PM 2.5 สร้างความเสียหายหลักหมื่นล้าน พบค่าเฉลี่ยสารก่อมะเร็ง 19 ชนิด กรุงเทพสูงสุด

นักเศรษฐศาสตร์ชี้วิกฤตฝุ่น PM 2.5 สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจหลักหมื่นล้าน กุมารแพทย์แนะนำให้งดกิจกรรมกลางแจ้งของเด็ก นักวิชาการเสนอ ทำค่ามาตรฐานควบคุมสารก่อมะเร็ง สร้างดัชนีคุณภาพอากาศเชิงสุขภาพ เร่งปลูกพืชใบหยาบเพื่อช่วยดูดซับฝุ่นละออง งานวิจัยพบค่าเฉลี่ยสารก่อมะเร็ง 19 ชนิด กรุงเทพสูงสุด ตามด้วยเชียงใหม่และภูเก็ต

5 ก.พ. 2562 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน Bangkok Breathe และโรงเรียนรุ่งอรุณ สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ Thai PBS (ไทยพีบีเอส) จัดเวทีพูดคุย ‘มลภาวะทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 กับผลกระทบต่อสุขภาพคนไทย’  เพื่อร่วมกันหาทางออก

พญ.ปองทอง ปูรานิธี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 ต่อเด็กว่า ฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน มีขนาดเล็กจนสามารถเข้าสู่กระแสเลือดของเด็กได้

“เด็กจะมีความเสี่ยงมาก เพราะอยู่ใกล้พื้นดิน และเด็กหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ดูดซึมมลพิษได้มากกว่า และถ้าเด็กวิ่งเล่นหรือออกกำลังกาย จะยิ่งหายใจเร็ว ก็จะรับมลพิษเข้าร่างกายได้มากขึ้น ขณะที่ระบบภูมิคุ้มกันของเด็กกำจัดสิ่งแปลกปลอมได้ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ จึงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่ ถ้ารับมลพิษตั้งแต่อายุน้อยก็จะเกิดโรคในระยะยาวได้” พญ.ปองทอง กล่าวพร้อมแนะนำว่า ในสภาวะที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ควรงดกิจกรรมกลางแจ้งของเด็กและอยู่ในอาคารที่ปิดมากที่สุดเพื่อป้องกันฝุ่นจากสภาพแวดล้อมภายนอก

ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ระบุว่า ตอนนี้สาธารณะสนใจเรื่องฝุ่น PM 2.5 กับดัชนีคุณภาพอากาศมาก แต่อยากให้ใส่ใจสารก่อมะเร็งที่มากับฝุ่นเหล่านี้ด้วย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีค่ามาตรฐานควบคุมสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศ จากงานวิจัยพบว่าค่าเฉลี่ยสารก่อมะเร็ง 19 ชนิด ในกรุงเทพมีปริมาณสูงสุด ตามด้วยเชียงใหม่และภูเก็ต

เอื้อมพร มัชฌิมวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินคุณภาพอากาศและมลพิษทางอากาศ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นว่า สถานการณ์ตอนนี้เหมือนอยู่ในห้องที่เพดานต่ำลงมา ทำให้ฝุ่นสะสมค่อนข้างมาก และเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาในระยะยาว ประเทศไทยควรสร้างดัชนีคุณภาพอากาศเชิงสุขภาพ (Air Quality Health Index: AQHI) เพื่อเป็นมาตรฐานในการตรวจวัดคุณภาพอากาศ นอกจากนี้ในด้านการติดตามสภาพอากาศ ผศ.ดร.เอื้อมพร แนะนำว่าควรใช้แอพพลิเคชั่นสำหรับการอ้างอิงคุณภาพอากาศที่มีการอัพเดทที่สุดและเครื่องมือที่ใช้วัดที่มีมาตรฐานในระดับสากล เช่น แอพพลิเคชั่นแอร์ฟอไทยของกรมควบคุมมลพิษ เป็นต้น

ในส่วนของมาตรการแก้ปัญหา นพ.อนวัช เสริมสวรรค์ อายุรแพทย์ด้านหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เสนอการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น เช่น กระทรวงสาธารณสุขควรกำหนดมาตรฐานเครื่องป้องกันและควบคุมราคาเครื่องฟอกอากาศ ในฟากกรมควบคุมมลพิษก็ควรตรวจสอบโรงงานและแหล่งก่อมลพิษต่างๆ รวมถึงการจัดการจราจรในกรุงเทพฯ เพื่อลดการปล่อยควันจากรถยนต์

วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายในแง่เศรษฐศาสตร์ว่า ทุกๆ 1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 ที่เกินกว่าระดับปลอดภัยตามเกณฑ์มาตรฐาน จะสร้างความเสียหายแก่คนกรุงเทพฯ มูลค่า 18,400 ล้านบาทต่อปี นั่นหมายความว่าเมื่อเป็นฝุ่น PM 2.5 จะยิ่งสร้างความเสียหายมากกว่า ในคราวนี้จึงขอเสนอมาตรการแก้ปัญหา 6 อย่าง คือ การสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของฝุ่นพิษ ลดการปล่อยฝุ่นพิษจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในรถยนต์ ลดฝุ่นจากการเผาในที่โล่งแจ้งในภาคเกษตร ควบคุมและตรวจสอบการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม สร้างความร่วมมือ ข้อตกลง และใช้มาตรการทางการค้าเพื่อป้องกันมลพิษจากประเทศเพื่อนบ้าน และการประเมินผลความสัมฤทธิ์ของมาตรการต่างๆ

ธรรมรัตน์ พุทธไทย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอมาตรการระยะยาวด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง โดยให้พิจารณาต้นไม้ที่ไม่ผลัดใบหรือใบร่วงน้อย เลือกพืชที่ใบมีขน มีความสากของใบ ซึ่งมีงานวิจัยรองรับว่าต้นไม้ที่ใบผิวหยาบ มีความสาก หรือมีขน จะสามารถดักจับฝุ่นได้ดีกว่าต้นไม้ที่มีผิวใบเรียบ ดังนั้น ต้นไม้ใหญ่และไม้พุ่มที่มีใบขนาดเล็กจำนวนมากจะมีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นละอองสูงกว่าต้นไม้ที่มีใบขนาดใหญ่แต่มีจำนวนใบน้อย

ด้าน วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า จากเวทีพูดคุยวันนี้ทำให้เห็นว่าฝ่ายวิชาการมีความเข้มแข็งมากในด้านข้อมูล ดังนั้น บทบาทต่อจากนี้ของ สช. คือการทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างภาควิชาการ ภาคประชาชน และฝ่ายนโยบายเข้าหากันตามทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา สร้างกระบวนการปรึกษาหารือ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับผิดชอบ ผ่านเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น และดึงข้อเสนอที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันไปสู่การปฏิบัติ

 “วิกฤตฝุ่น PM 2.5 ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะใช้พลิกฟื้นกรุงเทพฯ ไม่ใช่แค่ประเด็นเรื่องฝุ่น แต่รวมถึงประเด็นอื่นๆ อย่างเมืองสีเขียว เมืองจักรยาน กระบวนการต่างๆ จะประกอบเป็นภาพใหญ่ที่จะพลิกเมืองกรุงเทพฯ อย่างเป็นรูปธรรม” วีระศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท