Skip to main content
sharethis

องค์กรแรงงานญี่ปุ่นระบุร้อยละ 70 ของคนทำงานชาวญี่ปุ่นที่ทำงานอยู่ในบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก รู้สึกว่าขณะนี้ไม่มีการกระจายความมั่งคั่ง เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการขึ้นค่าจ้าง


ที่มาภาพประกอบ: Chris 73 (CC BY-SA 3.0)

NHK WORLD-JAPAN รายงานเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมาว่าบรรดาผู้นำจากองค์กรธุรกิจและแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นได้เห็นตรงในหลักการว่าการขึ้นค่าจ้างมีความจำเป็น แต่พวกเขายังมีความเห็นต่างว่าจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้อย่างไร

ประธานสหพันธ์ธุรกิจแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Business Federation) หรือ เคดันเร็ง (Keidanren) และประธานสหพันธ์สหภาพแรงงานแห่งญี่ปุ่น (Japanese Trade Union Confederation) หรือ เร็งโง (Rengo) ได้พบหารือกันที่กรุงโตเกียวในวันอังคารที่ 5 ก.พ. ก่อนหน้าการเจรจาค่าจ้างประจำปีในฤดูใบไม้ผลิของญี่ปุ่น

การเจรจาค่าจ้างประจำปีในฤดูใบไม้ผลิของญี่ปุ่น

ที่ญี่ปุ่น ลูกจ้างและนายจ้างในบริษัทต่าง ๆ ส่วนมากจะเจรจากันทุกปีเกี่ยวกับค่าจ้างและเงื่อนไขการทำงาน โดยจะเจรจากันก่อนที่ปีงบประมาณใหม่จะมาถึงในเดือนเมษายน ธรรมเนียมปฏิบัติเช่นนี้เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า ชุนโต หรือศึกในฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคมซึ่งเป็นช่วงจัดการเจรจานั้นเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิ แต่เมื่อแปลเป็นภาษาอื่น ก็มักจะถูกเรียกว่า การเจรจาค่าจ้างประจำปี

สหภาพแรงงานในญี่ปุ่นมักจะเป็นสหภาพแรงงานในบริษัท ซึ่งต่างกับยุโรปหรือสหรัฐที่มักจะจัดตั้งสหภาพแรงงานครอบคลุมแรงงานในสาขาเดียวกันจากหลายบริษัท ดังนั้นในญี่ปุ่น สหภาพแรงงานแต่ละแห่งจึงมีอำนาจการต่อรองแตกต่างกันไป และเพื่อที่จะลดช่องว่างอำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงานต่าง ๆ และมุ่งให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น บรรดาสหภาพแรงงานของบริษัทและภาคธุรกิจต่าง ๆ จึงได้หันมาจัดการเจรจากับฝ่ายนายจ้างในช่วงเวลาเดียวกันของแต่ละปี การกระทำเช่นนี้เริ่มขึ้นเมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว

บรรดาสหภาพแรงงานในบริษัทขนาดใหญ่จะยื่นข้อเรียกร้องต่อฝ่ายนายจ้างในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่สหภาพแรงงานในบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กจะยื่นข้อเรียกร้องหลังจากนั้นเพื่อเจรจาเงื่อนไขโดยอิงผลการเจรจาของบริษัทขนาดใหญ่ และโดยส่วนมากแล้ว ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างจะตกลงกันได้ในเดือนมีนาคม

ในช่วงหลังเกิดภาวะฟองสบู่แตกในญี่ปุ่นเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1990 ทั้งลูกจ้างและนายจ้างต่างก็หันมาเน้นเรื่องเสถียรภาพในการจ้างงาน การลดชั่วโมงทำงาน และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน มากกว่าจะให้มีการเพิ่มค่าจ้าง อย่างไรก็ตามในช่วงไม่นานมานี้ ได้กลับมามีการจับตามองเรื่องการเพิ่มค่าจ้างมากขึ้นอีกครั้ง

นายฮิโรอากิ นากานิชิ ประธานเคดันเร็งกล่าวว่า ผลประกอบการของบริษัทต่างๆ อาจจะเพิ่มขึ้นพอสมควรในช่วงไตรมาสล่าสุดนี้ เขากล่าวว่าปีนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนในการตัดสินใจว่าจะคงผลประกอบการดังกล่าวไว้และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างไร

นายนากานิชิกล่าวเพิ่มเติมว่า สภาพการทำงานและค่าจ้างมีความสำคัญมาก ตนหวังว่าจะหารือประเด็นเหล่านี้อย่างครอบคลุมและรักษาแรงขับเคลื่อนดังกล่าวไว้

ด้านนายริกิโอะ โคซุ ประธานเร็งโงกล่าวว่า ร้อยละ 70 ของแรงงานชาวญี่ปุ่นทำงานอยู่ในบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก พวกเขารู้สึกว่าขณะนี้ไม่มีการกระจายความมั่งคั่ง และว่าที่ผ่านมายังไม่มีการขึ้นค่าจ้าง

บรรดาเจ้าหน้าที่ของเคดันเร็งกำลังพิจารณาปรับเพิ่มค่าจ้างพื้นฐาน รวมถึงตัวเลือกอื่นๆ ในการให้ลูกจ้างได้รับค่าตอบแทนมากขึ้น ด้านเร็งโงก็กำลังให้ความสำคัญกับการเพิ่มค่าจ้างพื้นฐาน โดยมุ่งเน้นไปที่ว่าการขึ้นค่าจ้างพื้นฐานนั้นจะสามารถเป็นไปได้ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นภาษีผู้บริโภคที่กำหนดไว้ในเดือน ต.ค. นี้หรือไม่

ที่มา
Keidanren, Rengo agree on need for pay hikes (NHK WORLD-JAPAN, 5/2/2019)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net