Skip to main content
sharethis

กทม.สั่งหยุดสร้างคอนโดเครนหักโค่น 30 วัน แจ้งความผู้รับเหมาทำคนตาย/มอบเงินเยียวยาเหยื่อเครนถล่ม 7.9 ล้านบาท สั่ง กสร.สอบข้อเท็จจริงนายจ้างโดยเร็ว/เตรียมผ่อนปรนให้แรงงานเวียดนาม มาทำงานในไทยเพิ่ม/'สอศ.' เปิด 6 ตลาดนัดแรงงานอาชีวะทั่วไทยปี 2562

มอบเงินเยียวยาเหยื่อเครนถล่ม 7.9 ล้านบาท สั่ง กสร.สอบข้อเท็จจริงนายจ้างโดยเร็ว

พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบเงินให้กับทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคมให้ผู้ที่เสียชีวิตกรณีเครนถล่มขณะคนงานกำลังต่อเครนเพื่อก่อสร้างคอนโดมิเนียมหรูแห่งหนึ่งย่านถนนพระราม 3 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพฯ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 5 รายเมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมานั้น

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่าสำหรับมาตรการเยียวยาของกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้พิจารณาเห็นว่าการประสบอันตรายดังกล่าวเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บมีสิทธิประโยชน์ทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริง ในส่วนของลูกจ้างที่เสียชีวิตได้มอบเงินให้กับทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคมทั้ง 5 ราย ดังนี้ 1) นายวิทูณ ไชยมี ทายาทจะได้เงินเป็นค่าทำศพ เงินทดแทนกรณีเสียชีวิต พร้อมเงินบำเหน็จชราภาพกองทุนประกันสังคม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,812,728.60 บาท 2) นายเติมศักดิ์ ศรีพิทักษ์ ทายาทจะได้เงินเป็นค่าทำศพ เงินทดแทนกรณีเสียชีวิต พร้อมเงินบำเหน็จชราภาพกองทุนประกันสังคม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,792,370.16 บาท

3) นายวิชา กาวีอ้าย ทายาทจะได้เงินเป็นค่าทำศพ เงินทดแทนกรณีเสียชีวิต พร้อมเงินบำเหน็จชราภาพกองทุนประกันสังคม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,423,156.86 บาท 4) นายศิลป์ กาศสกุล ทายาทจะได้เงินเป็นค่าทำศพ เงินทดแทนกรณีเสียชีวิต พร้อมเงินบำเหน็จชราภาพกองทุนประกันสังคม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,548,981.14 บาท และ 5) นายธนโชค บริคุต ทายาทจะได้เงินเป็นค่าทำศพ เงินทดแทนกรณีเสียชีวิต พร้อมเงินบำเหน็จชราภาพกองทุนประกันสังคม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,368,890.40 บาท รวมเป็นเงินที่จ่ายให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคมจำนวนทั้งสิ้น 7,946,127.16 บาท

พล.ต.อ.อดุลย์ ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าการเอาผิดดำเนินคดีกับนายจ้างว่า ขณะนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานอยู่ระหว่างการเรียกนายจ้างมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งได้กำชับให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุดต่อไป

ที่มา: Voice TV, 28/1/2562

ชื่นชมพนักงานสนามบินหญิง หลังถูกนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติตบแต่ไม่ตอบโต้

นายกิตติพงศ์ กิตติขจร รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดเผยว่าได้รับรายงานว่ามีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ (ขอสงวนสัญชาติ) รายหนึ่งได้ทำร้ายร่างกายพนักงานจุดตรวจค้นสัมภาระขณะที่กำลังปฎิบัติหน้าที่ เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริงโดยเกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 26มกราคม 2562 ที่ผ่านมา

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า พนักงานได้ปฎิบัติหน้าที่ตามที่ถูกฝึกอบรมมาเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยขององค์การบินระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด แต่กลับถูกนักท่องเที่ยวสาวรายนี้ไม่ยอมให้ตรวจและทำร้ายร่างกาย ซึ่งหลังเกิดเหตุทราบว่าพนักงานคนดังกล่าวไม่ได้ติดใจเอาความแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ต้องขอชื่อชมพนักงานสาวรายนี้ที่มีความอดทนอดกลั้นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ที่ผ่านมาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเองได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการให้บริการและอบรมพนักงานให้มีความอดทนอดกลั้นต่อทุกสภาพอารมณ์ของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการในแต่ละวันไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนคน จากกรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่าพนักงานคนดังกล่าวถึงแม้จะถูกกระทำแต่ก็ไม่ได้ตอบโต้อะไรและไม่ติดใจเอาความ เนื่องจากเห็นว่าเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเกรงว่าอาจส่งผลกระทบภาพรวมของการให้บริการภายในสนามบินได้

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 28/1/2562

คปภ.สั่งเร่งจ่ายสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียชีวิต กรณีอุบัติเหตุเครนถล่มระหว่างการก่อสร้างคอนโดมิเนียม อาคารลุมพินี พรีเมียร์

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดอุบัติเหตุเครนถล่มขณะอยู่ระหว่างการก่อสร้างคอนโดมิเนียม อาคารลุมพินี พรีเมียร์ (พระราม 3 ริเวอร์ไรน์) ถนนพระราม 3 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน และมีผู้บาดเจ็บ 5 คน เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 เวลา 13.00 น. ที่ผ่านมานั้น สำนักงาน คปภ.สั่งการให้เร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม พร้อมทั้งให้ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าผู้เสียชีวิตมีการทำประกันชีวิตหรือประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลประเภทอื่นๆ ไว้ด้วยหรือไม่ เพื่อให้สามารถใช้ระบบประกันภัยเข้าไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ได้รับรายงานเบื้องต้นจาก สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ว่าโครงการก่อสร้างดังกล่าวเป็นของ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) โดยมี บริษัท ไตรกรุ๊ป รัชดา จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงและได้ทำประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มไว้กับ บริษัท นิวแฮมพ์เชอร์ อินชัวรันส์ จำกัด กรมธรรม์เลขที่ 0222463297 เริ่มคุ้มครองเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561 และสิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 14 ธันวาคม 2562 โดยให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต/สูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จำนวน 200,000 บาท/คน และค่ารักษาพยาบาล จำนวน 20,000 บาท/คน/ครั้ง ซึ่ง สำนักงาน คปภ. ได้ติดตามเร่งรัดบริษัทประกันภัยอย่างใกล้ชิดทั้งในเรื่องข้อมูลความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย รวมทั้งเอกสารหลักฐานต่างๆ ประกอบการจ่ายค่าสินไหมทดแทน

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ได้สั่งการให้มีการเร่งรัดในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวแล้ว และล่าสุดได้รับรายงานจากบริษัทฯ ว่าอยู่ระหว่างประสานกับทายาทผู้เสียชีวิตเพื่อเตรียมจ่ายสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย ซึ่งพร้อมจ่ายภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวผู้เสียชีวิตในครั้งนี้ อุบัติเหตุนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา จึงควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย และขอฝากถึงประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการ ควรทำประกันภัยตามที่กฎหมายกำหนดและหมั่นตรวจสอบวันหมดอายุกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อระบบประกันภัยจะได้เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องประกันภัยสามารถติดต่อได้ที่สายด่วน คปภ. 1186-สำนักข่าวไทย

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 26/1/2562

เตรียมผ่อนปรนให้แรงงานเวียดนาม มาทำงานในไทยเพิ่ม

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายฝ่าม บิ่งห์ มิงห์ (Pham Binh Minh) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

โดยช่วงหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ไทยและเวียดนาม มีศักยภาพและสามารถเชื่อมโยงในหลายมิติ ทั้งทางบก ทางทะเล และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งสามารถพัฒนาไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค โดยเฉพาะในกลุ่ม ACMECS และกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงให้เติบโตไปด้วยกัน รวมถึงด้านการท่องเที่ยวที่มีการไปมาหาสู่กันระหว่างกันมากขึ้น

ขณะที่ด้านแรงงาน มีแรงงานเวียดนามที่ทำงานในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งประเทศไทยจะผ่อนปรนให้แรงงานเวียดนามเข้ามาทำงานในประเทศไทยให้มากขึ้น อันจะช่วยสนับสนุนความเจริญเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของเวียดนาม

ที่มา: ข่าวสด, 25/1/2562

กทม.สั่งหยุดสร้างคอนโดเครนหักโค่น 30 วัน แจ้งความผู้รับเหมาทำคนตาย

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงการตรวจสอบบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างคอนโดบริเวณถนนพระราม 3 หลังเกิดเหตุเครนที่ต่อเติมถล่มจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ว่า การติดตั้งเครนเพื่อก่อสร้างอาคารนั้น จะต้องมีการแจ้งไปยังสำนักงานเขตที่ดำเนินการก่อสร้าง ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 ซึ่งกรณีการก่อสร้างคอนโดดังกล่าวจะต้องแจ้งการติดตั้งเครนยังสำนักงานเขตยานนาวา ซึ่งเมื่อผู้รับเหมาไม่ได้แจ้งสำนักงานเขต จึงถือว่ามีความผิดส่วนการขออนุญาตติดตั้งเครนนั้น กฎหมายไม่ได้ระบุว่า ต้องขออนุญาต กำหนดเพียงว่าต้องแจ้งเท่านั้น

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้ กทม. ได้สั่งการให้สำนักงานเขตยานนาวา แจ้งความดำเนินคดีบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างดังกล่าวแล้ว ข้อหาทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต และสั่งให้ระงับการก่อสร้างคอนโดดังกล่าวเป็นเวลา 30 วัน เพื่อตรวจสอบขั้นตอนและมาตรการความปลอดภัย นอกจากนี้ มองว่า วิศวกรควบคุมโครงการจะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วย โดยอาจจะต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตจากสภาวิศวกรหรือไม่ รวมถึงเจ้าของโครงการที่ต้องรับผิดชอบด้วย

นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า ได้สั่งการให้พนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 และศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 11 ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว พบว่า สถานที่ก่อสร้างดังกล่าวได้ก่อสร้างถึงชั้น 12 จึงทำการต่อเครนเพื่อก่อสร้างชั้น 13 โดยมีบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นเจ้าของโครงการ และมีบริษัทเป็นผู้รับเหมาช่วงก่อสร้าง โดยในเบื้องต้นได้รับรายงานว่า โครงการดังกล่าวมีการใช้ปั้นจั่นชนิดอยู่กับที่หรือ Tower Crane จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งสาเหตุน่าจะเกิดมาจากปั้นจั่นเครื่องที่หักโค่นลงมาอยู่ในระหว่างการเพิ่มความสูงของปั้นจั่น โดยใช้ปั้นจั่นอีกเครื่องทำหน้าที่ยกชุดคอสวิงที่ประกอบไปด้วย ห้องบังคับปั้นจั่น แขนปั้นจั่น มอเตอร์และน้ำหนักถ่วง ซึ่งในระหว่างที่กำลังเพิ่มความสูงโดยการติดตั้งชิ้นส่วนของหอปั้นจั่น โครงสร้างหอปั้นจั่นอาจแกว่งจนเสียสมดุล จนทำให้ชุดน๊อตหรือสลักที่ใช้ยึดขาด จนทำให้โครงสร้าง หักโค่นลงมาพร้อมกับลูกจ้างที่กำลังทำหน้าที่ยึดชุดนอตพลัดตกลงมาด้วย อีกทั้งยังดึงเอาปั้นจั่นอีกเครื่องที่ทำหน้าที่ยกชุดคอสวิงของปั้นจั่นที่หักโค่นจนได้รับความเสียหายเช่นเดียวกัน

นายวิวัฒน์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่า นายจ้างไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มาตรา 34 ในกรณีที่ลูกจ้างเสียชีวิตจากการประสบอันตราย จากการทํางาน นายจ้างต้องแจ้งต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยในทันทีโดยโทรศัพท์ โทรสาร และแจ้งรายละเอียดเป็นหนังสือภายใน 7 วัน โดยในวันนี้ (24 ม.ค. 62) นายสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ รองอธิบดี กสร. พร้อมด้วย พนักงานตรวจความปลอดภัยได้ลงพื้นที่เกิดเหตุ และจะได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษนายจ้างตามฐานความผิดดังกล่าวต่อพนักงานสอบสวน สน.บางโพงพาง นอกจากนี้ พนักงานตรวจความปลอดภัยจะตรวจสอบเพิ่มเติมว่านายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 14 ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในสภาพการทำงาน หรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่อาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงานและแจกคู่มือปฏิบัติงานให้ลูกจ้างทุกคนก่อนที่ลูกจ้างจะเข้าทำงาน เปลี่ยนงาน หรือเปลี่ยนสถานที่ทำงาน, มาตรา 16 ให้นายจ้างจัดให้ผู้บริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้างทุกคนได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ในการทำงาน และมาตรา 17 นายจ้าง ต้องติดประกาศสัญลักษณ์เตือนอันตรายและเครื่องหมายเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือไม่ หากพบว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามก็จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ทันที ทั้งนี้ ความผิดดังกล่าวมีอัตราโทษสูงสุด คือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับแล้วแต่ฐานความผิด

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 24/1/2562

'สอศ.' เปิด 6 ตลาดนัดแรงงานอาชีวะทั่วไทยปี 2562

ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่าจากนโยบาย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาภาค ร่วมจัดกิจกรรมแนะแนววัดแววความถนัดอาชีพ เพื่อการศึกษาต่อวิชาชีพจัดงาน "ตลาดนัดแรงงานอาชีวศึกษา” ประจำปี 2562 โดยร่วมกับสถานประกอบการ องค์กรวิชาชีพ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่ เช่น จัดหางานจังหวัด รับสมัครและสัมภาษณ์งาน พร้อมทั้งการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น 108 อาชีพ เพื่อสร้างอาชีพ และสร้างแรงบันดาลใจ ต่อการประกอบอาชีพอิสระ

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อจับคู่คุณสมบัติที่ต้องการทั้งของผู้สมัครงาน กับผู้ว่าจ้างงาน ให้สามารถได้คน และได้งานตามที่ต้องการทั้ง 2 ฝ่าย นับเป็นจุดเด่นสำคัญอีกกิจกรรมหนึ่งในงานคือการให้บริการเปิดรับสมัครสมาชิก และสถานประกอบการสามารถ เข้าใช้บริการรับสมัครงานออนไลน์ ได้ทางเว็บไซต์ศูนย์กำลังคนอาชีวศึกษาที่ www.v-cop.go.th ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

สำหรับการจัดงาน “ตลาดนัดแรงงานอาชีวศึกษา” ในปี 2562 นี้ สอศ.จะจัดทั้งหมด 6 ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่ 1 ภาคกลาง ระหว่างวันที่ 24-25 ม.ค.62 ณ วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี ครั้งที่2 ภาคตะวันออก ระหว่างวันที่ 25-26 ม.ค. 2562 ณ วิทยาลัยเทคนิคระยอง ครั้งที่ 3 ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 14-15 ก.พ. 2562 ณ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ครั้งที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 21-22 ก.พ.62 ณ วิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด ครั้งที่ 5 ภาคใต้ชายแดน ระหว่างวันที่ 27-28 ก.พ. 2562 ณ วิทยาลัยเทคนิคยะลา และครั้งที่ 6 ภาคเหนือ ช่วงปลายเดือน มี.ค. 2562 ณ วิทยาลัยพณิชยการบึงพระพิษณุโลก มีเป้าหมายสถานประกอบการเข้าร่วมจัดกิจกรรม แต่ละครั้งไม่น้อยกว่า 200 แห่ง ตำแหน่งงานว่างที่เปิดรับสมัครทั้งในตลาดนัดแรงงานอาชีวศึกษา และในระบบสมัครงานออนไลน์ ผ่านทางเว็บไซต์ ไม่น้อยกว่า 10,000 อัตรา จึงเชิญ นักเรียน- นักศึกษา ร่วมกิจกกรมแนะแนวการศึกษาต่ออาชีวะ และประชาชนผู้สนใจจัดเตรียมเอกสารหลักฐานให้พร้อม มาร่วมสมัครงานกันได้ในงาน

ที่มา: สยามรัฐ, 23/1/2562

รมว.แรงงาน สั่งติดตามเหตุรถบรรทุกต่างด้าวพลิกคว่ำ จ.ชุมพร

นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า “บิ๊กอู๋” พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ติดตามสถานการณ์เหตุรถยนต์บรรทุกแรงงานต่างด้าว จำนวน 21 คน พลิกคว่ำเมื่อช่วงค่ำของวานนี้ โดยสั่งการให้กรมการจัดหางานเร่งตรวจสอบ ซึ่งเบื้องต้นเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วพบว่า รถยนต์ได้บรรทุกแรงงานต่างด้าว จำนวน 21 คน พลิกคว่ำตกร่องกลาง บริเวณถนนเอเชีย 41 ขาล่องใต้ ประมาณ กม.5 ต.ขุนกระทิง อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร

ผู้เสียชีวิตเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา จำนวน 4 คน เป็นชายทั้งหมด ไม่มีหนังสือเดินทาง และมีแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมาบาดเจ็บ อีกจำนวน 17 ราย ไม่มีหนังสือเดินทาง ขณะนี้ออกจากโรงพยาบาลได้แล้ว 8 คน ชาย 6 คน หญิง 2 คน ซึ่งกลุ่มนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวส่งสภ.เมืองชุมพร และส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลจำนวน 9 คน เป็นชาย 8 คน หญิง 1 คน

สำหรับผู้ขับขี่เป็นคนไทยได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย จากการตรวจสอบแรงงานต่างด้าวเบื้องต้นพบว่า ได้หลบหนีเข้าเมืองมาจาก จ.เกาะสอง ประเทศเมียนมา เข้ามาทาง อ.กระบุรี (บริเวณมะมุ ปากจั่น) จ.ระนอง เพื่อจะเดินทางไปจังหวัดปัตตานีและประเทศมาเลเซีย โดยได้เข้ามาพักอยู่ในป่าเป็นเวลา 1 คืน ซึ่งทางคดีพนักงานสอบสวน สภ.เมืองชุมพร จะได้ทำการสอบสวน และขยายผลต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานขอย้ำว่า ได้เร่งตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีคนต่างด้าวที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างเคร่งครัด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา กรมการจัดหางานได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกรมการปกครอง เข้าตรวจสอบในพื้นที่/กิจการกลุ่มเสี่ยงที่จะมีแรงงานต่างด้าวทำงานผิดกฎหมาย แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561

โดยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 – 23 มกราคม 2562 ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบนายจ้างไปแล้วจำนวน 10,604 ราย/แห่ง ดำเนินคดี 785 ราย/แห่ง คิดเป็นมูลค่าค่าปรับ จำนวน 6,580,500 บาท ในข้อหารับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จำนวน 557 แห่ง/ราย และดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จำนวน 114 แห่ง/ราย ความผิดตาม พรก.การบริหารฯ และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ฯ จำนวน 894 แห่ง/ราย

ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าว จำนวน 171,923 คน จับกุมดำเนินคดี จำนวน 4,506 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา 3,044 คน รองลงมาเป็นกัมพูชา 638 คน ลาว 386 คน เวียดนาม 246 คน และอื่นๆ อีก 192 คน ตามลำดับ โดยดำเนินคดีในข้อหาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จำนวน 1,809 คน

และดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จำนวน 1,742 คน พรก.การบริหารฯและ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ฯ จำนวน 955 คน ผลักดันส่งกลับประเทศต้นทาง จำนวน 4,326 คน ปรับไปแล้ว 10,907,100 บาท รวมค่าปรับทั้งนายจ้าง/สถานประกอบการและแรงงานต่างด้าวจำนวนทั้งสิ้น 17,487,600 บาท

นายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 10,000 – 100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

ขณะเดียวกันแรงงานต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้จะมีโทษปรับ 5,000 – 50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว คนต่างด้าวจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี

ซึ่งหากผู้ใดพบเห็นคนต่างด้าวลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 เพื่อจะได้เร่งตรวจสอบ จับกุม และดำเนินคดีต่อไป อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ที่มา: ข่าวสด, 23/1/2562

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net