Skip to main content
sharethis

ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรายบุคคล ไม่รวมค่าเช่าบ้านอยู่ที่ราว 21,000 บาท/เดือน ส่วนค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คน ไม่รวมค่าเช่าบ้าน อยู่ที่ 75,800 บาท/เดือน ค่าอาหารในร้านเฉลี่ย 80บาท/มื้อ ส่วนภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ ตามมาที่อันดับ 4,6,8 ตามลำดับ

 

 

25 ม.ค. 2562 นัมเบโอ เว็บไซต์ฐานข้อมูลด้านค่าครองชีพที่ใหญ่ที่สุดในโลก เปิดเผยดัชนีค่าครองชีพทั่วโลก ปี 2562 โดยคำนวณจากค่าสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าอาหารในร้านอาหาร ค่าเช่าที่พักอาศัย และกำลังซื้อของประชากรในเมือง พบว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน อยู่ที่ 55.43 จุด

ทั้งนี้ นัมเบโอระบุว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรายบุคคล ไม่รวมค่าเช่าบ้านอยู่ที่ราว 21,000 บาท/เดือน ส่วนค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คน ไม่รวมค่าเช่าบ้าน อยู่ที่ 75,800 บาท/เดือน

สำหรับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดของคนกรุงเทพฯ ในปีนี้ คือค่าอาหารในร้านอาหาร ซึ่งเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 30.42 จุด จาก 27.99 จุด เมื่อปีที่ผ่านมา คิดเป็นราคาเฉลี่ยที่ 80 บาท/มื้อ และค่าเช่าที่พักอาศัย เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 26.35 จุด จาก 26.21 จุด โดยอพาร์ตเมนต์ 1 ห้องนอน ใจกลางเมือง มีค่าเช่าเฉลี่ยที่ 21,400 หมื่นบาท/เดือน ขณะที่ค่าสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 58.32 จุด จาก 62.40 จุด

นัมเบโอระบุว่า ค่าใช้จ่ายทั้งสองส่วนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อของคนกรุงเทพฯ ลดลงมาอยู่ที่ 41.15 จุด จาก 44.94 จุด

นอกจากนี้ ภูเก็ต พัทยา และเชียงใหม่ ยังติดอยู่ในเมือง 10 อันดับแรกที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน อยู่ที่ 48.85 จุด 45.30 จุด และ 43.42 จุด โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรายบุคคล ไม่รวมค่าเช่าบ้านใน 3 เมืองดังกล่าวอยู่ที่ 18,000 บาท/เดือน 17,000 บาท/เดือน และ 16,000 บาท/เดือน ตามลำดับ

หากเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียนแล้ว สิงคโปร์เป็นเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุด อยู่ที่ 69.79 จุด ตามด้วยกรุงเทพฯ และเมืองย่างกุ้งของเมียนมา ซึ่งนัมเบโอระบุว่า ค่าครองชีพในย่างกุ้งต่ำกว่ากรุงเทพฯ เพียง 0.75% ขณะที่ภูเก็ตอยู่ที่อันดับ 4 ด้านพัทยาและเชียงใหม่อยู่ที่อันดับ 6 และ 8

สำหรับเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดในโลกปีนี้คือ เมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งดัชนีค่าครองชีพอยู่ที่ 131.37 จุด โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรายบุคคล ไม่รวมค่าเช่าที่พักอาศัย อยู่ที่ราว 4.94 หมื่นบาท/เดือน ขณะที่เมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดในเอเชียคือ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งดัชนีค่าครองชีพอยู่ที่ 88.45 จุด โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรายบุคคล ไม่รวมค่าเช่าที่พักอาศัย อยู่ที่ราว 3.5 หมื่นบาท/เดือน

(อ้างอิงจาก: โพสต์ทูเดย์, เอ็มทูเอฟนิวส์, เรื่องเล่าเช้านี้)

‘กรุงเทพฯ’ ติดอันดับ 9 เมืองคุณภาพอากาศแย่สุดในโลก

ขณะที่ มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า เว็บไซต์ https://www.airvisual.com/world-air-quality-ranking ได้เปิดเผยค่าเฉลี่ยคุณภาพอากาศประจำวันที่ 25 มกราคม โดยพบว่าคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานคร ของประเทศไทยนั้นติดอยู่ในอันดับ 9 ของเมืองในประเทศที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่มากที่สุดในโลก โดยอันดับ 1 นั้นเป็นเมืองอูลานบาตอร์ เมืองหลวงของประเทศมองโกเลีย ตามมาด้วย กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม และกรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ ตามลำดับ

 

อย่างไรก็ตามเว็บไซต์นัมเบโอ อาศัยฐานข้อมูลผู้ใช้ที่เข้ามากรอก แต่ไม่มีการระบุว่าค่าเฉลี่ยที่อ้างถึงคำนวณมาจากตัวอย่างจำนวนเท่าไหร่

นอกจากนี้ยังพบว่ามีคนตั้งกระทู้ในเว็บไซต์ดังกล่าว ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ข้อมูลจากเว็บไซต์จะผิดพลาดเนื่องจากเมื่อดูดูตัวเลขที่จัดอันดับเมืองที่ค่าครองชีพแพง ไม่ปรากฎว่ามีโตเกียวกับลอนดอน ทั้งที่เป็นสองเมืองที่มีค่าครองชีพสูงติดอันดับโลกเช่นกัน ขณะที่ในคอมเมนท์ของกระทู้ให้ข้อมูลว่า สถิติบางอย่างใช้ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างแค่ 50-100 คนเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net