Skip to main content
sharethis

โคทม อารียา เสนอในช่วงเปลี่ยนผ่าน พรรคการเมืองที่ได้อันดับ 1 ควรเชิญพรรคพลังประชารัฐมาร่วมรัฐบาล เพื่อตัดปัญหาในอนาคต ชี้กลไกในรัฐธรรมนูญคือการยึดกุมอำนาจโดยละมุนละม่อม และ คสช. หวังคุมอำนาจยาว 13 ปี

รองศาสตราจารย์โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มาภาพจากเฟสบุ๊คไลฟ์มติชน

30 ม.ค. 2562 ที่โรงแรม พูลแมน คิงพาวเวอร์ สำนักข่าวมติชนได้จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “เลือกตั้ง 62 จุดเปลี่ยนประเทศไทย” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ศาสตราจารย์สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการธนาคารเกียรตินาคิน รองศาสตราจารย์โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Blognone  

ทั้งนี้เวทีแบ่งออกเป็นสองส่วน ในช่วงแรกได้เปิดเวทีให้วิทยากรทั้งหมดได้อภิปรายในประเด็นที่แต่ละคนเกี่ยวข้องและเชี่ยวชาญ จากนั้นเป็นเวทีเสวนารวม สำหรับรองศาสตราจารย์โคทม อารียาได้กล่าวถึงความคาดหวังของคณะรัฐประหารที่ต้องการจะยึดกุมอำนาจนานทั้งสิ้น 13 ปี โดยการออกแบบกลไกต่างๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญ พร้อมเสนอหลักการให้ทุกการเมืองปฏิบัติตาม และเพื่อให้ไม่เกิดปัญหาในอนาคต พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงอันดับที่ 1 ควรเชิญพรรคพลังประชารัฐมาร่วมรัฐบาล

โคทม อารียา: การยึดอำนาจตามรัฐธรรมนูญถูกวางไว้หมดแล้ว คสช. หวังอยู่ยาว 13 ปี

โคทม เริ่มต้นด้วยการกล่าวให้กำลังใจกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้ทำงานอย่างตรงไปตรงมา ขออย่าไปฟังผู้มีอำนาจมากนัก และขอให้ กกต. สนับสนุนการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งขององค์กรชุมชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ อย่างจริงจัง เขากล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เชิญพรรคการเมืองต่างๆ ส่งตัวแทนมาลงนามในสัญญาที่พรรคการเมืองให้ไว้แก่ประชาชน และก่อนการเลือกตั้งขอให้แสดงความมีน้ำใจนักกีฬาแข่งขันกันอย่างตรงไปตรงมา

โคทม กล่าวต่อไปถึง การตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้ง เวลานี้หลายคนหวังพึ่งเสียงของคนรุ่นใหม่ แต่เท่าที่ได้คุยกับเพื่อนที่เป็นคนรุ่นเก่าส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ จำนวนมากยังสนับสนุนบทบาทของทหารในทางการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิที่พวกเขาจะออกไปเลือกพรรคพลังประชารัฐ เพราะเป็นพรรคที่สนับสนุนบทบาททหารในทางการเมือง

โคทม กล่าวต่อไปว่า ภาพอนาคตที่อยู่ในความคาดหวังของ คสช. ซึ่งอาจจะดูโมเดลมาจากยุคเผด็จการสฤษดิ์ ถนอม ประภาส ที่ร่างรัฐธรรมนูญยาวนาน 11 ปี เมื่อเลือกตั้งแล้วไม่ถูกใจก็ทำรัฐประหารอีก จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรืออาจจะดูรูปแบบของการรัฐประหาร 2519 ที่ขออยู่ยาว 12 ปีถึงจะคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน แต่ก็มีการรัฐประหารซ้อนในปี 2520 จากนั้นก็มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และพล.อ.เปรม ก็เข้ามามีบทบาทในทางการเมือง แต่ก็เกิดการรัฐประหาร 2534 และรัฐประหารปี 2549 โดยในการรัฐประหารปี 2549 ผู้มีอำนาจก็คาดหวังว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างที่คาดหวังไว้ แต่ก็ไม่เป็นไปตามที่คิด จนกระทั่งต้องทำรัฐประหารในปี 2557 อีก

โคทม กล่าวต่อไปว่า การรัฐประหารปี 2557 ตอนแรกผู้มีอำนาจคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน แต่กลับเปลี่ยนใจกลางทางดังที่ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ พูดว่า เขาต้องการอยู่ยาว และการวางแผนของคณะรัฐประหารชุดนี้เก่งกว่าคณะรัฐประหารในปี 2519 เพราะมีการวางแผนอยู่ยาวถึง 13 ปี ช่วงยึดอำนาจ 5 ปี หลังการเลือกตั้งครั้งแรกอีก 4 ปี และในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ก็ยังสามารถอยู่ต่อไปอีก 4 ปี รวมแล้วเป็น 13 ปี

“ครั้งนี้ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ แต่เป็นการยึดกุมอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ท่านตั้งพรรคขึ้นมาพรรคหนึ่งแล้วแต่ยังไม่มีชื่อ และพรรคนั้นเป็นพรรคที่มีเสียงมากที่สุดในรัฐสภา คือ 250 เสียง ซึ่งได้จองที่นั่งไว้แล้ว นี่แหละคือวิธีการยึดอำนาจโดยละมุนละม่อม ผ่านอำนาจทางนิติบัญญัติ รวมทั้งอำนาจในการแต่งตั้งฝ่ายบริหาร มีอยู่แล้ว เขียนเอาไว้ครบแล้ว โดยปรมาจารย์ท่านหนึ่ง แต่สิ่งที่วางไว้จะเป็นอย่างที่คาดหวังหรือไม่ ผมไม่ทราบ” โคทมกล่าว

โคทม กล่าวต่อว่า จะอย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องการหลังการเลือกตั้งคือ ทุกฝ่ายต้องเคารพหลักการคือ พรรคที่จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ต้องมีเสียง ส.ส. สนับสนุนเกิน 250 เสียง แม้จะไม่ตรงตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่นี่เป็นหลักการสากล และนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง หมายถึงคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ จะต้องเป็น ส.ส. ซึ่งเป็นหลักการที่วางไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540

“ผมเสนอต่อไปในทางปฏิบัติ ให้พรรคการเมืองที่ได้อันดับที่ 1 เชิญพรรคพลังประชารัฐมาคุยก่อนเพื่อน ไม่ต้องเป็น 2 ก๊ก 3 ก๊ก แล้ว พยายามให้มาร่วมรัฐบาลเพราะท่านมีอำนาจมหาศาลอยู่แล้วในรัฐสภาอย่างนี้อาจจะพอเรียกได้ว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นช่วงที่พอจะพูดได้ว่าเราต้องการความสงบ เราต้องการเสถียรภาพ เราต้องการแบ่งปันอำนาจอย่างแท้จริง เมื่อคุยกับพลังประชารัฐแล้วเสียงไม่พอก็อาจจะมีพรรคอื่นมาร่วมด้วย และเอานโยบายของพรรคเหล่านั้นมาบริหารราชการแผ่นดิน” โคทม กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net