Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการสิทธิฯ ส่งความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ - ป่าชุมชน ถึง สนช. ย้ำหลักการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน

23 ม.ค.2562 รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) แจ้งว่า วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 247 (3) บัญญัติให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีหน้าที่และอำนาจเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบหรือคำสั่งใด ๆ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ในการนี้ กสม. เห็นว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... และ ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. .... อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงได้มีความเห็นเพิ่มเติมต่อร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับดังกล่าวไปยัง สนช.

สรุปได้ดังนี้

1. ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ....

ประเด็นที่ (1) การมีส่วนร่วมของประชาชนหรือชุมชนในท้องถิ่น เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... มีการปรับปรุงหลักการให้ดีขึ้นกว่า พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เนื่องจากการกำหนดเขต ขยายเขต หรือการเพิกถอนเขตพื้นที่อุทยานและพื้นที่อนุรักษ์ตามร่างมาตรา 28 ต่างก็ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและชุมชนที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี เห็นว่า ควรมีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนด้วย นอกจากนี้ ร่างมาตรา 18 เกี่ยวกับการจัดทำแผนการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งยังคงเป็นอำนาจของหน่วยงานของรัฐและอธิบดี จึงเห็นควรให้กำหนดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของบุคคลหรือชุมชนท้องถิ่น และกำหนดแผนที่เหมาะสมในการร่วมกันบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติระหว่างรัฐและประชาชนด้วย

ประเด็นที่ (2) ความสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่น เห็นว่า ชุมชนเป็นหน่วยทางสังคมที่เข้มแข็งและมีบทบาทสำคัญในการจัดการและพัฒนาสิ่งแวดล้อม ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... จึงควรกำหนดบทนิยามเกี่ยวกับชุมชนด้วย โดยควรที่จะให้บุคคลหรือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการต่าง ๆ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 43 นอกจากนี้ ในส่วนของการคุ้มครอง บำรุง ดูแล และรักษาอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยพื้นที่ชายฝั่งและทะเลในการดำรงชีพ การมีบทบัญญัติห้ามเข้าไปกระทำการบางอย่างในเขตที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ก็ควรกำหนดบทยกเว้นไว้สำหรับกรณีดังกล่าวเป็นการเฉพาะ และควรกำหนดครอบคลุมไปถึงกรณีของบุคคลหรือชุมชนที่อยู่อาศัยหรือพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติในเขตพื้นที่ซึ่งยังไม่ได้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติหรือต่อมามีการขยายพื้นที่อุทยานแห่งชาติมาถึงด้วย

ประเด็นที่ (3) การสร้างความชัดเจนในเรื่องของการทำกินของบุคคลและชุมชนท้องถิ่นที่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติในเขตอุทยานแห่งชาติ  มีข้อสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... มาตรา 63 วรรคสอง ที่กำหนดให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือจากปัญหาไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ควรกำหนดให้ชัดเจนว่า ความช่วยเหลือที่บุคคลหรือชุมชนที่อยู่อาศัยและดำรงชีวิตในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติจะได้รับนั้น เป็นสิทธิหรือประโยชน์ประเภทใด และจะมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร

นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... มาตรา 63 ที่กำหนดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาตินั้น ปรากฏว่า เงื่อนไขที่กำหนดกรอบในการตราพระราชกฤษฎีกายังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการประกันสิทธิของบุคคลหรือชุมชนที่เป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ชีวิตในพื้นที่ป่า หากเป็นเพียงเกณฑ์การช่วยเหลือในเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ทำกินซึ่งอยู่ในกรอบทางเศรษฐกิจ ขาดการคำนึงถึงหลักการส่งเสริมให้ชุมชนดั้งเดิมช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมอันเป็นมิติทางวัฒนธรรม จึงควรนำมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงมาใช้ประกอบการพิจารณากำหนดกรอบพระราชกฤษฎีกาด้วย

2. ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. ....

ประเด็นที่ (1) ร่างมาตรา 31 ถึงมาตรา 41 การจัดตั้งป่าชุมชน บัญญัติให้ชุมชนที่ประสงค์นำพื้นที่ป่ามาขอจัดตั้งป่าชุมชน ต้องยื่นแผนจัดการป่าชุมชนต่อคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดพิจารณาอนุญาตก่อนนั้น มีข้อกังวลว่า ชุมชน เช่น กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ชาวมันนิ อาจไม่มีโอกาสรับรู้ถึงวิธีการจัดทำแผนจัดการป่าชุมชนเสนอต่อรัฐก่อนใช้ประโยชน์ และอาจเป็นภาระมากเกินกว่าที่ชุมชนเหล่านั้นจะดำเนินการได้เอง ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. .... จึงจำเป็นต้องมีวิธีการอำนวยความสะดวกให้แก่ชุมชนเหล่านั้น เช่น บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกรมป่าไม้ร่วมช่วยเหลือในการเขียนแผนโครงการของชุมชนในพื้นที่

ประเด็นที่ (2) ร่างมาตรา 44 หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน เห็นควรเพิ่มหน้าที่ในการติดตามและประเมินผลการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนในป่าชุมชนด้วย

ประเด็นที่ (3) ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. .... บัญญัติให้มีการตราอนุบัญญัติหลายมาตราที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการควบคุมต่าง ๆ ซึ่งอาจกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น การออกข้อห้ามมิให้กระทำการในป่าชุมชน รวมถึงการกำหนดกฎระเบียบเพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ โดยผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบาย ซึ่งมีสัดส่วนกรรมการจากหน่วยงานของรัฐมากกว่าชุมชน โดยไม่ได้กำหนดหลักประกันความเป็นธรรมของประชาชนในการจัดทำร่างอนุบัญญัติไว้ จึงเห็นว่า การออกกฎหมายลำดับรองควรเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง (เช่น กสม.) เข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อแสดงความคิดเห็นในการจัดทำร่างอนุบัญญัติเหล่านั้นด้วย

ประเด็นที่ (4) ร่างมาตรา 56 และมาตรา 57 การเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทนหรือค่าบริการจากบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกและการรับเงินบริจาคจากบุคคลภายนอกของป่าชุมชน มีข้อสังเกตว่า เงินดังกล่าวไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินและให้ตกเป็นทรัพย์สินส่วนกลางของป่าชุมชน จึงเห็นควรบัญญัติให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน รายรับ - รายจ่ายของป่าชุมชนต่อสาธารณะด้วย เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจใช้เป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net