Skip to main content
sharethis

รัฐบาลชะลอโครงการจัดการน้ำในพื้นที่ นครศรีธรรมราช-พัทลุง สั่งตั้งคณะกก. 3 ฝ่าย ศึกษายุทธศาสตร์ ไม่ขัดแย้งชุมชน-ระบบนิเวศ ด้านเครือข่ายปกป้องดินน้ำป่าฯ ชี้ต้องร่วมกันออกแบบพลังงานเป็นรูปธรรมเพื่อหยุดภัยคุกคามอย่างถาวร

 

รบ.ชะลอโครงการจัดการน้ำ ตั้งกก. 3 ฝ่าย ศึกษายุทธศาสตร์ ไม่ขัดแย้งชุมชน-ระบบนิเวศ

 

30 ม.ค.2562 จากกรณีเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มประชาชนในนาม ‘เครือข่ายปกป้องดินน้ำป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุง’ ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ 2 จังหวัด รวม 4 โครงการ ได้แก่ เขื่อนวังหีบ เขื่อนคลองสังข์ โครงการผันน้ำเลี่ยงเมืองนครศรีธรรมราช และโครงการประตูน้ำกั้นน้ำเค็มปากประ และหลังปักหลักอยู่ข้างทำเนียบฯ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ม.ค.62 นั้น

ล่าสุดวันนี้ (30 ม.ค.62) ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 14.40 น. พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้นำข้อสรุปภายหลังการหารือร่วมกันมาชี้แจงต่อผู้ชุมนุม โดยพุทธิพงษ์ ชี้แจงว่า รัฐบาลยืนยันว่าจะชะลอโครงการทั้งหมดไว้ก่อน โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายประกอบด้วย 1.ตัวแทนจากหน่วยงานกรมชลประทาน 2.ตัวแทนจากชาวบ้านในพื้นที่ และ 3.ตัวแทนฝ่ายวิชาการที่มีสัดส่วนจากชาวบ้านในพื้นที่และหน่วยงานของรัฐบาลจำนวนเท่ากัน

โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะดำเนินการศึกษาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งจะมีการประเมินหลักยุทธศาสตร์เพื่อสร้างทางเลือกในการจัดการน้ำ รวมถึงศึกษาโครงการทั้ง 4 ให้มีการชะลอทุกโครงการ จนกว่าจะมีการศึกษาจากคณะกรรมการที่ตั้งขึ้น รวมถึงให้คำนึงถึงหลักยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการน้ำ โดยยึดหลักไม่ให้ขัดแย้งกับชุมชน ชาวบ้านในพื้นที่ และระบบนิเวศ

พุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตนทราบดีว่าทุกคนเหนื่อย อดทน และมีความตั้งใจ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการให้ตนมาเป็นตัวแทนรัฐบาล โดยปัญหาของทุกโครงการได้ข้อสรุปตามที่ชี้แจงไปแล้ว ยืนยันว่ารัฐบาลมีความตั้งใจ ตนเชื่อว่าโครงการบริหารจัดการน้ำทั้ง 4 แห่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชน แต่ถ้าโครงการไหนไม่เป็นประโยชน์ก็ชะลอหรือยกเลิกได้ แต่ต้องมาจากเหตุผล รัฐบาลไม่ได้มีความตั้งใจจะรังแกประชาชน อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าอากาศและธรรมชาติมีความเปลี่ยนแปลงไปมากมาย การบริหารจัดการน้ำก็อาจนำไปใช้ในหน้าแล้งได้ เราต้องปรับภูมิประเทศหรือที่อยู่ของเราให้เหมาะสมเพื่อรองรับภัยธรรมชาติ

"ในความคิดเห็นส่วนตัว ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ธรรมชาติมันเปลี่ยนไป วันหนึ่งพวกเราก็เอาตัวรอดกันพอได้ แต่ลูกหลานของเราที่กำลังเกิดมา อนาคตเขาจะอยู่อย่างไร เพราะธรรมชาติมันเปลี่ยนไปมาก ฝนตกไม่ตรงเวลา น้ำมันหลากมากขึ้น หน้าแล้งมาจะทำการเกษตรกันอย่างไร นี่คือเหตุผลของรัฐบาลที่จะบริหารจัดการน้ำให้พี่น้อง อยากให้เอาข้อมูลตรงนี้ฝากไปถึงประชาชนในพื้นที่ด้วย" นายพุทธิพงษ์ กล่าว

 

เครือข่ายปกป้องดินน้ำป่าฯ ชี้ต้องร่วมกันออกแบบพลังงานเป็นรูปธรรมเพื่อหยุดภัยคุกคามอย่างถาวร

 

วันเดียวกัน (30 ม.ค.62) เฟสบุ๊คแฟนเพจ ‘สื่อเถื่อน’ ได้ถ่ายทอดสดสัมภาษณ์ผู้ร่วมชุมนุมเครือข่ายปกป้องดินน้ำป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุง หลังจากที่การเรียกร้องประสบความสำเร็จในก้าวแรก

สุชาติ รอดดำ หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมกล่าวว่า “ต้องขอโทษพี่น้องชาวนครศรีธรรมราช ที่บางคนอาจเข้าใจว่าพวกเรามาทำให้พวกท่านเสียโอกาสในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่กลุ่มของพวกเราเองก็มีปัญหาจริงๆ และอยากมาสะท้อนให้ทุกคนฟัง ขอให้ช่วยติดตามพวกเราต่อไปด้วย และเรื่องน้ำท่วมขอให้เรามาหาทางออกร่วมกัน”

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องมาออกแบบความต้องการร่วมกัน ถ้ารอให้ราชการออกแบบ ความสุขก็จะไม่เป็นของประชาชน แต่ในกระบวนการออกแบบถ้ามีภัยคุกคามมาก็ต้องกำจัด ไม่เช่นนั้นเราก็จะออกแบบการพัฒนาไม่ได้ถ้าไม่มีฐานทรัพยากร ดังนั้นพอมีโรงไฟฟ้าถ่านหินมาเราก็ต้องจัดการเพื่อให้ภัยคุกคามนี้ออกไปจากพื้นที่ ถ้าเราดูบทเรียนเมื่อคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เราได้สร้างทางเลือกของพลังงานที่ประชาชนเป็นเจ้าของได้ ไม่ได้ถูกพวกขาดโดยกลุ่มทุนหรือรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นพลังงานหมุนเวียนในภาคใต้จึงเติบโตเร็ว โดยเฉพาะโซล่าเซลล์ มีการจัดทำข้อมูลจังหวัดว่าจังหวัดนี่จะพึ่งตัวเองเรื่องพลังงานได้ร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างไร ซึ่งเป็นก้าวสำคัญ

“อำนาจรัฐเป็นตัวแปรสำคัญ รัฐไทยไม่ได้เป็นรัฐที่หัวก้าวหน้า แต่โชคดีที่คนในประเทศไม่ยอมจำนน ลุกขึ้นสู้ภัยคุกคาม และออกแบบกระบวนการพัฒนา อีกปีหรือสองปีข้างหน้า ภาคใต้จะผลิตรูปธรรมสำคัญ เรียกว่า รูปแบบการจัดการน้ำ น้ำต้องเป็นของประชาชน น้ำต้องอยู่คู่กับธรรมชาติ เราจะเป็นคนดำเนินการเอง ที่ผ่านมาประชาชนถูกสอนว่าไม่มีศักยภาพในการพัฒนา แต่ผมไม่เชื่ออย่างนั้น

ตอนนี้เราอาจหยุดการคุกคามได้ชั่วคราว แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำคือออกแบบเรื่องพลังงานอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อหยุดภัยคุกคามอย่างถาวร เจตนาในการเคลื่อนไหวของเราเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การกำหนดอนาคตตัวเอง” ประสิทธิชัยกล่าว

 

ก่อนหน้านี้เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของนักวิชาการ นักวิจัย ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของภาคใต้ ได้ติดตามยุทธศาสตร์ นโยบาย แผน และโครงการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เห็นว่าการดำเนินโครงการในข้างต้นเป็นไปอย่างรวบรัดและเร่งรีบ โดยใช้ฐานคิดในการจัดการทรัพยากรและการบริหารจัดการน้ำแบบเดิม ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่คำนึงถึงความคุ้มค่า คุณค่า และประโยชน์สูงสุดที่มีต่อประชาชน รวมถึงการปฏิเสธทางเลือกใหม่ ๆ ที่เป็นไปได้ในการบริหารและจัดการทรัพยากรน้ำที่มุ่งตอบความต้องการของประชาชน มีความมั่นคงทางสังคม สร้างความยั่งยืนทางนิเวศ นอกจากนี้การดำเนินโครงการยังได้กีดกันประชาชนออกจาก “กระบวนการตัดสินใจ” โดยการแอบอ้าง บิดเบือนข้อมูล ทำให้ประชาชนเกิดความไขว้เขวสับสนมาโดยตลอด

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ จึงขอสนับสนุนจุดยืนและข้อเรียกร้องเครือข่ายปกป้องดินน้ำป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุง และมีข้อเรียกร้องดังนี้

1. ให้ “ยุติการดำเนินโครงการ” ประตูกั้นน้ำคลองปากประ จ.พัทลุง โครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว จังหวัดพัทลุง โครงการเขื่อนคลองสังข์ อ.ทุ่งใหญ่ โครงการเขื่อนวังหีบ อ.ทุ่งสง และโครงการคลองผันน้ำเมืองนคร จ.นครศรีธรรมราช และให้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้ประชาชนได้รับทราบ ได้แสดงความคิดเห็นและสามารถเสนอทางเลือกอันหลากหลายในการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรอย่างยั่งยืน

2. ส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรเชิงระบบ ที่ตั้งอยู่บนฐานความยั่งยืนทางนิเวศ ภูมิปัญญา ภูมินิเวศ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรในระยะยาว

3. ให้ “ทบทวนการดำเนินโยบายและโครงการพัฒนาในภาคใต้” ที่อาจก่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ละเมิดสิทธิมนุษยชน ความสุขและความมั่นคงของชุมชน และให้ความสำคัญกับวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net