Skip to main content
sharethis

ประเทศไทยแสดงความมุ่งมั่นที่จะดูแลความเป็นอยู่และสภาพการทำงานที่ยอมรับได้ของแรงงานประมงบนเรือประมงโดยให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ได้ให้สัตยาบันและยังเป็นการส่งสัญญาณไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

1 ก.พ.2562 เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา เวลา 21. 00 น.(ตามเวลาในประเทศไทย) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา พร้อมด้วย จรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะ 
ยื่นสัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง พ.ศ.2550 (ค.ศ.2007) ต่อ กาย ไรเดอร์ (Mr.Guy Ryder) ผู้อำนวยการใหญ่ ILO เป็นผู้ต้อนรับและรับสัตยาบันสาร ณ ห้อง Cabinet สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

เว็บไซต์องค์การแรงงานระหว่างประเทศ  รายงานว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาการทำงานในภาคประมง พ.ศ.2550 (ฉบับที่ 188) ซึ่งคุ้มครองการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ของแรงงงานบนเรือประมง

รายงานจาก ILO ระบุว่า อนุสัญญาการทำงานในภาคประมงมีข้อกำหนดที่มีผลผูกมัดเกี่ยวกับการทำงานบนเรือประมงที่รวมถึงความปลอดภัยในการประกอบอาชีพและสุขภาพ การดูแลทางการแพทย์ขณะที่ออกทะเลและที่ชายฝั่ง เวลาพักผ่อน ข้อตกลงการทำงานที่เป็นลายลักษณ์อักษรและการประกันสังคม อนุสัญญาฉบับนี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้แน่ใจว่าเรือประมงมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับแรงงานประมงบนเรือ

อุตสาหกรรมการประมงพาณิชย์และอาหารทะลไทยมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลรายใหญ่รายหนึ่งของโลก ภาคการประมงและการแปรรูปอาหารทะเลของไทยมีการจ้างงานมากกว่า 600,000 คนในปี 2560 โดยเป็นแรงงานข้ามชาติจดทะเบียนจำนวน 302,000 คน ภาคการประมงอย่างเดียวมีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติมากกว่า 57,000 คนที่ทำงานบนเรือประมงพาณิชย์ประมาณ 10,550 ลำในปี 2560

อนุสัญญาการทำงานในภาคประมงจะมีผลบังคับใช้ในประเทศไทย ตั้งแต่ 30 มกราคม 2563 หนึ่งปีหลังจากการให้สัตยาบัน

โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่งของ ไอแอลโอ ซึ่งได้รับทุนจากสหภาพยุโรปจะให้การสนับสนุนรัฐบาลไทย องค์กรนายจ้างและองค์กรลูกจ้างในการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมประมงพาณิชย์ของไทยต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net