เมื่อต้องร่วมคลี่คลายความขัดแย้ง นักสื่อสารต้องเข้าใจสันติภาพ

รายงานพิเศษจาก 'สำนักข่าวอามาน - Aman News Agency' ในพื้นที่ความขัดแย้งที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและคุณภาพความเป็นอยู่ของสังคมนั้นแล้ว ยังมีผลกระทบต่อความเข้าใจของสังคมใหญ่ที่ไม่เข้าใจว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อต้องร่วมคลี่คลายความขัดแย้งแล้ว 'นักสื่อสาร' ต้องเข้าใจเรื่อง 'งานเพื่อสร้างสันติภาพ/สันติสุข' สร้างความรู้จัก ความเข้าใจในวิถีชีวิต ให้เห็นคนในพื้นที่ความขัดแย้งมากกว่าสนใจที่ประเด็นความขัดแย้ง และเพื่อให้เกิดความเคารพในกลุ่มคนที่กำลังถูกกระทบด้วยภาพข่าวความขัดแย้งรุนแรงเหล่านั้น

20 ม.ค. 2562 ทุกพื้นที่ความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องที่นอกจากจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและคุณภาพความเป็นอยู่ของสังคมที่นั้นแล้ว ยังมีผลกระทบต่อความเข้าใจของสังคมใหญ่ที่ไม่เข้าใจว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากอะไรและจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ 

ด้วยเหตุนี้ จึงมีความพยายามหลากหลายในการทำงานขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเข้าใจปัญหามากขึ้นโดยองค์กรสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเรียกงานเหล่านั้นว่า 'งานเพื่อสร้างสันติภาพ/สันติสุข' เช่นเดียวกับสำนักข่าวอามาน ที่จัดอบรมอบรมเชิงปฏิบัติการทักษะการสื่อสารสันติภาพตามหลักวารสารศาสตร์สันติภาพ รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 15 – 16 ม.ค. 2562 ณ ทามาร์ บีช รีสอร์ท ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี จัดโดยสำนักข่าวอามานและสนับสนุนโดยศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ (PRC) กลุ่มเป้าหมายในการอบรมในแต่ละครั้งจะประกอบด้วย นักสื่อสาร ภาคประชาสังคม นักข่าวภาคสนามของสำนักข่าวหลายสำนัก เพื่อเข้าใจหลักการการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ที่จะทำให้นักสื่อสารเหล่านี้เป็นสื่อมากกว่าคนขายข่าว แต่จะมีบทบาทในการสร้างสันติภาพได้ในตัวเอง

มูฮำมัด ดือราแม หัวหน้าโครงการเสริมความรู้วารสารศาสตร์สันติภาพ เสริมบทบาทสื่อมวลชนสร้างสันติสุขชายแดนใต้/ปาตานี สำนักข่าวอามาน

นายมูฮำมัด ดือราแม หัวหน้าโครงการเสริมความรู้วารสารศาสตร์สันติภาพ เสริมบทบาทสื่อมวลชนสร้างสันติสุขชายแดนใต้/ปาตานี สำนักข่าวอามานกล่าวว่า การจัดอบรมครั้งนี้ มีสองส่วนคือการให้ความรู้เรื่องสื่อสารสันติภาพ และมีกิจกรรมลงพื้นที่เพื่อนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปฝึกทำข่าว และมีการวิจารณ์สิ่งที่ได้ไปสัมภาษณ์มาเป็นชิ้นงาน และต้นปีหน้าจะมีการจัดประกวดข่าวสันติภาพ 

หัวหน้าโครงการยังชี้แจงต่อผู้เข้าร่วมอบรมว่า 'สื่อสันติภาพ' ถูกเรียกครั้งแรกโดย Johan Galtung ปี ค.ศ.1965 โดยใช้คำว่า peace journalist และได้ถ่ายทอดแนวคิดที่แตกต่างกันระหว่างนักข่าวสันติภาพกับนักข่าวสงครามไว้อย่างชัดเจน แต่คุณสมบัติที่โดดเด่นของนักข่าวสันติภาพคือมุ่งเน้นสันติภาพเพื่อขจัดความขัดแย้งมุ่งเน้นความจริงให้ความสำคัญกับประชาชนมุ่งเน้นหาทางแก้ปัญหา

“บทบาทของนักข่าวสันติภาพ เป็นเสมือนตัวประสานและบูรณะสังคมที่เสียหายจากสงครามและพยายามจะเสนอเพื่อให้สงครามที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนที่ต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก” หัวหน้าโครงการ กล่าว 

ทั้งนี้ยังมีความแตกต่างระหว่าง การสื่อสารสันติภาพและการสื่อสารเพื่อสันติภาพการสื่อสารสันติภาพเป็นการสื่อสารข่าวที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับปัญหาต่างๆ ในความขัดแย้ง และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้นๆ ด้วย แต่การสื่อสารเพื่อสันติภาพหรือ Communication for Peace เป็นการนำเสนอมุมที่นอกเหนือจากประเด็นความขัดแย้ง ที่อาจจะเป็นมุมของคนในพื้นที่ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ประเด็นที่ไม่ได้เป็นกระแสที่สังคมกำลังติดตามเรื่องเหตุการณ์ก็ได้ ซึ่งเป้าหมายคือ การสร้างความรู้จัก ความเข้าใจในวิถีชีวิต เพื่อให้เห็นคนในพื้นที่ความขัดแย้งมากกว่าสนใจที่ประเด็นความขัดแย้ง และเพื่อให้เกิดความเคารพในกลุ่มคนที่กำลังถูกกระทบด้วยภาพข่าวความขัดแย้งรุนแรงเหล่านั้นด้วย 

ในการใช้คำเพื่อสื่อข่าวนั้น จะมีบริบทของคำเหล่านั้นอยู่ด้วย การเลือกใช้คำในการนำเสนอข่าวต้องเข้าใจปัญหาละเอียดอ่อนด้วย เช่น การใช้คำว่า ผู้ก่อการร้าย นักรบ นักต่อสู้ นักเคลื่อนไหว และพื้นที่ถูกเรียกแตกต่างกันเช่น สามจังหวัดชายแดนใต้ ปาตานี เป็นต้นด้วย ซึ่งนักข่าวหรือนักสื่อสารต้องเข้าใจเลือกคำ เพราะคำที่เลือกเป็นลบ จะสร้างความรู้สึกและความเข้าใจเป็นลบต่อพื้นที่ด้วย

นางสาวยะห์ อาลี เครือข่ายนักจัดรายการวิทยุปัตตานี

นางสาวยะห์ อาลี เครือข่ายนักจัดรายการวิทยุปัตตานี ได้สะท้อนความเห็นในวงอบรมว่าในความคิดเห็นส่วนตัวแล้ว ตนเองเชื่อว่าสื่อท้องถิ่นมีความสำคัญในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสังคมอื่นที่กำลังสนใจติดตามข่าวสารในพื้นที่ และประสบการณ์ที่เคยจัดรายการในสื่อวิทยุแห่งหนึ่ง พบว่าชาวบ้านให้ความสนใจเกี่ยวกับการท้องเที่ยวเป็นอย่างมาก นับจากการเปิดสายให้ผู้ชมแสดงความคิดเห็น ผู้ฟังสนใจเรื่องมุมบวก เรื่องสถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรมมากกว่า ซึ่งอยากให้นักข่าวเน้นเรื่องนี้กันให้มากขึ้น และเชื่ออีกว่าการสร้างภาพลักษณ์ที่เชื่อมั่นต่อพื้นที่จะทำให้ลดการอพยพออกจากพื้นที่ได้อีกทางด้วย 

“ในการสื่อประเด็นวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ อาหารอร่อย สินค้าขายดีของชุมชนนั่น จะทำให้คนข้างนอกรู้จักสินค้าที่น่าซื้อของพื้นที่ได้เยอะ ตัวอย่างกรือโป๊ะดาโต๊ะที่ขึ้นชื่อมาก ขายดีสร้างรายได้ในพื้นที่จำนวนมาก จึงทำให้ชาวบ้านไม่ย้ายออกไปไหน เพราะมีฐานอาชีพที่มั่นคงแล้วและยังอยู่บ้านได้ด้วย ถ้าสื่อเน้นการชี้ช่องทางรายได้ เผยแพร่การตลาดของสินค้าในพื้นที่ จะทำให้คนเชื่อมั่นและอยากจะอยู่บ้าน ไม่ใช่ว่ามีแต่ความกลัวต่อสถานการณ์ คนก็ไม่มีอาชีพเลยตัดสินใจออกจากบ้านไป” นางสาวยะห์ อาลี กล่าว

การสื่อสารที่เหมาะสมในสถานการณ์ความขัดแย้งชายแดนใต้ 

ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาการสื่อสารสันติภาพ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี 

ในวันที่สองของการอบรม หลังจากการนำเสนอผลงานของผู้เข้าร่วมจากที่ได้สร้างสื่อที่สะท้อนปัญหาในพื้นที่แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี มีการบรรยายพิเศษหัวข้อการสื่อสารที่เหมาะสมในสถานการณ์ความขัดแย้งชายแดนใต้โดย ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาการสื่อสารสันติภาพ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี 

“ทำไมต้องพูดเรื่องการสื่อสานสันติภาพ และประชาชนอยู่ตรงไหนของกระบวนการสันติภาพ”

ผศ.ดร.กุสุมา ได้กล่าวไว้ว่าในช่วงหนึ่งที่สังคมชายแดนใต้พูดถึงเรื่องการใช้ช่องทางทางเลือกในการสื่อสารประเด็นตัวเอง นอกเหนือจากสื่อกระแสหลักและมีการตั้งคำถามอยู่ว่าทำไมการสื่อสารจึงมีส่วนสำคัญในการคลี่คลายความขัดแย้งและสร้างสันติภาพ

ในสังคมความขัดแย้งเป็นพื้นที่ของคนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ และเป็นพื้นที่ความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงและพื้นที่ของประชาชน แต่พื้นที่ความขัดแย้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ พื้นที่ทางการเมือง ซึ่งสิ่งที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาได้ คือการสร้างและขยายพื้นที่ของประชาชนให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้เสียงจากประชาชนสามารถเรียกร้องความต้องการออกมาได้ ซึ่งการสื่อสารจะต้องไปช่วยนำเสียงเหล่านี้ออกมา และพื้นที่ความรุนแรงยิ่งขยายใหญ่เมื่อไม่มีพื้นที่ของการสื่อสาร ต้องสร้างการสื่อสารประเด็นความขัดแย้งออกมามากที่สุด เพื่อให้เห็นและได้ยินว่าในความขัดแย้งมีประเด็นอะไรที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง ฉะนั้น การสื่อสารจะช่วยให้พื้นที่ของการใช้ความรุนแรงหดลงไปเอง 

“ประชาชนในพื้นที่ความรุนแรง มักจะเผชิญกับปัญหาที่ต้องมีประเด็นที่รุนแรงก่อนถึงจะได้รับความสนใจต่อนักข่าวกระแสหลัก ซึ่งปัจจุบันไม่ต้องเรียกร้องให้สื่อกระแสหลักมาสนใจเหมือนแต่ก่อน เนื่องจากมีช่องทางที่สามารถสร้างขึ้นนำเสนอเนื้อหา ประเด็นปัญหาในสังคมได้เองที่เรียกตัวเองว่า สื่อทางเลือก” ผศ.ดร.กุสุมา ได้กล่าว

ซึ่งการสื่อสารทำให้เกิดการรับรู้ของความคับข้องใจ และเสนอทางออกของปัญหาสู่สังคมผ่านการสื่อสาร และการสื่อสารสันติภาพต้องยืนยันว่าการใช้ความรุนแรงไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้

ประชาชนอยู่ตรงไหนในการสร้างสันติภาพ

ตามทฤษฎีทางสังคม การเจรจาสันติภาพจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในกลุ่มที่มีอำนาจที่อยู่ชั้นบนเท่านั้น หรือเรียกว่า Tract 1 ซึ่งในกระบวนการสร้างสันติภาพที่แท้จริงต้องรวมกลุ่มคนที่อยู่ในชั้นล่างของโครงสร้างสังคมให้มากที่สุด โดยนักสื่อสารถือเป็นข้อต่อสำคัญในการนำข้อเสนอ ความเห็นของคนในฐานล่างออกมาสู่สาธารณะ เพื่อให้มีการออกแบบการแก้ไขปัญหาให้มากที่สุด

อะไรคือการสื่อสารที่เหมาะสมในสถานการณ์ขณะนี้

การเข้าใจสถานการณ์ บริบทแวดล้อมที่มีอยู่ในสังคม เป็นสิ่งที่นักสื่อสารจะต้องเข้าใจเพื่อประเมินประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคมหรือไม่ หาช่วงเวลาที่เหมาะสม และเพื่อหาวิธีการในการสื่อสารอย่างน่าสนใจและเหมาะสม ซึ่งการนำเสนอข่าวสารท่ามกลางสถานการณ์ความร้อนแรงของสถานการณ์ทางการเมือง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรายวัน ซึ่งการนำประเด็นสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรมที่เป็นประเด็นเย็นมานำเสนอจะเป็นที่สนใจหรือไม่ ซึ่งการนำเสนอให้เป็น ประเด็นเย็นจะทำให้ชาวบ้าน ประชาชนหรือสังคมที่กำลังหมกหมุ่นกับปัญหาที่เกิดขึ้น หดหู่ เรื่องเย็นจะทำให้เห็นทางออกมากขึ้นก็ได้ แต่ต้องสื่อสารให้เป็น
 
ตัวอย่างประเด็นที่สังคมกำลังตั้งคำถามกับเหตุการณ์ยิงทหารในโรงเรียน ซึ่งมีหลายประเด็นที่กำลังเชื่อมโยงกับเหตุการณ์นั้น เช่น ประเด็นเด็ก การศึกษา โรงเรียน เป็นต้น และอาจจะสื่อสารเชื่อมโยงถึงกระบวนการสันติภาพที่กำลังคุยเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันระหว่างรัฐและขบวนการ การเขียนประเด็นนี้เพื่อจับมาเชื่อมโยงด้วยกัน และพยายามนำเสนอเพื่อให้เห็นทางออกของปัญหา จะทำให้เป็นประชาชนมีความหวังมากกว่าหมกหมุ่นกับความตายที่เกิดขึ้น ซึ่งนักสื่อสารต้องเข้าใจเรื่องความเหมาะสมเรื่องเวลา ประเด็น ช่องทาง ด้วย 

การสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพขายแดนใต้ (Peace Survey) จัดมาแล้ว 4 ครั้ง ซึ่งกำลังจะแถลงข่าวในเร็วๆ นี้ ซึ่งผลของการสำรวจความคิดเห็นจะทำให้นักสื่อสารทราบว่า ประเด็นที่อยู่ในกระแสมีอะไรบ้าง ประชาชนสนใจหรือคิดเห็นอย่างไรต่อประเด็นเหล่านี้บ้าง เช่น ต่อคำถามว่า ช่องทางที่ประชาชนนิยมมากที่สุดในการรับรู้ข่าวสารคือ โทรทัศน์เป็นอันดับหนึ่ง 73.1 จากคนรู้จัก 55 มัสยิด 45.5 ผู้รู้ศาสนา 45.3 เพสบุ๊ค 37.6 ไลน์ 35.1 วิทยุ 28.6 เป็นต้น 

ในช่วงแลกเปลี่ยนความเห็น มีการตั้งคำถามว่ามัสยิดที่ปรากฏในโพลนั้นหมายถึงอะไร เนื่องจากจากประสบการณ์ในมัสยิดไม่ได้เป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นข่าวสารหรือประเด็นสังคม แต่เป็นการอ่านคุตบะห์ที่บางครั้งเป็นประเด็นเดิมมากว่า 20 ปี แล้วมัสยิดเป็นช่องทางการสื่อสารที่ได้รับความนิยมอย่างไร ซึ่งวิทยากรชี้แจงว่าคำตอบที่ชาวบ้านเลือกมัสยิด เป็นเพียงสถานที่ที่มีการรวมตัวของคนมากที่สุด แต่ไม่ได้พูดถึงเนื้อหาในการสื่อสารว่า สื่อสารเรื่องอะไรบ้างในมัสยิด ซึ่งสะท้อนเพียงว่ามัสยิดเป็นช่องทางที่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการสื่อสารเท่าที่ควร ซึ่งนักสื่อสารก็ต้องคิดว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น 

ทั้งนี้มีการถกเถียงกันเรื่องการหายตัวไปของสื่อที่เคยเป็นช่องทางหลักหรือตกอันดับไปอยู่ท้ายตาราง อย่างวิทยุและสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งสะท้อนให้เห็นเทรนด์การรับช่องทางสื่อสารของประชาชนเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ประชาชนต้องการข่าวสารอะไร ทั้งนี้ได้เสนอทางบทบาทสำคัญที่สื่อจะช่วยให้เกิดแนวทางแก้ปัญหาได้ โดยสร้างวัฒนธรรมการฟังให้มากกว่าพูด 

“เพิ่มคนฟัง ลดคนพูด ฟังเสียงที่ถูกกดไม่ได้ขึ้นมาถูกได้ยินมากขึ้นจะสื่อสารอย่างไรให้สังคมเห็นและฟังกันมากขึ้น ในการพูดคุยสันติภาพในระดับบนที่กำลังดำเนินอยู่นั้น สังคมที่รอฟังความคืบหน้าอาจจะไม่เข้าใจกระบวนการใหญ่ แต่สื่อต้องมีบทบาทมากกว่าสื่อสารสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่นั่นคือ การเสนอทางภาพความสำเร็จที่เป็นไปได้มากที่สุดในกระบวนการสันติภาพ” ผศ.ดร.กุสุมา กล่าว

รายงานพิเศษชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเพจสำนักข่าวอามาน - Aman News Agency เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2562

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท