นิทรรศการศิลปะ Sangnaul 2561: แสงนวลในสังคมแสงจ้า

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แสงนวล แล็บ (Sangnaul Lap) เป็นการทับซ้อนกัน (lapping) ระหว่างพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ/พื้นที่การทดลอง/สนามเด็กเล่น/ร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภายในอาคารพาณิชย์ 1 คูหาความสูง 5 ชั้นซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์บนถนนเจริญกรุง โดยในระหว่างวันที่ 7 มกราคม - 19 มกราคม 2562 โดยได้จัดแสดงนิทรรศการศิลปะในชื่อ Sangnual 2561 โดยมี Napat Vatanakuljaras เป็นคิวเรเตอร์รวบรวมผลงานของศิลปินกว่า 11 คน โดยผู้เขียนเล็งเห็นถึงการจัดวางแสงในพื้นที่งานศิลปะที่พ้องไปกับการใช้ชื่อแสงนวล ของสถานที่แห่งนี้ ซึ่งงานแต่ละชิ้นที่ผู้เขียนหยิบยกมาพูดถึงนั้นนำเสนอมุมมองต่อแสงไว้อย่างน่าสนใจซึ่งผลักความเข้าใจต่อเรื่องแสงและจัดวางองค์ประกอบของสิ่งที่เป็นแสงและสิ่งที่อยู่ภายใต้แสงเพื่อขับเน้นความรู้สึก มุมมอง ในการรับรู้ของผู้ชมได้เป็นอย่างดี

ลักษณะและรูปทรงของอาคารพาณิชย์ที่เป็นสถานที่ตั้งของแสงนวลแล็บนั้น หากมองจากภายนอกของตึกบนถนนฝั่งตรงข้ามจะเห็นการจัดวางงานศิลปะแต่ละชิ้นที่ส่องสะท้อนออกมาจากตึกอย่างน่าสนใจ กล่างคือ งานศิลปะที่เป็นจอฉายรูปพระจันทร์อยู่บนดาดฟ้า และชั้นถัดลงมาเป็นภาพของชายหนุ่มกำลังนั่งมองออกมาบนผืนผ้าไวนิลล้อมรอบด้วยต้นไม้ ถัดลงมาอีกชั้นเป็นเก้าอี้สองตัวตั้งหันหลังเข้าหาแสงที่สว่างจากภายในอาคาร ส่วนชั้นสว่างสุดท้ายเป็นแสงจากโกดังและส่วนกิจการขายหลอดไฟ โดยมุมมองที่เห็นจากภายนอกอาคารนั้นแสดงบุคลิกบางอย่างของนิทรรศการชิ้นนี้ได้เป็นอย่างดีที่พูดถึงเรื่องราวส่วนตัว เกี่ยวข้องกับอารมณ์ที่อ่อนไหวราวกับพระจันทร์เต็มดวง แต่กลับเปิดเผยให้คนอื่นได้รับรู้และสามารถนั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นทางความรู้สึกเหล่านั้นได้บนเก้าอี้สองตัว ซึ่งแบกรับอยู่บนกิจการขายอุปกรณ์ไฟฟ้าและหลอดไฟในชั้นล่างสุด โดยอาคารแห่งนี้ได้ทำสัญญาเช่ากับกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและมากมายมหาศาลในพื้นที่นี้ ประหนึ่งแสงจากดวงไฟขนาดใหญ่ที่สาดปกคลุมได้ในบริเวณกว้างขวาง แต่กลับมี “แสงนวล” จากตึกและดวงจันทร์เล็ก ๆของงานนิทรรศการลอยอยู่เหนือตึกอย่างท้าทายและเงียบเชียบในความมืด

แสงเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สากลที่มีประวัติศาสตร์ความหมายและนัยยะทางปรัชญาที่น่าสนใจ ด้วยคุณลักษณะของแสงที่สามารถเป็นทั้งลำแสงพุ่งตรง แสงนำทาง ประกายแสงระยิบระยับ แสงจ้าที่ทำให้ตาพร่ามัว หรือแสงที่อาบไปทั่วอาณาบริเวณ แสงจึงเกี่ยวพันกับนัยยะที่แสดงถึงปัญญา ความฉลาด ความรู้ บ่อเกิดของความดีงาม ความเป็นจริงพื้นฐาน ความบริสุทธิ์ ศีลธรรม โดยจะตัวอย่างได้จากอุปมาทางศาสนาอย่าง แสง (ธรรม) ที่เกี่ยวข้องกับสภาวะเหนือโลกในเรื่องนิพพานตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนา หรือแสงอาทิตย์ในฐานะที่เป็นผู้พิทักษ์ที่คอยปราบเหล่าร้ายด้านมืด หรือคำอธิบายเรื่องวิวัฒนาการที่มีลักษณะชายเป็นใหญ่ก็ถูกอธิบายผ่านเรื่องแสง ตลอดจนเรื่องพลังจักรวาล พลังความคิดสร้างสรรค์ หรือการมองโลกในแง่ดี ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการส่องสว่างและแสงทั้งสิ้น

นอกจากนี้ในทางปรัชญาตะวันตกแล้วแสงยังเป็นส่วนสำคัญที่ถูกนำมาอภิปรายมาโดยตลอดตั้งแต่ยุคกรีก ยุคกลางและสมัยใหม่เพื่อทำความเข้าใจสัตตะ (Being) ความจริง (truth) ความเป็นธรรมชาติ (naturalness) โดยจุดเริ่มต้นนั้นจะเห็นได้จากในบทกวีของพาร์มินิเดส (Parmenides poem) หรือในแนวคิดของเพลโต (Plato) ที่อภิปรายกรอบคิดทางปรัชญาดังกล่าวผ่านตัวอย่างเรื่องถ้ำที่เห็นว่าการรู้ได้ สัตตะและสารัตถะของสิ่งต่างปรากฏได้ภายใต้แสงจากพระอาทิตย์ที่ส่องสะท้อนเข้ามา หาใช่การดำรงอยู่ด้วยตัวมันเอง แต่อยู่ภายใต้แสงของความคิดเรื่องความดี (Idea of Good) เกียรติยศ (dignity) พละกำลัง (strength) ที่อยู่เหนือสรรพสิ่ง (beings) เพราะแสงในฐานะที่เป็นความเป็นธรรมชาติ ทำให้ทุกอย่างปรากฏ และความเป็นจริงของธรรมชาติจึงได้ปกคลุมความเป็นไปของทุกอย่าง จึงทำให้ทุกอย่างถูกเข้าใจว่าถูกจำกัดอยู่ภายใต้สิ่งที่อยู่เหนือโลก (transcendency)[1] นอกจากนี้ในทางศาสนาทั้งพุทธและศริสต์ก็เกี่ยวข้องกับการใช้อุปมาเรื่องแสงในฐานะที่เป็นสิ่งส่องสว่างทางปัญญาและความคิดเพื่อขจัดความมืดบอดทางความคิดและจิตใจเพื่อเข้าสู่เส้นทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ หรือในศาสนาคริสต์ที่อุปมาพระเยซูเป็นประหนึ่งแสงที่ส่องสว่างไปยังผู้ศรัทธา (Christ will shine on you.)[2]

อย่างไรก็ตามแสงก็เป็นความรุนแรงได้ในฐานะที่เข้ามารุกล้ำ ก้าวก่าย (intrusive) สิ่งอื่น ๆ โดยเฉพาะแสงที่สว่างจ้าและปกคลุมไปทั่ว (omnipresent brightness) ที่บังคับให้สิ่งอื่นต้องเผยแสดงและปรากฏให้เห็นโดยไม่ได้สนใจว่าสิ่งเหล่านั้นยินยอมหรือไม่ มันปกคลุมและกลืนกินพื้นที่ไปทั่วโดยไม่เคยต้องสูญเสียตัวเองลง มันเอาชนะทุกสิ่งได้โดยไม่ต้องออกแรงกำลัง มันสร้างขั้วตรงข้ามซึ่งเป็นความมืดมิดในฐานะที่เป็นความมืดบอดทางปัญญา การหลงทาง ความโง่เขลา ที่พร้อมจะถูกปัดเป่าขับไล่ไปเมื่อแสงได้สาดส่องไปถึงนอกจากนี้แสงยังได้สร้างให้เกิดพื้นที่ ระยะ การนำเสนอ ขึ้นมาไม่ว่าจะเพื่อสร้างการปรากฏ การควบคุมจัดแจง การขูดรีด การสยบยอม หรือสร้างความชอบธรรมให้แก่การฉายแสงไปยังที่แห่งใดก็ตาม โดยเฉพาะแสงที่มีกำลังความสว่างมหาศาล และผูกขาดอำนาจการกำหนดการปรากฏของสิ่งอื่น ๆเอาไว้

สำหรับผู้เขียนแล้วพื้นที่ของแสงนวลแล็บ เป็นเสมือนดวงไฟเล็ก ๆ ที่พยายามจะสว่างไสวต้านทานกำลังจากแสงอื่นที่สาดจ้าไปทั่วอาณาบริเวณผ่านการนำเสนองานศิลปะที่มีความเป็นส่วนตัว เรื่องราวความทรงจำของคนตัวเล็กตัวน้อย และความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางอารมณ์ ความคิดที่เกิดขึ้นกับผู้คนอย่างเหล่านี้ผ่านการนำวัสดุอย่างแสงออกได้อย่างน่าสนใจ

ผลงานแรกที่ผู้เขียนอยากเขียนถึงนั้นคือ Somewhere only we know โดย Surat Setsaeng ที่ชวนให้คิดถึงสภาวะย้อนแย้งของความเป็นแสงที่ถูกแบ่งแยกแนวทางการศึกษาออกเป็นสองลักษณะมาโดยตลอด กล่าวคือ แสงในฐานะที่เป็น วัตถุที่มีรูปทรง (lumen) และแสงในฐานะคุณสมบัติเชิงผัสสะที่รับรู้ด้วยการมองเห็น (the lux) โดยแสงในความหมายแรกนั้นเชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ทางกายภาพที่เป็นรูปธรรมซึ่งสามารถประเมินและวัดได้ ในขณะที่แสงอย่างที่สองเชื่อว่าเราไม่สามารถมองเห็นแสงได้ หากแต่เป็นสิ่งที่อยู่ในแสงมากกว่า โดยเชื่อว่าการสัมผัสได้ถึงแสงเป็นประสบการณ์การรับรู้และตอบสนองทางร่างกาย[3]

อย่างไรก็ตามงาน Somewhere only we know ได้ชี้ให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของสองความหมายเรื่องแสงที่ไม่ลงรอยได้อย่างแนบสนิท โดยผลงานชิ้นนี้คว้าจับเอาสภาวะลักลั่นย้อนแย้งระหว่างวัตถุที่ไร้แสงในตัวเอง/วัตถุที่มีแสงในตัวเอง การมองเห็นแสงในฐานะการตอบสนองทางกายภาพ/การมองเห็นแสงในฐานะที่เป็นวัตถุมีรูปทรง ออกมาเป็นหลอดไฟที่มีแสงในตัวเองทรงกลมแบนที่บรรจุภาพแสงสะท้อนของวัตถุไร้แสงในตัวเองที่อยู่ภายในโดยถูกติดตั้งกระจายสูงต่ำไปรอบ ๆผนัง บนโต๊ะสำนักงาน นอกจากนี้ผลงานดังกล่าวยังติดตั้งปะปนในพื้นที่ของชีวิตประจำวันในส่วนกิจการ และสามารถมองเห็นได้ในระดับสายตา เป็นดวงดาวที่กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ของชีวิต โดยดวงดาวเหล่านี้สามารถมองเห็นได้ในระดับสายตาสำหรับผู้ชมงานศิลปะ มิใช่ดวงดาวที่ต้องแหงนมอง

แสงสะท้อนของวัตถุไร้แสงที่ถูกบรรจุในหลอดไฟที่เรืองแสงนั้น ได้กลายเป็นวัตถุที่โอบล้อมความคิดเรื่องแสงในฐานะที่มีหลากหลายคุณสมบัติและคุณลักษณะได้เป็นอย่างดี เมื่อประกอบกับการจัดวางงานให้กระจายไปทั่วห้องทำงาน และจุดบังคับยืนบนชั้นลอยของผู้ชมแล้ว ทำให้ผู้เขียนรู้สึกได้ถึงการผนวกรวมกันระหว่างการรับรู้ถึงความยืดหยุ่นทางคุณสมบัติและรูปทรงของวัตถุที่ลื่นไหลไปตามบริบทของพื้นที่และเวลา และการดึงกลับเอาดวงดาวที่มีนัยยะถึงความฝัน เข้ามาปะปนในพื้นที่แห่งความเป็นจริงในชีวิตประจำวันโดยแสงจากดวงดาวจำลองเหล่านั้นส่องสะท้อนออกมาจากภาพของวัตถุสามัญธรรมดา

ผลงานชิ้นต่อมาเป็นของ Pam Virada ในชื่อ clouded, 2018 ซึ่งเป็นชั้นเหล็กวางของสีเทาสามชั้น โดยติดตั้งหลอดไฟไว้ส่วนบนโดยส่องแสงสีขาวลงมาบนเศษผงฝุ่นบนกล่องในชั้นถัดมา โดยมีอีกสองชั้นข้างล่างวางกล่องบรรจุหลอดไฟค้างสต็อกรุ่นเก่าที่ไม่สามารถใช้งานได้ในยุคสมัยนี้แล้ว ผู้เขียนชื่นชอบผลงานชิ้นนี้เป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะชี้เห็นถึงคุณสมบัติของความใหม่และเก่าของแสงในฐานะที่เป็นวัตถุแล้ว งานชิ้นนี้ยังเต็มไปด้วยความเย็นยะเยือก ความทึมเทา ความเศร้า (melancholy) ความนิ่งเงียบ และความเรียบโล่งของเส้นสายและสีที่จัดวางอย่างขับเน้นกับเรื่องราวที่กำลังบอกเล่าได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ ศิลปินได้ขูดเอาเศษฝุ่นใต้กล่องหลอดไฟค้างสต็อกตกรุ่นของกิจการแสงนวลการไฟฟ้าที่ทับถมในความมืดมิด บดบังอยู่ใต้กล่องหลอดไฟเหล่านั้นมานานนับทศวรรษออกมาสัมผัสกับแสงของหลอดไฟรุ่นใหม่ โดยได้สร้างความหมายและมุมมองการนำเสนอเรื่องแสงและเงาของฝุ่นในฐานะความทรงจำและการที่แสงจากหลอดไฟไม่เคยถูกขายออกไป มันยังคงเป็นหลอดไฟดวงใหม่เสมอแต่กลับไม่มีทางที่จะได้ส่องสว่างเพราะความนิยมของหลอดไฟประเภทนี้ไม่เป็นที่ต้องการอีกแล้ว เงาของแสงในฐานะที่เป็นฝุ่นจึงเป็นเพียงตะกอนความทรงจำของสิ่งใหม่ที่ถูกทำให้เก่าและละทิ้งไว้ข้างหลัง การไม่มีที่ทางของวัตถุเหล่านี้เมื่อมันถูกทำให้ปรากฏบนชั้นภายใต้แสงหลอดไฟรุ่นใหม่ มันจึงเต็มไปด้วยความรู้สึกอึดอัด อ้างว้างที่ยากจะอธิบาย นอกเสียจากจะยัดเยียดให้มันเป็นความเศร้า เมื่อการเปลี่ยนแปลงของบริบทสังคมที่ก้าวไปข้างหน้า ได้ละทิ้งหลายวัตถุและความทรงจำไว้ข้างหลังให้กลายเป็นสิ่งซึ่งไม่มีความหมายและความสำคัญทั้ง ๆที่มันไม่เคยกระทั่งได้รับโอกาสให้แสดงความหมายและความสำคัญของมันด้วยซ้ำ

งานชิ้นสุดท้ายที่ผู้เขียนอยากเขียนถึงคืองานชื่อ sit like Jay (since 2551) โดย Jirapat Vatanakuljaras งานชิ้นนี้เป็นภาพถ่ายศิลปินในท่านั่งบนม้านั่งที่ถูกขยายใหญ่บนผืนผ้าไวนิล โดยติดตั้งให้ภาพหันหน้าออกไปยังหน้าต่างของอาคาร ประดับภายด้วยต้นปาล์มและเศษดินบนพื้นรอบ ๆ โดยภาพที่ศิลปินนำมาขยายนั้นเป็นรูปถ่ายศิลปินที่ถูกทิ้งไว้บนโต๊ะทำงานของแม่ในวันที่ข้าวของทุกอย่างและรูปถ่ายอื่น ๆถูกขนย้ายไปหมดแล้ว โดยไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ศิลปินจัดการกับเหตุการณ์และเรื่องราวเหล่านี้ด้วยการขยายภาพใบที่ถูกทิ้งไว้ให้ใหญ่ สาดไฟให้ภาพเรืองแสงออกมา เมื่อเล็ดลอดผ่านใบของต้นปาล์มแล้ว แสงเหล่านั้นขยายแฉกของเงาไปบนผนังรอบ ๆ ชวนให้นึกถึงภาพของปูชนียบุคคลที่วางไว้ในโรงแรมเก่าๆ หรือสถานที่ราชการ ที่กลับปรากฏภาพลูกชายคนสุดท้องในสีหน้าเก้ๆกังๆ ซึ่งแสงที่ฉายออกมาในงานนั้นเรียกร้องให้ถูกมองเห็น เรียกร้องให้อดีตและความทรงจำที่ศิลปินเข้าไปสะสางและจัดการเรื่องราวส่วนตัวปรากฏอย่างเอิกเริก ผู้เขียนประทับใจวิธีการจัดการความทรงจำส่วนตัวของศิลปินที่เจือปนไปด้วยอารมณ์ขันนั้น และความกล้าหาญที่จะเผชิญหน้าอดีตเพื่อนำมายืดขยายด้วยแสง แสงในงานชิ้นนี้จึงไม่ได้ทำหน้าที่แต่เพียงส่องสว่างบนพื้นผิวไวนิลหรือบนวัตถุแต่มันส่องสว่างเพื่อทำให้สิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยถูกหลงลืมให้กลับมามองเห็นอีกครั้งจากสายตาของทั้งคนในและนอกอาคารแสงนวลการไฟฟ้า

นิทรรศการแสงนวล 2561 ได้นำเสนอผลงานศิลปะที่สะท้อนแง่มุมความเข้าใจเรื่องแสงไว้อย่างหลากหลายทั้งแสงในฐานะที่เป็นทั้งวัตถุและประสบการณ์การรับรู้ของมนุษย์ แสงและเงาในฐานะความทรงจำ หรือกระทั่งแสงที่เป็นเครื่องมือหยิบฉวยอดีตมาสร้างมิติและการรับรู้ใหม่ในปัจจุบัน นอกจากนี้โดยตัวของพื้นที่แสงนวลแล็บเองก็ทำหน้าที่เป็นแสงเล็ก ๆที่ส่องสว่างในความมืดมิดที่พยายามจะเล็ดลอดความสว่างออกจากข้อจำกัดและเงื่อนไขไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพของพื้นที่ เศรษฐกิจ การเมือง หรือสถาบันศิลปะที่แผ่กำลังไฟสว่างจ้ากลบแสงดวงไฟอื่น ๆและทำให้ตาพร่าพรางในนามของความรู้ ความจริง และความงามเชิงสถาบัน 

 

อ้างอิง

[1] Light as a Metaphor for Truth.Hans Blumberg - 1993 - In David Kleinberg-Levin (ed.), Modernity and the Hegemony of Vision. The University of California Press. pp. 30--62.

[2]"Light of Christ." Wikipedia. December 26, 2018. Accessed January 15, 2019. https://en.wikipedia.org/wiki/Light_of_Christ.

[3] Bille, Mikkel, and Tim Flohr Sørensen. "An Anthropology of Luminosity." Journal of Material Culture 12, no. 3 (2007): 266. doi:10.1177/1359183507081894.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท