ภาค ปชช.ค้านร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ชี้บั่นทอนสิ่งแวดล้อม ร้อง สนช.ถอนทันที

มูลนิธิบูรณะนิเวศ, EnLAW และประชาชนจาก จ.เพชรบุรีและระยอง เข้ายื่นหนังสือต่อ สนช. คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน "ฉบับลดทอนมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและประชาชน" เรียกร้องให้ สนช. ถอนออกจากการพิจารณาโดยทันที

23 ม.ค.2562 มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม - EnLAW รายงานว่า วันนี้ (23 ม.ค.62) ที่อาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคม นำโดย มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH), EnLAW และประชาชนจากจังหวัดเพชรบุรีและระยอง เข้ายื่นหนังสือต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน "ฉบับลดทอนมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและประชาชน" ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ (วาระ 2) พร้อมเรียกร้องให้ สนช. ถอนร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ออกจากการพิจารณาโดยทันที

เครือข่ายภาคประชาสังคม 67 กลุ่ม/องค์กรกับ 34 บุคคลที่ร่วมลงชื่อคัดค้าน เห็นว่าร่างแก้ไข พ.ร.บ.โรงงานฉบับนี้จะมีผลกระทบต่อการลดทอนมาตรการสำคัญในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงาน การป้องกัน และการแก้ไขผลกระทบจากการประกอบกิจการของโรงงานต่างๆ ทั่วประเทศ และมุ่งเน้นแต่เพียงการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรม ซึ่งจะก่อความเสียหายรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความปลอดภัยของประชาชนอย่างกว้างขวาง

สำหรับเหตุผลข้อห่วงกังวลสำคัญของเครือข่ายฯ ได้แก่  1) การแก้ไขนิยามทำให้ผู้ประกอบการสามารถก่อสร้างโรงงานได้ก่อนได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน  2) การแก้ไขนิยามทำให้โรงงานขนาดเล็กจำนวนมากหลุดจากการถูกกำกับควบคุมภายใต้ พ.ร.บ.โรงงาน  3) การแก้ไขให้ใบอนุญาตโรงงานไม่มีวันหมดอายุ ทำให้กระบวนการต่ออายุใบอนุญาตซึ่งต้องมีการตรวจสอบสภาพโรงงานถูกยกเลิกไป 

4) การตัดทิ้งข้อเสนอเรื่องการบังคับให้ผู้ประกอบการต้องทำประกันภัยเพื่อเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน  5) การเปลี่ยนแปลงระบบการตรวจสอบโรงงานให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการแทน จะเปิดโอกาสให้เกิดการร่วมกระทำผิดและความไม่โปร่งใสในระบบการตรวจรับรองสภาพโรงงาน  และ 6) บทลงโทษโรงงานที่กระทำผิดยังไม่รุนแรงเพียงพอที่จะสามารถป้องปรามการกระทำผิดหรือทำให้เกิดความเคารพยำเกรงกฎหมายได้

ทางเครือข่ายฯ เห็นว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งในอีกไม่นาน การเสนอและพิจารณากฎหมายที่สำคัญและจะส่งผลกระทบมากเช่นนี้ จึงควรดำเนินการภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันฝ่ายนิติบัญญัติก็ควรมีเวลาเพียงพอที่จะพิจารณา ไตร่ตรอง และทบทวนอย่างรอบด้าน ก่อนเสนอความเห็นในการกลั่นกรองเพื่อให้ได้กฎหมายที่มีความถูกต้องและเป็นธรรมอย่างแท้จริง

อ่านรายละเอียดและดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม: เว็บไซต์ EnLAW

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท