เปิดนโยบายรัฐสวัสดิการ 5 พรรค เน้นลดเหลื่อมล้ำ ปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่เข้าแทนที่คน

‘ไทยรักษาชาติ’ ชูปรับโครงสร้างภาคแรงงาน-ลดเหลื่อมล้ำเทคโนโลยี-นำไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน ด้าน ‘ประชาธิปัตย์’ ชูประกันรายได้ขั้นต่ำ-เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่ม 1,000บ./เดือน-ยกระดับ ส.ป.ก. ฝั่ง ‘เพื่อไทย’ ระบุเน้นยุทธศาสตร์ภาพรวม ควบคู่สวัสดิการกองทุนชุมชน กระจายอำนาจให้ ปชช.ตัดสินใจ ขณะที่ ‘สามัญชน’ ให้สวัสดิการตามเส้นความยากจน 3,000 บาท ทั้งเด็กและบำนาญถ้วนหน้า ส่วน ‘อนาคตใหม่’ เสนอลาคลอด 180 วัน กองทุนประกันสุขภาพหัวละ 4,000 บาท


สมชาย กระจ่างแสง, เผ่าภูมิ โรจนสกุล, อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี, วรรณวิภา ไม้สน

29 ม.ค. 2562 พรรคใต้เตียง มธ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) จัดงานเสวนา "(รัฐ) สวัสดิการไทย แค่ไหนถึงจะพอ" เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ร่วมเสวนาโดย ดวงมณี เลาวกุล ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ พิชัย นริพทะพันธุ์ ตัวแทนพรรคไทยรักษาชาติ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ เผ่าภูมิ โรจนสกุล ตัวแทนพรรคเพื่อไทย สมชาย กระจ่างแสง ตัวแทนพรรคสามัญชน วรรณวิภา ไม้สน จากพรรคอนาคตใหม่ ร่วมดำเนินรายการโดย จักรพล ผลละออ กลุ่มสหายสังคมนิยม (Group of Comrades)

 

ไทยรักษาชาติชูปรับโครงสร้างภาคแรงงาน-ลดเหลื่อมล้ำเทคโนโลยี-นำไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน

สำหรับประเด็นคำถามที่ว่า ไทยจะเป็นรัฐสวัสดิการได้ไหมนั้น พิชัย นริพทะพันธุ์ ตัวแทนพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า อาจยังทำไม่ได้ เพราะรายได้ของรัฐบาลซึ่งมาจากภาษีอยู่ที่ 16-18% ของจีดีพี ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการอยู่ที่ 50% เก็บ VAT กัน 25% เพราะฉะนั้นการจะเป็นรัฐสวัสดิการได้ในไทยอาจเป็นเรื่องยาก แต่รัฐจำเป็นต้องมีสวัสดิการด้านต่างๆ ให้กับประชาชน เพื่อสร้างพื้นฐานที่มั่นคงให้ประชาชน ทั้ง 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน โอทอป ก็คือสวัสดิการอย่างหนึ่งที่ให้เฉพาะกลุ่มเฉพาะด้าน มีเงินเท่าไหร่ก็ให้เท่านั้น ถ้าให้สวัสดิการเกินไปประเทศก็ล้มละลายได้ เช่น กรีซ หนี้สาธารณะพุ่งถึง 100% เป็นตัวอย่างการให้สวัสดิการของรัฐที่เกินการที่ทำได้ ดังนั้นจึงต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อรัฐจะได้มีรายได้เพิ่ม ซึ่งก็ต้องให้ประชาชนเข้าถึงความรู้ให้มากขึ้น ในอนาคตอยากเห็นการกำหนดสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพี 3-5% เป็นค่าสวัสดิการของประชาชน ให้ภาคประชาชนร่วมคิดว่าจะใช้อย่างไร

พิชัยได้เสนอหลักสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1. ปรับโครงสร้างประเทศ เรามีเกษตรกร 40-50%ของประชากร แต่มีจีดีพี 50-60% เราต้องโยกคนจากภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ แต่รัฐก็ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น การว่างงานจากภาคอุตสาหกรรมจะมากขึ้น

2. ต้องลดความเหลื่อมล้ำของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเกิดขึ้นเร็วมาก ธนาคารต้องปิดตัวไปเป็นร้อยสาขา หรืออาชีพหมอก็มีเอไอเข้ามาแทนที่ วันหนึ่งคุณอาจตกงานโดยที่คุณไม่รู้ตัว 6 ปีข้างหน้าการเปลี่ยนแปลงจะมากกว่า 100 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่คุณไม่คาดคิดจะเกิดขึ้น

3. นำไทยกลับไปเป็นศูนย์กลางอาเซียนให้ได้ ไทยเราไม่ได้เก่งทางด้านไหนอย่างโดดเด่น แต่เราต้องพัฒนาประเทศให้เป็นที่ยอมรับของสังคมโลก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV เราควรเป็นผู้นำในภูมิภาค สร้างเศรษฐกิจและการค้าขายระหว่างอาเซียน เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่ม

 

ปชป. ชูประกันรายได้ขั้นต่ำ-เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่ม 1,000บ./เดือน-ยกระดับ ส.ป.ก.

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ครั้งนี้เรามีนโยบาย แก้จน สร้างคน สร้างชาติ ซึ่งโจทย์ใหญ่เรื่องหนึ่งคือรัฐสวัสดิการที่เราต้องสนับสนุนให้เกิดขึ้นให้ได้ สิ่งที่เราจะทำคือ

1. เราจะขีดเส้นที่จำนวนเงิน 120,000 บาท/ปี และจะไม่ให้ใครมีรายได้ต่ำกว่านี้ ถ้าใครมีรายได้ต่ำกว่านี้รัฐจะนำเงินลงไปสนับสนุนส่วนต่างตรงนั้น โดยโอนตรงเข้าบัญชี

2. ประกันรายได้เกษตรกร ได้แก่ ข้าว มัน ปาล์ม ยาง ข้าวโพด สมมติประกันราคาที่ 10,000 บาท แล้วราคาตลาดอยู่ที่ 8,000 บาท ส่วนต่าง 2,000 บาทจะถูกโอนตรงให้เกษตรกร

3. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปรับขึ้นเป็นที่เดือนละ 1,000 บาท/เดือน และเบี้ยผู้ยากไร้เดือนละ 800 บาท/เดือน ซึ่งการคัดกรองคนใช้ระบบ negative income tax (หรือการคืนภาษีคนจน) โดยให้ทุกคนต้องยื่นภาษี หากมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ก็จะได้เงินคืนกลับมา และเมื่อรายได้เท่าเกณฑ์แล้วระบบก็จะรู้ทันที ดังนั้นคนจนรายเก่าก็จะออกจากระบบโดยอัตโนมัติ และคนจนรายใหม่ก็จะเข้าระบบโดยอัตโนมัติ

4. ที่ทำกิน จะมีโครงการโฉนดสีฟ้า ซึ่งเป็นการยกระดับ ส.ป.ก. เรื่องแรกให้ ส.ป.ก. เป็นประกันเงินกู้ธนาคารของรัฐได้ รวมถึงการใช้เป็นหลักประกันในชั้นศาล แต่หากไม่จ่ายหนี้ ส.ป.ก. ก็หลุดได้ แต่จะตั้งธนาคารที่ดินทำหน้าที่เป็นกองทุน ในกรณีที่ยึดที่ก็จะนำที่ดินนั้นมาใส่ในธนาคารที่ดิน ถ้าเป็นกรณีหลุดมาจาก ธกส. ธนาคารที่ดินจะจ่ายเงินคืนไปที่ ธกส. แล้วเอาที่ดินมาไว้กับธนาคาร คนที่จะได้ก็ต้องเป็นคนที่เข้าข่ายเป็นเกษตรกรที่ได้ ส.ป.ก. นั่นหมายความว่าที่ดินมีโอกาสหลุดจากมือ แต่หลุดไปเพื่อให้คนมีคุณสมบัติรายใหม่เข้ามาแทน นอกจากนี้จะมีการออกโฉนดชุมชนในที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแต่เป็นป่าเสื่อมโทรมไปแล้ว ให้ชุมชนบริหารที่ดินแปลงนี้ด้วยตัวเอง รวมถึงกองทุนน้ำเพื่อเกษตรกร ชุมชนสามารถยื่นโครงการขึ้นมาได้เพื่อให้มีบ่อน้ำสำหรับชุมชน

5. เด็กอายุ 0-8 ปี ได้รับเงินเดือนละ 1,000 บาท เดือนแรก 5,000 บาท โอนเข้าบัญชีแม่ ในชั้นประถม-มัธยมต้น เด็กจะได้อาหารเช้าและอาหารกลางวันฟรี

6. มีแนวคิด Gov-Tech เพื่อปฏิรูปความอุ้ยอ้ายของระบบราชการ ให้มีการคิดแอพพลิเคชั่นเพื่อติดตามการทำงานของบุคลากร หากเรื่องไปค้างอยู่ที่ไหนก็จะขึ้นเป็นตัวแดงรายงาน

 

เพื่อไทยเน้นยุทธศาสตร์ภาพรวม ควบคู่สวัสดิการกองทุนชุมชน กระจายอำนาจให้ปชช.ตัดสินใจ

เผ่าภูมิ โรจนสกุล ตัวแทนพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า เรามองการพัฒนายุทธศาสตร์ประเทศโดยภาพรวมโดยใช้เครื่องมือสวัสดิการทางการคลัง ซึ่งประกอบด้วย 6 ประการ คือ

1. ใช้สวัสดิการแบบสองขา เป็นการผสมผสานระหว่างสวัสดิการที่สร้างผลสัมฤทธิ์ทางอุตสาหกรรม เป็นสวัสดิการที่พัฒนาเศรษฐกิจ กระตุ้นให้คนเข้าสู่ตลาดแรงงาน เช่น สวัสดิการการศึกษา กับสวัสดิการที่ลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มความเป็นธรรมให้กับสังคม เช่น สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล สวัสดิการผู้สูงอายุ เราจะใช้เครื่องมือทางภาษีและเครื่องมือการใช้จ่ายภาครัฐทางอุตสาหกรรม

2. จะมุ่งหน้าไปสู่ระบบสวัสดิการถ้วนหน้าในทุกมิติ โดยแบ่งการทำงานเป็นสองระยะ ระยะแรกจะเป็นการกระจายทรัพยากรจากคนมีรายได้มากมาสู่คนมีรายได้น้อย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ระยะที่สองเป็นการกระจายทรัพยากรในช่วงอายุ แบ่งเป็นวัยเด็ก วัยทำงาน วัยชรา คนวัยทำงานอาจต้องภาษีมากหน่อย สวัสดิการน้อยหน่อย แต่กระจายสวัสดิการให้เด็กผ่านสวัสดิการการศึกษา และให้คนชราผ่านนโยบายสาธารณสุข

3. สวัสดิการภาครัฐส่วนกลาง และสวัสดิการผ่านกองทุนชุมชนซึ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อเน้นการกระจายอำนาจและการมอบอำนาจตัดสินใจให้ประชาชนในแต่ละภาคส่วน

4. ใช้นโยบายเศรษฐกิจฐานราก โอบอุ้มคนจน โอบอุ้มคนมีรายได้น้อยและผู้แพ้ในสังคม โดยไม่เป็นที่เดือดร้อนของคนมีรายได้มาก ที่ผ่านมาเราพิสูจน์แล้วว่าสามารถลดอัตราภาษีนิติบุคคลได้ในขณะที่เราสร้างสวัสดิการให้แก่ประชาชน โดยที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

5. จะเดินหน้าเต็มที่ในการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ ความต้องการ ความเป็นไปได้ โดยคำนึงถึงหลักความจริง โดยเฉพาะการเข้ามาของเทคโนโลยี นายทุนจะเป็นผู้ครอบครองเทคโนโลยีและทำกำไรมหาศาล ขณะที่ค่าจ้างแรงงานจะถูกกดเพราะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี เรามองว่าประเทศไทยในอีก 10 ปีไม่ใช่ประเทศที่ต้องใช้ค่าแรงต่ำๆในการดึงดูดการลงทุนระหว่างประเทศ เรามองไทยเป็นประเทศผู้ผลิต มีแรงงานที่มีทักษะสูง ในการดึงดูดการลงทุน การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำคือการเพิ่มรายได้ถาวรให้แก่ประชาชน ต่างจากการให้สวัสดิการแบบเป็นครั้งๆ เราจะยังสนับสนุนสินค้าเกษตรเพราะถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ เราจะยกระดับรายได้เกษตรกร เราจะสร้างแรงจูงใจในการปรับอุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกัน และสามผลิตภาพต่อหน่วยของเกษตรกรจะต้องสูงขึ้น

6. จะลงทุนสร้างสวัสดิการในช่วงเริ่มต้นของชีวิตให้เกิดขึ้น

เผ่าภูมิชี้ว่า ทิศทางการพัฒนาของประเทศไทย ภาคเอกชนถือเป็นหัวหอกในการพัฒนาประเทศตลอดมา เรามีอัตราภาษีนิติบุคคลที่ค่อนข้างต่ำ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต่ำ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ไม่สูงนัก เราเน้นภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ถูกละเลยตลอดมาคือการพัฒนาทุนมนุษย์ พัฒนาทักษะและศักยภาพของมนุษย์ที่เกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนรวยก้าวไปสู่คนรวยมากไม่ยาก คนกำลังจะรวยก้าวไปสู่คนรวยไม่ยากนัก แต่คนจนซึ่งมีจำนวนมากไม่ได้ถูกพัฒนาทักษะและศักยภาพ จึงเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะสามารถก้าวข้ามชนชั้น

 

สามัญชนให้สวัสดิการตามเส้นความยากจน 3,000 บาท ทั้งเด็กและบำนาญถ้วนหน้า

สมชาย กระจ่างแสง ตัวแทนพรรคสามัญชนกล่าวว่า ตอนนี้ไทยมีคนรวยอยู่ 10% และที่เหลืออีก 90% ได้รับความเหลื่อมล้ำและการเข้าไม่ถึงบริการด้านต่างๆ และเหมือนการวิ่งผลัดที่พ่อแม่ส่งไม้ต่อความยากจนให้กับลูก พรรคสามัญชนซึ่งมาจากการรวมตัวของนักเคลื่อนไหวจึงอยากเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างคนเหล่านี้กับรัฐในการออกแบบนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำ

“รัฐสวัสดิการของเราต้องไม่เท่ากับการสงเคราะห์ ไม่ต้องหาว่าใครจน เงินยังไม่ถึงคน แต่เงินหายไปจากการหาคน รัฐสวัสดิการของเราคือมีปัจจัยขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตโดยรัฐจัดหาให้ผ่านระบบภาษีให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

หลักการในการให้สวัสดิการเราจะยึดตามเส้นความยากจน ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ 3,000 บาท ซึ่งให้ตั้งแต่เกิด ให้มีการเรียนฟรี นอกจากนี้ต้องมีระบบประกันรายได้ หากใครมีรายได้ไม่ถึง รัฐประกันให้อย่างน้อยได้เดือนละ 3,000 บาท ต่อมาคือระบบบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาท ทั้งหมดนี้เป็นไปได้หากเราเลิกลดหย่อนภาษี BOI และจัดสรรงบประมาณภาครัฐใหม่” สมชายกล่าว

 

อนาคตใหม่ เสนอลาคลอด 180 วัน กองทุนประกันสุขภาพหัวละ 4,000 บาท

วรรณวิภา ไม้สน จากพรรคอนาคตใหม่กล่าวว่า กว่าเราจะมีประกันสังคมที่ใช้กันทุกวันนี้ พี่น้องแรงงานต่อสู้มา 36 ปี พี่น้องแรงงานกลุ่มสิ่งทอต่อสู้เพื่อที่จะได้วันลาคลอด 90 วัน สวัสดิการที่เราได้มาไม่เคยได้จากการร้องขอ แต่มาจากการต่อสู้ของพี่น้องแรงงานและภาคประชาชน สวัสดิการไม่เคยได้มาจากความเมตตาของชนชั้นนำ

ทุกวันนี้ชนชั้นแรงงานต้องทำงานอย่างหนักและคุณภาพชีวิตไม่ได้ดีขึ้น หลายคนพูดว่าแค่ผ่านวันนี้ไปได้ก็ดีแล้ว ไม่ต้องคิดฝันถึงเรื่องโรงเรียนดีๆ ที่จะส่งลูกเรียน

“สิ่งที่จะทำให้ประเทศมั่นคงได้ คนในประเทศต้องมีความมั่นคงในชีวิตก่อน เราไม่ได้ขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการอย่างเดียว เราขัดเคลื่อนเรื่องค่าจ้างแรงงานที่ยังมีความเหลื่อมล้ำอย่างเห็นได้ชัด

ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ กล่าวด้วยว่า เราผลักดันสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร เริ่มจากวันลาคลอดจาก 90 วันเป็น 180 วัน เพราะการมีลูก 1 คน ต้นทุนต่อปีอย่างต่ำ 50,000 บาท การส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนดีๆ ก็ต้องใช้ต้นทุนสูงขึ้นอีก ดังนั้นการศึกษาต้องฟรีในภาคบังคับ และตั้งแต่อายุ 18-22 ปีจะมีเงินจำนวน 2,000 บาท เพื่อให้เลือกเรียนในหลักสูตรต่างๆ เช่น การเรียน กศน. การเรียนภาคค่ำ เพิ่มลาพักร้อน ลดชั่วโมงการทำงานโดยไม่กระทบรายได้ และจะสมทบผู้ประกันตนในมาตรา 40 500 บาทเพราะคนกลุ่มนี้มักไม่มีเงินเก็บและปรับเปลี่ยนฐานรายได้จากรายวันเป็นรายเดือนสำหรับแรงงานที่ทำงานมาเกินสิบปี กองทุนประกันสุขภาพหัวละ 4,000 บาท รวมถึงการรวมกองทุน และต้องกระจายหมอไปตามโรงพยาบาลต่างๆ” วรรณวิภากล่าว

วรรณวิภา กล่าวอีกว่า แม้หลายส่วนจะมองว่ารัฐสวัสดิการเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมไทย แต่พรรคอนาคตใหม่ยืนยันว่าด้วยศักยภาพของประเทศไทยเอง ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การทำรัฐสวัสดิการอย่างครบวงจรสามารถเกิดขึ้นได้ เพียงแต่ที่ผ่านมาการจัดสรรรายได้ของประเทศ ถูกผูกขาดอยู่ที่กลุ่มคนที่เป็นชนชั้นนำเพียงไม่กี่ตระกูลในประเทศเท่านั้น และเป็นสาเหตุหลักของความเหลื่อมล้ำในปัจจุบัน ตนเองในฐานะผู้ใช้แรงงานพบว่า สวัสดิการที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่เคยได้มาจากความเมตตาของชนชั้นนำ แต่ล้วนเกิดขึ้นผ่านกระบวนการต่อสู้ การรวมตัวของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นระบบประกันสังคมที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือสวัสดิการอื่นๆ ซึ่งย่อมยังไม่เพียงพอต่อการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีได้

“สิ่งที่พรรคอนาคตใหม่จะทำ คือรัฐสวัสดิการที่ครบวงจรตั้งแต่เกิดจนถึงวัยชรา ไม่ว่าจะเป็นการขยายสิทธิการลาคลอด เงินอุดหนุนเลี้ยงดูบุตร เงินอุดหนุนเยาวชน และการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ เป็นต้น รวมทั้งการลงนามรับรองอนุสัญญา ILO 87-98 ในทันทีเมื่อเป็นรัฐบาล ส่วนรายได้ที่จะใช้ทำเรื่องนี้ อาทิ การตัดงบกองทัพที่ไม่จำเป็น ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่จำเป็น ยกเลิกสิทธิประโยชน์ BOI ปรับปรุงระบบภาษีให้เก็บจากผู้มีรายได้มากให้มากขึ้น และการปรับปรุงระบบกองทุนสวัสดิการแห่งรัฐ ประเทศไทยจะมีงบประมาณเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมหาศาล และสามารถทำรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นได้ในทันที ถ้าเราได้เข้าไปสู่สภา รวมเสียงได้อย่างน้อย 20 เสียง เราจะเสนอเรื่องรัฐสวัสดิการให้บังคับใช้เป็นกฎหมายในทันที” น.ส.วรรณวิภา กล่าว

 

ขณะที่ ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์​​ ธรรมศาสตร์ กล่าววิจารณ์ข้อเสนอของทุกพรรคว่า ทุกพรรคที่เสนอมาสามารถทำได้ แต่บางพรรคก็มีรายละเอียดมาก น้อย บางพรรคก็เน้นพูดเรื่องหลักการ จนไม่ยังไม่แน่ใจว่าจะดำเนินการอย่างไร ที่สำคัญคือการให้สวัสดิการ การลดความเหลื่อมล้ำในลักษณะที่นำเสนอกันมา ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ซึ่งตรงนี้อยากฟังด้วยว่าแต่ละพรรคจะมีงบประมาณจากไหนอย่างเพียงพอ เพราะเรารู้อยู่ว่าการคลังเราขาดดุลทุกปี แม้หนี้สาธารณะจะไม่ได้สูงนัก แต่ก็อาจมีความเสี่ยงในอนาคต นโยบายหลายพรรคอาจไปกระทบกับกลุ่มทุนหรือกลุ่มอำนาจเก่า ซึ่งที่ผ่านมานโยบายที่กระทบมักไม่สามารถผลักดันได้ตามที่เราต้องการ เพราะส่วนใหญ่กลุ่มเหล่านี้มักมีเสียงดังกว่ากลุ่มประชาชนหรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท