Skip to main content
sharethis

นิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฎิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ณ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวง พม. กรณีได้รับผลกระทบคำสั่งของคณะครุศาสตร์ให้นิสิตแต่งกายตามเพศกำเนิด

ในวันที่ 29 มกราคม 2562 จิรภัทร นิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเพื่อนนิสิตอีกสองคน ได้เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฎิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ณ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวเป็นผู้รับคำร้อง 

เลิศปัญญากล่าวว่าพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ถือเป็นทางเลือกสำหรับผู้ถูกกระทำให้สามารถใช้สิทธิเพื่อให้ได้รับการพิทักษ์ คุ้มครอง และป้องกันสิทธิของตนเองในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ ห้ามแบ่งแยก ห้ามกีดกัน ห้ามจำกัดสิทธิประโยชน์ ห้ามเลือกปฏิบัติ เพราะเหตุแห่งเพศ และ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ให้การคุ้มครองบุคคลทุกเพศ ไม่ว่าจะเป็นเพศชาย เพศหญิง และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยมาตราที่ 18 ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดไว้ว่า “บุคคลใดเห็นว่าตนได้รับหรือจะได้รับความเสียหายจากการกระทำในลักษณะที่เป็นการเลือกปฎิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ...ให้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ วลพ.” ซึ่งมาตราที่ 20 ได้ให้อำนาจคณะกรรมการ วลพ. ในกรณีที่มีการวินิจฉัยว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ให้คณะกรรมการมีสิทธิ “ให้หน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ด้วยวิธีใดที่เห็นเหมาะสม เพื่อระงับการป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” และให้มีการชดเชยหรือเยียวยาผู้เสียหาย

เลิศปัญญายังกล่าวอีกว่า “สค. ยินดีที่จะรับคำร้องเกี่ยวกับการถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีเพศใดก็ตาม ทั้งเพศหญิง เพศชาย หรือ บุคคลที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด เนื่องจากพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ให้ความคุ้มครองแก่ทุกบุคคลที่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ โดยสามารถยื่นคำร้องมาที่ สค. ทั้งการมายื่นด้วยตนเอง หรือส่งจดหมายทางไปรษณีย์ หรือส่ง E-mail มาที่ช่องรับเรื่องร้องเรียนในเว็บไซต์ www.dwf.go.th ของ สค. ได้”

อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ยังกล่าวด้วยว่า สค.จะเร่งนำคำร้องของนิสิตทั้งสามคนยื่นต่อคณะกรรมการ วลพ. เพื่อพิจารณาโดยเร็ว โดยจะนำเข้าสู่วาระการประชุมคณะกรรมการ วลพ. ครั้งที่ 2/2562 ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 ที่จะถึงนี้ เขากล่าวอีกว่าทางคณะกรรมการ มหาวิทยาลัย และคณะจะต้องตัดสินใจร่วมกันเพื่อหาทางออกที่พอดีและไม่มีความเหลื่อมล้ำ และกระบวนการทั้งหมดจะต้องใช้เวลาพอสมควร

ร้องเรียนคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ไม่ให้นิสิตข้ามเพศแต่งเครื่องแบบหญิง, 22 ม.ค. 2562

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีการอนุญาตให้นิสิตข้ามเพศแต่งกายตามเพศสภาพของตนเพื่อเข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรได้ โดยนิสิตต้องยื่นคำร้องต่ออธิการบดีเพื่อขออนุญาตก่อน

อย่างไรก็ตาม จิรภัทรเป็นนิสิตคนแรกที่ยื่นคำร้องขออนุญาตแต่งกายตามเพศสภาพเพื่อเข้าเรียนและเข้าสอบอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งในตอนนี้ก็เริ่มมีนิสิตคนอื่นๆ ส่งจดหมายของอนุญาตเช่นเดียวกัน ซึ่งจิรภัทรกล่าวว่าการที่ไม่เคยมีนิสิตทำเรื่องขออนุญาตเช่นนี้มาก่อน ไม่ใช่เพราะว่าจุฬาฯไม่มีนิสิตข้ามเพศ แต่เป็นเพราะว่านิสิตไม่ทราบว่ามีกระบวนการนี้อยู่

จิรภัทรบอกกับผู้สื่อข่าวว่า เธอไม่คิดว่าการมีเครื่องแบบหรือไม่มีเครื่องแบบเป็นปัญหาสำคัญ เธอกล่าวว่า “การที่มีเครื่องแบบ มันไม่ควรจะถูกแบ่งแยกว่าเป็นเพศไหนต้องใส่อะไร อย่างมันจะเกิดเป็นปัญหาเลย ด้วยความที่ว่าเป็นยูนิฟอร์ม มันทำให้เกิดปัญหาที่ว่าคนที่เป็นเพศทางเลือกจะใส่อะไร ผู้ชายข้ามเพศจะใส่อะไร ผู้หญิงข้ามเพศจะใส่อะไร แล้วคนที่เป็นเพศตรงกลาง จะใส่เป็นชุดอะไร” เธอคิดว่า ต่อให้ทางมหาวิทยาลัยมีการยกเลิกระเบียบเครื่องแต่งกายจริงๆ ตราบใดที่ยังไม่เปิดกว้างเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ นิสิตข้ามเพศก็จะยังประสบปัญหาในการแต่งกายตามเพศสภาพอยู่ดี 

จิรภัทรกล่าวว่า “ใจจริงอยากให้มีการแต่งแบบเสรีได้แล้วเพราะในปัจจุบันก็มีการเปิดกว้างมากขึ้น แต่ด้วยความที่ว่าทางมหาวิทยาลัยก็ยังมีกรอบของทางมหาวิทยาลัย ก็เลยบอกว่าโอเค ถ้าสมมติว่ามีกรอบใช่มั้ย หนูก็อยากให้มันออกมาเป็นรูปแบบนี้ ไม่อยากให้มันออกมาในรูปแบบที่ว่าบรรทัดฐานของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคงแต่งได้ บางคนแต่งไม่ได้” เธออธิบายว่า จากที่เธอได้พูดคุยกับทางมหาวิทยาลัย “ทางผู้ใหญ่ชี้แจงว่าอย่างกรณีหนูให้ผ่านได้ แต่กรณีผู้หญิงข้ามเพศที่มีโครงใหญ่ หรือว่ามีกรามใหญ่ หรือว่าอะไรที่มันยังดูแมนอยู่ เขาไม่อนุมัติให้มีการแต่งหญิง” นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยยังชี้แจงว่า นิสิตหญิงข้ามเพศจะต้องมีการเสริมหน้าอก หรือผ่านการผ่าตัดแปลงเพศ จึงจะได้รับอนุญาตให้แต่งชุดนิสิตหญิง ซึ่งจิรภัทรคิดว่าระเบียบนี้ไม่เป็นธรรม เธอกล่าวว่าเธอสามารถเข้าถึงโอกาสเหล่านี้ได้เพราะคุณแม่ของเธอสนับสนุน แต่ยังมีอีกหลายคนที่ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสเหล่านี้ได้เหมือนเธอ ซึ่งเธอต้องการให้ทางมหาวิทยาลัยมีกฏเกณฑ์และบรรทัดฐานที่เป็นธรรมต่อทุกกลุ่มคน

ขณะที่โบ้ทและฟลุ้ก นิสิตคณะครุศาสตร์อีกสองคนที่ได้มายื่นคำร้องร่วมกับจิรภัทร กล่าวว่าพวกเธอเองก็ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของคณะครุศาสตร์ที่ให้นิสิตแต่งกายตามเพศกำเนิดเช่นกัน 

โบ้ท นิสิตชั้นปีที่สี่ กล่าวว่าอีกไม่นานเธอจะต้องเข้าสู่การฝึกสอน ซึ่งจะใช้เวลาราวสี่ถึงห้าเดือน เธอมีความกังวลว่าเธอจะไม่สามารถแต่งกายเป็นผู้หญิงได้ในระหว่างฝึกสอน โบ้ทบอกว่าเธอแต่งกายในชุดนิสิตหญิงมาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นปีที่สอง และได้มีการทำเอกสารทางการแพทย์ระบุว่าเธอ “เป็นบุคคลที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” แต่เนื่องจากเธอเห็นว่าเคยมีกรณีที่โรงเรียนปฏิเสธนิสิตฝึกสอนที่เป็นบุคคลข้ามเพศ และคณะเองก็ไม่ได้มีมาตรการในการเยียวยานิสิต เธอจึงมีความกังวลว่าทางคณะจะไม่ปกป้องสิทธิของเธอ โบ้ทบอกกับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า ที่ผ่านมาหากนิสิตถูกโรงเรียนปฏิเสธ ทางคณะก็จะรับตัวกลับและส่งไปที่โรงเรียนอื่น หรือเจรจากับนิสิตเพื่อขอให้นิสิตแต่งกายตามเพศกำเนิดระหว่างฝึกสอน เช่น ขอให้นิสิตหญิงข้ามเพศตัดผม หรือใส่วิก ซึ่งเธอคิดว่าเป็นสิ่งที่เธอไม่สามารถยอมรับได้

ส่วนฟลุ้ก นิสิตชั้นปีที่สอง กล่าวว่าเธอเคยพบเจอพฤติกรรมเหยียดเพศจากอาจารย์ในคณะมาบ้าง เธอกล่าวว่าเคยมีอาจารย์สั่งให้เธอใช้คำว่า “ครับ” แทนคำว่า “ค่ะ” เนื่องจากอาจารย์ท่านนั้นกล่าวว่าเธอเป็นผู้ชายจึงต้องใช้คำว่าครับ ทั้งที่ในขณะนั้นเธอแต่งกายเป็นผู้หญิง เธอบอกว่าเธอต้องการทำเรื่องขออนุญาตแต่งกายในชุดนิสิตหญิงอย่างเป็นกิจจะลักษณะเช่นเดียวกับจิรภัทร แต่อาจารย์ที่ปรึกษาของเธอไม่อนุญาต

ถึงแม้ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะถูกมองว่าเป็นสถาบันอนุรักษ์นิยม แต่โบ้ทและฟลุ้กก็บอกว่าไม่ใช่อาจารย์ทุกคนในคณะที่มีพฤติกรรมเหยียดเพศ อาจารย์ส่วนใหญ่เข้าใจและมีการอนุโลมให้พวกเธอแต่งกายตามเพศสภาพได้ มีเพียงอาจารย์บางคนเท่านั้นที่ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลหลากหลายทางเพศ อย่างไรก็ตาม โบ้ทกล่าวว่า “เรื่องการแต่งกายมันไม่ใช่เป็นเรื่องแค่ระเบียบในพื้นที่คณะ โรงเรียน มหาวิทยาลัย เราก็ยังต้องใช้ชีวิตข้างนอกสังคมมหาวิทยาลัยอยู่ดี เราก็ต้องการที่จะแสดงจุดยืนของเรา เพศสภาพของเราต่อสังคมทั่วไปให้เขารับรู้ว่าเรามีเพศสภาพเป็นเพศหญิง” เธอกล่าวว่าพ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศให้ความคุ้มครองต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และการเข้าถึงการศึกษาจะถูกจำกัดด้วยความหลากหลายทางเพศไม่ได้ ดังนั้น เธอจึงหวังว่าทุกฝ่ายจะทำความเข้าใจกันได้ ส่วนฟลุ้กกล่าวว่า เธอคิดว่า ถ้าหากจะให้เธอแต่งกายเป็นผู้ชายทั้งที่เธอมีเพศสภาพเป็นผู้หญิง จะมีผลกระทบทางจิตใจ และอาจทำให้เธอถูกเพ่งเล็ง แต่ถ้าหากเธอสามารถแต่งกายเป็นผู้หญิงได้ เธอจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ

นาดา ไชยจิตร (ขวา)

นาดา ไชยจิตร นักกิจกรรมเพื่อสิทธิคนข้ามเพศและที่ปรึกษาทางกฎหมายของกลุ่ม Transpiration Power กล่าวว่า การตัดสินใจของทางมหาวิทยาลัยที่มีคำสั่งทุเลาคำสั่งของคณะครุศาสตร์ที่ให้นิสิตแต่งกายตามเพศกำเนิดแสดงให้เห็นว่าทางมหาวิทยาลัยมีความตั้งใจที่จะคุ้มครองนิสิต อย่างไรก็ตาม นาดากล่าวว่าเธอและจิรภัทรตัดสินใจมายื่นคำร้องกับคณะกรรมการ วลพ. เพื่อเป็นการประกันสิทธิ นาดากล่าวว่าการกระทำของอาจารย์พิเศษ ซึ่งเป็นการผลิตซ้ำอคติและความเกลียดชังต่อบุคคลหลากหลายทางเพศนั้นมีผลในวงกว้าง เนื่องจากเป็นการพูดในชั้นเรียน ซึ่งเธอคิดว่าเป็นสิ่งที่ยอมความไม่ได้ นาดาบอกว่าเธอจะยื่นหลักฐานเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นในช่วงสอบสวน นอกจากนี้ เธอยังบอกอีกว่าจุดมุ่งหมายของคำร้องคือเพื่อให้นิสิตข้ามเพศมีสิทธิแต่งกายตามเพศสภาพเพื่อเข้าศึกษา เข้าสอบไล่ระดับ ฝึกปฏิบัติ และเข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net