยชน์นักลงทุนอยู่เหนือประชาชน

คุ้มแน่หรือเจรจา RCEP? บทเรียนการคุ้มครองนักลงทุน (มากกว่าประชาชน)

ประเด็นคณะกรรมาธิระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) เหล่ารัฐมนตรีได้พิจารณาและอนุมัติโครงการ กิจกรรมและงบประมาณปี 2562 ของ AICHR แล้ว

อาเซียนไม่ใช่ของเรา#2: อธิปไตย กติกาภูมิภาคกับสิทธิมนุษยชนในฐานะเสือกระดาษหลับ

ภาคประชาชนอาจไม่จัดเวทีอาเซียนภาคประชาสังคมภายใต้รัฐบาลทหาร

ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผอ.มูลนิธิศักยภาพชุมชน หนึ่งในคณะทำงานการจัดงานอาเซียนภาคประชาสังคม/ภาคประชาชน (ACSC/APF) ที่ปีนี้ไทยเองก็เป็นเจ้าภาพ ให้ข้อมูลว่ามีการกำหนดวันจัดงานอาเซียนภาคประชาชนเอาไว้เป็นวันที่ 17-19 มิ.ย. 2562 แต่ได้สะท้อนปัญหาจากมุมของภาคประชาสังคมว่าปัจจัยที่ต้องพิจารณาเป็นหลักมีสองเรื่อง ได้แก่การเลือกตั้งในไทยและปัญหาเรื่องแนวทางการเข้าถึงงบประมาณจำนวน 9.8 ล้านบาทจากภาครัฐที่ระเบียบทางราชการเป็นปัญหา

“ณ วันนี้คงจัด แต่ถ้ามีการเลื่อนการเลือกตั้ง หรือไม่มีการเลือกตั้งเลย ภาคประชาสังคมก็ต้องมาคุยกันว่าเราจะมีบทบาทอะไรกับเรื่องนี้ เราคงยังไม่ยอมให้ APF เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลทหาร เพราะทางเวทีภาคประชาชนอาเซียนก็ได้มีแถลงการณ์ไปแล้วในประเด็นนี้” ชลิดากล่าวย้ำเรื่องถ้อยความในแถลงการณ์เวทีอาเซียนภาคประชาชนในปี 2561 ที่ประเทศสิงคโปร์ ที่ให้ประธานอาเซียนเคารพในเรื่องสิทธิมนุษยชนและการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ของประชาชน

ในประเด็นเรื่องเงินนั้นชลิดายกตัวอย่างข้อกังวลเรื่องกระบวนการใช้จ่ายที่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้าก่อน แล้วจึงทำเรื่องเบิกจ่ายซึ่งใช้เวลาประมาณ 45 วัน เธอจึงกังวลว่าจะหาเงินก้อนจากที่ไหนมาหมุนเวียนก่อน และเวลาที่มีอยู่ตอนนี้ก็น้อย จะมีแหล่งทุนใดที่สนับสนุนได้

ด้านศันสนีย์ สุทธิศันสนีย์ รักษาการตัวแทนประเทศไทยคณะกรรมการอำนวยการภาคประชาชนอาเซียน (Regional Steering committee) หนึ่งในฝ่ายที่รับผิดชอบการจัดงานเวทีอาเซียนภาคประชาชน หวังว่าการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมที่ไทยเองก็ชูธงประเด็นนี้จะเกิดขึ้นจริง

ในส่วนรูปแบบการจัดงานอาเซียนภาคประชาชนในไทยนั้น ศันสนีย์กล่าวว่าจะมีคณะทำงานอาสาสมัครเป็นผู้จัด จะมีการเปิดให้ภาคประชาชนในต่างจังหวัด ในระดับภูมิภาคเข้าเสนอชื่อคนที่จะให้เป็นคณะทำงาน โดยจะมีการลงคะแนนเสียงภายในเดือน ก.พ. นี้

ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐที่เป็นผู้ดูแลการจัดเวทีอาเซียนภาคประชาชนคือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท