ปัญหาและทางออกของ “วิชาการดูแลสุขภาพในมิติจิตวิญญาณ” ของ ม.เทคโนโลยีสุรนารี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ขณะนี้มีข้อเท็จจริงที่ว่า มีการเผยแพร่ “เอกสารที่เป็นส่วนหนึ่งของการสอน” ของวิชาการดูแลสุขภาพในมิติจิตวิญญาณ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีดังนี้ 

เอกสารดังกล่าวได้รับข้อวิจารณ์ว่า (1) เป็นทัศนะแบบวิทยาศาสตร์เทียม “pseudoscience” ถ้าสอนทัศนะนี้ในฐานะความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ย่อมเป็นเรื่องที่เข้ากันไม่ได้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (2) “เอกสารที่เป็นส่วนหนึ่งของการสอน” ขาดการอ้างอิงและความน่าเชื่อถือทางวิชาการทั้งในแง่ของวิชาวิทยาศาสตร์ วิชาพุทธศาสนศึกษา (Buddhist Studies) และวิชาพุทธปรัชญา (Buddhist philosophy) ถ้านำเอกสารนี้ถูกนำมาสอนในฐานะของความรู้ ย่อมเป็นเป็นเรื่องที่เข้ากันไม่ได้กับสถานะวิชาการและสถานะของมหาวิทยาลัยเชิงวิชาการ ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีน่าจะมีจุดยืนเป็นมหาวิทยาลัยเชิงวิชาการ

หลังจากเอกสารดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปในสังคม สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ออกมาชี้แจ้งว่า วิชาการดูแลสุขภาพในมิติจิตวิญญาณ (รหัสวิชา 601111) เป็นวิชาที่ใช้หลักการของศาสนาพุทธมาใช้เพื่อให้ผู้เรียนเป็นบุคคลที่มีคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรม มีความสุข มีภูมิคุ้มกันทางจิตใจ และรู้เท่าทันความเจริญทางวัตถุ เป้าหมายของวิชานี้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของบัณฑิตของมหาวิทยาลัย และผลลัพธ์ของการสอนก็เป็นไปตามเป้าหมายของวิชาที่วางไว้ ส่วนเรื่องเอกสารที่ถูกเผยแพร่ในสังคมนั้นเป็นเอกสารบางส่วนของหนังสืออ่านนอกเวลาที่ใช้ในการประกอบการสอนเท่านั้น

จะเห็นได้ว่า ในขณะที่ข้อวิจารณ์มีความลึกซึ้งที่มุ่งวิพากษ์สถานะของความรู้ที่ถูกนำมาสอนผู้เรียนในมหาวิทยาลัยเชิงวิชาการ แต่คำชี้แจ้งของสำนักแพทยศาสตร์ฯ กลับเป็นเพียงการอธิบายเป้าหมายของวิชา ผลลัพธ์ตามเป้าหมาย และชี้ว่า เอกสารที่เผยแพร่ในสังคมไม่ใช่ “เอกสารอ่านในเวลา” แต่เป็น “เอกสารอ่านนอกเวลา” คำชี้แจงของสำนักแพทยศาสตร์ฯ จึงไม่สามารถตอบข้อวิจารณ์ได้ และดูเหมือนว่า สมมุติฐานที่ยอมรับไว้ก่อนของการแบ่งเอกสารเป็นใน/นอกเวลาเป็นการหลีกหนีประเด็นเพราะ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารใน/นอกเวลา สถานะของความรู้ในเอกสารนั้นก็ไม่ควรแตกต่างกัน มิเช่นนั้นก็อาจทำให้สรุปไปได้ว่า ถ้าอ่านในเวลา เอกสารจะต้องน่าเชื่อถือ แต่ถ้าอ่านนอกเวลา เอกสารไม่น่าเชื่อก็ได้

นอกจากนั้นคำชี้แจ้งที่ว่า วิชาการดูแลสุขภาพในมิติจิตวิญญาณเป็นวิชาที่นำหลักการของศาสนาพุทธมาใช้ในการดูและสุขภาพ สอนคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ทำให้วิชานี้น่าจะอยู่ในขอบเขตของ “การสอนศาสนา” มากกว่าอยู่ในขอบเขตของวิทยาศาสตร์สุขภาพ (heatlh science) 

หากอยู่ในขอบเขตของ “การสอนศาสนา” ข้อวิจารณ์ในสังคมก็เป็นข้อวิจารณ์ที่ไม่ได้ใหม่เพราะ ทัศนะที่มุ่งวิพากษ์สถานะของความรู้ของ “การสอนศาสนา” ในมหาวิทยาลัยมีมานานแล้ว อย่างน้อยที่สุดนับได้จากการแยก “การสอนศาสนา” ออกเป็น “เชิงจารีต” (traditional) กับเชิงวิชาการ หรือที่เรียกว่า ศาสนศึกษา (religious studies) การสอนศาสนาเชิงวิชาการไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อสร้างศรัทธา ศาสนิก หรือบุคคลที่มีลักษณะตามคำสอนของศาสนา และวิธีการศึกษาจะต้อง “เป็นวิชาการ” ไม่ได้ใช้ศรัทธา และกำหนดความจริง/เท็จตามจารีตของตนเอง

แต่ในข้อเท็จจริงคงต้องยอมรับว่า การแบ่งแยกเชิงจารีต/เชิงวิชาการ ไม่ได้เป็นการแบ่งแยกเดียวกันกับนอกมหาวิทยาลัย/ในมหาวิทยาลัย เพราะมีบางมหาวิทยาลัยเป็น “มหาวิทยาลัยศาสนา” ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างนักบวชของศาสนาตน 

อย่างไรก็ดี การแบ่งแยกเชิงจารีต/เชิงวิชาการ ไม่ได้บอกว่า ในพื้นที่ใดๆ จะต้องสอนศาสนาจะต้องเป็นแบบวิชาการ หากแต่บอกว่า ถ้ามหาวิทยาลัยมีจุดยืนที่จะเป็นมหาวิทยาลัยเชิงวิชาการ ก็ไม่ควรสอน “เชิงจารีต” เพราะมันขัดแย้งกัน

ปัญหาของการที่วิชานี้อยู่ในขอบเขตของ “การสอนศาสนา” คือทำไมผู้สอนจึงไม่ใช่อาจารย์ด้านปรัชญาหรือศาสนศึกษา แต่กลับเป็นด้านแพทยศาสตร์ ถ้าผู้สอนเป็นอาจารย์ปรัชญาหรือศาสนศึกษาน่าจะทราบและเลือกใช้เอกสารที่มีความน่าเชื่อถือได้ ข้อกังขาจากสังคมก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

ถ้าไม่พิจารณาในขอบเขตของ “การสอนศาสนา” แต่พิจารณาในขอบเขตของ “วิทยาศาสตร์สุขภาพ (heatlh science)” แทน การดูแลสุขภาพในมิติจิตวิญญาณ (Spiritual Healthcare) เป็นหัวข้อที่มีมาตั้งนานแล้วเช่นกัน เป็นการมุ่งดูแลสุขภาพ (health) มนุษย์ ซึ่งมีความคิดพื้นฐานที่ว่า มนุษย์ไม่ได้ประกอบแต่เพียงร่างกายเท่านั้น หากแต่มนุษย์มีมิติของจิตวิญญาณ (Spiritual dimension) ด้วย การกล่าวถึง “จิตวิญญาณ” นี้ ไม่ได้เป็นกำลังกล่าวถึง ผี ปีศาจ “วิญญาณ” แต่เป็นการกล่าวถึง ระบบคุณค่าความหมาย (value, meaning) ต่างๆ ที่ประกอบรวมเป็นมนุษย์คนๆ หนึ่ง และการดูแลมิติด้านจิตวิญญาณนี้ส่งผลที่ดีต่อภาพรวมของสุขภาพ ตัวอย่างที่เข้าใจได้ง่ายคือ สำหรับบางคนการเข้าใจความหมายของชีวิตส่งผลให้ความเครียดลดน้อยลง

สิ่งที่ทำให้การดูแลสุขภาพในมิติจิตวิญญาณไปเชื่อมโยงกับศาสนาได้เพราะ สำหรับบางคน “ระบบคุณค่าความหมาย” ของเขาเป็นเรื่องทางศาสนา แต่การเชื่อมโยงนี้เป็นแบบไม่จำเป็นเพราะ ระบบคุณค่าความหมายไม่ได้จำกัดอยู่กับแค่ศาสนาหรือจำกัดอยู่กับแค่ศาสนาพุทธเท่านั้น แต่ยังมีระบบคุณค่าความหมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาด้วย และก็เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า ระบบคุณค่าที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาเป็นมิติทางจิตวิญญาณของคนจำนวนไม่น้อย อีกทั้งการศึกษาเชิงวิชาการเรื่องมิติจิตวิญญาณของสุขภาพก็ไม่ได้จำกัดเพียงแค่มิติทางศาสนาเท่านั้น หากทบทวรรณวรรณกรรมอย่างครบถ้วนก็ไม่น่าจะได้คำตอบที่จำกัดอยู่กับแต่ศาสนาพุทธ และด้วยนัยยะนี้การดูแลสุขภาพในมิติจิตวิญญาณจึงมีลักษณะอัตวิสัย (subjective) ขึ้นอยู่กับระบบคุณค่าความหมายของแต่ละคนด้วย

ดังนั้น การดูแลสุขภาพในมิติจิตวิญญาณจึงไม่ได้มีเป้าหมายที่จะทำให้บุคคลหนึ่งเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายของวิชาที่สำนักแพทยศาสตร์ฯ เปิดสอน หากแต่เป็นหมายเป็นไปตามชื่อคือ “ดูแลสุขภาพ” โดย “ดูแลมิติทางจิตวิญญาณของสุขภาพ” ที่จะต้องพึงตระหนักอยู่เสมอถึงความเป็นอัตวิสัยของระบบคุณค่าความหมาย มิเช่นนั้นจะกลับกลายเป็นการบังคับให้ผู้เรียนเปลี่ยนระบบคุณค่าความหมายของตนเพื่อเข้ากับทัศนะของผู้สอน การทำเช่นนี้จะสอดคล้องกับ “การสอนศาสนาเชิงจารีต” อันเป็นการสอนศาสนาที่ไม่ควรอยู่ในมหาวิทยาลัยเชิงวิชาการ

ผู้เขียนเห็นว่า ทางออกของสำนักแพทยศาสตร์ฯ น่าจะมีอยู่ 2 ทางคือ ทางแรก ปิดวิชานี้ เพราะเท่าที่พิจารณาจากข้อมูลที่มีอยู่ นอกจาก“เอกสารที่เป็นส่วนหนึ่งของการสอน” ขาดความน่าเชื่อถือทางวิชาการทั้งในแง่ของวิชาวิทยาศาสตร์ วิชาพุทธศาสนศึกษา และวิชาพุทธปรัชญา แล้วเป้าหมายของวิชายังไม่ได้เป็นเป้าหมายของ Spiritual Healthcare ที่แท้ด้วย

ทางที่สองคือ ปรับลักษณะต่างๆ ของวิชา เพราะเนื้อแท้ Spiritual Healthcare เป็นสิ่งก่อให้เกิดผลดีต่อภาพรวมของสุขภาพ ดังนั้นการที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้เรื่องนี้ย่อมก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพของเขาไม่มากก็น้อย แต่สิ่งที่ต้องปรับคือให้เป็น Spiritual Healthcare ที่แท้ ไม่ใช่มีเป้าหมายเพื่อสอนให้คนมีคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม เอกสารและเนื้อหารายวิชาวางอยู่บนข้อมูลทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ และตระหนักความเป็นอัตวิสัยของระบบคุณค่าความหมาย ไม่ใช่มุ่งสอนระบบคุณค่าของศาสนาพุทธ ซึ่งแท้จริงก็เป็น “ศาสนาพุทธในแบบที่คนสอนเข้าใจ” อาจจะตรงหรือไม่กับพุทธปรัชญาก็ได้ 

ความตระหนักนี้อาจทำได้โดยไม่ให้วิชานี้สอนโดยอาจารย์คณะแพทย์อย่างเดียว แต่ต้องดึงอาจารย์จากสาขาวิชาอื่นๆ เกี่ยวข้องกับระบบคุณค่าความหมายมาสอนด้วย แง่นี้สาขาวิชาที่ขาดไปไม่ได้คือ ปรัชญา เพราะปรัชญาเกี่ยวข้องกับคำถามเกี่ยวกับคุณค่า ชีวิตที่ดี ความหมายของชีวิต ทั้งทางศาสนาและนอกเหนือจากศาสนา และการทำงานของปรัชญาไม่ได้ยอมรับไว้ก่อนว่า คำตอบที่ถูกต้องคืออะไร ดังนั้นในการสอนอาจารย์ปรัชญาจึงไม่มุ่งสอนให้ผู้เรียนมีระบบคุณค่าความหมายตามของตน อันสอดคล้องกับความเป็นอัตวิสัยของมิติด้านจิตวิญญาณ และไม่ทำให้วิชานี้กลายเป็นการสอนศาสนาเชิงจารีต อันขัดกับความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงวิชาการ

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่า ข้อเสนอเรื่องทางออกค่อนข้างมีข้อจำกัดเพราะข้อมูลที่มีอยู่เป็นเพียงบางส่วนของวิชา คงเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยที่สำนักแพทยศาสตร์ฯ จะเปิดเผยประมวลรายวิชา รายนามเอกสารอ้างอิงทั้งหมด เอกสารประกอบการสอนทั้งในและนอกเวลาทั้งหมด สไลด์ประกอบการสอนตามความเป็นจริง จะได้เป็นลบข้อกล่าวหาและข้อกังขาของสังคมที่มีต่อวิชานี้ด้วย

หมายเหตุ

1. ในคำชี้แจงสำนักแพทยศาสตร์ฯ ใช้คำว่า คุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ติดกัน ข้อสังเกตคือในสังคมไทยมักจะพบการใช้สามคำนี้ติดกันอยู่เสมอและใช้อย่างไม่เข้าใจที่มาและความหมายของทั้งสามคำ

2. การสอนจริยธรรม เป็นสิ่งที่อยู่ในวิชาจริยศึกษา (moral education) 

3. ติดตามเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ที่ facebook ของอ. เจษฎา Jessada Denduangboripant
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท