สุรพศ ทวีศักดิ์: ยกเลิกการบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนของรัฐ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ที่มาภาพ https://www.facebook.com/policybypeople

ดูรายการ “นโยบาย By ประชาชน” ที่ถกเถียงเกี่ยวกับข้อเสนอ “ยกเลิกวิชาพระพุทธศาสนาเป็นวิชาบังคับในระดับมัธยมศึกษา” ผมมีข้อสังเกตว่า การถกเถียงดังกล่าวยังไม่ใช่การถกเถียงระหว่างความคิดแบบเสรีนิยม (liberalism) กับอนุรักษ์นิยม (conservativism) ที่ชัดเจน ดูเหมือนจะเป็นการถกเถียงระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ก้าวหน้ากับฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไม่ก้าวหน้ามากกว่า

แม้ เรณุวัชร์ สุนันทวงศ์ นักเรียนชั้น ม.6 ที่รณรงค์ให้ยกเลิกวิชาพระพุทธศาสนาเป็นวิชาบังคับจะเสนอข้อโต้แย้ง (arguments) แบบเสรีนิยมอยู่บ้าง เช่นว่า “ผู้เรียนควรมีสิทธิ์เลือกเรียนศาสนาตามความเชื่อหรือความสนใจของตนเอง” หรือ “เราสามารถจะเป็นคนดีหรือมีความสุขได้ตามความเชื่อของตนเอง” แต่ข้อโต้แย้งของเขาเป็นเรื่องของปัญหาประสิทธิภาพ, คุณภาพของการเรียนการสอนมากกว่า เช่นตัวอย่างเหตุผลในแคมเปญรณรงค์ของเขาตอนหนึ่งว่า

“...การเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากปัญหาและอุปสรรคหลายอย่างๆ เช่น หลักสูตร เนื้อหาที่กำหนดให้เรียน ตัวครูผู้สอน เทคนิควิธีการสอน สื่ออุปกรณ์ในการสอน หนังสือตำราประกอบการเรียน การวัดประเมินผล ทัศนคติของผู้เรียน เป็นต้น เพราะเหตุนี้ความล้มเหลวในการสอนวิชาพระพุทธศาสนานั้นจึงกลับมีมากกว่าความสำเร็จ”[1]

ส่วนข้อเสนอของเขาคือ ไม่ใช่ให้ยกเลิกวิชาพระพุทธศาสนาไปเลย แต่ให้นำวิชานี้มาเป็นวิชาเลือกเสรี ในส่วนของวิชาบังคับในหมวดศาสนานั้นให้เป็นการสอนศาสนาเปรียบเทียบแทน เพื่อให้เด็กทุกคนได้เรียนรู้หลักคำสอนและวัฒนธรรมที่แตกต่างในแต่ละศาสนา ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวนี้แม้จะก้าวหน้าขึ้น แต่ก็ยังเป็นข้อเสนอในกรอบคิดอนุรักษ์นิยมที่เห็นว่าควรมีการสอนศาสนาในโรงเรียนของรัฐ (public school) ในระดับประถมและมัธยมศึกษาอยู่นั่นเอง

ส่วนข้อโต้แย้งของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอข้างต้น เป็นข้อโต้แย้งบนความคิดแบบอนุรักษ์นิยมชัดเจนมาก เช่นว่า เพราะวิชาพระพุทธศาสนาให้สิ่งที่ดี มีประโยชน์ต่อการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ทำให้เป็นคนดีมีศีลธรรม เมื่อชีวิตเผชิญความทุกข์ คำสอนพุทธศาสนาช่วยได้ ถ้าการเรียนการสอนไม่มีคุณภาพก็ต้องแก้ไขให้ดีขึ้น การเรียนพุทธศาสนาสอดคล้องกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมความเป็นไทย ทำให้พุทธศาสนามั่นคง ถ้าไม่ดีจริงรัฐก็ไม่บังคับให้เรียน ฯลฯ

มีบางคนโต้แย้งว่า “ทำไมรับไม่ได้กับการบังคับเรียนวิชาพระพุทธศาสนา ขณะที่รับได้กับการบังคับเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์” ซึ่งสะท้อนว่าขาดการแยกแยะระหว่างการเรียนความรู้กลางๆ ที่คนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนาจำเป็นต้องนำไปใช้ประโยชน์ในโลกที่เป็นจริง หรือโลกที่มีระบบหรือเงื่อนไขทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจและอื่นๆ ให้คนทั่วไปจำเป็นต้องใช้ความรู้ดังกล่าวนั้นในการอยู่ร่วมกัน กับการเรียนศาสนาอันเป็น “ความเชื่อส่วนบุคคล” หรือของกลุ่มคนทางศาสนาหนึ่งๆ ที่จำเป็นต้องไม่ขัดกับหลักการสาธารณะคือ หลักเสรีภาพทางศาสนาและหลักการที่รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา

เมื่อพูดโดยภาพรวม การศึกษาด้านศาสนา (religious education) แบ่งเป็น 2 แบบหลักๆ แบบแรก คือ การศึกษาที่มุ่งให้เกิดความรู้และศรัทธาในคำสอน การปฏิบัติพิธีกรรม การสร้างอัตลักษณ์ทางศาสนา หรือความเป็นศาสนิกที่ดีของศาสนานั้นๆ แบบที่สอง คือการศึกษาศาสนาเชิงวิชาการที่มุ่งให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องศาสนาแบบกลางๆ เช่นการศึกษาศาสนาในเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา หรือศึกษาเปรียบเทียบคำสอนของศาสนาต่างๆ ในวิชาศาสนาเปรียบเทียบ หรือการศึกษาแบบวิเคราะห์ตีความหลักปรัชญา โลกทัศน์ ชีวทัศน์ในหลักคำสอนของศาสนานั้นๆ อย่างที่ศึกษากันในวิชาปรัชญาศาสนาเป็นต้น

ในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรปที่เป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) และยึดถือเคร่งครัดในหลักการที่ว่ารัฐต้อง “เป็นกลางทางศาสนา” (religious neutrality) จะห้ามการศึกษาศาสนาแบบแรกในโรงเรียนของรัฐ แต่ให้เรียนได้ในโรงเรียนเอกชน ซึ่งโรงเรียนเอกชนหลายแห่งที่สอนศาสนาก็เป็นโรงเรียนเอกชนขององค์กรศาสนานั้นๆ หรือนิกายนั้นๆ เอง หรือไม่ก็จัดการเรียนรู้ในกลุ่มทางศาสนาต่างๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน ส่วนการศึกษาศาสนาแบบที่สองมีการเปิดให้เลือกเรียนได้อย่างเสรีในระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม บางประเทศในยุโรปเช่นสหราชอาณาจักรมีการเรียนศาสนานิกาย Church of England ในโรงเรียนรัฐบาล แต่เรียนแบบเป็นวิชาการ และให้เสรีภาพแก่นักเรียนและผู้ปกครองปฏิเสธหรือถอนตัวจากการเรียนวิชาศาสนาได้ตลอดเวลา ขณะที่ประเทศในตะวันออกกลางมีการบังคับเรียนศาสนาอิสลามในโรงเรียนของรัฐสำหรับนักเรียนมุสลิม แต่ก็ไม่บังคับนักเรียนที่ไม่ใช่มุสลิม โดยให้พวกเขาได้เลือกเรียนวิชาจริยธรรมแทน

ปัญหาของระบบการศึกษาไทยที่ต่างจากที่อื่นๆ คือ การกำหนดให้วิชาพระพุทธศาสนาเป็นวิชาบังคับในโรงเรียนของรัฐ เป็นการบังคับให้คนทุกศาสนา และคนไม่มีศาสนาต้องเรียนวิชาพระพุทธศาสนา ไม่เช่นนั้นก็ไม่จบตามหลักสูตรภาคบังคับ จึงขัดกับหลักการที่รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา และขัดหลักเสรีภาพทางศาสนาชัดเจน แม้ว่าจะไม่ใช่การบังคับให้คนศาสนาอื่น หรือคนไม่มีศาสนาหันมานับถือพุทธศาสนาก็ตาม แต่ก็ย่อมเป็นการบังคับให้พวกเขาต้องเรียนในสิ่งที่ขัดต่อเจตจำนงของตนเอง (ในแง่นี้จึงขัดหลักสิทธิมนุษยชน)

นอกจากโรงเรียนจะบังคับเรียนวิชาพระพุทธศาสนาแล้ว คณะสงฆ์ไทยยังพ่วงหลักสูตรธรรมศึกษาตรี, โท, เอกเข้ากับวิชาพระพุทธศาสนาด้วย โดยแชร์คะแนนในรายวิชาดังกล่าว แต่หลักสูตรธรรมศึกษานั้นเป็นหลักสูตรที่ใช้กันมาร่วมร้อยปีโดยไม่มีการปรับปรุงให้ทันสมัย นี่ยังไม่เท่าไร ที่ขัดกับ “ความชอบธรรม” ตามหลัก “ความเป็นกลางทางศาสนา” ของรัฐ ก็คือการที่รัฐให้สิทธิพิเศษแก่องค์กรทางศาสนาบางศาสนาเข้ามามีอำนาจบังคับยัดเยียดความเชื่อทางศาสนาของตนเองใน public school อย่างไม่แยแสต่อการเคารพเสรีภาพทางศาสนาของนักเรียน ในแง่นี้จึงเป็นบทบาทที่ผิดเพี้ยนของสถาบันพุทธศาสนาไทยด้วย

กล่าวโดยสรุป ในมุมมองแนวคิดเสรีนิยมถือว่าปัจเจกบุคคลมีสิทธิและความเสมอภาคในการเลือกนับถือศาสนา ความเชื่อ หรือปรัชญาใดๆ เพื่อการมีชีวิตที่ดีอย่างสอดคล้องกับอุปนิสัย รสนิยม หรือความพึงพอใจของตนเอง ตราบที่เขายังเคารพสิทธิของผู้อื่นหรือไม่ทำอันตรายต่อผู้อื่น ดังนั้นรัฐจะอ้างว่าศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี หรือศาสนาเป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์ต่อชีวิตมนุษย์จึงบังคับให้ทุกคนต้องเรียนไม่ได้ เพราะการตัดสินใจว่าความเชื่ออะไรดี มีประโยชน์สำหรับตนเอง เป็นสิทธิและเสรีภาพของแต่ละคนอย่างสมบูรณ์ รัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่เป็นกลางทางศาสนาจำเป็นต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวของพลเมือง

มองในอีกด้านหนึ่ง หากไม่มีการบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนของรัฐ ย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้เอกชน องค์กรหรือกลุ่มทางศาสนาต่างๆ ที่มีความสนใจทางศาสนาตรงกันได้แข่งขันอย่างเสรีและพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ การฝึกอบรม การปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาให้น่าสนใจและดึงดูดให้คนอยากเข้าหา และเปิดโอกาสให้ปัจเจกบุคคลแต่ละคนได้มีเสรีภาพในการเลือกเรียนรู้ศาสนาในแบบที่ตนเองสนใจและนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้มากกว่าถูกบังคับให้เรียน    

 

 

อ้างอิง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท