Skip to main content
sharethis

เอ็นจีโอสิ่งแวดล้อมรุมค้านร่างกฎหมายโรงงานฉบับ คสช. ชี้เอื้อให้การก่อตั้งโรงงานง่ายขึ้น การตรวจสอบต่ำลง ใบอนุญาตโรงงานขอครั้งเดียวใช้ได้ตลอดไป ซ้ำคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและพลังงานเต็มไปด้วยตัวแทนกลุ่มทุนใหญ่ หวั่นซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมหนักกว่าเดิม

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังแผ่คลุมกรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยรอบกำลังเป็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่รัฐบาลดูจะยังหาทางออกไม่ได้ แต่ฝุ่นพิษไม่ได้เกิดขึ้นเอง ต้นเหตุหลักมาจากโรงงานอุตสาหกรรมโดยรอบที่ปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อม

สิ่งที่น่าประหลาดใจคือประเทศไทยยังไม่มีมาตรการตรวจวัดควันที่ปล่อยออกจากปล่องควันของโรงงานอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ แต่รัฐบาลทหารกำลังจะลดระดับความเข้มงวดในการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมลง เพื่ออำนวยความสะดวกต่อสิ่งที่เรียกว่า การพัฒนา

ในงานแถลงข่าวเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับ คสช.: วาระซ่อนเร้น-ซ้ำเติมปัญหา PM 2.5? ที่จัดขึ้นที่ห้องประชุม 701 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันนี้ (31 ม.ค.62) เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง จากมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นพิษจะยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้นอันเป็นผลจาก ร่าง พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ที่กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

“ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับคำสั่งเด็ดขาดจากรัฐบาลให้รีบเร่งพิจารณาและให้ผ่านออกมาเป็นกฎหมายให้ทันรัฐบาลชุดนี้”

เพ็ญโฉม กล่าวว่าเหตุที่ต้องคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ เพราะมันจะนำไปสู่วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้น เธออ้างคำพูดของอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐที่ว่า ‘ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการครอบคลุมทั้งขนาดใหญ่และระดับเอสเอ็มอีเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ปี 2562’ หลังจากนั้นไม่นานก็ตามมาด้วยการไม่ต้องต่อใบอนุญาต รง.4 ทุก 5 ปี ซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยถือเป็นของขวัญที่ภาคเอกชนรอคอยมานาน ตามคำกล่าวของสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาตรการหรือกฎหมายที่เอื้อการลงทุนในลักษณะนี้ เพราะนับตั้งแต่การยึดอำนาจ คสช. ออกกฎหมายและคำสั่งทำนองนี้หลายครั้ง ได้แก่ นโยบายสร้างโรงงานไฟฟ้าจากขยะในปี 2557 พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางหน่วยราชการ พ.ศ.2558 ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยกเว้นอีไอเอโรงไฟฟ้าขยะ 2558 ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ.2558 อนุญาตให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลได้ในทุกท้องที่ คำสั่ง คสช. 4/2559 ยกเว้นผังเมืองสำหรับโรงไฟฟ้าขยะ โรงงานคัดแยกและรีไซเคิลของเสีย คำสั่ง คสช.21/2560 อำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ.2560 พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 กระทั่งมาถึงร่าง พ.ร.บ.โรงงานฉบับนี้

ตัวแทนจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ ยังชี้ให้เห็นว่าในรายชื่อคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 5 กฎหมายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและพลังงานมีตัวแทนของกลุ่มทุนใหญ่เข้าไปนั่งในคณะกรรมการฯ อาทิ มนู เลียวไพโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งนั่งเป็นกรรมการในบริษัทเอกชนหลายแห่ง เช่น ปตท. บริษัท น้ำตาลขอนแก่น บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เป็นต้น เกริก วณิกกุล กรรมการบริษัท อิตาเลียนไทย บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ คุรุจิต นาครทรรพ กรรมการ ปตท. ประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งทำให้ทุนใหญ่สามารถผูกขาดการออกกฎหมายได้

ในส่วนเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับ คสช. พบว่า คำนิยามโรงงาน โดย พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 นิยามโรงงานว่า อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ห้าแรงม้าหรือกำลังเทียบเท่าตั้งแต่ห้าแรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่เจ็ดคนขึ้นไปโดยใช้เครื่องจักรหรือไม่ก็ตาม สำหรับทำ ผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม ซ่อมบำรุง ทดสอบ ปรับปรุง แปรสภาพ ลำเลียง เก็บรักษา หรือทำลายสิ่งใดๆ ทั้งนี้ตามประเภทหรือชนิดของโรงงานที่กำหนดในกฎกระทรวง

แต่ฉบับใหม่ให้นิยามโรงงานว่า อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ห้าสิบแรงม้าหรือกำลังเทียบเท่าตั้งแต่ห้าสิบแรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไป โดยใช้เครื่องจักรหรือไม่ก็ตาม เพื่อประกอบกิจการโรงงาน ทั้งนี้ ตามประเภทหรือชนิดของโรงงานที่กำหนดในกฎกระทรวง

และการนิยามการตั้งโรงงานใหม่จากของเดิมที่หมายถึงการก่อสร้างอาคารเพื่อติดตั้งเครื่องจักร เหลือเพียงการนำเครื่องจักรสำหรับประกอบกิจการโรงงานมาติดตั้งในอาคารฯ การเปลี่ยนนิยามเหล่านี้จะทำให้โรงงานจำพวก 1 ที่มีกำลัง 5-20 แรงม้า และโรงงานจำพวก 2 ที่มีกำลัง 21-50 แรงม้า จำนวน 60,000 แห่ง ไม่ถูกจัดเป็นโรงงานอีกต่อไป ขณะที่การรับฟังความเห็นจากประชาชนจะถูกลดความสำคัญลงด้วย

อีกประเด็นคือการยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) จากเดิมที่ต้องขอใหม่ทุก 5 ปี ร่างกฎหมายโรงงานฉบับใหม่จะเปลี่ยนเป็นการให้ใบอนุญาตแบบไม่มีวันหมดอายุ กล่าวคือขอครั้งเดียวใช้ได้ตลอดชีพ หากโรงงานนั้นก่อความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน แต่จะยังสามารถประกอบกิจการได้ต่อไป เพราะใบอนุญาตโรงงานไม่มีวันหมดอายุ

นอกจากนี้ ยังสร้างกลไกที่เรียกว่า ผู้ตรวจสอบเอกชนเพื่อตรวจสอบโรงงานหรือเครื่องจักรแทนเจ้าหน้าที่ เพ็ญโฉม กล่าวว่า

“สั้นๆ ชัดๆ เลยคือผู้ประกอบการเป็นผู้จ้างเอกชนเข้ามาตรวจสอบตัวเอง จะเกิดอะไรขึ้น ทุกวันนี้เท่าที่เราพบหลายกรณีมาก อดีตอธิบดีกรมโรงงาน รองอธิบดีกรมโรงงาน อุตสาหกรรมจังหวัดจำนวนมาก เมื่อเกษียณแล้ว คุณไปเป็นที่ปรึกษาของโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีกฎหมายนี้ออกมา เขาจะสามารถตั้งบริษัทตรวจสอบเป็นผู้ตรวจเอกชน แล้วมาตรวจสอบโรงงานที่เขารู้จักกันเอง เพราะฉะนั้นวงจรของการทุจริตคอร์รัปชัน ความไม่โปร่งใสจะรุนแรงขึ้นหรือเปล่า การตรวจสอบจะมีประสิทธิภาพมั้ย และเขาจะต้องรับผิดชอบต่อผลการทำรายงานเท็จหรือไม่"

“อีกทั้งการเพิ่มกิจการโรงงานหรือการขยายโรงงานทำได้โดยไม่จำกัด เพราะว่าตัวร่างกฎหมายบอกว่าการเพิ่มประเภทหรือชนิดของการประกอบกิจการโรงงานที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการโรงงานเดิมสามารถทำได้โดยแจ้งเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น ก็คือต่อไปคุณตั้งโรงงานขึ้นในพื้นที่ 100 ไร่ คุณอยากจะขยายกิจการกี่ประเภท หรือกี่กำลังการผลิตคุณสามารถขยายได้อิสระมากขึ้น แค่ทำหนังสือแจ้งไปก็ทำได้เลย ไม่ต้องมีกระบวนการตรวจสอบสภาพเครื่องจักรหรือเกณฑ์การขยายโรงงานต่างๆ ไม่ต้องมีแล้ว”

เพ็ญโฉม กล่าวตอนท้ายว่า รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องถอนร่างกฎหมายโรงงานนี้ออกก่อนที่วิกฤตสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยจะรุนแรงกว่านี้ และขอให้เริ่มต้นกระบวนการใหม่ในการพิจารณากฎหมาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net