Skip to main content
sharethis

พรรคสามัญชนจัดแถลงวิสัยทัศน์ ตอบคำถามจุดยืนต่อ มาตรา 112 เผยมีสมาชิกพรรคเสนอให้ยกเลิกหรือแก้ไข แต่ยังไม่ผ่านกระบวนการเพื่อตกผลึกภายในพรรค เสนอยกเลิกข้อกล่าวหาให้ผู้ลี้ภัยทางการเมืองซึ่งมีเหตุจากการแสดงความคิดเห็น ดันกัญชาเป็นพืชที่มีทุกบ้าน สูบได้แต่ต้องจัดโซน ดันบำนาญแห่งชาติ-ประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว เสนอกฎหมายคุณภาพอากาศ และยืนยันหลักการสิทธิมนุษยชนทุกมิติ

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์: แฟ้มภาพประชาไท

29 ม.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (28 ม.ค.) พรรคสามัญชน ได้จัดงานแถลงวิสัยทัศน์ของพรรค ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว โดยในช่วงแรก ปกรณ์ อารีกุล โฆษกพรรค ชี้แจงข้อมูลเบื้องต้นว่า พรรคสามัญชนได้รับสถานะเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค. 2561 ซึ่งจากนี้ก็สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองตามกฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. ได้ทุกประการ โดยวันนี้เป็นการประกาศวิสัยทัศน์ซึ่งทั้งหมดได้มาจากการทำ คาราวานสามัญชน ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมจากสมาชิกพรรคในพื้นที่ต่างๆ และนอกจากนี้จะเป็นการพูดคุยถึงความพร้อมของพรรคในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

ทำไมต้องมีพรรคสามัญชน 

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง สาเหตุที่ทำให้มีการจัดตั้งพรรคสามัญชนว่า เป็นเพราะพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิม ไม่ได้เป็นที่พึ่งของประชาชน ทุกครั้งที่ประชาชนเสนอร่างกฎหมายเข้าไปในสภา กฎหมายเหล่านั้นก็จะถูกแก้ไขเนื้อหาสาระเดิมจนจำความไม่ได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่เป็นพรรคของเขา ไม่ใช่พรรคของเรา เหตุที่ต้องตั้งพรรคขึ้นมาก็เพราะ ต้องการเห็นกฎหมายถูกเขียนขึ้นมาโดยชนชั้นสามัญชน

เลิศศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้าที่จะมีพรรคสามัญชนเกิดขึ้น เดิมมีสิ่งที่เรียกว่าขบวนการสามัญชนมาก่อนหน้านี้แล้ว ตลอดระยะเวลา 3-4 ปี ขบวนการสามัญชนใช้เวลานานมากในการเชื่อมประสานขบวนการภาคประชาชนกับมิติปัญหาโครงสร้างทางการเมืองเข้าด้วยกัน ที่ผ่านมามีการสรุปบทเรียนอย่างหนึ่งว่า ความขัดแย้งตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ผ่านการรัฐประหาร 2 ครั้ง ประชาธิปไตยทางตรงที่เป็นเครื่องมือของประชาชนนอกรัฐสภาถูกทำลายลงไปอย่างมหาศาล ซึ่งเป็นผลมาจากการทำลายประชาธิปไตย การเลือกตั้ง และรัฐสภา และก่อนที่ทั้งสองสิ่งจะเสียไปมากกว่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการกู้คืน สามัญชนจึงเสนอตัวเป็นผู้เล่นทั้งพื้นที่ประชาธิปไตยทางตรงนอกรัฐสภา และพื้นที่ประชาธิปไตยตัวแทนในรัฐสภา

เลิศศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาทุกพรรคการเมืองมักแข่งขันกันเสนอว่าจะพัฒนาประเทศอย่างไร แต่ไม่มีพรรคใดพูดถึงปัญหาของการพัฒนา โจทย์ของพรรคสามัญชนไม่ใช่การพัฒนา แต่เป็นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ไม่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตรงกันข้ามประเทศมีสิ่งเหล่านี้เยอะมาก แต่การพัฒนาเหล่านั้นเป็นการพัฒนาที่คนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งได้ผลประโยชน์อยู่กลุ่มเดียว ขณะที่คนกลุ่มใหญ่กลับเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาจนเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ 

“พวกคนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้ ขโมยความมั่งคั่งไปจากหยาดเหงื่อและแรงของพวกเรา ขโมยความมั่งคั่งไปจากอากาศ จากน้ำ จากผืนดินทำกิน จากระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม จากทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตของพวกเรา ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่บอกว่ามันถึงเวลาแล้ว ท่ามกลางเมฆฝุ่น PM 2.5 มันเลวร้ายพอๆ กันนะครับ PM 2.5 กับ คสช. ไปปกคลุมที่ไหนบ้านเมืองฉิบหายที่นั่น ในประเทศที่พล่ามแต่ศีลธรรม แต่อาชญากรรมสูงกว่าไอเฟล ถ้าสามัญชนไม่ลุกมาทำการเมืองด้วยตัวเอง อาชญากรรมจากศีลธรรมของผู้ปกครองจะสูงกว่าหอไอเฟลขึ้นไปเรื่อยๆ” เลิศศักดิ์ กล่าว

เลิศศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า พรรคสามัญชนมีอุดมการณ์ 3 ข้อเป็นหลักยึดเหนี่ยว คือ 1.ประชาธิปไตยจากฐานราก หมายถึงอำนาจในการตัดสินใจจริงๆ ต้องมาจากประชาชนคนเล็กคนน้อยทุกคน 2.สิทธิมนุษยชน คือการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งหมายรวมไปถึงสิทธิในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น สิทธิชุมชน สิทธิในการทำงาน สิทธิในการมีชีวิต สิทธิในอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ เพศวิถี ฯลฯ  และ 3.ความเท่าเทียมเป็นธรรม ความเจริญก้าวหน้าของประเทศไม่ว่าด้านใดก็ตามจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียม และเป็นธรรม

เลิศศักดิ์ กล่าวในตอนท้ายต่อว่า พรรคสามัญชนจะเรียนรู้ และเติบโตร่วมไปกับประชาชน ขอโอกาสให้พรรคสามัญชนในพื้นที่การเมืองไทยนับจากนี้เป็นต้นไป พรรคจะสร้างพื้นที่ของสามัญชนในการเมืองไทย พรรคจะร่วมมือกันขบวนการภาคประชาชน และประชาชนทุกกลุ่มในการขับเคลื่อนบ้านเมืองโดยสันติวิธี เพื่อให้ได้มาซึ่งหลักการพื้นฐานทั้ง 3 ข้อ

“พรรคสามัญชนรู้ว่า เส้นทางนี้ไม่ง่ายดายนัก เต็มไปด้วยอุปสรรค และใช้เวลายาวนาน แต่อุดมการณ์ของเราจะยังเต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมคติ จินตนาการ มีความร่าเริงแจ่มใสเบิกบาน สนุกสนาน และมีความหวัง” เลิศศักดิ์ กล่าว

จุดยืนของพรรคต่อมาตรา 112 

หลังจากจบการแถลงของคณะกรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ ทางพรรคได้เปิดเวทีตอบคำถามสื่อมวลชน เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคมีจุดยืนเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทั้งทางออนไลน์ และออฟไลน์ แล้วพรรคสามัญชนมีจุดยืนต่อมาตรา 112 อย่างไร

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง รองหัวหน้าพรรคฯ ตอบว่า หนึ่งในวิสัยทัศน์ของพรรคระบุว่า จะผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ควบคุมสิทธิและเสรีภาพ และขัดต่อสิทธิมนุษยชน แต่การจะขับเคลื่อนในเรื่องต่างๆ จะต้องมาจากความต้องการของสมาชิกพรรค ไม่ได้มาจากคณะกรรมการบริหารพรรค ไม่ได้มาจากนักวิชาการ และจากที่รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกพรรคในหลายพื้นที่พบว่า มีการเสนอให้ยกเลิก หรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่ ซึ่งในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นทุกครั้งของพรรคจะเก็บทุกความคิดเห็นไว้ และพิจารณาว่า ความคิดเห็นนั้นๆ เป็นไปตามอุดมการณ์ทั้ง 3 ข้อของพรรคหรือไม่ ส่วนการทำงานในเชิงนโยบายของพรรคเมื่อมีการเสนอนโยบายออกมาจากสมาชิกพรรค โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่เพียงเฉพาะเรื่อง มาตรา 112 เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายเรื่อง ทางพรรคจะดำเนินการให้เกิดพื้นที่พูดคุยถกเถียงแลกเปลี่ยนของสมาชิกจนตกผลึกต่อเรื่องนั้นๆ ซึ่งในเวลานี้มีคนเสนอแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการดำเนินการเพื่อให้เกิดการตกผลึกทางนโยบาย

เมื่อถามว่า เวลานี้พรรคสามัญชนพร้อมที่จะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งทั้งหมดกี่เขต เลิศศักดิ์ ระบุว่า ตอนนี้พรรคมีความพร้อมประมาณ 17 เขต เช่นในพื้นที่จังหวัดเลย , หนองบัวลำภู , กาฬสินธุ์ , ขอนแก่น , สุรินทร์ ,  สกลนคร , เชียงราย และเชียงใหม่

เมื่อถามว่า หากพรรคสามัญชนได้รับเลือกเข้าไปในสภา มีหลักการว่าจะไม่ร่วมกับพรรคการเมืองที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ แต่จะมีปัญหาหรือไม่ กับการร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคภูมิใจไทย เลิศศักดิ์ ตอบว่า ไม่ว่าจะเป็นพรรคอะไรก็ตามหากจับมือกับทหาร พรรคสามัญชนจะไม่เข้าร่วมด้วย

เลิศศักดิ์ ตอบคำถามในประเด็นเรื่องกัญชาเสรีว่า ทางพรรคไม่ได้มีจุดยืนอยู่เพียงแค่เรื่องกัญชาทางการแพทย์ แต่คิดไปถึงการปลดล็อคให้เป็นพืชครัวเรือน แต่เรื่องการสูบกัญชาเสรี เช่น สามารถสูบได้ทุกที่พรรคยังไม่เห็นด้วย แต่เห็นว่าควรมีการจัดโซนนิ่งเหมือนกับการจัดโซนนิ่งให้กับผู้สูบบุหรี่ ว่าที่ใดเหมาะที่จะสูบ ที่ใดไม่เหมาะสม

เปิดวิสัยทัศน์พรรคสามัญชน

1.ขจัดความเหลื่อมล้ำทางการเมือง

“กระจายอำนาจ สร้างพื้นที่ประชาชน ตัดสินอนาคตด้วยตัวเอง”

1)ผลักดันกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ จากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน

2)ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองทางตรงของประชาชน ในกระบวนการนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และการเคลื่อนไหวรณรงค์ทางสังคม

3)ปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น และสนับสนุนการรวมกลุ่มองค์กรในชุมชน ตำบล หมู่บ้าน และบนท้องถนน

4)ลดระบบราชการส่วนกลางให้มีขนาดเล็กลง ทั้งขนาด และงบประมาณ เพิ่มการจัดสรรกำลังคน และงบประมาณสู่ท้องถิ่น

5)คืนอำนาจการตัดสินใจให้ชุมชนท้องถิ่น สนับสนุนการมีส่วนร่วมทางตรงโดยไม่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยจากฐานราก สิทธิมนุษยชน เท่าเทียมเป็นธรรม

6)ผลักดันกฎหมายเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองในทุกระดับและทุกรูปแบบ

7)ส่งเสริมสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ภาครัฐจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณะโดยไม่ต้องร้องขอ

8)ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการใช้อินเทอร์เน็ต ปกป้องสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล และความปลอดภัยในไซเบอร์ตามหลักการสิทธิพลเมือง

9)ผลักดันการสร้างความมั่นคงในความหมายใหม่ ลดขนาด และงบประมาณของกองทัพ และปรับโครงสร้างหน่วยงานความมั่นคงให้สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน และคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก

10)ผลักดันการสร้างกระบวนการยุติธรรมที่รวดเร็ว ตรวจสอบได้ รับรองคำประกาศหลักการสิทธิมนุษยชนสากล และหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภาให้มีสถานะเป็นกฎหมาย และสามารถยกขึ้นมาอ้างในการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมได้

11)สร้างกลไกการให้ความคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ การป้องกันการซ้อมทรมาน และคุ้มครองไม่ให้บุคคลสูญหาย

12)ผลักดันให้เกิดการให้สัตยาบันต่อธรรมนูญแห่งกรุงโรมแห่งศาลอาญาระหว่างประเทศ

13)เสนอร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกประกาศ และคำสั่งหัวหน้า คสช. 35 ฉบับ ที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และแย่งยึดที่ดินของประชาชน

14)แก้ไขกฎหมายที่ควบคุมสิทธิเสรีภาพ และขัดต่อหลักการสิทธมนุษยชน

 

2.ขจัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและแรงงาน

“กระจายอำนาจการผลิต หลักประกันทางเศรษฐกิจ ปกป้องพื้นที่ทำกิน

แรงงาน

1)รวบรวมประมวลกฎหมายแรงงาน เพื่อการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรมแก่แรงงานทุกคน

2)สนับสนุนการจัดตั้งสหภาพแรงงาน สร้างอำนาจการต่อรองให้กับผู้ใช้แรงงานทุกสาขาประเภท

3)เพิ่มสวัสดิการเพื่อสวัสดิภาพแรงานทุกระดับ ผลักดันการพัฒนาคุณภาพชีวิต คุ้มครองสิทธิและสร้างความเป็นธรรม โดยคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลาย ในกลุ่มแรงงานรัฐวิสาหกิจ แรงงานเอกชน แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานไทย แรงงานเพื่อนบ้าน แรงงานภาคอุตสาหกรรม แรงงานภาคเกษตรกรรม แรงงานภาคบริการ(Sex Worker) แรงงานหญิง แรงงานทำงานที่บ้าน

4)สนับสนุนสวัสดิการของเด็ก และทารก โดยสร้างพื้นที่การเลี้ยงดูบุตรในสถานประกอบการ เพิ่มเพดานวันลาเพื่อการตั้งครรภ์ และลาคลอดครอบคลุมทั้งชาย หญิง และทุกเพศสภาพ โดยได้รับค่าจ้างปกติ

5)สนับสนุนการลาเพื่อรักษาร่างกาย จิตใจ และการข้ามเพศ โดยได้รับค่าจ้างปกติ

6)ลาหยุดต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 21 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ

7)ปรับค่าแรงขั้นต่ำตามดัชนีผู้บริโภค 500 บาท/วัน (ปรับขึ้นสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ) โดยค่าจ้างต้องเท่าเทียม ไม่ว่าจะแตกต่างเนื่องจากเพศ สภาพร่างกาย เชื้อชาติ หรือศาสนา

8)กำหนดค่าจ้างแรงงานเป็นไปตามอายุงาน เพิ่มขึ้นปีละ 2%

9)การสบทบเงินประกันสังคม ขยายเพดานสูงสุด 3,000 บาท/เดือน และปฏิรูปการประกันสังคมแรงงานนอกระบบให้เท่าเทียมกับแรงงานในระบบ

10)ประกันการว่างงานทุกกรณี เป็นจำนวน 80% ของเพดานสูงสุดของฐานเงินเดือน (30,000 บาท/เดือน) เป็นเวลา 6 เดือน

11)จัดตั้งธนาคารแรงงานหรือกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน

12)ทบทวนกฎหมายอาญาที่ยังจำกัดสิทธิเสรีภาพ และสวัสดิการในกลุ่มผู้ใช้แรงงานเฉพาะพนักงานบริการ แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และสิทธิการทำงานแก่ผู้ลี้ภัย

การประมง และการเกษตร

1)คืนเมล็ดพันธุ์ให้ท้องถิ่น สนับสนุนพืชพันธุ์ท้องถิ่น ยกเลิกการควบคุมผูกขาดเมล็ดพันธุ์ของนายทุน และบรรษัทข้ามชาติ

2)สนับสนุนการเลิกใช้สารเคมีในภาคเกษตร และกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ใช้สารเคมีเปลี่ยนผ่านไปสู่เกษตรปลอดภัย ทั้งระบบความเข้าใจ การผลิต และการตลาด

3)คุ้มครองแนวเขตทะเลชายฝั่งให้ปลอดจากประมงพาณิชย์ และการใช้เครื่องมือประมงในการทำมาหากินพร้อมกับการอนุรักษ์

4)คุ้มครองประมงพื้นบ้าน ประมงรายย่อย

5)สนับสนุนการผลิตอาหารเพื่อความมั่นคงและปลอดภัยของประชาชน

การค้าที่เป็นธรรม

1)ปรับปรุงระบบโควต้า และการกระจายการจัดการสู่ผู้ค้ารายย่อย โดยรัฐรับผิดชอบความเสี่ยง เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล คลื่นความถี่ การขนส่ง เป็นต้น

2)ยกเลิกการผูกขาดในการจัดการทรัพยากรของเอกชนรายเดียว สนับสนุนการมีส่วนร่วมในการเพิ่มสัดส่วนระหว่างรัฐส่วนกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และเอกชน

3)สนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนประกอบธุรกิจอย่างเสมอภาค เช่น ปลูกกัญชา สุราท้องถิ่น การแปรรูปอาหาร และการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่

4)สนับสนุนและคุ้มครองการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างบุคคลต่อบุคคล (P2P) และการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานสินทรัพย์ดิจิทัล

5)สนับสนุน ปกป้อง ระบบเศรษฐกิจ และธุรกิจระดับชุมชน

6)ส่งเสริมสินค้าที่เป็นธรรมในภาคเกษตร (Fair Trade) โดยกำหนดราคาที่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต และคุณภาพของเกษตรกร

7)ป้องกันการผูกขาดของแหล่งทุน ธนาคาร พ่อค้าคนกลาง ผู้ผลิตรายใหญ่ และกลไกตลาดโลกที่ทำลายความยั่งยืนของชุมชน

การจัดการที่ดินอย่างเป็นธรรม

1)กระจายการถือครองที่ดินจากเอกชนรายใหญ่ เพิ่มสัดส่วนที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและทํากิน เช่น คุ้มครองที่อยู่อาศัย คุ้มครองที่ดินเกษตรกรรายย่อยและคุ้มครองการมีที่ดินทํากินเพื่อการเกษตร กําหนดขั้นต่ำ 15 ไร่/ครอบครัว

2)ผลักดันการใช้ประโยชน์จากที่ดินรัฐในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทํากินให้ประชาชนรายได้น้อย

3)ผลักดันการกําหนดพื้นที่การใช้ที่ดิน การวางแผนการผลิตภาคเกษตร และการปกป้องพื้นที่ผลิตอาหาร

4)การเข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อการเกษตร ที่ดินเพื่อการเกษตร โดยมีเพดานดอกเบี้ย สูงสุด 2% ต่อปี

5)สนับสนุนให้เช่าซื้อที่ดินของตนเองได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ําและผ่อนระยะยาว

ระบบภาษี

1)ผลักดันระบบภาษีที่เป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม กฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน รวมถึงกระจายอํานาจบริหารจัดการที่ดินโดยชุมชน ปรับอัตราภาษีก้าวหน้าสําหรับผู้มีรายได้สูง

2)สนับสนุนการคืนภาษีสําหรับผู้มีรายได้น้อย และยกเลิกการลดหย่อนภาษีในบริษัทเอกชน ยกเลิกการลดหย่อนภาษี BOI และการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงค่าเช่าที่ดิน และผลกําไรทางธุรกิจ กําหนดเก็บภาษีรายได้จากตลาดหุ้น

 

3. ขจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคม วัฒนธรรม และความรู้

 "เปลี่ยนรัฐเผด็จการ เป็นรัฐสวัสดิการ"

1.เด็กและครอบครัว ส่งเสริมสิทธิสวัสดิการสําหรับเด็กและครอบครัวในการส่งเสริมพัฒนาการที่สอดคล้องกับช่วงวัย เช่น เงินอุดหนุนการเลี้ยงดูที่เพียงพอ สถานรับเลี้ยงเด็กที่ใกล้บ้านหรือที่ทํางาน เช่น มีศูนย์รับเลี้ยงดูเด็กอายุ 0-3 ขวบ งบประมาณรายหัว 10,000บาท/คน/ปี

2.สุขภาพ ผลักดันสิทธิการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพเป็นมาตรฐานเดียว ทั้งระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงสิทธิการรักษาและหลักประกันสุขภาพของ นักโทษ ผู้ยากไร้ ผู้เร่ร่อน ผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และผู้ที่อยู่ในระหว่างการได้รับสัญชาติไทย โดยกระจายอํานาจในการจัดการที่มีประสิทธิภาพเสมอหน้าไปสู่ระดับท้องถิ่น กําหนดงบประมาณด้านสุขภาพ 8,500บาท/คน/ปี

3.วัยเกษียณและผู้สูงอายุ 1)ผลักดันสิทธิการมีชีวิตที่เพียงพอสําหรับผู้เกษียณ สิทธิบํานาญพื้นฐานที่เพียงพอต่อการมีชีวิตสําหรับผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มีบ้านพักรองรับ มีการจัดการศพที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวัฒนธรรม 2) เปลี่ยน "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" เป็น "บํานาญถ้วนหน้า" ตั้งเป็นหลักประกัน ทางรายได้ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน เช่น กําหนดเงินบํานาญจากระบบประกันสังคมถ้วนหน้าจํานวน 2,000 - 15,000 บาท/เดือน รวมกับระบบบํานาญถ้วนหน้า 3,000 บาท/เดือน

4.ผู้หญิง ผลักดันเรื่องความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางเพศเป็นวาระแห่งชาติ, แก้ไขกฎหมายความรุนแรงในครอบครัว โดยคํานึงถึงสิทธิของผู้ได้รับความรุนแรงเป็นที่ตั้งมากกว่ามาตรการการไกล่เกลี่ย, เพิ่มระยะเวลาในการแจ้งความในดคีล่วงละเมิดเป็น 3 ปี หรืออุทธรณ์ได้มากกว่านั้นถ้ามีเหตุผลสมควรเรื่องความปลอดภัย หรือปัญหาสุขภาพจิต และยกเลิกความผิดต่อผู้หญิงที่ทําแท้งในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301

5.กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ 1)แก้ไขกฎหมายสมรสเพื่อให้คนเพศหลากหลาย ได้จดทะเบียนเพื่อตั้งครอบครัวอย่างเท่าเทียม 2)จัดสวัสดิการสังคม และการรักษาพยาบาลเพื่อการมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี กระบวนการข้ามเพศถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสามารถลาพักงานได้โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ, สร้างพื้นที่ปลอดภัยทั้งพื้นที่บริการ พื้นที่ราชการ และพื้นที่สาธารณะให้ครอบคลุมทุกเพศสภาพ

6.กลุ่มชาติพันธุ์ 1)ส่งเสริมสิทธิ และโอกาสของกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิม คนไร้รัฐ คนไทยพลัดถิ่น ไม่จํากัดเฉพาะผู้มีสัญชาติไทย ดํารงชีวิตโดยได้รับการเคารพศักดิ์ศรีในการเข้าถึงสิทธิอยู่อาศัย สถานะทางกฎหมาย สิทธิพื้นฐาน รวมถึง การเข้าถึงข้อมูล บริการสาธารณะ เอื้ออํานวยให้มีล่ามและการแปลภาษาชนเผ่าโดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรม 2)สนับสนุน ส่งเสริม ปกป้อง วิถีชีวิต ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม

7.กลุ่มคนพิการ 1)ส่งเสริมสิทธิ และโอกาสของผู้พิการในการเข้าถึงการศึกษา สุขภาพ การทํางาน และบริการสาธารณะอย่างเท่าเทียม 2)คนพิการมีหลักประกันทางรายได้ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน 3,000 บาท/เดือน 3)คนพิการมีอิสระในการดํารงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี และการเอื้ออํานวยในการเข้าถึงงาน การขนส่งและบริการสาธารณะ และในการจัดซื้อกายอุปกรณ์ได้เองตามวงเงินที่รัฐจัดให้ รวมถึงได้รับเงินสนุบสนุนในการฝึกอบรมอาชีพอย่างเสรีโดยรัฐอํานวยการฝึกอบรม

8.ผู้อพยพเคลื่อนย้าย คนไร้รัฐ แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านและผู้ลี้ภัย 1)จัดตั้งคณะกรรมการกิจการคนเข้าเมืองและคนไม่มีสัญชาติไทยเป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านผู้อพยพเคลื่อนย้ายทุกกลุ่ม คนไทยไปต่างประเทศ และคนจากต่างประเทศมาไทย 2)ผลักดันให้มีการเปิดสํารวจ ผ่อนผันเป็นประจํา พิสูจน์คัดแยก กําหนดสถานะตามกฎหมาย รวมถึงสิทธิพื้นฐานในการมีชีวิต การศึกษา สุขภาพ การอยู่กันเป็นครอบครัว การทํางานตามทักษะความสามารถ 3)ยกเลิกข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแก่คนไทยที่ลี้ภัยในต่างประเทศนับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 และสนับสนุนการเข้าถึงความยุติธรรม และเยียวยาอันเนื่องมาจากความเห็นต่างทางการเมืองและสังคม

9.ที่อยู่อาศัย 1)ผลักดันการเข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยสูงสุด 2% ต่อปี  2)ที่อยู่อาศัยสําหรับประชาชนตําบลละไม่น้อยกว่า 1,000 ห้อง 3)ผลักดันการควบคุมราคาค่าเช่าที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับผู้ที่ต้องทํางานในพื้นที่เมืองได้อยู่อาศัยร่วมกับเมืองอย่างไม่ยากลําบาก 4)ที่อยู่อาศัยในโครงการภาครัฐสามารถเบิกค่าเช่าจากประกันสังคม รวมค่าน้ำไฟพื้นฐาน ไม่ เกิน 1,000 บาท/35 ตารางเมตร จัดเก็บโดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 5)ผลักดันสิทธิในการมีที่อยู่อาศัย ที่ทํากิน และที่สาธารณะประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และกระจายอํานาจให้ท้องถิ่นบริหารจัดการ 6)ผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยในแต่ละพื้นที่ต้องมีสัดส่วนของที่พักสําหรับผู้มีรายได้น้อยรวมอยู่ด้วย

10.การศึกษา 1)ยกเลิกหลักสูตร/เนื้อหา/สื่อที่สร้างอคติและความเกลียดชัง กลุ่มทางสังคมต่างๆ เช่น เชื้อชาติ ศาสนา เพศและเพศสภาพ สถานะชนชั้น ลักษณะทางกายภาพ ความเชื่อและอุดมการณ์ทางการเมือง และถิ่นที่อยู่ ให้สอดคล้องกับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน 2)ให้บทบาทและการตัดสินใจแก่ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน กลุ่มองค์กรทางสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ยกสถานะของโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาให้เป็นองค์กรนิติบุคคล 3)สร้างพิพิธภัณฑ์ ห้อง สมุด เพื่อเป็นสถานที่สร้างการเรียนรู้ด้านสิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชน วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ชาติพันธ์ และท้องถิ่น

 

 4. ขจัดความเหลื่อมล้ำทางสิ่งแวดล้อม

"อากาศที่เราหายใจ อาหารที่เรากิน และน้ำเราดื่ม"

1)ผลักดันกฎหมายอากาศบริสุทธิ์ โดยต้องบัญญัติให้ชัดเจนว่าให้นําค่าฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ไมครอน และฝุ่นนาโนที่มีขนาดเล็กกว่าพีเอ็ม 2.5 ที่อย่างน้อยต้องเป็นไปตามมาตรฐานของ WHO มาใช้ในการคํานวณคุณภาพอากาศ โดยต้องกําหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมตั้งแต่แหล่งกําเนิดมลพิษ และเปิดช่องให้ประชาชนฟ้องรัฐได้ถ้าไม่นํามาตรการต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายไปปฏิบัติ

2)ยกเลิกคําสั่ง คสช. ที่เป็นตัวการให้เกิดวิกฤติทางสุขภาพ ได้แก่ คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้น การใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม

3)ยกเลิกคําสั่ง คสช. ที่แก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมเพื่อลดทอนกลไกในการเฝ้าระวัง ติดตาม ควบคุม ป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจนทําให้เปลี่ยนสถานะกลายเป็นกฎหมายส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 เพื่อ ยกเว้น โครงการด้านคมนาคมขนส่ง การสร้างเขื่อนและชลประทาน การป้องกัน สาธารณภัย โรงพยาบาล และที่อยู่อาศัย สามารถจัดหาผู้รับเหมาเอกชนเพื่อดําเนิน โครงการหรือ กิจการได้โดยไม่ต้องรอให้รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ได้รับความเห็นชอบเสียก่อน

4)ยกเลิกคําสั่งว่าด้วยระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor : EEC ได้แก่ คําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 2/2560 เรื่อง การพัฒนา EEC

5)สร้างกลไกการตัดสินใจที่อํานาจสูงสุดอยู่ที่ชุมชนท้องถิ่น

6)กระจายอํานาจให้ท้องถิ่นในการจัดการภายในชุมชน/เมืองในการป้องกันและรักษา สิ่งแวดล้อมภายในชุมชนท้องถิ่นของตนเอง

7)สนับสนุนการจัดการพลังงานที่กระจายการจัดการสู่ชุมชนท้องถิ่น และให้ความสําคัญกับ พลังงานสะอาด พลังงานทางเลือกเป็นอันดับแรก

8)สนับสนุนให้มีการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังเพื่อปกป้องภัยพิบัติทางธรรมมชาติ - กําหนดมาตรฐานการป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติ

9)กําหนดมาตรการภาษีและมาตรการอื่น ๆ เพื่อสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ปลอดภัยและเอื้ออํานวยให้ทุกคนเข้าถึงได้

10)ยกเลิกระบบสัมปทานผูกขาดทั้งทรัพยากรธรรมชาติดิน น้ำ ป่า แร่ และปิโตรเลียม

11)ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะที่ใช้วัตถุดิบถ่านหิน รวมถึงยกเลิกการผูกขาดการผลิตและระบบไฟฟ้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net