รายงานสำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรปเผย มลภาวะกระทบสุขภาพคนจนมากกว่าคนรวย

สำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรป (EEA) เผยแพร่รายงาน ระบุ กลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุด มีการศึกษาน้อยที่สุด และอยู่ในพื้นที่ๆ มีอัตราการว่างงานสูงสุด เป็นกลุ่มที่ต้องแบกรับผลกระทบจากวิกฤตมลภาวะทางอากาศมากที่สุด

ที่มาภาพ: wikipedia

เมื่อ 4 ก.พ. 2562 รายงานของ EEA ที่ทำการสำรวจในยุโรประบุถึงปัจจัยเชื่อมโยงกันระหว่างปัญหาสิ่งแวดล้อมกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมในประเทศต่างๆ ของยุโรป โดยระบุว่าในขณะที่นโยบายของสหภาพยุโรปในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาจะ "ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทางสภาพความเป็นอยู่อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในแง่เศรษฐกิจและในแง่คุณภาพของสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังคงมีปัญหาความไม่เท่าเทียมในภูมิภาคนี้เกิดขึ้นอยู่"

โดยที่ EEA ระบุว่าประเทศในยุโรปที่ยากจนกว่าค่าเฉลี่ยและมีอัตราการว่างงานสูงกว่าจะเผชิญกับมลภาวะทางอากาศทั้งปัญหาฝุ่นละอองและปัญหาการก่อตัวของโอโซนที่ชั้นบรรยากาศระดับต่ำ ขณะเดียวกันในภูมิภาคที่ร่ำรวยกว่าก็มักจะมีระดับก๊าซไนโตรเจนไดอ็อกไซด์ (NO2) ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศสูงกว่า แต่ในเมืองใหญ่เหล่านี้ก็มักจะมีชุมชนคนที่ยากจนกว่าอาศัยอยู่ด้วยและกลุ่มประชาชนยากจนเหล่านี้มักจะได้รับก๊าซ NO2 มากกว่าด้วย

เดอะการ์เดียนยกตัวอย่างกรณีของกรุงลอนดอนที่เกือบครึ่งหนึ่งของย่านคนยากจนในลอนดอนต้องเผชิญกับระดับก๊าซ NO2 สูงกว่าที่สหภาพยุโรปกำหนดเพดานไว้เทียบกับย่านที่ร่ำรวยกว่าเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้ ซึ่งเรื่องนี้มาจากข้อมูลการสำรวจในปี 2560

การเผชิญกับมลภาวะเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพของประชากร เช่นกลุ่มคนที่เคยรอดชีวิตจากหัวใจวายในเกรตเตอร์ลอนดอนที่เผชิญกับมลภาวะทางอากาศเป็นเวลานานมีโอกาสจะถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลอีกครั้ง และยังเคยมีกรณีของ เอลลา คิสซี-เดบราห์ เด็กหญิงวัย 9 ปีที่เสียชีวิตเพราะโรคหอบหืด ซึ่งแม่ของเธอบอกว่าเป็นผลมาจากมลภาวะทางอากาศ แม่ของเอลลาเรียกร้องให้มีการบันทึกในใบมรณบัตรของเธอว่าเป็นการเสียชีวิตจากอากาศเป็นพิษ ซึ่งศาตราจารย์ด้านการแพทย์สตีเฟน โฮลเกท ยืนยันในเรื่องนี้ว่ามีมีความเกี่ยวข้องกันระหว่างการที่เอลลาถูกส่งเข้าห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลในช่วงเดียวกับที่มีระดับมลภาวะทางอากาศสูงขึ้นมาก

ไม่เพียงกรณีของเอลลาเท่านั้น ทางสถิติแล้วมีผู้คนในยุโรปมากกว่าครึ่งล้านรายเสียชีวิตก่อนกำหนดทุกปีจากการเผชิญมลภาวะทางอากาศอย่างฝุ่นละอองหรือก๊าซพิษ สิ่งที่คร่าชีวิตคนมากที่สุดคือฝุ่นละอองอนุภาคเล็ก PM 2.5 ขณะที่การก่อตัวของโอโซนที่ชั้นบรรยากาศระดับต่ำเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นสูงมากในประเทศยุโรปตะวันออกที่มีปัญหาความยากจน ปัญหาการว่างงาน และปัญหาด้านการศึกษา เช่น ประเทศโคโซโว ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็ก ขณะที่ประเทศไอซ์แลนด์ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

รายงานจาก EEA ระบุว่าร้อยละ 80 ของผู้ที่เสียชีวิตก่อนกำหนดจากมลภาวะทางอากาศจะมาจากอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง รองลงมาคือเสียชีวิตจากโรคปอดและโรคมะเร็ง นอกจากนี้มลภาวะทางอากาศยังเกี่ยวข้องกับการทำให้คนเป็นโรคเบาหวานในวัยผู้ใหญ่ โรคอ้วนในเด็ก การอักเสบของระบบต่างๆ ทั้งร่างกาย (systemic inflammation) โรคอัลไซเมอร์ และระดับ IQ ลดลงด้วย กลุ่มประชากรผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนชราและเด็กในพื้นที่ชนชั้นแรงงานในตัวเมือง

โดยที่รายงานของ EEA ระบุเน้นย้ำอีกว่าควรจะมีการจัดขบวนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและนโยบายทางสังคมให้มีความสอดคล้องกันมากกว่านี้ รวมถึงมีการพัฒนาปฏิบัติการระดับท้องถิ่นเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม

เรียบเรียงจาก

Europe's most deprived areas 'hit hardest by air pollution, The Guardian, Feb. 4, 2019

More action needed to protect Europe’s most vulnerable citizens from air pollution, noise and extreme temperature, EEA, Feb. 4, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท