Skip to main content
sharethis

ยังคงเป็นประเด็นร้อนแรงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้วกับการแบนหรือไม่แบน ‘พาราควอต’ สารเคมีกำจัดวัชพืชหรือยาฆ่าหญ้าที่มีฤทธิ์ทำให้วัชพืชแห้งเหี่ยวและตายได้ภายใน 1-2 ชั่วโมง เกษตรกรนิยมใช้ในไร่ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา 

ล่าสุด วันนี้ (28 ม.ค.2562) สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง และกลุ่มเกษตรปลูกผัก ผลไม้ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย กว่า 100 ราย เข้ายื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เพื่อให้กำลังใจและทวงถามถึงร่างประกาศฯ จำกัดการใช้สารเคมี โดยกลุ่มดังกล่าวเชื่อว่าการใช้พาราควอตไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมและเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกษตรกรใช้กันมายาวนาน การยกเลิกพาราควอตและสารเคมีอื่นรวม 3 ชนิดจะทำให้เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนเพิ่ม

อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กล่าวว่า ตามที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอแนะให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการพัฒนาแนวทางการใช้สารชีวภัณฑ์ขึ้นมาทดแทนการใช้สารเคมี พาราควอต ภายใน 180 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือจากผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อมากรมวิชาการเกษตรได้เสนอสารชีวภัณฑ์มาให้กลุ่มเกษตรกรใช้ จากการตรวจสอบโดยกรมวิชาการเกษตรเองกลับพบว่า สารชีวภัณฑ์ดังกล่าวมิได้เป็นสารธรรมชาติแต่อย่างใด ทว่าเป็นสารที่มีส่วนผสมของสารเคมีเช่นเดิม แสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงว่าปัจจุบันไม่สามารถหาสารธรรมชาติหรือวิธีการอื่นใดมากำจัดวัชพืชในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรได้

ทั้งนี้สารชีวภัณฑ์คือ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสิ่งมีชีวิต ได้แก่ สารจากธรรมชาติ ตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้ในการควบคุมศัตรูพืช ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และไม่มีฤทธิ์ตกค้างในสิ่งแวดล้อมเหมือนสารเคมี

สุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวเสริมว่า กรมวิชาการเกษตรควรเป็นที่พึ่งของภาคเกษตรกร แต่ที่ผ่านมานอกจากไม่มีผลงานที่สนับสนุนเกษตรกรแล้ว ยังซ้ำเติมเกษตรกรให้ได้รับความลำบากจากมาตรการต่างๆ ในช่วงตลอด 2 ปีที่ผ่านมาทำให้เกษตรกรเกิดความเสียหายและต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยรวมมากกว่า 1,500 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้นก็ยังไม่ดำเนินการให้ตรงตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ย้ำถึงสาระสำคัญของมาตรการว่าจะต้องไม่ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจและแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ทั้งยังไม่ยอมเผยแพร่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลการตรวจสอบวิเคราะห์ดินและน้ำจากราชบุรีและหนองบัวลำภูว่า ไม่พบการตกค้างของสารพาราควอต ตามที่เอ็นจีโอเคยกล่าวอ้าง ส่งผลกระทบให้เกษตรกรกลายเป็นจำเลยสังคม

การเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นหลังจากเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 คณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้มีมติให้มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชพาราควอต คลอไพริฟอส และไกลโฟเซต ต่อไปได้ โดยให้มีการจำกัดการใช้ ทำให้ทางเครือข่ายภาคประชาชน 369 องค์กรประกาศว่าจะเคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่เพื่อคัดค้าน ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2561ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นควรให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิดภายใน 1 ปีเนื่องจากเป็นอันตรายต่อประชาชน โดยในระหว่างนี้ต้องมีมาตรการควบคุมและจำกัดการใช้ ตลอดจนหาวิธีอื่นในการกำจัดศัตรูพืชทดแทน และได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรทำแผนดำเนินการเสนอกลับใน 30 วัน ต่อมาวันที่ 15 ม.ค.2562 ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ทบทวนมติการแบนพาราควอตให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน โดยจะมีการสรุปผลอีกครั้งในวันที่ 15 ก.พ.2562 ด้านองค์กรภาคประชาสังคมที่เป็นแกนนำเคลื่อนไหวกดดันให้ยกเลิกการนำเข้าพาราควอตอย่างไบโอไทยยังคงยืนยันว่าจะร่วมกับเกษตรกรฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีการเพิกถอนมติที่เคยอนุญาตให้ใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้ต่อไป โดยกำหนดการยื่นฟ้องคือวันที่ 29 ม.ค.นี้  

Thai-PAN ระบุกลุ่มหนุนขู่ฟ้องนักวิชาการหลังปูดปมความสัมพันธ์กับ บ.กำจัดศัตรูพืชยักษ์ใหญ่

ด้าน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) รายงานด้วยว่า  หลังคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติ 17:7 เสียงเพื่อทบทวนมติเดิมที่สวนกระแสเรียกร้องของประชาชนไม่แบนพาราควอตเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2561 การเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านการแบนก็เริ่มร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้โพสต์เฟสบุ๊คเปิดเผยความสัมพันธ์ของแกนนำกลุ่มสนับสนุนสารพิษว่าได้ดำเนินกิจกรรมโดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทข้ามชาติที่เป็นผู้ผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูพืชยักษ์ใหญ่ 2 บริษัท โดยในภาพเป็นโปสเตอร์กิจกรรมที่แกนนำสนับสนุนสารพิษดำเนินการในจังหวัดราชบุรี และปรากฎชื่อของ 2 บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่อย่างชัดเจนใต้โปสเตอร์ดังกล่าว

ชื่อแรกคือบริษัทซินเจนทา ยักษ์ใหญ่เคมีการเกษตรของโลกซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสารพิษพาราควอต สารพิษที่มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกแบนแล้ว และอีกบริษัทคือ บริษัทดาวอะโกรไซแอนส์ ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายคลอร์ไพริฟอส ซึ่งศาลสหรัฐเพิ่งมีคำสั่งให้ EPA แบนภายใน 60 วัน เพราะส่งผลกระทบต่อสมองของทารก สารพิษกำจัดศัตรูพืช 2 ชนิดดังกล่าว คือสารพิษที่กระทรวงสาธารณสุขเรียกร้องให้มีการแบนภายในปี 2562

Thai-PAN ระบุต่อว่า ล่าสุด แกนนำ "เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง" ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำที่ร่วมกันต่อต้านการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสร่วมกับ "สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย" องค์กรบังหน้าของสมาคมสารพิษอีกองค์กรหนึ่ง ได้ประกาศในเฟซบุ๊คเตรียมฟ้องร้องศ.นพ.ธีระวัฒน์ ที่เปิดเผยข้อเท็จจริงด้ังกล่าว พร้อมทั้งร่างหนังสือเตรียมยื่นให้ต้นสังกัดสอบสวน ศ.นพ.ธีระวัฒน์

"นี่คือกระบวนการข่มขู่คุกคามนักวิชาการอิสระครั้งใหม่ของกลุ่มสนับสนุนสารพิษ เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ได้เคลื่อนไหวกดดันให้นักวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวรลาออกจากมหาวิทยาลัย เพียงเพราะได้เปิดเผยความจริงเกี่ยวกับการตกค้างของสารพิษกำจัดวัชพืชในสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนได้รับทราบ ร่วมกันสนับสนุนการต่อสู้ของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา เพื่อให้มีการแบนสารพิษร้ายแรงเพื่อให้ทุกชีวิตปลอดภัยจากสารพิษกำจัดศัตรูพืช เราจะไม่ปล่อยให้อาจารย์หมอและนักวิชาการอิสระท่านอื่นๆ ต่อสู้โดยลำพัง" Thai-PAN ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net