Skip to main content
sharethis

หลังจากนำเสนอคลิปวิดีโอชวนนักเรียนคุย “รู้จัก 6 ตุลามั้ย” หลากหลายคำตอบและแววตาสงสัย สุดท้ายคนถามก็เริ่มสงสัยเลยกวาดซื้อหนังสือ สังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ ฯลฯ อะไรก็ได้ที่พูดถึงการเมืองไทยในชั้นมัธยม ไล่เปิดทีละเล่ม ทีละสำนักพิมพ์ ตื่นตาตื่นใจ 6 ตุลาร่วงหล่นอยู่ตรงไหน อธิบายยังไงให้เหมือนไม่อธิบาย

หลังทดลองสัมภาษณ์นักเรียน ม.ปลาย จากหลายโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานครสั้นๆ เพื่อสำรวจว่าความรับรู้ที่พวกเขามีต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นอย่างไร เกินครึ่งไม่แน่ใจและสับสนกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 การอธิบายส่วนใหญ่เป็นคีย์เวิร์ดสั้นๆ เช่น มีการแขวนคอ มีการล้อมปราบนักศึกษา จำนวนไม่น้อยไม่เคยได้ยินเรื่องนี้เลย บางคนก็บอกว่าไม่ได้เรียนในโรงเรียน แต่รู้จากอินเตอร์เน็ตรวมถึงมิวสิควิดีโอ ‘ประเทศกูมี’

 

ฉันไม่รู้จัก 6 ตุลา (1): สำรวจแบบเรียน-ความเข้าใจของนักเรียนไทยในปี 2562

ฉันไม่รู้จัก 6 ตุลา (2): นักสืบประวัติศาสตร์ผู้(กำลัง)ทำงานแข่งกับเวลา
 

ไม่ใช่ความผิดของเหล่านักเรียนแน่นอนที่จะจำเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ได้ แม้เหตุการณ์นี้จะโหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยและชุดภาพถ่ายเหตุการณ์ที่ถ่ายโดย นีล ยูเลวิช จะได้รับรางวัลพูลิตเซอร์โด่งดังไปทั่วโลก 

จนถึงวันนี้รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่ก็ยังคลุมเครือและไม่มีความชัดเจน เช่น จำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนคนถูกแขวนคอ ชื่อผู้เสียชีวิต หรือกระทั่งใครออกคำสั่งให้ล้อมปราบ ใครอยู่เบื้องหลังกลุ่มขวาจัด ฯลฯ 

คำตอบงงๆ ของเหล่านักเรียนนำไปสู่ความสงสัยว่า รัฐไทยอธิบายเรื่องนี้ให้เยาวชนเข้าใจว่าอย่างไร แต่นั่นอาจเป็นคำถามที่ดีเกินไป บางทีอาจต้องเริ่มต้นตั้งแต่ว่า รัฐไทยอธิบายเรื่องนี้หรือไม่ 

เรากวาดแบบเรียนจากหมวดสังคมศึกษาทั้งหมดเท่าที่หาได้มาอ่าน คละกันตั้งแต่ระดับชั้น ม.1-ม.6 จำนวนทั้งสิ้น 23 เล่ม แบ่งเป็นหลักสูตรปี 2544 จำนวน 4 เล่ม ปี 2551 จำนวน 15 เล่ม ปี 2559 จำนวน 2 เล่ม ปี 2560 จำนวน 2 เล่ม แบ่งเป็นของสำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช สำนักพิมพ์เอมพันธ์ จำกัด สำนักพิมพ์ประสานมิตร กระทรวงศึกษาธิการ กระทั่งของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่ทำหนังสือเฉพาะของตัวเอง

ข้อค้นพบคือ 

-แบบเรียนที่ไม่กล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาเลย มีจำนวน 17 เล่ม บางเล่มตลกกว่านั้นเพราะกล่าวถึง 14 ตุลาสั้นๆ แล้วข้ามไปที่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เลย บางเล่มไม่กล่าวถึงทั้ง 14 ตุลาและ 6 ตุลาแต่กล่าวถึงเหตุการณ์พฤษภา 35 หรือมี 3 เล่มตัดจบที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 

-แบบเรียนที่มีกล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาเล็กน้อยมีอยู่ 2 เล่มโดยเป็นแค่การอ้างอิงถึง ได้แก่ ‘หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ม.4-6’ เล่ม 1 และ 2 (ฉบับปี 2551) ของสำนักพิมพ์วัฒนาพานิช

-แบบเรียนที่ให้รายละเอียดเหตุการณ์อย่างสั้น 1 เล่ม ได้แก่ ‘สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3’ (ฉบับปี 2544) ของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช เป็นเล่มเดียวที่กล่าวว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 100 กว่าคน ซึ่งมากกว่าเอกสารชันสูตรพลิกศพคดี 6 ตุลาซึ่งระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 46 คน มีการพูดถึงคดีหมิ่นพระบรมฯ แต่ไม่พูดถึงการเล่นละครแขวนคอฯ ของนักศึกษาก่อนหน้านั้น 

-อีกเล่มที่กล่าวรายละเอียดและมีบริบทสังคมการเมืองเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย พูดถึงพรรคการเมืองในสมัยนั้นซึ่งเล่มอื่นไม่ได้พูดถึง คือ ‘หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ม.2’ (ฉบับปี 2551) ของสำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด โดยในหัวข้อ ‘เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519’ 

-แบบเรียน 2 เล่มที่มีเนื้อหาเหมือนกัน และเขียนถึง 6 ตุลาไว้ยาวที่สุดในบรรดาทุกเล่ม โดยให้รายละเอียดเหตุการณ์คร่าวๆ และสาเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิด 14 ตุลา ซึ่งเกี่ยวโยงมาจนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา คือ ‘ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย’ (ฉบับปี 2559) ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, ‘ประวัติศาสตร์ไทย’ (ฉบับปี 2551) ของกระทรวงศึกษาธิการ

‘หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ม.4-ม.6’ (ฉบับปี 2551) ของสำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด ไม่กล่าวถึงทั้ง 14 ตุลาและ 6 ตุลาแต่กล่าวถึงเหตุการณ์พฤษภา 35

 

‘สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ม.2’ (ฉบับปี 2551) ของสำนักพิมพ์วัฒนาพานิช กล่าวถึง 14 ตุลาสั้นๆ แล้วข้ามไปที่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เลย

 

ประวัติศาสตร์ไทยม.4-6’ (ฉบับปี 2551) ของสำนักพิมพ์วัฒนาพานิช ตัดจบที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

 

ประวัติศาสตร์ไทยม.4-6’ (ฉบับปี 2551) ของสำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด ตัดจบที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

 

ประวัติศาสตร์ไทยม.4-6’ (ฉบับปี 2551) ของสำนักพิมพ์เอมพันธ์ จำกัด ตัดจบที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

 

‘หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ม.4-6’ เล่ม 1 (ฉบับปี 2551) ของสำนักพิมพ์วัฒนาพานิช

กล่าวถึงในตอนที่พูดเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-2524) โดยอธิบายว่า 

“...มุ่งพัฒนาประเทศภายใต้แนวคิดที่เรียกว่า “กระจายความเจริญสู่ชนบท” เนื่องจากการพัฒนาที่ผ่านมาเน้นเฉพาะในส่วนกลางและเกิดภาวะเงินเฟ้อ การว่างงาน ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และสังคม และความไร้เสถียรภาพทางการเมือง (หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519) โดยเน้นกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค 2 แนวทาง คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยขยายการผลิตด้านการเกษตร และปรับปรุงโครงการสร้างอุตสาหกรรม...”

 

‘หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ม.4-6’ เล่ม 2 (ฉบับปี 2551) ของสำนักพิมพ์วัฒนาพานิช

อยู่ในหัวข้อ ‘ปัญหาสถาบันทางการเมือง’ ในหัวข้อย่อย ‘กลุ่มผลประโยชน์’ โดยกล่าวถึงในย่อหน้าหนึ่งว่า 

“การแทรกแซงด้วยวิธีทางกฎหมาย เป็นการแทรกแซงโดยการที่รัฐจะใช้วิธีการออกกฎหมายเพื่อห้ามกลุ่มผลประโยชน์ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยบัญญัติให้กลุ่มมีฐานะเป็นเพียงสมาคมทางสังคมไม่มีบทบาททางการเมือง หรือการออกกฎอัยการศึกหรือประกาศคณะปฏิวัติฉบับต่างๆ ที่ห้ามการรวมกลุ่มทางการเมือง ส่วนการแทรกแซงด้วยการจัดตั้งกลุ่มหรือสนับสนุนกลุ่มบางกลุ่มเพื่อต่อต้านกลุ่มผลประโยชน์ที่เรียกร้องสิ่งต่างๆ จากรัฐ เช่น การจัดตั้งกลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดงขึ้นมาคานอำนาจกลุ่มนักศึกษาในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519”

 

‘สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3’ (ฉบับปี 2544) ของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ให้รายละเอียดเหตุการณ์อย่างสั้น

เป็นเล่มเดียวที่กล่าวว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 100 กว่าคน ซึ่งมากกว่าเอกสารชันสูตรพลิกศพคดี 6 ตุลาซึ่งระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 46 คน มีการพูดถึงคดีหมิ่นพระบรมฯ แต่ไม่พูดถึงการเล่นละครแขวนคอฯ ของนักศึกษาก่อนหน้านั้น 

“ขณะเดียวกัน จอมพลถนอม กิตติขจร ได้เดินทางกลับเข้าประเทศเพื่ออุปสมบท เป็นเหตุให้นิสิตนักศึกษาทำการประท้วงให้เดินทางกลับออกไป แต่เหตุการณ์กลับถูกแปลงเป็นคดีหมิ่นพระบรมโอรสาธิราช กลุ่มนวพล กระทิงแดง และลูกเสือชาวบ้าน พากันมาชุมนุมหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมทั้งตำรวจตระเวนชายแดน เช้าวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 การปราบปรามก็ได้เริ่มขึ้น มีนักศึกษาเสียชีวิตกว่า 100 คน และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก ในที่สุดกลุ่มทหารนำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ได้เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช”“การแก้ปัญหาความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม นักศึกษาหลบหนีเข้าป่ากันมาก ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น ยากแก่การปราบปราม รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้พยายามแก้ปัญหาไม่ใช้ความรุนแรง หันมาใช้นโยบายการเมืองนำหน้าการทหาร โดยส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้แข็งแกร่ง ขจัดความไม่เป็นธรรมในสังคมประกาศนิรโทษกรรมนักวิชาการและนิสิตนักศึกษา ที่หนีเข้าไปอยู่ในป่าโดยให้มีสิทธิเข้าทำงาน หรือเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาเดิมได้ การนี้ รัฐบาลสามารถชักชวนนักศึกษาออกมาจากป่า และสามารถสลายพลังของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ในที่สุด”

 

‘หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ม.2’ (ฉบับปี 2551) ของสำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด

เล่มที่ให้รายละเอียดเหตุการณ์่และมีบริบทสังคมการเมืองเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย พูดถึงพรรคการเมืองในสมัยนั้นซึ่งเล่มอื่นไม่ได้พูดถึง โดยในหัวข้อ ‘เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519’ ย่อหน้าแรกกล่าวว่า 

“ผลสืบเนื่องจากบรรยากาศทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช2517 ที่กลุ่มนักศึกษา ประชาชน และกลุ่มชาวนาชาวไร่ เกิดความสำนึกและตื่นตัวทางการเมือง สังคมไทยมีบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยสูง มีการแข่งขันทางการเมืองระหว่างพรรคการเมืองที่มีมากถึง 22 พรรค โดยแต่ละพรรคอยู่ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มทุนที่เจริญก้าวหน้าขึ้นมาจากยุคส่งเสริมการลงทุน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 รวมทั้งการเมืองไทยในระบบรัฐสภาก็มีการแข่งขันช่วงชิงอำนาจกันเป็นเวลากว่า 3 ปี จนกระทั่งจอมพล ถนอม กิตติขจร อดีตผู้นำประเทศ ได้เดินทางกลับมาประเทศไทย จึงเป็นสาเหตุให้นิสิตนักศึกษา และประชาชนจำนวนมากลุกขึ้นมาต่อต้านการกลับมาของจอมพล ถนอม กิตติขจร และเรียกร้องประชาธิปไตยอีกครั้งด้วยการรวมตัวกันชุมนุมประท้วงการกลับมาของผู้นำคนดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในสมัยรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช”

 

‘ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย ชั้นม.4’ (ฉบับปี 2559) ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นหนึ่งในสองเล่มที่มีเนื้อหาเหมือนกันและเขียนถึง 6 ตุลาไว้ยาวที่สุดในบรรดาทุกเล่ม โดยให้รายละเอียดเหตุการณ์คร่าวๆ และสาเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิด 14 ตุลา ซึ่งเกี่ยวโยงมาจนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา ดังตัวอย่าง

'การรวมกลุ่มเคลื่อนไหว'

“สภาพการณ์ภายหลังวิกฤติการณ์ 14 ตุลาคม 2516… นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เข้ามาเป็นผู้นำในการบริหารประเทศในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงมุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในเวลานั้นประเทศไทยประสบปัญหาในหลายด้านซึ่งเป็นปัญหาที่หมักหมมกันมายาวนาน เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองพ้นจากระบบเผด็จการก้าวมาสู่ยุคประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมากขึ้น นิสิตนักศึกษาและประชาชนบางส่วนใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขต ต้องการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยเร็ว ซึ่งในบางครั้งเป็นการละเมิดกฎหมาย รัฐบาลไม่อาจตอบสนองความต้องการได้ บางกลุ่มโจมตีรัฐบาลในทางที่เสียหาย เกิดความขัดแย้งกัน”

“แนวคิดทางการเมืองไทยเกิดความแตกแยกสถานการณ์ขณะนั้นประชาชนส่วนใหญ่ต่างพากันเบื่อหน่ายกลุ่มพลังต่างๆ ซึ่งพากันประท้วงรัฐบาลและเรียกร้องต่างๆ นานา นอกจากนั้นประชาชนยังเบื่อหน่ายรัฐบาลและนักการเมืองที่เกิดการแตกแยกและแย่งชิงผลประโยชน์กัน...”

“เกิดการรวมกลุ่มต่างๆ มากมายหลายกลุ่ม บางกลุ่มมีจุดหมายช่วยเหลือสังคม บางกลุ่มมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มตน กลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มนิสิตนักศึกษา กลุ่มครู กลุ่มนักศึกษาอาชีวะ กลุ่มชาวไร่ชาวนา กรรมกร พระสงฆ์ เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้พยายามเคลื่อนไหวตามแนวทางของตน เช่น เผยแพร่ประชาธิปไตยในชนบท ช่วยเหลือผู้ที่ถูกกดขี่ข่มแหงให้ได้รับความยุติธรรม เรียกร้องค่าจ้างแรงงานให้สูงขึ้น เดินขบวนขับไล่ผู้บริหารออกจากตำแหน่ง ให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาพืชผลราคาตกตต่ำ การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ บางครั้งกระทำไปในลักษณะรุนแรง ฝ่าฝืนกฎหมายและทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เช่น การนัดหยุดงาน เป็นต้น”

'กระแสคอมมิวนิสต์'

“ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเริ่มเสื่อมความนิยม เนื่องจากประชาชนเห็นว่าศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเข้าไปก้าวก่ายหน้าที่ของรัฐบาล เป็นเหตุให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างราบรื่น ฝ่ายสูญเสียผลประโยชน์และกลุ่มอำนาจเก่าเริ่มรวมตัวกัน และพยายามปลุกกระแสให้ประชาชนเห็นว่านิสิตนักศึกษายุยงประชาชนให้ก่อเหตุวุ่นวาย มีการประท้วงรัฐบาลอย่างพร่ำเพรื่อและใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย นอกจากนั้นยังกล่าวหานักศึกษาอย่างรุนแรงว่าเป็นพวกนิยมคอมมิวนิสต์ ต้องการล้มล้างชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

 

‘ประวัติศาสตร์ไทย ชั้นม.4-6’ (ฉบับปี 2551) ของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหนึ่งในสองเล่มที่มีเนื้อหาเหมือนกันและเขียนถึง 6 ตุลาไว้ยาวที่สุดในบรรดาทุกเล่ม โดยให้รายละเอียดเหตุการณ์คร่าวๆ และสาเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิด 14 ตุลา ซึ่งเกี่ยวโยงมาจนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา ดังตัวอย่าง

'การรวมกลุ่มเคลื่อนไหว'

“สภาพการณ์ภายหลังวิกฤติการณ์ 14 ตุลาคม 2516… นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เข้ามาเป็นผู้นำในการบริหารประเทศในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงมุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในเวลานั้นประเทศไทยประสบปัญหาในหลายด้านซึ่งเป็นปัญหาที่หมักหมมกันมายาวนาน เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองพ้นจากระบบเผด็จการก้าวมาสู่ยุคประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมากขึ้น นิสิตนักศึกษาและประชาชนบางส่วนใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขต ต้องการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยเร็ว ซึ่งในบางครั้งเป็นการละเมิดกฎหมาย รัฐบาลไม่อาจตอบสนองความต้องการได้ บางกลุ่มโจมตีรัฐบาลในทางที่เสียหาย เกิดความขัดแย้งกัน”

“แนวคิดทางการเมืองไทยเกิดความแตกแยกสถานการณ์ขณะนั้นประชาชนส่วนใหญ่ต่างพากันเบื่อหน่ายกลุ่มพลังต่างๆ ซึ่งพากันประท้วงรัฐบาลและเรียกร้องต่างๆ นานา นอกจากนั้นประชาชนยังเบื่อหน่ายรัฐบาลและนักการเมืองที่เกิดการแตกแยกและแย่งชิงผลประโยชน์กัน...”

“เกิดการรวมกลุ่มต่างๆ มากมายหลายกลุ่ม บางกลุ่มมีจุดหมายช่วยเหลือสังคม บางกลุ่มมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มตน กลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มนิสิตนักศึกษา กลุ่มครู กลุ่มนักศึกษาอาชีวะ กลุ่มชาวไร่ชาวนา กรรมกร พระสงฆ์ เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้พยายามเคลื่อนไหวตามแนวทางของตน เช่น เผยแพร่ประชาธิปไตยในชนบท ช่วยเหลือผู้ที่ถูกกดขี่ข่มแหงให้ได้รับความยุติธรรม เรียกร้องค่าจ้างแรงงานให้สูงขึ้น เดินขบวนขับไล่ผู้บริหารออกจากตำแหน่ง ให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาพืชผลราคาตกตต่ำ การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ บางครั้งกระทำไปในลักษณะรุนแรง ฝ่าฝืนกฎหมายและทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เช่น การนัดหยุดงาน เป็นต้น”

'กระแสคอมมิวนิสต์'

“ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเริ่มเสื่อมความนิยม เนื่องจากประชาชนเห็นว่าศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเข้าไปก้าวก่ายหน้าที่ของรัฐบาล เป็นเหตุให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างราบรื่น ฝ่ายสูญเสียผลประโยชน์และกลุ่มอำนาจเก่าเริ่มรวมตัวกัน และพยายามปลุกกระแสให้ประชาชนเห็นว่านิสิตนักศึกษายุยงประชาชนให้ก่อเหตุวุ่นวาย มีการประท้วงรัฐบาลอย่างพร่ำเพรื่อและใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย นอกจากนั้นยังกล่าวหานักศึกษาอย่างรุนแรงว่าเป็นพวกนิยมคอมมิวนิสต์ ต้องการล้มล้างชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

 

'หน้าที่พลเมืองและวัฒนธรรมการดำเนินชีวิต ชั้นม.4' (ฉบับปี 2559) ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา 

ไม่มีกล่าวถึง

 

'สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นม.1' (ฉบับปี 2544) ของสำนักพิมพ์ประสานมิตร

ไม่มีกล่าวถึง

 

'หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตในสังคม ชั้นม.4-6' (ฉบับปี 2551) ของกระทรวงศึกษาธิการ

ไม่มีกล่าวถึง

 

'สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม เศรษฐศาสตร์ และภูมิศาสตร์ ชั้นม.1' (ฉบับปี 2560) ของสำนักพิมพ์วัฒนาพานิช

ไม่มีกล่าวถึง

 

'หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ม.3' (ฉบับปี 2551) ของสำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด

ไม่มีกล่าวถึง

 

'สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ม.3' (ฉบับปี 2551) ของสำนักพิมพ์วัฒนาพานิช

ไม่มีกล่าวถึง

 

'หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ม.4-6' (ฉบับปี 2551) ของสำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด

ไม่มีกล่าวถึง

 

 

'สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตในสังคม เศรษฐศาสตร์ และภูมิศาสตร์ ม.1' (ฉบับปี 2560) ของสำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด

ไม่มีกล่าวถึง

 

'ประวัติศาสตร์ ม.1' (ฉบับปี 2544) ของสำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด

ไม่มีกล่าวถึง

 

'หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ม.1' (ฉบับปี 2551) ของสำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด

ไม่มีกล่าวถึง

 

'สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ม.1' (ฉบับปี 2544) ของสำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด

ไม่มีกล่าวถึง

 

'สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ม.3' (ฉบับปี 2551) ของสำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด

ไม่มีกล่าวถึง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net