Skip to main content
sharethis

ผู้ต้องขังในเรือนจำสหรัฐฯ ร่วมกับองค์กรด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิผู้อพยพฟ้องร้องบริษัทเอกชนสองแห่งที่เป็นผู้บริหารเรือนจำในสหรัฐฯ จากการขูดรีดผู้ต้องขังด้วยค่าแรง 30-35 บาทต่อวัน กับราคาอาหารที่บางอย่างแพงกว่าข้างนอก 2 เท่า ยังไม่รวมถึงราคาสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นต่างๆ อย่างสบู่ ยาสีฟัน ที่ชาร์จราคาสูงลิ่ว ขณะเดียวกันนโยบายเน้นจับกุมผู้อพยพของโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ทำให้มีผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นมาก 


ที่มาภาพประกอบ: Matthias Müller (CC BY-NC-ND 2.0)

20 ม.ค. 2562 สื่อต่างประเทศรายงานขบวนการขูดรีดในเรือนจำเอกชนที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรสหรัฐอเมริกา (ICE) ใช้คุมขังนักโทษ ในรายงานข่าวดังกล่าวมีการระบุถึงกรณีของนักโทษที่ชื่อดักลาส ครูซ ผู้ต้องขังในเรือนจำอเดลันโต นอกเมืองลอสแองเจลิส ผู้ที่ทำงานในครัวของเรือนจำได้เงินเพียง 1 ดอลลาร์ต่อวัน (ราว 30-35 บาท) แต่ต้องเจอกับอาหารราคาชาร์จสูงมากในร้านค้าในเรือนจำอย่างทูน่ากระป๋องที่ราคาสูงถึง 3.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 100 บาท) นั่นหมายความว่าเขาต้องทำงานประมาณ 3-4 วันถึงจะได้ทูน่ากระป๋อง 1 กระป๋อง

ร้านค้าในเรือนจำดังกล่าวมีขายทูน่ากระป๋องด้วยราคาสูงมากกว่าห้างค้าปลีกข้างนอกถึง 3 เท่า บีบให้ครูซต้องประทังชีวิตอยู่กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปราคา 58 เซนต์ (ราว 15-20 บาท) นั่นยังไม่รวมถึงสินค้าอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันอื่นๆ ซึ่งกลายเป็น "ของหรู" ไปเลยสำหรับพวกเขา แม้กระทั่งสินค้าสุขอนามัยอย่างยาสีฟันก็ชาร์จเพิ่มขึ้นเป็นเกือบสองเท่าจากที่ขายข้างนอก 5.20 ดอลลาร์ฯ (ราว 165 บาท) เป็น 11.02 ดอลลาร์ฯ (ราว 350 บาท)

ผู้อพยพและนักกิจกรรมเปิดเผยว่าเรือนจำแบบอเดลันโตนี้มีเจ้าของเป็นบริษัทจีโอกรุ๊ป ที่มีฐานอยู่ในโบคา ราตัน รัฐฟลอริดา พวกเขาเป็นบริษัทเอกชนที่หาผลกำไรจากการทำเรือนจำขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ที่หากินด้วยการรีดนาทาเร้นเอาจากการจ้างงานผู้ต้องขังด้วยค่าแรงต่ำมากและขายสินค้าให้ผู้ต้องขังในราคาสูงแม้กระทั่งสินค้าอาหาร บีบให้นักโทษต้องทำงานแลกซื้อสิ่งเหล่านี้

พาโบล ปาเอซ โฆษกของจีโอกรุ๊ปกล่าวว่าข้อกล่าวหาเหล่านี้ "ไม่เป็นความจริงโดยสิ้นเชิง" และบอกว่าผู้ต้องขังของพวกเขาได้รับอาหารที่มีการรับรองจากนักโภชนาการและโครงการใช้แรงงาน ปาเอซบอกอีกว่าราคาสินค้าที่ขายในร้านค้าของเรือนจำ "อยู่ในแนวทางเดียวกับราคาตลาดในท้องถิ่น" โดยมี "ค่าคนกลางเล็กน้อย" และค่าหัวคิวเหล่านี้ก็จะกลายเป็น "เงินทุนสวัสดิการ" สำหรับซื่อุปกรณ์ต่างๆ ให้กับผู้ต้องขัง นอกจากนี้ปาเอซยังพูดถึงเรื่องที่ญาติของผู้ต้องขังสามารถส่งเงินให้ผู้ต้องขังได้โดยผ่านทางบัญชีของนายหน้า

อย่างไรก็ตามครอบครัวผู้ต้องขังระบุว่าการส่งเงินรูปแบบดังกล่าวมีค่าธรรมเนียมถึงร้อยละ 10 ทั้งนี้ผู้ต้องขัง วิลเฮน ฮิลล์ บาร์เรียนทอส ก็พูดถึงสภาพในเรือนจำว่าผู้คนต้องทำงานเสริมในเรือนจำอย่างถูพื้นหรือขัดห้องน้ำไม่เช่นนั้นแล้วพวกเขาจะไม่สามารถหาซื้อของใช้จำเป็นอย่างสบู่ แชมพู อาหาร หรือสเปรย์ดับกลิ่นได้ โดยที่บาร์เรียนทอสเป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมกับศูนย์กฎหมายคนจนฟ้องร้องคดีแบบเป็นกลุ่ม (class action) ต่อบริษัทบริหารเรือนจำที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ชื่อคอร์ซีวิคเมื่อปีที่แล้ว ในเรือนจำเขาถูกปฏิเสธไม่ให้มีแม้กระทั่งกระดาษชำระ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสิทธิผู้อพยพที่ฟ้องร้องคอร์ซีวิคและจีโอกรุ๊ปในลักษณะเดียวกันในหลายๆ รัฐ ขณะที่องค์กรเฝ้าระวังของรัฐบาลและ นักการเมืองในสภาก็มองเห็นปัญหาตรงนี้ด้วยเช่นกัน

เมื่อเดือน พ.ย. 2561 มีกลุ่มวุฒิสมาชิกของสหรัฐฯ ส่งจดหมายถึงสองบริษัทบริหารเรือนจำวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่พวกเขาหาผลกำไรจากธุรกิจเรือนจำเอกชนในระดับที่ "นอกลู่นอกทาง" โดยอาศัยฉวยโอกาสจากนโยบายปราบปรามผู้อพยพที่ไม่มีใบอนุญาตของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วุฒิสมาชิกเหล่านี้กล่าวถึงรายงานเมื่อเดือน ธ.ค. 2560 ที่ผู้ตรวจสอบพบว่าผู้ต้องขังไม่ได้รับสินค้าด้านสุขอนามัยในชีวิตประจำวันรวมถึงมีการให้อาหารที่เน่าเสีย ขึ้นรา หมดอายุ กับผู้ต้องขังเหล่านี้

สื่อต่างประเทศรายงานอีกว่าอุตสาหกรรมเรือนจำเอกชนในสหรัฐฯ รีดไถหาผลประโยชน์จากผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยจากการสำรวจปี 2559 พบว่ามีคนในสหรัฐฯ 1 ใน 12 คน คือราว 128,300 คน เป็นผู้ต้องขังเรือนจำ เพิ่มขึ้นจากปี 2543 ถึงร้อยละ 47 และนโยบายปราบปรามผู้อพยพของทรัมป์ก็กลายเป็นการส่งผลประโยชน์ให้กับบริษัทเหล่านี้มากขึ้น จากการสำรวจปีงบประมาณล่าสุดพบว่าสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐฯ มีการคุมขังผู้คนโดยเฉลี่ย 45,200 คนต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากปีงบประมาณ 2560


เรียบเรียงจาก
$11 toothpaste: Immigrants pay big for basics at private ICE lock-ups, CNBC, 18-01-2019
https://www.cnbc.com/2019/01/18/11-toothpaste-immigrants-pay-big-for-basics-at-private-ice-lock-ups.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net