Skip to main content
sharethis

เฉื่องซวีเญิ๊ต อดีตนักโทษการเมืองเวียดนามหายตัวไปขณะทำเรื่องขอสถานะผู้ลี้ภัยกับ UNHCR ในไทย ญาติระบุ ติดต่อไม่ได้มาหนึ่งสัปดาห์แล้วหลังมีการพบเห็นตัวเขาครั้งสุดท้ายที่สำนักงาน UNHCR เมื่อ 25 ม.ค. 2562 ทางการไทยปัดคุมตัว ในอดีตเคยมีผู้ลี้ภัยเวียดนามถูกลักพาตัวกลับไปประเทศต้นทางแล้วหลายคนไม่เว้นแม้แต่ในเยอรมนี

เฉื่องซวีเญิ๊ต (ที่มา: Teu Blog)

1 ก.พ. 2562 สื่อเดอะเวียดนามมีส รายงานว่า เฉื่องซวีเญิ๊ต (Truong Duy Nhat) อดีตนักโทษทางการเมืองของเวียดนามหายตัวไปในไทย หลังมีการพบเห็นครั้งสุดท้ายที่สำนักงานของ UNHCR เมื่อ 25 ม.ค. 2562 หรือวันศุกร์ที่แล้ว

หนัดเดินทางออกจากเวียดนามมาอยู่ที่ไทยได้ 21 วันแล้วเพื่อจดสถานะเป็นผู้ลี้ภัย ก่อนหน้านี้เขาถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลาสองปีเมื่อปี 2557 จากข้อหาลว่งละเมิดเสรีภาพประชาธิปไตยและผลประโยชน์ของรัฐ จากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและเหล่าผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนามบนบล็อกส่วนตัวของเขาที่ชื่อ “Another Point of View (มุมมองอีกด้าน)” โดยหนัดถูกจับตัวตั้งแต่ปี 2556 และถูกกักขังระหว่างไต่สวน

เพื่อนและครอบครัวของเขายืนยันว่าไม่ได้ข่าวคราวของหนัดตั้งแต่เสาร์ที่ผ่านมา ครอบครัวยืนยันว่าหนัดไม่ได้ถูกทางการไทยจับกุมตัว และไม่ได้ถูกกักตัวที่สถานกักตัวคนต่างด้าว ซ.สวนพลูแต่อย่างใด โทรศัพท์ของหนัดก็ไม่ได้ถูกปิด แต่เมื่อโทรไปแล้วไม่มีคนรับ ขณะนี้ภรรยา ซึ่งปัจจุบันยังอยู่เวียดนามและลูกสาวที่กำลังศึกษาอยู่ในประเทศแคนาดาต่างเป็นห่วงความปลอดภัยของเขา

ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า องค์กรที่ทำงานด้านผู้ลี้ภัยที่อำนวยความสะดวกให้กับหนัดเองก็ไม่สามารถติดต่อหนัดได้ โดยพวกเขาไม่พบหนัดในห้องโรงแรมที่จองเอาไว้

การหายตัวไปของผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามในต่างแดนไม่ใช่เรื่องใหม่ ในปี 2559 ฉิ่งเซวินแทง (Trinh Xuan Thanh) อดีตผู้บริหารบริษัทน้ำมันของรัฐชื่อเปโตรเวียดนาม หายตัวไปจากกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีที่เขาลี้ภัย หลังถูกรัฐบาลเวียดนามตัดสินจำคุกตลอดชีวิตจากข้อกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชัน ทางการเยอรมันเชื่อว่าการลักพาตัวดังกล่าวเป็นภารกิจลับที่กระทำโดยทางการเวียดนาม ในปี 2561 มีการนำชาวเวียดนามคนหนึ่งขึ้นศาลที่เบอร์ลิน โดยเลห์นาร์ด  ผู้เป็นอัยการระบุว่า ชาวเวียดนามคนดังกล่าวถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ยืมรถสองคันเพื่อใช้ในการลักพาตัว ซึ่งโดยหลักฐานแล้วตัวอัยการเชื่อว่าปฏิบัติการดังกล่าวถูกวางแผนและลงมือโดยหน่วยงานลับของเวียดนามผ่านความร่วมมือของสมาชิกในสถานทูตเวียดนามประจำกรุงเบอร์ลิน เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลด้านลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีและเวียดนาม

ในปี 2551 เลชี้ตฺเวะ (Le Tri Tue) นักกิจกรรมที่ต่อต้านรัฐบาลเวียดนามก็หายตัวไปจากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา แม้ว่าจะได้รับการคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัยโดยองค์การสหประชาชาติแล้วก็ตาม

ในปี 2548 ทิกญ์ชี้หลึก (Thich Tri Luc) พระสงฆ์ชาวเวียดนามที่ต่อต้านรัฐบาลก็ถูกลักพาตัวขณะลี้ภัยที่กัมพูชา ปฏิบัติการกระทำกันโดยเจ้าหน้าที่เวียดนามและกัมพูชาแม้หลึกได้รับการรับรองสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจาก UNHCR แล้วก็ตาม โดยเขาถูกลักพาตัวแล้วนำตัวกลับเวียดนามโดยไม่เต็มใจ

แปลและเรียบเรียงจาก

Former Political Prisoner, Truong Duy Nhat, Disappeared In Thailand After Seeking Refugee Status With UN, The Vietnamese, Feb. 1, 2019

Vietnamese on trial in Berlin over kidnapping of ex-oil exec, Reuters, Apr. 24, 2018

Vietnamese Dissident’s Disappearance Probed, The Cambodia Daily, May 19, 2007

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net