Skip to main content
sharethis

นักวิทยาศาสตร์เคยวิจัยพบว่าความเหงานั้นทำร้ายสุขภาพ ในตอนนี้มีนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามจะทดสอบและผลิตยาที่เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาสุขภาพที่เป็นผลกระทบมาจาก "ความเหงา" ได้ แต่อย่างไรก็ตามจากมุมมองทางจิตวิทยาแล้วยังมีข้อถกเถียงและความซับซ้อนเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่พอสมควร

ที่มาภาพ: pixabay

สื่อเดอะการ์เดียนนำเสนอเรื่อง ‘ยาแก้เหงา’ โดยนำมาจากบทความที่ผู้เขียนชื่อ ลอรา เอนทิส นำเสนอในเว็บบล็อก Medium ก่อนหน้านี้ เอนทิสระบุว่าความเหงาเป็นส่วนหนึ่งในสภาพของมนุษย์ เช่นเดียวกับความหิวหรือความกระหายน้ำ เป็นสัญญาณเตือนจากวิวัฒนาการหลายล้านปีที่ขับดันให้มนุษย์เชื่อมปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เช่นเดียวกับที่พวกเขาออกไปอาหารยามหิว

อย่างไรก็ตาม เรื่องของความเหงานั้นแทบจะไม่เคยมีการศึกษาวัดปริมาณกันอย่างจริงจังเพราะมันวัดผลออกมาอย่างคงเส้นคงวาได้ยาก แต่ก็มีการประเมินล่าสุดชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ร้อยละ 22-75 มีความเหงาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ปัญหาก็คือความเหงาไม่ใช่แค่ทำให้คนเรารู้สึกแย่ แต่ยังส่งผลร้ายต่อสุขภาพกายด้วย ความเหงาทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบประสาทเสื่อม การรับรู้และการคิดเสื่อมถอย มะเร็งที่เนื้อร้ายกระจายมาจากที่อื่น

ไม่เพียงเท่านั้น สเตฟานี คาซิโอโป ผู้อำนวยการเบรนไดนามิกส์แล็บจากวิทยาลัยการแพทย์ปริซเกอร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก กล่าวว่าถ้าหากความเหงาคงอยู่นานเข้า ก็จะทำให้เกิดภาวะยึดติดที่เปลี่ยนโครงสร้างสมองและกระบวนการคิดได้

ตัวคาซิโอโปเองรับรู้เรื่องนี้ผ่านทางประสบการณ์ชีวิตของตัวเธอเองด้วย จากที่สามีและคู่หูผู้ร่วมวิจัยของเธอ จอห์น คาซิโอโป เสียชีวิตเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา นั่นทำให้สเตฟานี ผู้ที่มองว่าชีวิตตัวเองเป็นการทดลองด้วยอย่างหนึ่งเล็งเห็นว่างานวิจัยของเธอเริ่มเกี่ยวพับกับชีวิตเธอเองด้วยแล้ว

คาซิโอโปบอกว่าเธอได้เรียนรู้ถึงการที่ความสูญเสียทางสังคมกับความเจ็บปวดทางร่างกายนั้นไม่เหมือนกันและเทียบกันไม่ได้ เธอบอกว่าเธอจะทนต่อความเจ็บปวดทางกายภาพได้เพราะรู้ว่ามันจะจบลง แต่ความเจ็บปวดที่ลึกซึ้งทางอารมณ์ความรู้สึกของการสูญเสียคนที่ตัวเองรักนั้นหนักหนากว่า นั่นทำให้เธอพยายามทำในสิ่งที่เรียกว่า "การออกกำลังทางสังคม" ที่เธอกับคนรักของเธอเคยยินยันว่ามันได้ผล คือการแสดงความรู้สึกขอบคุณ การที่ดีกับคนอื่นโดยไม่หวังอะไรตอบแทน ปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า

คาซิโอโปและผู้ร่วมงานกับเธอก็พยายามวิจัย "ยารักษาความเหงา" ซึ่งฟังดูคล้ายนิยายวิทยาศาสตร์ แต่คาซิโอโปบอกว่าถ้าหากมียาที่แก้โรคซึมเศร้ากับอาการวิตกกังวลได้แล้วทำไมถึงจะมียาแก้เหงาบ้างไม่ได้ ทั้งนี้ความคิดของเธอก็มีปัญหาอยู่อย่างหนึ่งคือการที่ความเหงาแตกต่างจากอาการซึมเศร้าหรืออาการวิตกกังวล นั่นคือความเหงาเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน และไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นโรคในเชิงคลินิกจงไม่มีระบบการตรวจวินิจฉัยโรคและกระบวนการรักษาเรื่องนี้

เอลเลน เฮนดริกเซน นักจิตวิทยาคลินิกผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคเกี่ยวกับความวิตกกังวลกล่าวว่า ในอนาคตความเหงาในระดับหนักอาจจะถูกจัดเป็นโรคอย่างหนึ่งได้เช่นเดียวกับความวิตกกังวลทางสังคมในระดับหนัก โดยจะคำนึงจากผลกระทบต่อสภาพชีวิตและไปก่อความทุกข์ใจให้ผู้ประสบอาการเหล่านี้หรือไม่ "เป็นไปได้ว่าพวกเราอาจจะเรียกสิ่งนี้ว่ากลุ่มอาการการถูกโดดเดี่ยวทางสังคม"

คาซิโอโปมองว่าความเหงาเกี่ยวพันกับชีววิทยาร่างกาย เพราะความเหงาส่งสัญญาณทางชีวภาพในตัวมนุษย์เพื่อให้มนุษย์ออกไปปฏิสัมพันธ์กับสังคมข้างนอก แต่สำหรับคนที่สภาพจิตใจไม่สามารถทำงานได้เต็มที่เพราะมองเห็นแต่ความเสี่ยงอันตรายจากสังคมไปทั่วแล้ว ยาอาจจะเป็นตัวช่วยได้

ยาที่คาซิโอโอมองว่าจะช่วยได้คือยาจำพวกสเตอรอยด์ทางประสาท (neurosteroid) อย่าง เพรกนิโนโลน (pregnenolone) ที่ช่วยบรรเทาอาการคนเป็นโรคเกี่ยวกับความเครียดและทำให้สมองลดความระแวดระวังต่อสังคมมากเกินควร เธอบอกว่าเป้าหมายของเธอไม่ใช่ทำให้คนหยุดเหงา แต่เพื่อยับยั้งไม่ให้ความเหงาเข้าไปกระทบต่อสมองและร่างกายของคนๆ นั้น

เคยมีการศึกษาในเรื่องนี้โดยสังเกตจากหนูทดลองที่ถูกให้อยู่โดดเดี่ยวจะพบว่าระดับของเพรกนิโนโลนลดลง และเมื่อตรวจสอบในมนุษย์ก็พบว่าคนที่เหงานานๆ สารนี้จะลดลงด้วย อีกทั้งในปี 2556 เคยมีการวิจัยพบว่าผู้ที่ได้รับสารอัลโลเพรกนิโนโลน ซึ่งเป็นยาอนุพันธ์ของเพรกนิโนโลน พบว่ามันช่วยลดการทำงานของสมองในส่วนการตรวจหาสิ่งที่เป็นภัย การย้อนนึกถึงความรู้สึกแย่ๆ หรือการคาดเดาถึงการได้รับการตอบสนองแย่ๆ กลับมา ซึ่งคาซิโอโปบอกว่าถ้าหากสามารถลดระบบการเตือนภัยในจิตใจของคนเหงาได้อาจจะทำให้คนเหล่านี้สามารถกลับมาเชื่อมโยงกับสังคมได้อีกแทนที่จะทำให้พวกเขาหลีกหนีไปจากคนอื่น และทีมของเธอก็กำลังศึกษาทดลองในเรื่องนี้อยู่

สตีฟ โคล ศาตราจารย์การแพทย์ จิตเวชวิทยา และพฤติกรรมศาสตร์จากวิทยาลัยแพทย์ยูซีแอลเอเป็นหนึ่งในคนที่ร่วมมือศึกษาทดลองกับคาซิโอโป เขาบอกว่าเขากำลังศึกษาผลกระทบของเบตาบล็อกเกอร์ที่นำมาใช้กับผู้ป่วยมะเร็ง เพราะความเครียดเป็นสิ่งที่ทำให้มะเร็งขยายลุกลามไปเร็วขึ้นได้ ถ้าเบตาบล็อกเกอร์ใช้ได้ผล มันก็อาจจะนำมาใช้ยับยั้งผลเสียต่อสุขภาพกายที่เกิดขึ้นจากความเหงาได้ด้วย

มีคนที่ไม่เห็นด้วยคือนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยบริกแฮมยัง จูเลียนน์ ฮอลต์-ลุนสตัด ผู้ที่ศึกษาเรื่องการโดดเดี่ยวทางสังคม เธอบอกว่าเชื่อมองว่าสังคมในยุคปัจจุบันทำให้เกิดความไม่สะดวกในการที่คนจะหันมาปฏิสัมพันธ์กัน แต่ก็ต้องระวังในเรื่องที่จะจำกัดให้ความเหงากลายเป็นเสมือน "โรค" หนึ่ง ซึ่งเธอมองว่าควรจะปรับวิถีชีวิตทำให้การเกิดเชื่อมโยงกันทางสังคมที่จะส่งผลที่ดีต่อสุขภาพกายและจิตได้

อย่างไรก็ตามสำหรับคาซิโอโปแล้ว เรื่องนี้มีความสำคัญในฐานะที่มันคือเป้าหมายใหญ่ๆ ที่เธอเริ่มต้นมันมาพร้อมกับสามีของเธอผู้ล่วงลับด้วย เธอบอกว่า "โมสาร์ทไม่ได้ตาย เขากลายเป็นดนตรี ... ฉันเชื่อว่าสามีของฉันไม่ได้ตาย เขากลายเป็นทฤษฎี และฉันก็กำลังนำทฤษฎีของเขามาปรับใช้"

เรียบเรียงจาก

Scientists are working on a pill for loneliness, The Guardian, Jan. 26, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net