บอร์ดสปสช. ชี้หลักประกันสุขภาพปี 61 ปชช.เข้าถึงการรักษา ครัวเรือนยากจนลด

บอร์ด สปสช. ชี้หลักประกันสุขภาพฯ ปี 61 บรรลุตามเป้า ทั้งเบิกจ่ายงบประมาณ ดูแลผู้มีสิทธิเข้าถึงบริการ ครอบคลุมทั่วถึง ช่วยลดครัวเรือนยากจนจากค่ารักษาลง จากร้อยละ 2.01 ในปี 45 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 0.24 ในปี 60 งบประมาณปี 61 คิดเป็นร้อยละ 6.05 เมื่อเทียบกับงบประมาณของประเทศ และคิดเป็นร้อยละ1.07 เมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ

4 ก.พ. 2562 วันนี้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศูนย์ราชการฯ   โดยที่ประชุมได้มีมติรับรองผลการดำเนินงานการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561 พร้อมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ภาพรวมการดำเนินการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปีที่ผ่านมา สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งในด้านการเบิกจ่ายงบประมาณและการเข้าถึงบริการภายใต้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ของประชาชนผู้มีสิทธิ์ จากงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2561 ที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลที่ได้รวมกับงบกลางที่เพิ่มเติม จำนวน 130,719.62 ล้านบาท (หลังหักเงินเดือนของหน่วยบริการภาครัฐ) ทั้งในส่วนของงบบริการสาธารณสุขเหมาจ่ายรายหัวและงบบริการเฉพาะ อาทิ งบบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง เป็นต้น    

ในปีงบประมาณ 2561 มีประชากรผู้มีสิทธิบัตรทอง 47.803 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 66.24 ล้านคน สามารถดำเนินการดูแลครอบคลุมผู้มีสิทธิได้ถึงร้อยละ 99.94 มีการเข้ารับบริการผู้ป่วยนอก 184.6 ล้านครั้ง หรือเฉลี่ย 3.73 ครั้ง/คน/ปี โดยเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีอัตราเข้ารับบริการเกิน 7 ครั้ง/คน/ปี ส่วนการเข้ารับบริการผู้ป่วยใน อยู่ที่ 6.2 ล้านครั้ง หรือ 0.12 ครั้ง/คน/ปี

นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ขณะที่การดูแลผู้ป่วยเฉพาะกลุ่มที่แยกบริการออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว สามารถดำเนินการได้อย่างครอบคลุมทั้งผู้ป่วยรายเก่าและรายใหม่ตามเป้าหมาย โดยบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีผู้ป่วยรับบริการ 261,930 คน การการส่งเสริมและป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง 74,857 คน ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 57,288 คน การควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง (เบาหวาน/ความดัน) 3.93 ล้านคน ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน 10,389 คน ผู้อายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง 211,290 คน นอกจากนี้ในส่วนของหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2561 ได้เพิ่มเติมค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการ 202แห่ง จากที่กำหนดเป้าหมาย 175 แห่ง อย่างไรก็ตามมีเพียงบริการปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัวที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย มีการบริการ 332,968 ครั้ง หรือร้อยละ 51.1 ซึ่งต้องมีการทบทวนและปรับปรุงเพื่อบรรลุเป้าหมายในปีต่อไป

สำหรับในส่วนหน่วยบริการในระบบบัตรทองนั้น ปี 2561 มีหน่วยบริการที่ร่วมดูแลประชากรผู้มีสิทธิจำนวน12,151 แห่ง ครอบคลุมหน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริกรประจำ หน่วยบริการ และหน่วยบริการรับส่งต่อ รวมถึงหน่วยบริการไม่ได้จัดเครือข่าย โดยเป็นหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 11,070 แห่ง กระทรวงอื่นๆ 240แห่ง เอกชน 527 แห่ง และท้องถิ่น 314 แห่ง

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า จากรายงานผลการดำเนินงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561 ยังได้มีการรายงานในส่วนภาพรวมการคลังสุขภาพ ที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2533-2560 โดยงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพปี 2561 คิดเป็นร้อยละ 6.05 เมื่อเทียบกับงบประมาณของประเทศ และคิดเป็นร้อยละ1.07 เมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ ขณะที่รายจ่ายสุขภาพโดยรวมของทั้งประเทศ ปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 4.02เมื่อเทียบกับ GDP

การลดลงของครัวเรือนที่ต้องยากจนลงจากจ่ายค่ารักษาหลังมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจากร้อยละ2.01 ในปี 2545 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 0.24 ในปี 2560 หรือจาก 2.2 แสนครัวเรือนในปี 2545 เหลือ 5.2 หมื่นครัวเรือนในปี 2560, ครัวเรือนที่เกิดวิกฤติการเงินจากค่ารักษาพยาบาลจากร้อยละ 4.06 ในปี 2545 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ2.26 ในปี 2560 หรือจาก 6.6 ครัวเรือนในปี 2545 เหลือ 4.8 แสนครัวเรือนในปี 2560 และสัดส่วนค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายจากครัวเรือนจากร้อยละ 27 ในปี 2545 ลดลงเหลือร้อยละ 11.32 ในปี 2560

“จากผลดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เกิดขึ้น ซึ่งได้ดำเนินต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 ไม่เพียงแต่ทำให้คนไทยเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงเท่านั้น แต่ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้กับครัวเรือน ช่วยลดวิกฤตทางการเงิน โดยเฉพาะจากโรคค่าใช้จ่ายสูงและโรคเรื้อรังที่ต้องรับการรักษาต่อเนื่อง ส่งผลต่อความพึ่งพอใจของประชาชนอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 93.93 ขณะที่ความพึงพอใจผู้ให้บริการมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 70.67 ซึ่งเกิดจากผลการรับฟังความเห็นและปรับปรุงระบบมาอย่างต่อเนื่อง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว  

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท