Skip to main content
sharethis

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ร้องทบทวน พ.ร.บ.โรงงานใหม่ให้เข้มงวดสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ชี้ปล่อยให้เป็นไปตามร่างเดิมเสี่ยงเพิ่มมลพิษและซ้ำเติมปัญหาฝุ่นพิษในกรุงเทพและปริมณฑล เสนอการปฏิรูประบบจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ และ ต้องใช้เกณฑ์มาตรฐานฝุ่นพิษหรือมลพิษทางอากาศขององค์การอนามัยโลก เพื่อไม่ให้ “คนไทย” อยู่ในสภาพตายผ่อนส่งจากมาตรฐานแบบไทยๆ พร้อมทั้งแนวทางปฏิรูป 12 ข้อสู้ภัยฝุ่นพิษ

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ (แฟ้มภาพ)

4 ก.พ. 2562 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า  พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ที่กำลังผ่านการพิจารณาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)มาบังคับใช้นั้นอาจทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศหรือปัญหาฝุ่นพิษในกรุงเทพและปริมณฑลย่ำแย่ลงอีก เสนอให้ทบทวนเนื้อหากฎหมายเพื่อให้มีการกำกับควบคุมเข้มงวดขึ้นและมีมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น กฎหมายโรงงานใหม่มีการผ่อนคลายกฏระเบียบเรื่องการจัดตั้งโรงงาน การไม่ต้องต่อใบอนุญาต หรือมีใบอนุญาตแบบไม่มีวันหมดอายุหรือแบบตลอดชีพ มีการแก้ไขคำนิยามโรงงานใหม่ ใช้ผู้ตรวจสอบเอกชนตรวจสอบคุณภาพโรงงานได้ กฎหมายที่กำหนดกฎเกณฑ์ดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม อาจเป็นผลบวกต่อภาคการลงทุนและผลดีต่อภาคการขยายตัวของธุรกิจอุตสาหกรรมแต่อาจทำให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้

กฎหมายใหม่ดังกล่าวจะปลดล็อคโรงงานขนาดเล็ก 60,000 แห่ง ไม่ต้องขอใบอนุญาตและให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปดูแลกันเองเป็นการอำนวยความสะดวกให้เอสเอ็มอี อย่างไรก็ตาม มาตรฐานและการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมอาจหละหลวมหากผู้ที่เกี่ยวข้องขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม มลพิษทางอากาศ ฝุ่นพิษ PM2.5 และปัญหาระบบนิเวศน่าจะรุนแรงขึ้น ปัญหาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศอาจเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการมีชีวิตและใช้ชีวิตสูงขึ้น ผลดีต่อภาคการลงทุนและเศรษฐกิจจะถูกหักล้างไป เป็นการเติบโตแบบไม่ยั่งยืนและสร้างปัญหา ผู้มีรายได้น้อย คนยากจนที่ไม่มีอำนาจต่อรองจะต้องแบกรับผลกระทบมากที่สุด โรงงานขนาดเล็กอาจมีการปล่อยน้ำเสีย ควันพิษ กากอุตสาหกรรม มีมลพิษทางเสียงมากขึ้นเพราะอาจขาดการกำกับควบคุมจากการผ่อนคลายกฎระเบียบในการจัดตั้งโรงงาน  

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษต่างๆเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง ต้องแก้ที่โครงสร้างทางการเมืองและระบบเศรษฐกิจด้วย ให้โครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจมีการจัดสรรทรัพยากรเพื่อประโยชน์สุขและคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นประชาธิปไตยและเกิดการมีส่วนร่วม โครงการลงทุนขนาดใหญ่หรือนโยบายต่างๆของรัฐต้องมีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต การรวมศูนย์อำนาจในการบริหารประเทศผ่านการใช้มาตรา 44 ปิดช่องทางในการมีส่วนร่วมของประชาชนมีส่วนสำคัญในการเพิ่มความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ ตั้งแต่การรัฐประหารของ คสช มีการออกมาตรา 44 และ คำสั่งต่างๆเอื้อต่อการลงทุนของเอกชนโดยละเลยต่อประเด็นทางสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชุมชน เช่น การยกเว้นผังเมืองใน EEC ยกเว้นผังเมืองสำหรับโรงงานไฟฟ้าขยะ โรงงานคัดแยกและรีไซเคิลของเสีย เป็นต้น พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่เองก็ผ่อนคลายมาตรฐานตรวจสอบทางด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อมีการขยายโรงงานหรือเพิ่มกิจการการผลิตในโรงงาน รัฐบาลและ สนช จึงควรทบทวนเนื้อหาและถอนร่าง พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่เพื่อเริ่มต้นกระบวนการจัดเตรียมกฎหมายแบบมีส่วนร่วมภายใต้รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

12 แนวทางปฏิรูปสู้ภัยฝุ่นพิษ

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้กล่าว นำเสนอ การปฏิรูประบบจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ การปฏิรูปต้องเริ่มต้นด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่เอา “คุณภาพชีวิต” ของประชาชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา มียุทธศาสตร์การเจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ยั่งยืน สมดุล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เสนอการปฏิรูประบบจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งระบบเพิ่มเติมจากที่เคยเสนอก่อนหน้านี้ ดังนี้  

1. กำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม ลดระดับมลพิษทางอากาศ ทางน้ำ ทางเสียง และมลพิษต่างๆให้เป็นไปตามเป้าหมาย

2. สร้างระบบและกลไกในการควบคุมพฤติกรรมในการก่อให้เกิดมลภาวะโดยใช้มาตรการบังคับ และ มาตรสร้างระบบแรงจูงใจ

3. ต้องใช้เกณฑ์มาตรฐานฝุ่นพิษหรือมลพิษทางอากาศขององค์การอนามัยโลก (PM2.5 ที่ 25 PM10 ที่ 50 ไมโครกรัมต่อ ลบ. ม.) เพื่อไม่ให้ “คนไทย” อยู่ในสภาพตายผ่อนส่งจากมาตรฐานแบบไทยๆ (PM2.5 ที่ 50 PM10 ที่ 120 ไมโครกรัมต่อ ลบ. ม.) เพราะระดับมาตรฐานไทยยังมีอันตรายต่อสุขภาพ

3. สร้างระบบและกลไกในการใช้เทคโนโลยีในการควบคุมและลดระดับมลภาวะ

4. สร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของฝุ่นพิษและปัญหามลภาวะต่างๆได้ทราบอย่างทั่วถึง รวมถึงวิธีป้องกันตนเองและครอบครัวให้ปลอดภัย เกิดจิตสำนึกในการร่วมกันในการลดมลภาวะต่างๆ แนวทางนี้จะทำให้การจัดการผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมมีต้นทุนต่ำสุด   

5. การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

6. การปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศเพื่อเตรียมพร้อมไปสู่  การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

7. การยกระดับขีดความสามารถในการรองรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้สังคมมีภูมิคุ้มกัน และ การเตรียมความพร้อมรองรับการภัยพิบัติทางธรรมชาติ

8. การสร้างภูมิคุ้มกันด้านการค้าจากเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมและวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

9. การเพิ่มบทบาทประเทศไทยในเวทีประชาคมโลกที่เกี่ยวข้องกับกรอบความตกลงและพันธกรณีด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ

10. จำกัดปริมาณรถยนต์ในบริเวณเขตเมืองที่มีการจราจรคับคั่ง เก็บภาษีสิ่งแวดล้อมและภาษีสุขภาพสำหรับรถยนต์ใหม่ เก็บภาษีแบบขั้นบันไดตามอายุการใช้งาน

11. เพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งมวลชนให้สามารถเชื่อมโยงมากขึ้น และ สามารถเข้าถึงได้อย่างเพียงพอและทั่วถึงด้วยราคาที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้

12. มีมาตรการป้องกันการก่อมลพิษจากการเผาในภาคเกษตรกรรม และ มลพิษที่ถูกปล่อยมาจากภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเป็นธรรมอย่างบูรณาการ      

ดร.อนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากการประเมินผลการพัฒนาในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการพัฒนาที่ขาดสมดุล โดยประสบความสำเร็จเฉพาะในเชิงปริมาณ แต่ขาดความสมดุล ด้านคุณภาพ “จุดอ่อน” ของการพัฒนาที่สำคัญ คือ ระบบบริหารทางเศรษฐกิจ การเมือง และราชการยังเป็นการรวมศูนย์อำนาจและขาดประสิทธิภาพ ระบบกฎหมายล้าสมัย นำไปสู่ปัญหาเรื้อรังของประเทศ คือ การทุจริตประพฤติมิชอบที่เกิดขึ้นทั้งในภาคราชการและในภาคธุรกิจเอกชน ขณะเดียวกันคุณภาพการศึกษาของคนไทยยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ไม่สามารถปรับตัว รู้เท่าทัน

วิทยาการสมัยใหม่ ทั้งฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยอ่อนแอ ไม่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม รวมทั้งความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจยังด้อยประสิทธิภาพ  จึงส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ ความยากจน และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่รุนแรงขึ้น ได้สร้างความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น นอกจากนี้ความอ่อนแอของสังคมไทยที่ตกอยู่ในกระแสวัตถุนิยม ได้ก่อให้เกิดปัญหาทางศีลธรรมและปัญหาสังคมมากขึ้นด้วย

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวด้วยว่า ตนได้เคยนำเสนอแนวทางหรือมาตรการในการแก้ไขมลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯก่อนหน้านี้ 10 มาตรการ โดยมี มาตรการแรก ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศต้องเน้นการกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆของประเทศ ลดการรวมศูนย์ทุกอย่างไว้ที่กรุงเทพและปริมณฑล มาตรการที่สอง ควบคุมการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรมและการใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดมลพิษโดยมีกำหนดค่ามาตรฐานให้ชัดเจนสำหรับแหล่งปล่อยมลพิษแต่ละประเภท การกำหนดค่ามาตรฐานในการปล่อยมลพิษหรือการควบคุมการปล่อยมลพิษ วิธีนี้อาจมีจุดอ่อนในแง่ที่ไม่ได้คำนึงถึงความสามารถในการลดมลพิษที่แตกต่างกันและไม่ได้ปรับเปลี่ยนต้นทุนหน่วยสุดท้ายในการก่อมลพิษ มาตรการที่สาม ควรศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีผู้ก่อมลพิษทางอากาศ แต่ภาษีสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดมลภาวะและปกป้องสิ่งแวดล้อม การที่รัฐมีรายได้จากภาษีสิ่งแวดล้อมมากนั้น หมายความว่ารัฐนั้นย่อมมีการทาลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไปด้วย ดังนั้นรายได้จึงมิใช่เป้าหมายของการจัดเก็บ

ภาษีสิ่งแวดล้อม โดยหลักการที่สำคัญของการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม คือ หลักการ ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay Principle) กล่าวคือ ผู้ก่อมลพิษทางอากาศหรือมลพิษใดๆควรเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ไปในการควบคุมบำบัดและป้องกันมลพิษ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือต้นทุนของการใช้มาตรการต่าง ๆ ของรัฐ ในการควบคุมและป้องกันมลพิษควรจะสะท้อนออกมาเป็นต้นทุนภายในของการผลิตและบริโภคสินค้าและบริการที่ก่อให้เกิดมลพิษ ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าและบริการสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง หรือ การซื้อขายใบอนุญาตสิทธิในการปล่อยมลพิษหรือซื้อขายสิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ก็ได้ หรืออาจใช้  ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษทางอากาศ ภาษีและค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ และระบบรับซื้อคืน การวางประกันความเสี่ยงหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยควรมีการใช้มาตรการทางการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น

มาตรการที่สี่ สร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น สร้างสวนสาธารณะเพิ่มขึ้น ปลูกต้นไม้ประเภทที่ช่วยดูดซับมลพิษทางอากาศได้

มาตรการที่ห้า ต้องยกระดับมาตรฐานรถยนต์ให้มีการปล่อยมลพิษลดลง มาตรการที่หก ยกระดับมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5 มาตรการที่เจ็ด สนับสนุนให้มีการใช้รถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาด โดยปรับเปลี่ยนให้รถสาธารณะให้เป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาด เสนอระบบพลังงานไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมพร้อมใช้นโยบายอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมเน้นการเติบโตแบบยั่งยืน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ลดการใช้พลังงานจากถ่านหินหรือพลังงานจากฟอสซิลลง

มาตรการที่เก้า การปรับลดค่าโดยสารขนส่งระบบรางให้ถูกลงและทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงการใช้บริการได้

มาตรการที่สิบ ปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลใช้ มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมืองทำให้พื้นที่สีเขียวลดลง ควรทบทวนการใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมือง นอกจากนี้ การใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมืองในพื้นที่ EEC ยังทำให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลและปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย อาจทำให้ปัญหามลพิษทางอากาศแบบมาบตาพุดปะทุขึ้นมาได้อีกในอนาคต

ส่วนมาตรการลดมลพิษทางอากาศที่อาจไปเพิ่มภาระหรือต้นทุนการดำรงชีวิตของประชาชนนั้นอาจต้องมีกองทุนหรือเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือหรือสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น การห้ามไม่ให้รถที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์วิ่งบนท้องถนน การกำหนดอายุการใช้งานรถยนต์ การห้ามรถยนต์บางประเภทวิ่งเข้าสู่กรุงเทพฯชั้นในในบางช่วงเวลา เป็นต้น ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่กระทบต่อชีวิตของทุกคนจึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนจึงสามารถทำให้แก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน  

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยประมาณ 5.93 ล้านคนในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ชดเชยนักท่องเที่ยวชาติตะวันตกที่ลดลงจากปัญหามลพิษทางอากาศ โดยนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยจะบินตรงไปยังแหล่งท่องเที่ยวในต่างจังหวัดหรือมาต่อเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิหรือดอนเมืองโดยไม่แวะเข้ามาที่กรุงเทพเพื่อเลี่ยงฝุ่นพิษ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net