Skip to main content
sharethis

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศระเบียบ ป.ป.ช. กำหนดผู้ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินใหม่ 'นายกสภามหา'ลัย – บอร์ดต่างๆ' ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน - ‘วิษณุ’ วอน อย่าลาออก ยันไม่ต้องยื่นทรัพย์สินแล้ว

26 ม.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายนงานว่า  วานนี้ (25 ม.ค.62) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 2 ฉบับ ประกอบด้วย เรื่องกำหนดตำแหน่งของเจ้าพนักงานของรัฐที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามมาตรา 103 (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2561 และ เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามมาตรา 102 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2561  ลงนามโดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ประกาศ ณ วันที่ 28 ธ.ค.61

แก้ไขโดยที่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 21/2551 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ป.ป.ช.) และให้ยกเลิกความใน 7.8 ของข้อ4(7) แห่งประกาศป.ป.ช. เดิม และเพิ่มข้อความต่อไปนี้ 7.8 ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ เหลือเพียงหน่วยงานต่อไปนี้ 1. ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 2. เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 3.เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และ 4 สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ ประกอบด้วย 4.1 อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 4.2 อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 4.3 อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 4.4 อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ ให้เพิ่มความต่อไปนี้ ใน 7.9 โดยให้ ผู้ดำรงตำแหน่งต่อไปนี้ยื่นบัญชีทรัพย์สิน โดยเริ่มที่ ข้อ7.9.5 ไปจนถึง 7.9.25 ที่ประกอบไปด้วยมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐอีก 21 แห่ง รวมเป็น 25 แห่ง โดยยกเลิกการยื่นปัญชีทรัพย์สินของนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยเหล่านี้ทั้งหมด

ยกเลิกการแสดงบัญชีทรัพย์สินของนายกและกรรมการสภาในสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดรัฐ ทั้ง 11 แห่ง รวมไปถึง มหาวิทยาลันราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และสถาบันพละศึกษา โดยให้มีผลถัดจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษา

‘วิษณุ’ วอน กก.สภามหา'ลัยอย่าลาออก ยันไม่ต้องยื่นทรัพย์สินแล้ว

25 ม.ค.ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีที่ ป.ป.ช. กำหนดให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน จนหลายคนต้องลาออก ว่า ตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินแล้ว โดยให้เป็นไปตามระเบียบเดิม เคยเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น รวมถึงตำแหน่งกรรมการกองทุนก็ไม่ต้องยื่นด้วยเช่นกัน ส่วนตำแหน่งอธิการบดีและรองอธิการบดียังคงต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามระเบียบเดิมทุกประการ ดังนั้น กรุณาไม่ต้องลาออกและไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

ก่อนหน้านี้ ช่วงปลายปี 2561 มีข่าวกรรมการสภามหาวิทยาลัย และกรรมการในบอร์ดสาธารณสุขต่างๆ ทั้งคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติ (สช.) คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สถาบันสภาเภสัชกรรม ฯลฯ ยื่นใบลาออกเพื่อเลี่ยงการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินส่วนตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ภายหลังจากที่มีการออกประกาศ ป.ป.ช.เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ลงนามโดยประธาน ป.ป.ช. เมื่อ 21 ก.ย.61 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 1 พ.ย.61 โดยผลของประกาศนอกจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินแล้ว ยังมีกรรมการในองค์กรมหาชน 55 แห่งรวมอยู่ด้วย ส่งผลให้หลายหน่วยงานต้องคัดเลือกกรรมการคนใหม่นั้น แต่ต่อมา 11 ธ.ค.61 ราชกิจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 21 /2561 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แก้นิยาม "ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง" ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินใหม่ โดยตัด "กรรมการของหน่วยงานอื่นของรัฐ" ออกจากนิยาม ซึ่งจะมีผลทำให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยทั่วประเทศ กรรมการในบอร์ดสุขภาพทั้ สช. สปสช. สพฉ. ฯลฯ รวมทั้งกรรมการในองค์กรมหาชน รอดจากการยื่นบัญชีทรัพย์สิน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net