ฉันไม่รู้จัก 6 ตุลา (1): สำรวจแบบเรียน-ความเข้าใจของนักเรียนไทยในปี 2562

ประชาไทนำเสนอคลิปวิดีโอชวนนักเรียนคุย “รู้จัก 6 ตุลามั้ย” หลากหลายคำตอบและแววตาสงสัย สุดท้ายคนถามก็เริ่มสงสัยเลยกวาดซื้อหนังสือ สังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ ฯลฯ อะไรก็ได้ที่พูดถึงการเมืองไทยในชั้นมัธยม ไล่เปิดทีละเล่ม ทีละสำนักพิมพ์ ตื่นตาตื่นใจ 6 ตุลาร่วงหล่นอยู่ตรงไหน อธิบายยังไงให้เหมือนไม่อธิบาย

ฉันไม่รู้จัก 6 ตุลา (2): นักสืบประวัติศาสตร์ผู้(กำลัง)ทำงานแข่งกับเวลา, 28 ม.ค. 2562

ทรงผมสั้นเกรียน-เสมอติ่งหู ดูเป็นกฎระเบียบในโรงเรียนที่สืบทอดกันมานานจนไม่รู้ที่มา แต่ข้อค้นพบจากการกลับไปอ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 20 ต.ค. 2519 บอกเราว่า ระเบียบทรงผม การแต่งกาย รวมทั้งหลักสูตรการเรียนการสอนที่ให้เลิกสอนเกี่ยวกับลัทธิทางการเมือง แม้แต่ระบอบประชาธิปไตย เริ่มต้นหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา[1]

6 ตุลาที่ดูไกลตัวกลับเกี่ยวพันกับศีรษะของเราตั้งแต่จำความได้ แต่ความทรงจำเกี่ยวกับ 6 ตุลาของเราแจ่มชัดแค่ไหน

เราทดลองสัมภาษณ์นักเรียน ม.ปลาย จากหลายโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานครสั้นๆ เพื่อสำรวจว่าความรับรู้ที่พวกเขามีต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นอย่างไร เกินครึ่งไม่แน่ใจและสับสนกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 การอธิบายส่วนใหญ่เป็นคีย์เวิร์ดสั้นๆ เช่น มีการแขวนคอ มีการล้อมปราบนักศึกษา จำนวนไม่น้อยไม่เคยได้ยินเรื่องนี้เลย บางคนก็บอกว่าไม่ได้เรียนในโรงเรียน แต่รู้จากอินเทอร์เน็ตรวมถึงมิวสิควิดีโอ ‘ประเทศกูมี’

ไม่ใช่ความผิดของเหล่านักเรียนแน่นอนที่จะจำเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ได้ แม้เหตุการณ์นี้จะเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยและชุดภาพถ่ายเหตุการณ์ที่ถ่ายโดย นีล ยูเลวิช จะได้รับรางวัลพูลิตเซอร์โด่งดังไปทั่วโลก จนถึงวันนี้รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่ก็ยังคลุมเครือและไม่มีความชัดเจน เช่น จำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนคนถูกแขวนคอ ชื่อผู้เสียชีวิต หรือกระทั่งใครออกคำสั่งให้ล้อมปราบ ใครอยู่เบื้องหลังกลุ่มขวาจัด ฯลฯ

คำตอบงงๆ ของเหล่านักเรียนนำไปสู่ความสงสัยว่า รัฐไทยอธิบายเรื่องนี้ให้เยาวชนเข้าใจว่าอย่างไร แต่นั่นอาจเป็นคำถามที่ดีเกินไป บางทีอาจต้องเริ่มต้นตั้งแต่ว่า รัฐไทยอธิบายเรื่องนี้หรือไม่

นอกจากนี้เรายังกวาดแบบเรียนจากหมวดสังคมศึกษาทั้งหมดเท่าที่หาได้มาอ่าน คละกันตั้งแต่ระดับชั้น ม.1-ม.6 จำนวนทั้งสิ้น 23 เล่ม แบ่งเป็นหลักสูตรปี 2544 จำนวน 4 เล่ม ปี 2551 จำนวน 15 เล่ม ปี 2559 จำนวน 2 เล่ม ปี 2560 จำนวน 2 เล่ม แบ่งเป็นของสำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช สำนักพิมพ์เอมพันธ์ จำกัด กระทรวงศึกษาธิการ กระทั่งของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่ทำหนังสือเฉพาะของตัวเอง

เราเรียนเรื่อง 6 ตุลาในโรงเรียนกันอย่างไร

ข้อค้นพบคือ

  • แบบเรียนที่ไม่กล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาเลย มีจำนวน 17 เล่ม บางเล่มตลกกว่านั้นเพราะกล่าวถึง 14 ตุลาสั้นๆ แล้วข้ามไปที่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เลย[2] บางเล่มไม่กล่าวถึงทั้ง 14 ตุลาและ 6 ตุลาแต่กล่าวถึงเหตุการณ์พฤษภา 35[3] หรือมี 3 เล่มตัดจบที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475[4]
  • แบบเรียนที่มีกล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาเล็กน้อยมีอยู่ 2 เล่มโดยเป็นแค่การอ้างอิงถึง ได้แก่ ‘หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ม.46’ เล่ม 1 และ 2 (ฉบับปี 2551) ของสำนักพิมพ์วัฒนาพานิช

เล่ม 1 กล่าวถึงในตอนที่พูดเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-2524) โดยอธิบายว่า

“...มุ่งพัฒนาประเทศภายใต้แนวคิดที่เรียกว่า “กระจายความเจริญสู่ชนบท” เนื่องจากการพัฒนาที่ผ่านมาเน้นเฉพาะในส่วนกลางและเกิดภาวะเงินเฟ้อ การว่างงาน ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และสังคม และความไร้เสถียรภาพทางการเมือง (หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519) โดยเน้นกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค 2 แนวทาง คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยขยายการผลิตด้านการเกษตร และปรับปรุงโครงการสร้างอุตสาหกรรม...”

เล่ม 2 อยู่ในหัวข้อ ‘ปัญหาสถาบันทางการเมือง’ ในหัวข้อย่อย ‘กลุ่มผลประโยชน์’ โดยกล่าวถึงในย่อหน้าหนึ่งว่า

“การแทรกแซงด้วยวิธีทางกฎหมาย เป็นการแทรกแซงโดยการที่รัฐจะใช้วิธีการออกกฎหมายเพื่อห้ามกลุ่มผลประโยชน์ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยบัญญัติให้กลุ่มมีฐานะเป็นเพียงสมาคมทางสังคมไม่มีบทบาททางการเมือง หรือการออกกฎอัยการศึกหรือประกาศคณะปฏิวัติฉบับต่างๆ ที่ห้ามการรวมกลุ่มทางการเมือง ส่วนการแทรกแซงด้วยการจัดตั้งกลุ่มหรือสนับสนุนกลุ่มบางกลุ่มเพื่อต่อต้านกลุ่มผลประโยชน์ที่เรียกร้องสิ่งต่างๆ จากรัฐ เช่น การจัดตั้งกลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดงขึ้นมาคานอำนาจกลุ่มนักศึกษาในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519”

  • แบบเรียนที่ให้รายละเอียดเหตุการณ์อย่างสั้น 1 เล่ม ได้แก่ ‘สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3’ (ฉบับปี 2544) ของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช เป็นเล่มเดียวที่กล่าวว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 100 กว่าคน ซึ่งมากกว่าเอกสารชันสูตรพลิกศพคดี 6 ตุลาซึ่งระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 46 คน[5] มีการพูดถึงคดีหมิ่นพระบรมฯ แต่ไม่พูดถึงการเล่นละครแขวนคอฯ ของนักศึกษาก่อนหน้านั้น

“ขณะเดียวกัน จอมพลถนอม กิตติขจร ได้เดินทางกลับเข้าประเทศเพื่ออุปสมบท เป็นเหตุให้นิสิตนักศึกษาทำการประท้วงให้เดินทางกลับออกไป แต่เหตุการณ์กลับถูกแปลงเป็นคดีหมิ่นพระบรมโอรสาธิราช กลุ่มนวพล กระทิงแดง และลูกเสือชาวบ้าน พากันมาชุมนุมหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมทั้งตำรวจตระเวนชายแดน เช้าวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 การปราบปรามก็ได้เริ่มขึ้น มีนักศึกษาเสียชีวิตกว่า 100 คน และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก ในที่สุดกลุ่มทหารนำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ได้เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช”“การแก้ปัญหาความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม นักศึกษาหลบหนีเข้าป่ากันมาก ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น ยากแก่การปราบปราม รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้พยายามแก้ปัญหาไม่ใช้ความรุนแรง หันมาใช้นโยบายการเมืองนำหน้าการทหาร โดยส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้แข็งแกร่ง ขจัดความไม่เป็นธรรมในสังคม ประกาศนิรโทษกรรมนักวิชาการและนิสิตนักศึกษา ที่หนีเข้าไปอยู่ในป่าโดยให้มีสิทธิเข้าทำงาน หรือเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาเดิมได้ การนี้ รัฐบาลสามารถชักชวนนักศึกษาออกมาจากป่า และสามารถสลายพลังของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ในที่สุด”

เล่มที่กล่าวรายละเอียดไว้คล้ายกันแต่มีบริบทสังคมการเมืองเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย พูดถึงพรรคการเมืองในสมัยนั้นซึ่งเล่มอื่นไม่ได้พูดถึง คือ ‘หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ม.2’ (ฉบับปี 2551) ของสำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด โดยในหัวข้อ ‘เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519’ ย่อหน้าแรกกล่าวว่า

“ผลสืบเนื่องจากบรรยากาศทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2517 ที่กลุ่มนักศึกษา ประชาชน และกลุ่มชาวนาชาวไร่ เกิดความสำนึกและตื่นตัวทางการเมือง สังคมไทยมีบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยสูง มีการแข่งขันทางการเมืองระหว่างพรรคการเมืองที่มีมากถึง 22 พรรค โดยแต่ละพรรคอยู่ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มทุนที่เจริญก้าวหน้าขึ้นมาจากยุคส่งเสริมการลงทุน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 รวมทั้งการเมืองไทยในระบบรัฐสภาก็มีการแข่งขันช่วงชิงอำนาจกันเป็นเวลากว่า 3 ปี จนกระทั่งจอมพล ถนอม กิตติขจร อดีตผู้นำประเทศ ได้เดินทางกลับมาประเทศไทย จึงเป็นสาเหตุให้นิสิตนักศึกษา และประชาชนจำนวนมากลุกขึ้นมาต่อต้านการกลับมาของจอมพล ถนอม กิตติขจร และเรียกร้องประชาธิปไตยอีกครั้งด้วยการรวมตัวกันชุมนุมประท้วงการกลับมาของผู้นำคนดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในสมัยรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช”

  • แบบเรียน 2 เล่มที่มีเนื้อหาเหมือนกัน และเขียนถึง 6 ตุลาไว้ยาวที่สุดในบรรดาทุกเล่ม โดยให้รายละเอียดเหตุการณ์คร่าวๆ และสาเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิด 14 ตุลา ซึ่งเกี่ยวโยงมาจนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา คือ ‘ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย’ (ฉบับปี 2559) ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, ‘ประวัติศาสตร์ไทย’ (ฉบับปี 2551) ของกระทรวงศึกษาธิการ ดังตัวอย่าง
การรวมกลุ่มเคลื่อนไหว

“สภาพการณ์ภายหลังวิกฤติการณ์ 14 ตุลาคม 2516… นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เข้ามาเป็นผู้นำในการบริหารประเทศในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงมุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในเวลานั้นประเทศไทยประสบปัญหาในหลายด้านซึ่งเป็นปัญหาที่หมักหมมกันมายาวนาน เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองพ้นจากระบบเผด็จการก้าวมาสู่ยุคประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมากขึ้น นิสิตนักศึกษาและประชาชนบางส่วนใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขต ต้องการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยเร็ว ซึ่งในบางครั้งเป็นการละเมิดกฎหมาย รัฐบาลไม่อาจตอบสนองความต้องการได้ บางกลุ่มโจมตีรัฐบาลในทางที่เสียหาย เกิดความขัดแย้งกัน”

“แนวคิดทางการเมืองไทยเกิดความแตกแยกสถานการณ์ขณะนั้นประชาชนส่วนใหญ่ต่างพากันเบื่อหน่ายกลุ่มพลังต่างๆ ซึ่งพากันประท้วงรัฐบาลและเรียกร้องต่างๆ นานา นอกจากนั้นประชาชนยังเบื่อหน่ายรัฐบาลและนักการเมืองที่เกิดการแตกแยกและแย่งชิงผลประโยชน์กัน...”

“เกิดการรวมกลุ่มต่างๆ มากมายหลายกลุ่ม บางกลุ่มมีจุดหมายช่วยเหลือสังคม บางกลุ่มมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มตน กลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มนิสิตนักศึกษา กลุ่มครู กลุ่มนักศึกษาอาชีวะ กลุ่มชาวไร่ชาวนา กรรมกร พระสงฆ์ เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้พยายามเคลื่อนไหวตามแนวทางของตน เช่น เผยแพร่ประชาธิปไตยในชนบท ช่วยเหลือผู้ที่ถูกกดขี่ข่มเหงให้ได้รับความยุติธรรม เรียกร้องค่าจ้างแรงงานให้สูงขึ้น เดินขบวนขับไล่ผู้บริหารออกจากตำแหน่ง ให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาพืชผลราคาตกต่ำ การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ บางครั้งกระทำไปในลักษณะรุนแรง ฝ่าฝืนกฎหมายและทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เช่น การนัดหยุดงาน เป็นต้น”

กระแสคอมมิวนิสต์

“ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเริ่มเสื่อมความนิยม เนื่องจากประชาชนเห็นว่าศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเข้าไปก้าวก่ายหน้าที่ของรัฐบาล เป็นเหตุให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างราบรื่น ฝ่ายสูญเสียผลประโยชน์และกลุ่มอำนาจเก่าเริ่มรวมตัวกัน และพยายามปลุกกระแสให้ประชาชนเห็นว่านิสิตนักศึกษายุยงประชาชนให้ก่อเหตุวุ่นวาย มีการประท้วงรัฐบาลอย่างพร่ำเพรื่อและใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย นอกจากนั้นยังกล่าวหานักศึกษาอย่างรุนแรงว่าเป็นพวกนิยมคอมมิวนิสต์ ต้องการล้มล้างชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

เปรียบเทียบการเล่าเรื่องเวอร์ชั่น 'โครงการบันทึก 6 ตุลา'

เพื่อให้เห็นความแตกต่างทั้งในแง่รายละเอียดและน้ำเสียงของการเล่า ระหว่างแบบเรียนที่ได้กล่าวถึงไปกับเว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา[6] ซึ่งเขียนสรุปบริบทของเหตุการณ์โดยอาจารย์นักประวัติศาสตร์ผู้ล่วงลับ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจถึงที่มาที่ไปและบริบทสำคัญก่อนนำมาสู่เหตุการณ์ล้อมปราบได้แบบหนังคนละม้วน เนื้อหาบางส่วนมีดังนี้

 

รวมกลุ่มเคลื่อนไหว

ผลสะเทือนของกรณี 14 ตุลาคม 2516 ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือการทำให้ประชาชนไทยได้รับสิทธิเสรีภาพ และนำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตยตามวิถีทางรัฐสภา การโค่นล้มของระบอบเผด็จการก่อให้เกิดความตื่นตัวในด้านสิทธิประชาธิปไตยครั้งใหญ่แก่ประชาชนในทุกระดับ แม้ว่าชัยชนะจากกรณี 14 ตุลาฯ ยังจะมิได้ทำให้ประชาชนได้เป็นเจ้าของอำนาจรัฐโดยสิ้นเชิง แต่ทำให้พลังฝ่ายปฏิกิริยาและอนุรักษนิยมต้องถดถอยไปขณะหนึ่ง และเปิดโอกาสให้กับยุคทองแห่งเสรีภาพ กำลังของฝ่ายพลังที่ก้าวหน้า ซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ไปสู่สังคมที่ดีงามได้ก่อรูปขึ้นอย่างชัดเจน และได้ก่อการรุกในแทบทุกด้าน กระแสการต่อสู้ในเรื่องการต่อสู้เพื่อเอกราช ประชาธิปไตย ความเป็นธรรม ได้แผ่ขยายออกไป ความตื่นตัวของประชาชนขยายตัวออกไปจากห้องเรียน สู่โรงงานและท้องไร่ท้องนารวมทั้งตามถนนหนทางทั่วไป และก่อให้เกิดรูปขบวนของการเคลื่อนไหวของประชาชนขนาดใหญ่ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย ดังจะพิจารณาได้ เช่น การต่อสู้ของกรรมกร

ภายใต้การปกครองเผด็จการ กรรมกรได้ถูกกดขี่ขูดรีดอย่างหนัก เนื่องจากนโยบายมุ่งส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มุ่งที่จะสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีสำหรับนักลงทุนต่างชาติ จึงมุ่งที่จะกดค่าจ้างแรงงานของกรรมกรให้ต่ำ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ยกเลิกกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ใช้กฎอัยการศึกห้ามการนัดหยุดงานของกรรมกรอย่างเด็ดขาด หากคนงานขัดขืนมีโอกาสที่จะถูกจับกุมในข้อหาคอมมิวนิสต์โดยทันที กรรมกรไทยจึงยากจนข้นแค้นและต้องทำงานในเงื่อนไขที่ยากลำบาก ค่าจ้างแรงงานต่ำ ไม่มีหลักประกันในด้านสวัสดิการและชีวิตการทำงาน

เมื่อระบอบเผด็จการพังทลายจากกรณี 14 ตุลาคม 2516 จึงได้เกิดกระแสการนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมขนานใหญ่ ดังจะเห็นได้จากหลังกรณี 14 ตุลาฯ เพียง 1 เดือนเศษ จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน กรรมกรนัดหยุดงานถึง 180 ครั้ง โดยเฉลี่ยแล้วมีการนัดหยุดงานของกรรมกรถึง 4 รายต่อวัน และการนัดหยุดงานของกรรมกรนี้แผ่ขยายไปทั่วทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จากนั้นในเดือนต่อมา กรรมกรได้นัดหยุดงานอีกเป็นจำนวน 300 ครั้ง คิดเป็นอัตราถึง 10 รายต่อวัน และในการประท้วงของชนชั้นคนงาน มีหลายครั้งที่กระทบกระเทือนอย่างมาก เช่น การนัดหยุดงานของกรรมกรท่าเรือ และกรรมกรได้เข้ายึดท่าเรือปิดการขนส่ง 1 วัน จนทำให้ทางฝ่ายบริหารการท่าเรือต้องยอมปรับค่าแรงตามข้อเรียกร้อง ต่อมาในวันที่ 12 ธันวาคม กรรมกรรถไฟนัดหยุดงาน ทำให้การขนส่งทางรถไฟต้องชะงัก และท้ายที่สุดทางการรถไฟก็ต้องปรับค่าแรงกรรมกรเช่นกัน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 กระแสการหยุดงานของกรรมกรก็ยิ่งสูงขึ้นจนถึง 357 ครั้ง และมีกรรมกรที่เกี่ยวข้องกับการนัดหยุดงานเพิ่มทวีมากขึ้น จากนั้น ใน พ.ศ.2518 มีการนัดหยุดงานของกรรมกรอีก 241 ครั้ง และ ใน พ.ศ.2519 จนถึงเดือนตุลาคมที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มีการนัดหยุดงาน 133 ครั้ง จนกล่าวได้ว่าขบวนการกรรมกรเกือบทั้งหมดได้ผ่านการนัดหยุดงานในช่วงระยะเวลาก่อน 6 ตุลาฯ นี้แล้วแทบทั้งสิ้น

ปัญหาอยู่ที่ว่าการนัดหยุดงานดังกล่าวเกิดขึ้นจากการยุยงของฝ่ายซ้ายตามที่เอกสารคณะปฏิรูปกล่าวอ้างหรือ คำตอบคือ ไม่น่าจะใช่ เพราะในระหว่างปลายปี พ.ศ.2516 จนถึง 2517 ที่กรรมกรนัดหยุดงานอย่างมากนั้น ยังไม่มีขบวนการฝ่ายซ้ายที่ไหนแข็งแกร่งพอที่จะไปยุยงกรรมกรโรงงานนับพันโรงงานให้หยุดงานได้ ดังนั้น ปัญหาการนัดหยุดงานเหล่านี้ เกิดจากสภาพความบีบคั้นแร้นแค้นของกรรมกรที่สั่งสมตัวมาแสนนาน จนเกิดแรงระเบิดขึ้นในระยะดังกล่าว ข้อเรียกร้องของกรรมกรโดยมากก็มักเป็นเรื่องขอให้นายจ้างเพิ่มค่าแรงงานและสวัสดิการ รวมทั้งหลักประกันในการทำงานต่างๆ กระแสแห่งการต่อสู้ของกรรมกรที่เพิ่มขึ้นในระยะนี้เอง ได้นำมาสู่การก่อตั้งองค์กรกรรมกรในรูปของสหภาพแรงงานขึ้นมากมายในวิสาหกิจต่างๆ ทั้งในภาครัฐวิสาหกิจและโรงงานเอกชน ซึ่งการรวมตัวกันของกรรมกรเข้าเป็นสหภาพแรงงาน จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยภายใต้ระบอบเผด็จการก่อนหน้านี้

การต่อสู้นัดหยุดงานของกรรมกรครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากกลุ่มอิสระต่างๆ ในขบวนการนักศึกษา และองค์การบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงทำให้สมาคมกรรมกรต่างๆ ซึ่งเป็นกรรมกรภาคเอกชนที่ร่วมการต่อสู้ จัดตั้งองค์กรร่วมคือ “ศูนย์ประสานงานกรรมกรแห่งชาติ” เพื่อประสานงานการต่อสู้ของกรรมกร

นอกเหนือจากกลุ่มสหภาพแรงงานเอกชนที่นำโดยศูนย์ประสานงานกรรมกร ได้มีกลุ่มสหภาพแรงงานซึ่งมาจากสหภาพในกิจการสาธารณูปโภคของรัฐจัดตั้งขึ้นด้วยอีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ สหภาพของพนักงานการไฟฟ้า การประปา องค์การโทรศัพท์ โรงงานยาสูบ คลังสินค้า ท่าเรือ เป็นต้น

กระแสคอมมิวนิสต์

หลังกรณี 14 ตุลาคม 2516 อุดมการณ์สังคมนิยมค่อยๆ กลายเป็นอุดมการณ์ของขบวนการนักศึกษาไทย และทฤษฎีสังคมนิยมกลายเป็นอาวุธในการวิพากษ์สังคมไทยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยการวิเคราะห์และวิพากษ์สังคมไทยว่าเป็นสังคมชนชั้น ที่มีการกดขี่ขูดรีดกันอย่างรุนแรง ชนชั้นปกครองไทยได้สบคบกับจักรพรรดินิยมอเมริกา ทำการกดขี่ประชาชนอย่างหนัก หนทางในการแก้ไขจึงจะต้องปฏิวัติประเทศไปสู่สังคมนิยม โค่นล้มชนชั้นที่กดขี่เหล่านั้น สร้างสังคมใหม่แห่งชนชั้นกรรมกรชาวนาขึ้น สอดคล้องกับจิตสำนึกในการต่อสู้เพื่อส่วนรวมในขบวนการนักศึกษา ที่พัฒนามาตั้งแต่ยุคก่อนกรณี 14 ตุลาคม 2516 เมื่อมาถึงขณะนี้ คำขวัญเรียกร้องให้รับใช้ประชาชนจึงแพร่หลายทั่วไปในขบวนการนักศึกษา

การเผยแพร่ของอุดมการณ์สังคมนิยม ได้รับการเผยแพร่เป็นที่สนใจของประชาชนอย่างมาก ในที่สุด แม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่และค่อนข้างมีบทบาท ก็ยังประกาศว่าจะใช้นโยบายบริหารประเทศแบบ “สังคมนิยมอ่อนๆ” นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้งพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมขึ้นมาต่อสู้ทางรัฐสภา 3 คือ พรรคแนวร่วมสังคมนิยม พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย และพรรคพลังใหม่

พรรคแนวทางสังคมนิยมทั้งสามพรรค ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2518 มีสมาชิกทั้ง 3 พรรคได้รับเลือกเข้าสู่สภาถึง 37 ที่นั่ง เป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย 15 ที่นั่ง พรรคพลังใหม่ 12 ที่นั่ง และพรรคแนวร่วมสังคมนิยม 10 ที่นั่ง และในจำนวนนี้ปรากฏว่า นายสุธีร์ ภูวพันธ์ ส.ส.พรรคแนวร่วมสังคมนิยมจากจังหวัดสุรินทร์ ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุดของประเทศด้วย อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าพรรคแนวทางสังคมนิยมได้รับการต้อนรับจากประชาชนเป็นอย่างดี และกลายเป็นพลังต่อรองทางการเมืองในรัฐสภาอันสำคัญยิ่ง

ผลงานชิ้นสำคัญของพรรคแนวทางสังคมนิยมทั้ง 3 พรรคก็คือ ความพยายามผลักดันให้มีการเลิกกฎหมายคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2496 เพราะเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ เป็นเครื่องมือของฝ่ายทรราชย์ในการเข่นฆ่าและทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ แต่ฝ่ายทหารและข้าราชการเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็นในการใช้ปราบปรามการก่อการร้ายของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ในที่สุด สภาความมั่นคงก็ได้เสนอร่างกฎหมายใหม่ เรียกว่า ร่างกฎหมายความปลอดภัยแห่งชาติ ซึ่งยิ่งมีมาตรการในการปราบปราบประชาชนที่ครอบจักรวาลยิ่งกว่าพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ แต่ต่อมา ได้เกิดกระแสการคัดค้านอย่างหนัก โดยขบวนการนักศึกษาและพรรคสังคมนิยมทั้ง 3 พรรค รัฐบาลจึงแถลงว่า จะมอบให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาใหม่

ด้วยการเคลื่อนไหวของฝ่ายพรรคสังคมนิยม ทำให้ผู้ปกครองศักดินาและพรรคการเมืองชนชั้นนายทุน ก็เกิดความหวาดระแวงว่า พรรคแนวทางสังคมนิยมเหล่านี้ จะไปทำให้ผลประโยชน์และความได้เปรียบของตนลดลง จึงพยายามที่จะใส่ร้ายป้ายสีและทำลาย เช่น การโจมตีว่าพรรคสังคมนิยมเหล่านี้เป็นแนวร่วมของคอมมิวนิสต์ โดยใช้คำขวัญรณรงค์ว่าสังคมนิยมทุกชนิดคือคอมมิวนิสต์นั่นเอง หรือได้เงินจากองค์การสืบราชการลับของเคจีบีแห่งสหภาพโซเวียตบ้าง ขายชาติให้เวียดนามบ้าง เป็นปฏิปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์บ้าง นอกจากนี้ก็คือการใช้ความรุนแรงทำร้ายและก่อกวนผู้สมัครรับเลือกตั้งของทั้ง 3 พรรค ด้วยเหตุจากการโจมตีใส่ร้ายและสกัดกั้นทุกวิถีทางดังกล่าว ทำให้การเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2519 มีผู้สมัครทั้ง 3 พรรคได้รับเลือกเข้าสภาผู้แทนราษฎรเพียง 6 คนเท่านั้น คือ พรรคพลังใหม่ 3 คน พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย 2 คน และ พรรคแนวร่วมสังคมนิยม 1 คน

(ตัวอย่าง) สิ่งที่หายไป ไม่ปรากฏในแบบเรียน

ความโหดร้ายของการล้อมปราบ

จากบทความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา ‘ความทรงจำ/ความเงียบงันของประวัติศาสตร์บาดแผล : ธงชัย วินิจจะกูล’ กล่าวในตอนหนึ่งว่า

“เวลา 5.30 น. ระเบิดถูกยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตทันที 4 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก ระเบิดลูกนี้เป็นสัญญาณการเริ่มต้นระดมยิงของทหารอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเวลา 9.00 น.[2] จรวดต่อสู้รถถังยิงเข้าใส่ตึกคณะบัญชีซึ่งในขณะนั้นหนึ่งในสามของผู้ชุมนุมรวมตัวกันอยู่ นอกรั้วมหาวิทยาลัย หลังจากกองกำลังที่ปิดล้อมมหาวิทยาลัยบุกเข้ามาในรั้วแล้ว พวกเขาลากนักศึกษาบางคนออกไป การรุมประชาทัณฑ์เริ่มต้นขึ้น นักศึกษาสองคนถูกทรมาน แขวนคอ และทุบตีแม้เสียชีวิตแล้วที่ใต้ต้นไม้รอบสนามหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่แยกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกจากพระบรมมหาราชวังด้วยการเดินเพียงสองนาที นักศึกษาหญิงคนหนึ่งถูกไล่ล่าจนล้มลงกับพื้น ถูกทารุณกรรมทางเพศและทรมานจนเสียชีวิต บนถนนหน้ากระทรวงยุติธรรม อีกฟากหนึ่งของท้องสนามหลวงตรงข้ามธรรมศาสตร์ ร่างของนักศึกษาสี่คนที่ยังมีชีวิตอยู่แต่หมดสติไปแล้วถูกนำมากองสุมกับท่อนฟืน ราดด้วยน้ำมันแล้วจุดไฟเผา ฆาตกรรมโหดร้ายป่าเถื่อนเหล่านี้เกิดขึ้นในฐานะการแสดงอันน่าตื่นตาตื่นใจต่อหน้าธารกำนัล ผู้ชมจำนวนมากรวมถึงเด็กชายตัวเล็กๆ ปรบไม้ปรบมือด้วยความเบิกบานสำราญใจ

ภายในมหาวิทยาลัยนอกจากผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่ไม่ทราบจำนวนจากอาวุธสงครามแล้ว ยังมีคนจำนวนมากถูกรุมประชาทัณฑ์ จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อนของผู้เขียนซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำนักศึกษาถูกลากผ่านสนามฟุตบอลโดยผ้าที่พันอยู่รอบคอของเขา หลังจากนั้นหกร่างถูกนำมากองรวมกันที่พื้นเพื่อให้ชายคนหนึ่งตอกลิ่มไม้ลงตรงกลางอก ราวกับว่าพวกเขาเป็นปีศาจซาตานอย่างที่เห็นกันในหนังฝรั่ง ตามรายงานของตำรวจ มีประชาชนเสียชีวิตทั้งหมด 46 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกหลายร้อยคน ตามข้อมูลจากแหล่งอื่น จำนวนผู้เสียชีวิตอาจสูงถึง 100 คน และไม่ทราบจำนวนผู้สูญหาย (คดีประวัติศาสตร์ คดี 6 ตุลา 2521, 81-83)

มันเป็นเช้าวันพุธที่การตายด้วยกระสุนปืนดูเหมือนเป็นการฆาตกรรมที่เจ็บปวดน้อยที่สุดและศิวิไลซ์มากที่สุด”

เบื้องหลังที่ไร้คำตอบ พระถนอมเดินทางกลับไทย

บทความเดียวกันของธงชัย ได้อธิบายว่า หลังจากรัฐบาลเผด็จการชุดก่อนถูกขับไล่พ้นจากอำนาจด้วยการลุกฮือของมวลชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นับจากกลางปี 2518 ถึงเดือนกันยายน 2519 มีหลายเหตุการณ์ที่ส่งสัญญาณว่าทหารสมคบคิดกันพยายามที่จะกลับคืนสู่อำนาจ

วันที่ 19 กันยายน 2519 ถนอม กิตติขจร เผด็จการที่ถูกขับไล่ออกนอกประเทศและลี้ภัยอยู่ที่เมืองบอสตันตั้งแต่ปี 2516 ก็กลับเข้ามาภายในประเทศ ถนอมห่มผ้าเหลืองบวชเณร สัญญาต่อสาธารณชนว่าปลงใจแล้วที่จะอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ มีความจริงใจที่จะกลับมาเพียงเพื่อเยี่ยมบิดาที่ใกล้ถึงแก่กรรม อ้างว่าตนไม่มีวาระซ้อนเร้นใดๆ ในทางการเมือง หากมองย้อนกลับไป ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการกลับมาของถนอมเป็นการสมคบคิดที่วางแผนกันมาอย่างดี กล่าวคือสามารถปิดฉากขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาหัวก้าวหน้าและล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งได้ในคราวเดียว บิดาของถนอมเสียชีวิตหลังจากนั้น 10 ปี ขณะที่การสละชีวิตฆราวาสของถนอมกินเวลาเพียงแค่ 3 เดือนหลังการสังหารหมู่ เขาสลัดผ้าเหลืองทิ้งในเดือนมกราคม 2520 และเรียกร้องให้คืนทรัพย์สมบัติที่ถูกยึดไปด้วยข้อหาคอร์รัปชั่น (สยามรัฐ, 8-17 มกราคม 2520) ใครบ้างเกี่ยวข้องในแผนการนำถนอมกลับมา? นับจากนั้นเป็นต้นมายังไม่มีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงหรือตั้งคำถามใดๆ เลย

หนึ่งวันหลังการอุปสมบทของถนอม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ พระบรมราชินีนาถบินตรงจากพระราชฐานในภาคใต้มายังกรุงเทพฯ ตรงดิ่งไปยังวัดบวรนิเวศฯ เพื่อเยี่ยมเจ้าอาวาสและพระบวชใหม่เป็นการส่วนพระองค์ ในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่วัดซึ่งไม่ได้อยู่ในหมายกำหนดการ ราชินีอ้างว่ามีบุคคลบางกลุ่มจ้องจะทำลายพุทธศาสนาในประเทศไทย และกระตุ้นเตือนให้ประชาชนช่วยกันปกป้องศาสนาโดยเฉพาะวัดบวรนิเวศฯ แม้ราชินีจะไม่ได้ระบุชื่อศัตรูของพุทธศาสนา แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพวกฝ่ายซ้ายตกเป็นผู้ต้องสงสัย

นี่เป็นการอุปสมบทพิเศษที่ได้รับการปกป้องและให้ความเห็นชอบโดยอำนาจทางศีลธรรมที่อาจถือได้ว่าได้รับการเชิดชูสูงสุดบนผืนแผ่นดินไทย ในทางกลับกัน ดูเกือบจะเหลือเชื่อที่สองสถาบันสำคัญสูงสุดของประเทศคือสถาบันกษัตริย์และสถาบัน­สงฆ์จะมีส่วนร่วมในแผนการครั้งนี้ แทบจะไม่มีการเอ่ยถึงการเข้าไปเกี่ยวข้องของสถาบันกษัตริย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชินีในฐานะข้ออ้างเพื่อการสังหารหมู่ ยกเว้นในสิ่งพิมพ์ภาษาอังกฤษเพียงไม่กี่ฉบับ (Morell and Chai-anan 1981, 270-73) แต่ก็ยังไม่มีและคงไม่อาจมีการสืบสวนประเด็นเหล่านี้ นับจากนั้นเป็นต้นมายังไม่มีใครตั้งคำถาม ชูประเด็น หรือแม้แต่เอ่ยถึงข้อเท็จจริงพวกนี้ เรื่องนี้ยังเป็นสิ่งต้องห้ามในสังคมไทย ในช่วงการจัดงานรำลึกในปี 2539 ผู้จัดและผู้เข้าร่วมทุกคนต่างตระหนักเป็นอย่างดีว่า เพื่อรักษาหัวของทุกคนไม่ให้หลุดจากบ่า ต้องพึงสำเหนียกถึงข้อจำกัดนี้และผลที่จะตามมาจากการละเมิดข้อจำกัดดังกล่าว

การนิรโทษกรรม

พ.ร.บ. นิรโทษกรรมนั้นได้ล้างโทษให้ทุกคนในทุกความผิดที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 วัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. นี้ตามที่ได้ระบุไว้คือสมานรอยร้าวในสังคมไทย แม้ว่าผลที่เกิดขึ้นทันทีคือการปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดที่ถูกฟ้องในคดี 6 ตุลา แต่ไม่ยากเลยที่จะเห็นว่าผลประโยชน์ที่แท้จริงของการนิรโทษกรรมตกอยู่กับรัฐ ตำรวจ และผู้ก่อกรรมทำเข็ญทั้งหมด เนื่องจาก พ.ร.บ. ดังกล่าวขจัดความเป็นไปได้ที่จะมีการพิจารณาคดีใดๆ ได้อีกในอนาคต นอกจากจะไม่ถูกจับกุมตามกฎหมายแล้ว ยังได้ความดีความชอบในฐานะที่เป็นผู้พิทักษ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อีกด้วย


[1] หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 20 ต.ค. 2519 ระบุว่า กระทรวงศึกษาประกาศว่ามีแผนปฏิรูปใหม่รวมทั้งด้านหลักสูตรการสอนตามนโยบายของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และระเบียบว่าด้วยการแต่งกายของนักเรียน ทั้งเครื่องแบบและทรงผม จะบังคับให้ตัดสั้นไม่ให้ไว้ผมยาวหรือรองทรง (อ่านได้ที่นี่)

[2] ‘สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ม.2’ (ฉบับปี 2551) ของสำนักพิมพ์วัฒนาพานิช

[3] ‘หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ม.4-ม.6’ (ฉบับปี 2551) ของสำนักพิมพ์อักษร

[4] ‘ประวัติศาสตร์ไทยม.4-6’ (ฉบับปี 2551) ของสำนักพิมพ์วัฒนาพานิช, สำนักพิมพ์เอมพันธ์ จำกัด, สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด

[5] เป็นฝ่ายนักศึกษาประชาชน 41 คน และฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายขวา 5 คน

[6] แหล่งข้อมูลออนไลน์ (Online archives) ที่มุ่งเก็บรวบรวมรักษาและจัดระบบข้อมูลที่ยังกระจัดกระจายในที่ต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อต่ออายุความสนใจและการค้นคว้าเกี่ยวกับ 6 ตุลาให้ไปอีกไกลในอนาคต และเพื่อต่อสู้กับความพยายามทำให้สังคมลืม 6 ตุลา   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท