Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


หลักการ “นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.” คือ มรดกของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เป็นผลพวงจากการต่อสู้ของประชาชนผู้รักประชาธิปไตยต่อระบอบ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ตามรัฐธรรมนูญ 2521 และ 2534

“ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ต้องการให้การเลือกตั้งเป็นเพียง “เครื่องประดับ” เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นประชาธิปไตย แต่เมื่อเลือกตั้งแล้ว พรรคการเมืองต่างๆก็เชิญนายทหารเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ประกอบไปด้วยนายทหารและข้าราชการประจำ

ยามใดก็ตามที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ว่านายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็น ส.ส. ย่อมมีโอกาสที่ “คนนอก” จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 และรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ต้องการทำลายหลักการ “นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.” แต่ไม่สำเร็จ ความพยายามนี้มาสำเร็จลงเมื่อคราวรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นผลพวงของรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ได้แปลง “นายกฯ คนนอก” ให้กลายเป็น “นายกฯ คนใน” ด้วยการกำหนดให้พรรคการเมืองเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีได้ 3 รายชื่อ โดยไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. นั่นหมายความว่า “นายกฯคนนอกที่ไม่ได้เป็น ส.ส.” ถูกสถาปนาเข้าไปในรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว

เราต้องแลกเลือดเนื้อ ชีวิต ของประชาชนไปจำนวนมากกว่าประเทศไทยจะสถาปนาหลักการ “นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.” ลงไปในรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันมิให้ “คนนอก” ฉวยโอกาสเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นพรรคการเมืองที่ประกาศตนเป็นฝ่ายประชาธิปไตย บุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีของฝ่ายประชาธิปไตย ต้องไม่ยินยอมใช้ช่องทาง “นายกฯคนนอก” ที่ถูกแปลงให้เป็น “นายกฯคนใน” ตามรัฐธรรมนูญ 2560

คำว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ไม่ใช่เพียงแค่การต่อต้าน คสช. หรือการยุติการสืบทอดอำนานของ คสช.เท่านั้น แต่ต้องหมายความถึงความพยายามในการพิทักษ์รักษาหลักการประชาธิปไตยที่ประชาชนได้ร่วมกันต่อสู้มาด้วย

ในบรรดาตำแหน่งหรือองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐทั้งหลาย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นเพียงตำแหน่งเดียวที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ในขณะที่ตำแหน่งอื่นๆ มาจากการแต่งตั้ง ดังนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นตำแหน่งที่ทรงเกียรติ และเป็น “ตัวแทน” ของประชาชนมาใช้อำนาจรัฐ

การลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. มิใช่เรื่องความถนัดหรือไม่ถนัด แต่นี่คือหน้าที่ คือภารกิจ คือการสร้างความชอบธรรม และเมื่อเป็น ส.ส.แล้ว หากได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรให้ไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็สามารถเปลี่ยนไปทำงานด้านบริหารราชการแผ่นดินได้

การต่อต้านเผด็จการต้องไม่ใช้การเล่นแร่แปรธาตุทางรัฐธรรมนูญของพวกเผด็จการ

การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 คือ การยุติการสืบทอดอำนาจของ คสช.

การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 คือ การต่อต้านเผด็จการทั้งในรูปของตัวบุคคล และในรูปของมรดกที่เผด็จการทิ้งไว้กับเรา

การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 คือ การปกป้องรักษาหลักการ “นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.”

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net