ศาลทหารยุติคดี ‘จ่านิว’ ฝืนเงื่อนไขปล่อยตัวไปร่วมชุมนุม ‘เลือกตั้งที่ลัก(รัก)’ เหตุคสช.ออกคำสั่งยกเลิกความผิดแล้ว

คดีเลือกตั้งที่ลัก(รัก) ศาลทหารได้มีคำสั่งยุติคดี ‘จ่านิว’ ฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัว ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง เหตุคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 ยกเลิกการกระทำที่เป็นความผิดตามประกาศ คสช.ที่ 40/2557 และทนายความขอให้ศาลพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายของประกาศ คสช.ที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองด้วยเนื่องจากเห็นว่ามีเนื้อหาเช่นเดียวกับคำสั่งหัวหน้า คสช.3/2558 ข้อ 12 ที่ถูกยกเลิกไปด้วยคำสั่งฉบับเดียวกัน

ภาพโดย Sorawut Wongsaranon

21 ม.ค.2562 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ (21 ม.ค.62) ศาลทหารมีนัดสืบพยานโจทก์ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมาย คสช. พยานในคดีเลือกตั้งที่ลัก(รัก) ที่จำเลยทั้ง 4 คน ได้แก่อานนท์ นำภา สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ ถูกอัยการทหารฟ้องข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง และสิรวิชญ์ยังถูกฟ้องอีกคดีข้อหาฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวตามประกาศ คสช.ที่ 40/2557 เนื่องจากรวมชุมนุมในกิจกรรม “เลือกตั้งที่ลัก(รัก)” ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อ 14 ก.พ.2558

ทั้งนี้อัยการทหารแจ้งว่า พ.อ.บุรินทร์ พยานติดราชการไม่มาศาล และขอเลื่อนสืบพยานปากนี้ออกไปเป็นนัดหน้าวันที่ 3 เม.ย.2562 ซึ่งเป็นนัดพิจารณาเดิมที่มีอยู่แล้ว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานต่อว่า จากนั้นตุลาการศาลทหารได้อ่านคำสั่งจำหน่ายคดีที่สิรวิชญ์ถูกฟ้องเป็นจำเลยในข้อหาฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวตามประกาศ คสช.ที่ 40/2557 เนื่องจากหัวหน้า คสช. ได้ออกคำสั่งที่ 22/2561 เรื่อง การให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ที่ให้การกระทำความผิดตามประกาศฉบับดังกล่าวไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยจึงไม่เป็นผู้กระทำความผิดอีกต่อไปจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดในคดีนี้

ตุลาการฯ ระบุอีกว่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ซึ่งระบุว่า ถ้าหากมีกฎหมายบัญญัติขึ้นในภายหลังให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ก็ให้ผู้กระทำความผิดนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด หรือหากถ้าขณะนั้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษเเล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด หรือหากได้รับโทษอยู่ ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง และยังเป็นกรณีที่กฎหมายที่ออกใช้ในภายหลังการกระทําผิดยกเลิกความผิดที่โจทก์ฟ้อง เป็นผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 (5) ประกอบ พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 45

ภายหลังตุลาการฯ อ่านคำสั่ง ทนายความจำเลยได้แถลงขอให้ศาลพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายของประกาศ คสช. ที่ 7/2557เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองด้วย เนื่องจากเห็นว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 ที่ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นมีเนื้อหาเช่นเดียวกับประกาศ คสช.ที่ 7/2557

ท้ายที่สุดศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า ศาลจึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานพ.อ.บุรินทร์เอาไว้ก่อนเพื่อพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายตามที่ทนายความแถลง และนัดฟังคำสั่งในประเด็นดังกล่าววันที่ 15 ก.พ.2562

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท