ชวนย้อนอ่านงานเขียนเล่มแรกของสุรชัย แซ่ด่าน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ให้แดงฉาน   งามเลิศล้น
ก้าวไปรับใช้   ผู้ทุกข์ทน
ไม่หมองหม่น   แต่เริงร่า อย่างท้าทาย
 

ข้างต้นคือบทกวีไร้ชื่อที่กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงเขียนมอบให้สุรชัย แซ่ด่าน เมื่อครั้งเดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจเขาขณะถูกจองจำเป็นนักโทษประหารคนที่ 310 ของเรือนจำบางขวาง ซึ่งทำให้เขาซาบซึ้งจนถึงกับหลั่งน้ำตาออกมา ดังที่เขาเขียนบรรยายความรู้สึกไว้ในหนังสือ “ตำนานนักสู้ สุรชัย แซ่ด่าน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสนามหลวง เล่ม 1” ซึ่งเขาเขียนขณะอยู่ในคุก ราวปี 2530 

“และพอถึงวันที่ 19 มีนาคม 2529 ตรงกับวันพุธ ก่อนที่ผมจะยื่นเรื่องราวทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประมาณสิบวัน คณะนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงจำนวนนับร้อยคนก็เดินทางมาเยี่ยม มอบดอกไม้ให้กำลังใจ พร้อมทั้งบรรจงเขียนบทกวีที่ปลุกเร้าให้หัวใจเต้นเร่า พองโตจนคับอก […] มันเป็นวันที่ผมรู้สึกตื้นตันใจที่สุดในชีวิต ความรู้สึกมันพุ่งขึ้นอัดแน่นคับอกจนพูดไม่ออก น้ำตาที่พยายามจะกลั้นเอาไว้มันไหลออกมาอย่างไม่อาจจะอดกลั้น ความตาย ความทุกข์ยากทรมานแค่ไหนก็ไม่อาจจะรีดน้ำตาของผมให้ไหลออกมาได้ แต่ความตื้นตันจากสิ่งที่ได้รับในทางประชามติทางด้านมนุษยธรรมขณะที่กำลังถูกทับถมอย่างสุดขีดนั้น มันท่วมท้นเลิศล้ำจนสุดพรรณนาทีเดียว...” (น.384) 

หนังสือเล่มดังกล่าว สุรชัย แซ่ด่าน เขียนบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาผ่านเรื่องเล่า 16 บท ที่เต็มไปด้วยประสบการณ์อันเข้มข้น โลดโผน และพลิกผัน จากช่างซ่อมวิทยุธรรมดาที่ทำมาหากินตามประสา จับพลัดจับผลูไปเป็นผู้นำมวลชนภูธรที่มีชื่อเสียง เป็นดาวปราศรัยฝีปากคมกล้า ก่อนเข้าไปเป็นสหายในป่า เดินฝ่าดงปืน เหยียบกับระเบิด ผ่านความตายมาหลายครั้ง เช่นเดียวกับที่เดินฝ่าความรักและการพลัดพรากครั้งแล้วครั้งเล่า กระทั่งกลายมาเป็นนักโทษประหารคนที่ 310 ของเรือนจำบางขวาง เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยสนามหลวง เป็นนักโทษคดี 112 และล่าสุด เป็นผู้ลี้ภัยที่หายสาบสูญบนดินแดนอื่น 

คำบอกเล่าในหนังสือมีน้ำเสียงเข้มแข็งห้าวหาญ และจับร่องรอยได้ว่าผู้เขียนพยายามให้น้ำหนักกับเรื่องราวการต่อสู้ทางการเมืองมากกว่าจะเปิดเผยบางส่วนเสี้ยวในชีวิตที่อาจสุ่มเสี่ยงให้เกิดการตีความไปในทางอ่อนแอ อาจเป็นได้ว่าเขาติดลักษณะนิสัยเช่นนี้มาจากป่า ดังที่เขาเขียนเล่าไว้ในหนังสือถึงเหตุการณ์ครั้งจะเดินทางออกจากป่าไปเจรจากับทางการไทยในฐานะ “ทูตสันติภาพ” ที่นำไปสู่การถูก “หักหลัง” จนสิ้นอิสรภาพ ก่อนออกเดินทางเขาเขียนจดหมายถึงหญิงคนรักในอีกเขตงานเพื่อกล่าวคำลา ทว่าเมื่อเขียนเสร็จกลับฉีกมันทิ้งเสีย เพียงเพราะเกรงจะถูกมองว่าอ่อนแอ 

“ผมจัดการทำบัญชีเรื่องเงินทองสิ่งของต่างๆ เอาไว้ให้พร้อมเพื่อคนอยู่ข้างหลังจะได้สะดวก จากนั้นก็เขียนจดหมายถึงคนรักฉบับหนึ่ง บอกเล่าแต่เพียงว่า ได้รับมอบภารกิจจากทางพรรคฯ ให้ไปทำ ผมต้องไป แต่การจากไปครั้งนี้ผมอาจจะไม่ได้กลับมาอีก เพราะผมรู้สึกในทางร้ายอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าหากผมไม่ได้กลับมาอีกก็ถือว่าจดหมายฉบับนี้เป็นการจากลา จดหมายเขียนเสร็จปิดผนึกเรียบร้อย จ่าหน้าส่งคุณพนารีย์ ไฟลามทุ่ง ค่าย 79 ตั้งรวมกับสิ่งของที่เธอฝากซื้อเอาไว้ แต่ครั้นพอถึงเวลาออกเดินทาง ผมก็ตัดสินใจฉีกทิ้งเสีย เพราะเห็นว่าเป็นจดหมายที่เขียนแสดงความอ่อนแอออกไป ทำให้ขาดความองอาจกล้าหาญในขณะรับหน้าที่จากพรรคฯ” (น.347-348)

กระนั้น ร่องรอยอ่อนไหวที่น่าสนใจยิ่งยังแทรกผ่านความห้าวหาญออกมาอย่างมิอาจปิดบัง และบางร่องรอยช่วยย้ำคำตอบอย่างกระจ่างชัดว่าเหตุใด สุรชัย แซ่ด่าน จึงเลือกเดินบนเส้นทางยาวไกลสายนี้ ทั้งที่เต็มไปด้วยขวากหนามและความทุกข์ยาก ดังที่ปรานี ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ “ป้าน้อย” ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของเขากล่าวในวันพบศพลอยน้ำว่า

“ตนได้เตรียมใจสำหรับเรื่องแบบนี้ไว้ตั้งแต่ก่อนแต่งงานแล้วว่า ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องการเมืองส่วนใหญ่ถ้าไม่ตายก็ติดคุก หรือไม่ก็ต้องหนีออกจากประเทศเท่านั้น”

(ไทยรัฐ. 2562: ออนไลน์)

เพราะผมผ่านความหิวเช่นนี้มาแล้ว

สุรชัย แซ่ด่าน เล่าไว้ในหนังสือว่า เขาเติบโตที่ตำบลท่าพญา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ครอบครัวของเขาเช่าที่ดินป่าช้าเก่าของ “วัดสระ” ปลูกบ้านอยู่ พ่อของเขาเป็นชาวจีนไหหลำที่อพยพหนีความอดอยากมาในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ครั้งอยู่จีนเคยเป็นครูสอนหนังสือ แต่เมื่อมาอยู่นครศรีธรรมราชยึดอาชีพช่างทำทอง เย็บผ้า และค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ ฐานะของครอบครัวจึงยากจน 

เดิมเขาชื่อ “บุญสี” เข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดสระใกล้บ้าน เรียนดีจนสอบได้ที่หนึ่งเกือบทุกปี แต่จบประถมสี่แล้วพ่อแม่ไม่มีเงินส่งเรียนต่อ จึงเที่ยวยิงนกตกปลาอยู่ที่บ้านนานเป็นปี ก่อนน้าชายซึ่งเปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่ในตลาดปากพนังจะพาไปเรียนต่อมัธยมที่โรงเรียนปากพนังวิทยา ทว่าชีวิตการเรียนของเขาไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากอัตคัดขาดแคลน พ่อแม่ไม่ได้ช่วยส่งเสีย น้าชายที่รับเขาไปอุปการะก็ยังมีฐานะลุ่มๆ ดอนๆ ทั้งยังต้องส่งน้องชายอีกสองคนเรียน น้าสะใภ้ก็ไม่สู้จะชอบเขานัก เช่นเดียวกับครูที่โรงเรียนซึ่งมองว่าเขาเป็นเด็กดื้อ หัวแข็ง และไม่เอาถ่าน ไม่ทันจบมัธยมสองเขาก็ต้องระเห็จออกไปอยู่นอกบ้าน เพราะมีปัญหากับน้าสะใภ้

“...ด้วยเหตุอันใดผมจำไม่ได้แล้ว เมื่อน้าสะใภ้จะเฆี่ยนผม ผมก็ไม่ยอม เพราะไม่ผิดและก็อาย เพราะตอนนั้นอายุตั้ง 14 ปีแล้ว ผมเลยเข้าบ้านไม่ได้ ต้องไปอาศัยบ้านเศรษฐีเจ้าของโรงสีไฟที่อยู่ติดหลังบ้านน้าชายทำงานช่วยเขาเพื่อแลกข้าวไปโรงเรียน วันเสาร์-อาทิตย์ก็เอาไอติมที่ทางบ้านเศรษฐีทำส่งไปขาย ได้กำไรเล็กๆ น้อยๆ เป็นค่าขนม จนสอบชั้นมัธยมปีที่สอง...” (น.30) 

ปิดเทอมหลังสอบไล่มัธยมสองนั้นเองเขาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปกับเพื่อนซึ่งมีญาติเปิดร้านขายของเด็กเล่นอยู่แถวเยาวราช 

“...ผมไม่มีเงินสักบาท รองเท้าก็ไม่มีใส่ มีเพียงกางเกงขาสั้น 2 ตัว กับเสื้อ 2 ตัว ก็ตามมากับมันด้วย เรานั่งเรือเดินทะเลจากปากพนังมากรุงเทพฯ ค่าโดยสารเด็กลดครึ่งราคา คนละ 28 บาท 50 สตางค์ เรือวิ่ง 5 วัน 5 คืน ถึงกรุงเทพฯ เพราะแวะรับสินค้ามะพร้าวแห้งตลอดทาง ปีนั้นเป็นปี พ.ศ.2500 ที่จอมพล ป.พิบูลสงครามยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่” (น. 31) 

พอเปิดเทอมเพื่อนกลับนครศรีธรรมราชไปเรียนต่อ เขาคิดดูแล้วว่าถ้ากลับไปเรียนก็คงลำบาก จึงอยู่ทำงานเป็นลูกจ้างขายของหน้าร้านลุงของเพื่อนนั้นแหละ ได้เงินเดือน 100 บาท

“ทำงานอยู่ที่นั้นปีกว่าก็ออกไปค้าขายอิสระ รับของเด็กเล่นมาเร่ขายข้างถนนแถวพาหุรัด เล่นเจ้าล่อเจ้าเถิดกับตำรวจยุคนั้น พาหุรัด ตำรวจ สน.พระราชวังขณะนั้นถือว่า ‘หมู่ส่ง’ ดุที่สุด ได้สัญญาณว่าหมู่ส่งมา พวกเราจะพาของวิ่งหนีจนระเนระนาดทีเดียว คราวหนึ่งผมหนีไม่ทัน โดนจับยึดตะกร้าที่ผมขาย ‘ไอ้ทุย นางเผือก คู่หูคู่ขาคู่นาคู่ไถ’ ไป (เป็นของเด็กเล่นที่เป็นควายสองตัว พอแกว่งลูกตุ้มไปมาจะผงกหัวกัน) เขาพาใส่รถไปที่โรงพักพระราชวังพร้อมกับคนอื่นๆ ผมเองถ้าโดนปรับโดนยึดเที่ยวนี้ก็จะหมดทุนถึงอดข้าวทีเดียว ดังนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่เปรียบเทียบปรับเรียกไปปรับทีละคน เมื่อถึงผมผมก็อ้อนวอนขอความเห็นใจ เพราะเขาจะปรับคนละ 500 บาท แต่ผมทั้งเนื้อทั้งตัวมีแค่ 20 บาทเท่านั้น ผมโอดครวญว่าเป็นเด็กพลัดพ่อพลัดแม่มาจากปักษ์ใต้ พนักงานคนนั้นก็ให้ผมพูดปักษ์ใต้ให้ฟัง...” (น.31-32)

ด้วยวัยยังไม่พ้นเด็กชาย จึงมักถูกคนโตกว่าเอารัดเอาเปรียบ ทำมาค้าขายก็ถูกโกง ไปเป็นลูกจ้างร้านกาแฟก็ถูกกลั่นแกล้งจนต้องหนีออกจากร้านกลางดึกทั้งที่ไม่มีเงินติดตัวสักบาท กลายเป็นเด็กเร่ร่อน อดอยากหิวโซ

“ในคืนนั้นผมจึงนอนข้างกลดสามเณร จนรุ่งเช้าผมก็ลาจากสามเณรทั้งๆ ที่แกพยายามรั้งให้ผมอยู่ แต่ผมอายที่จะถูกชาวบ้านมามุงดูตัวในตอนเช้าในฐานะเด็กจรจัด ทีนี้ผมไม่เดินไปตามทางรถไฟอีก แต่เดินตัดทุ่งไปเพื่อขึ้นถนนและซักเสื้อผ้าที่หนองน้ำกลางทุ่ง ลองเอาเสื้อผ้าที่เขาให้มาใส่ดู ปรากฏว่ามันหลวมโพรกเพรกเลยทิ้งเสีย รู้สึกปวดท้องแต่พอไปนั่งถ่ายมันไม่มีอะไรออกมา มีแต่น้ำเขียวๆ ก็เพราะไม่มีอาหารตกถึงท้องหลายวันแล้ว จะมีกากอาหารที่ไหนถ่ายออกมา ความหิว คนที่ไม่เคยอดย่อมไม่รู้หรอกว่ามันทรมานแค่ไหน ส่วนคนที่หิวเพราะผิดเวลาอาหารก็ย่อมจะแตกต่างจากความหิวเพราะความอดอยาก ไม่มีจะกิน ความหิวเช่นนี้มันเป็นความหิวที่หดหู่ สิ้นหวัง ไร้อนาคตของมื้อต่อไป มันหิวเข้าไปถึงสมองและวิญญาณทีเดียว เพราะผมผ่านความหิวเช่นนี้มาแล้ว ผมจึงมีความรักความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ที่ยากไร้และอดอยากหิวโหยทุกคน ผมรู้ถึงความเจ็บปวดและทรมานเช่นนี้ ผมจึงต้องการที่จะต่อสู้เพื่อพวกเขาเหล่านั้น ผมอาจจะผิดในสายตาของผู้มีอำนาจปัจจุบันที่เขาไม่เคยรู้จักความอดอยากหิวโหย แต่ย่อมจะถูกต้องในคุณธรรมและความสำนึกของผมเอง ผมจึงตั้งปณิธานอันแน่วแน่ที่จะยึดถือความสำนึกนี้ไปจนวาระสุดท้ายของชีวิต” (น.34-35) 

ติดคุกครั้งแรก

สุรชัย แซ่ด่าน ออกตัวในคำนำหนังสือว่าเขาไม่มีความรู้ใดๆ เกี่ยวกับการเขียน และไม่เคยเขียนเรื่องใดๆ มาก่อนเลยในชีวิต ทั้งอาชีพช่างซ่อมวิทยุของเขาก็ห่างไกลเหลือเกินจากการเขียนอ่าน แต่เมื่อต้องไปอยู่ในคุกในฐานะนักโทษรอวันประหาร เขาได้พยายามเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้น เพื่อให้สาธารณชนรับรู้และร่วมพิจารณาผิดถูกดีเลวของเขาอย่างกว้างขวาง หลังศาลได้ตัดสินไปแล้วว่าเขาไม่ควรมีชีวิตอยู่อีกต่อไป ทั้งยังเพื่อดิ้นรนปกป้องตัวเองจากการถูกป้ายสีความผิดประดามีที่เขายืนยันหัวชนฝาว่าไม่ได้เป็นผู้ก่อ 

เมื่อเปิดอ่านหน้าแรกของหนังสือเล่มแรกของเขา ก็สัมผัสได้ถึงความเคอะเขินเก้กังของถ้อยคำและประโยค บรรยากาศเหมือนหนุ่มสาวต่างจังหวัดเพิ่งเข้าเมืองครั้งแรก ไม่ว่าจะลุก นั่ง ยืน เดิน ขึ้นรถเมล์ หรือขึ้นรถไฟฟ้า ก็ให้ปรากฏอาการประหม่า ไม่มั่นใจ (ไปเอง) พาให้สำนวนติดขัด ไม่ราบรื่น แต่ครั้นพลิกอ่านไปสักสามสี่หน้า กลับพบว่าตัวหนังสือของเขาย่างก้าวด้วยฝีเท้าที่คมชัดขึ้นเรื่อยๆ ร่องรอยเคอะเขินค่อยๆ จางหาย จนไม่รู้สึกอีกต่อไปว่ากำลังอ่านงานเขียนของอดีตช่างซ่อมวิทยุที่ความรู้เพียงชั้นมัธยมเสี้ยวและไม่เคยเขียนหนังสือมาก่อนเลยในชีวิต ถ้อยคำและสำนวนของเขาสดใหม่ ตรงไปตรงมา และซื่อตรงต่อความหมาย ทำให้ผู้อ่านจดจ่ออยู่กับเรื่องเล่า
 
หลังหนีออกจากร้านกาแฟแล้วออกเดินไปตามทางรถไฟ อดข้าวอดน้ำหิวโซเป็นเวลาหลายวัน ที่สุดเขาตัดสินใจโบกรถบรรทุกแตงโมงกลับมาตั้งหลักในกรุงเทพฯ อีกครั้ง ได้กินข้าวมื้อแรกจากน้ำใจของเด็กล้างรถในปั๊มน้ำมันคนหนึ่ง เขาจึงช่วยล้างรถอยู่ที่นั่น กระทั่งน้าชายที่เคยพาเขาไปเรียนต่อมัธยมในตัวอำเภอปากพนังมาตามหาเขาพบ และพากลับนครศรีธรรมราช จากนั้นฝากให้ไปฝึกงานที่ร้านซ่อมวิทยุ เขาจึงเริ่มต้นอาชีพช่างซ่อมวิทยุแต่นั้นมา

เมื่อย่างเข้าวัยหนุ่ม ชีวิตของเขาดำเนินไปตามวิถีของหนุ่มชาวบ้านคนหนึ่ง คือทำมาหากิน และเริ่มข้องเกี่ยวกับหญิงสาว เขามีภรรยาคนแรกเมื่ออายุ 21 ปี เธอคนนั้นเป็นหญิงจากอำเภอเชียรใหญ่ที่มาเช่าห้องแถวติดกับเขาอยู่กับแม่ของเธอ เขาเขียนไว้ในหนังสืออย่างตรงไปตรงมาว่าเธอคนนี้เป็นรักที่มาก่อนเวลา

“เราไปดูหนังด้วยกันแล้วกลับดึก เธอไม่กล้ากลับบ้าน ก็เลยไปอยู่กับผมเสียเลย มิไยที่ผมจะอธิบายว่าผมยังไม่พร้อมจะรับผิดชอบครอบครัว เธอก็ไม่ยอมกลับ เรื่องก็เลยตามเลยอยู่ด้วยกัน...” (น.144)
 
ทว่าเขาปรับตัวได้ในเวลาต่อมา ความไม่พร้อมของคนหนุ่มวัยยี่สิบต้นไม่ถูกนำมาใช้เป็นเหตุแห่งการปัดภาระ ตรงกันข้าม เมื่อมีลูกเขายิ่งพยายามดิ้นรนทำมาหากินจนสามารถเปิดร้านซ่อมวิทยุของตัวเองได้ ฐานะค่อยดีขึ้น แต่แล้วก็มีเหตุให้เขาต้องเข้าไปเกี่ยวพันกับคุกตะราง ทั้งที่ขณะนั้นเขายังไม่ได้ข้องเกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างใด 

เหตุเกิดจากภรรยาของเขาไปข้องแวะกับพระเอกลิเกที่มาเช่าวิกเปิดแสดงอยู่หลังตลาดสด ข้างร้านซ่อมวิทยุของเขา จนเกิดเรื่องเกิดราวบานปลายใหญ่โต

“เรื่องนี้โดยสำนึกแห่งความเป็นสุภาพบุรุษแล้วผมไม่อยากจะเขียนลงไปเลย เพราะมันเท่ากับเป็นการประจานคนที่เคยเป็นภรรยาของตัวเอง แต่เพราะมันเป็นเหตุแห่งการที่ทำให้ผมต้องถูกพิพากษาจำคุกถึง 6 ปี ถูกตีตราบาปลงบนชีวิตว่าเป็นฆาตกรอย่างเจ็บปวด จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะต้องบันทึกลงไป” (น.148) 

เมื่อจับได้ว่าภรรยานอกใจ เขาพยายามข่มอารมณ์ นัดภรรยาและพระเอกลิเกคนนั้นไปสะสางปัญหาหัวใจกันที่โรงพัก ดูเหมือนเป็นครั้งที่สองแล้วที่เขาใช้บริการโรงพักเป็นประจักษ์พยานในรักครั้งนี้ของเขา ครั้งแรกก็เมื่อเขาพาเธอไปดูหนังกลับดึกแล้วเธอไม่ยอมกลับบ้าน จะอยู่กับเขาให้ได้ เขาจึงพาเธอไปโรงพักเพื่อแจ้งความไว้เป็นหลักฐานว่าเธอมาอยู่กับเขาโดยสมัครใจ 

“เมื่อผมพูดกับเขาต่อหน้าพนักงานสอบสวนว่า ถ้าคุณรักชอบกับเมียผม ผมก็จะยกให้คุณไปเลย ส่วนลูกของผม ผมเลี้ยงเอง แต่ทว่าคำพูดที่เขาตอบต่อผม มันเป็นคำพูดที่ดูถูกเหยียดหยามและหมิ่นเชิงชายกันอย่างน่าคลั่งใจว่า ‘ผมเรื่องอะไรจะเอาเมียคุณ ลูกตั้ง 3-4 คนแล้ว ผมเอาลูกสาวเขาไม่ดีกว่าหรือ ก็เมียคุณมาตื๊อผมเองนี่ คุณเอายังไงก็เอาเลย’ หูของผมเอื้อ อกของผมแห้งผากเพราะคำพูดที่ดูถูกเหยียดหยามนี้ ลูกผู้ชายที่อายุผ่านมา 26 ฝนแล้วในชีวิต ไม่เคยถูกสบประมาทเช่นนี้ ผมเตือนตนเองอยู่ตลอดเวลาว่า ‘ลูกๆ ผมมีลูก ถ้าขาดผมเสียแล้วลูกของผมก็ไม่มีใครเลี้ยงดู’ ไม่มีคำพูดอะไรที่จะกล่าวกันอีกแล้ว ดังนั้นเมื่อทางตำรวจไม่อาจจะจัดการอะไรให้ได้ บอกปัดว่า ‘คุณไปฟ้องร้องกันเอาเอง’ ผมจึงอุ้มลูกทั้งสองกลับไปบ้านพี่ชาย ระงับจิตระงับใจแล้วกล่าวกับภรรยาว่า ‘เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็คงอยู่ด้วยกันไม่ได้ พี่อับอายจนยากที่จะมองหน้าใคร อีกทั้งคำพูดที่เขาเหยียดหยามพี่ เธอก็ได้ยิน มันจะเสียดแทงใจของพี่อยู่ตลอดเวลา เธอไปเถอะ ไปทำงานที่ไหนก็ได้ ถ้าเดือดร้อนอะไรก็มาบอกพี่จะช่วยเหลือ และถ้าเธอสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัว ทำงานทำการเป็นอย่างดีแล้ว ให้เวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง เมื่อพี่ทำใจได้แล้วก็จะรับเธอกลับมาอยู่ด้วยกันอีก เพราะเรามีลูกด้วยกัน” (น.149-150) 

ภรรยาของเขาจากไปเพียงห้าวันก็กลับมาอีก ความมุทะลุของวัยหนุ่มทำให้เขาตัดสินใจผิดพลาด  

“ครั้นตกลงกันไม่ได้ เมื่อเธอไม่ยอมไป บอกว่าตีให้ตายก็ไม่ไป จึงทำให้ผมขาดสติยั้งคิด ยื่นคำขาดออกไปว่า ‘จะไม่ไปก็ได้ ในเมื่อมีพ่อเป็นเสือลูกก็ต้องไม่เป็นหมา ถ้าจะกลับมาอยู่ด้วยกันก็ต้องกู้หน้ากลับคืน แหวะหน้าไอ้พระเอกยี่เก นั้นสักแผลเพื่อล้างอาย ถ้าเธอกล้าทำ จะติดคุกสักเท่าไหร่ก็ไม่ว่า ออกมาเราอยู่ด้วยกัน’ เธอตอบว่า ตกลง” (น.150-151) 

แล้วเหตุการณ์ก็ชุลมุน กระทั่งเรื่องจบลงที่เขาทำปืนลั่นใส่พ่อของพระเอกลิเกคนนั้น โชคดีที่ไม่ถึงตาย แต่เขาต้องไปติดคุก แรกทีเดียวศาลพิพากษาจำคุก 6 ปี ต่อมาได้ลดโทษในวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 25 ปี จึงติดคุกเพียง 2 ปี 7 เดือน

ติดคุกครั้งแรก เขาได้รู้ซึ้งถึงชีวิตที่ยากลำบากในโลกไร้อิสรภาพ และถือเป็นจุดเริ่มต้นของการลุกขึ้นเรียกร้องความเป็นธรรม 

“ในตอนแรกที่เข้าคุกใหม่ๆ ก็ต้องประสบกับความยากลำบากไม่น้อย ต้องถูกจำตรวนที่ขาตลอดเวลา ต้องทำงานหามถังอุจจาระ แล้วยังถูกเจ้าหน้าที่ชื่อนายน้อม ทิพย์พงษ์ ฉายา ไอ้เสือเหลือง ซ้อม โดยใช้ให้นั่งแล้วเตะก้านคอจนเคล็ดไปหลายวัน อาหารก็แสนจะเลวจนสุดจะกลืนกิน ข้าวแดงที่ปนกากเกือบครึ่งต่อครึ่ง กว่าจะตักเข้าปากแต่ละคำต้องใช้มือค่อยๆ เขี่ยกากออกตั้งนาน แกงก็น้ำดำเหมือนน้ำครำ เหม็นคาวหึ่ง ชนิดที่ไม่มีอยู่ในสารบบของโภชนาการใดๆ เพราะไอ้คนปรุงมันสับปลาทั้งเกล็ดทั้งขี้ใส่ลงไป ชนิดที่ไม่ต้องล้างกันเลย ทั้งนี้เนื่องจากมันไม่กินแกงส่วนรวมที่มันปรุงนี้ แต่มันไปทำพิเศษอย่างดีกินต่างหาก” (น.156) 

วันหนึ่งเขาลุกขึ้นกล่าวร้องทุกข์ในที่ประชุม บอกเล่าความเดือดร้อนของนักโทษในเรือนจำแห่งนั้น ทั้งเรื่องถูกพัศดีใช้งานอย่างทารุณ และอาหารที่เลวทราม อาจเป็นไม่กี่ครั้งในชีวิตที่ความตรงไปตรงมาของเขาส่งผลบวก เขาได้เป็นหัวหน้าตำรวจครัว ทำหน้าที่ควบคุมหัวหน้าโรงครัว จัดระบบการปรุงอาหาร รวมถึงตรวจรับข้าวสารและอาหารที่ผู้ประมูลนำมาส่ง เขาปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดกำลัง กระทั่งยุติการเอารัดเอาเปรียบของผู้ประมูลอาหารและข้าวสารที่มีมานานได้ จากนั้นจึงได้รับความไว้วางใจจากเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ สามารถเข้านอกออกในเรือนจำถึงขั้นไปรับวิทยุในตลาดมาซ่อมหาเงินเองได้

“ครั้นถึงเวลาที่ทางจังหวัดจัดงานปีใหม่ขึ้นที่บริเวณศาลากลางจังหวัด ทางเรือนจำก็ไปออกร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ ผมก็ไปรับแผ่นเสียงที่ตกรุ่นมาขายลดราคา และทำหน้าที่โฆษณาขายสินค้าของเรือนจำไปด้วยตลอดงานเจ็ดคืน จึงเท่ากับว่าผมได้ฝึกการพูดออกมาจากในคุกนั่นเอง” (น.158)

จากหนุ่มช่างซ่อมวิทยุ สู่แกนนำภูธร และจำเลยคดีเผาจวนฯ อันโด่งดัง

แล้วหนุ่มช่างซ่อมวิทยุที่เคยติดคุกจากเรื่องชิงรักหักสวาทเข้ามาเดินบนเส้นทางการเมืองได้อย่างไร ในเมื่อหลังออกจากคุกเขาก็ก้มหน้าทำมาหากินเลี้ยงลูกสามคนไปตามประสา วิถีชีวิตก็แสนห่างไกลจากกลุ่มปัญญาชน ซึ่งเป็นผู้นำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่กำลังขึ้นสู่กระแสสูงในช่วงนั้น

เรื่องน่าจะเริ่มขึ้นตอนปลายปี พ.ศ.2516 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่นักศึกษาประชาชนเดินขบวนประท้วงขับไล่ทรราช  ช่วงนั้นเขาไปทำงานที่จังหวัดกระบี่ ขณะลูกและภรรยายังเช่าบ้านอยู่ที่นครศรีธรรมราช เขาจึงไป ๆ มา ๆ ระหว่างสองจังหวัด  ช่วงเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา เขาติดตามข่าวอย่างตื่นเต้นและเอาใจช่วยนักศึกษา เขาเล่าว่าหากขณะนั้นมีการชุมนุมที่กระบี่ด้วยเขาจะต้องเข้าร่วมอย่างแน่นอน  แต่ครั้นเหตุการณ์จบลงเขาก็ลืม หันไปทำมาหากินและสนุกกับเพื่อนฝูงไปตามประสา กระทั่งเกิดเหตุการณ์ชุมนุม “ไล่หมอ” ขึ้นในเมืองกระบี่ 

“ในวันนั้นตอนเช้ามีรถสองแถวจำนวนหลายคันบรรทุกผู้โดยสารเต็ม วิ่งเข้ามาในเมือง และขณะเดียวกันนั้นรถคันหนึ่งก็ติดเครื่องขยายเสียงทำการโฆษณาชักชวนให้คนไปชุมนุมกันที่หน้าศาลากลางจังหวัด เขาพูดว่าพวกเขามาชุมนุมกันเพื่อขับไล่หมอใหญ่โรงพยาบาลกระบี่ ผมดูแล้วจำนวนคนที่มากันหลายคันรถก็คงเป็นพัน” (น.15) 

เพื่อนฝูงของเขานึกสนุกจึงชักชวนกันไปร่วมชุมนุม บางคนคิดเพียงว่าที่ชุมนุมน่าจะมีสาว ๆ เยอะ เขาก็ไปกับเพื่อน แล้วก็ตกกระไดพลอยโจนขึ้นปราศรัยแทนแกนนำตัวจริงที่พูดต่อหน้าสาธารณะไม่เป็น  

“ไอ้ติ้นกับไอ้ชัยยะรู้สึกรำคาญจึงยุว่า ‘เฮ้ย ไอ้ชัย มึงขึ้นไปพูดบนเวทีแทนทีวะ กูรำคาญคนอ่านนั่นฉิบหาย มาเดินขบวนไล่เขา พูดก็ไม่เป็น มามุดอ่านอยู่ในรถ กลัวคนจะเห็นหน้า’ ผมเองก็เป็นคนชอบบ้ายุและเนื่องจากเคยเป็นโฆษกจัดมวย เคยโฆษณาขายสินค้างานปีใหม่ และเคยจัดรายการวิทยุมาก่อน ก็พอจะเคยชินกับไมโครโฟนและพูดได้บ้าง ก็ไม่ขัด” (น.16)

เขาได้รับเสียงปรบมือกึกก้องจากการปราศรัยงู ๆ ปลา ๆ เขาสารภาพว่าแทบไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับการประท้วงครั้งนั้นเลย เคยได้ยินเพียงว่าโรงพยาบาลแห่งนั้นเหมือนโรงฆ่าสัตว์  จึงใช้ไหวพริบนำเรื่องราวมาปะติดปะต่อแล้วพูดออกไป ใช้มุขสองแง่สองง่ามบ้างเพื่อให้คนฟังขบขันและไม่เบื่อไปเสียก่อน  ปรากฏว่าคนฟังชอบอกชอบใจ เดินมาจับไม้จับมือให้กำลังใจเขา คนแก่ก็มาให้ศีลให้พร  เมื่อเห็นว่าเขาพูดได้เข้าท่า บรรดาตัวตั้งตัวตีจัดชุมนุมซึ่งเป็นพนักงานการไฟฟ้าลิกไนต์ ก็มาขอร้องให้เขาช่วยเป็นโฆษกต่อไป เขาหมดมุขจะพูดแล้วจึงหันมาทำตัวเป็นพิธีกรสัมภาษณ์คนที่เดือดร้อนจากโรงพยาบาลดังกล่าว  กระทั่งเขาได้รับเลือกเป็นตัวแทนไปเจรจากับผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งนั้น เรื่องจบลงที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอย้ายตัวเองทันทีในวันนั้น เนื่องจากอับอายเกินกว่าจะอยู่ที่นั่นต่อไป 

หลังเหตุการณ์ชุมนุมไล่หมอ พวกนักศึกษาที่มีบทบาทในเหตุการณ์ 14 ตุลา เดินทางมาเผยแพร่ประชาธิปไตยที่จังหวัดกระบี่อยู่หลายครั้ง หนุ่มช่างซ่อมวิทยุที่เริ่มมีบทบาทเป็นแกนนำมวลชนท้องถิ่นไปร่วมฟังด้วยทุกครั้ง เขาชื่นชมนักศึกษาเหมือนกับประชาชนทั่วไปในยุคนั้น โดยเฉพาะผู้นำนักศึกษาที่มีชื่อเสียง ครั้งหนึ่งเขามีโอกาสนั่งไปในรถคันเดียวกับ “บุญส่ง ชเลธร” และ “เสาวนีย์ ลิมมานนท์”  แต่ภาพประทับใจระหว่างผู้นำนักศึกษาที่โด่งดังแห่งยุคกับแกนนำมวลชนท้องถิ่นที่การศึกษาเพียงชั้นมัธยมเสี้ยว...ไม่เกิดขึ้น

“ผมอยากจะรู้จักพวกเขา โดยเฉพาะคุณเสาวนีย์ ลิมมานนท์ ซึ่งกำลังดังมากในขณะนั้น จึงนั่งไปในรถคันเดียวกัน แต่ไม่กล้าทักหรือแนะนำตนเอง เพื่อนผมเจ้าของรถจึงแนะนำว่า ‘นี่คือคุณสุรชัย แซ่ด่าน ซึ่งเป็นผู้นำในการชุมนุมที่กระบี่คนหนึ่ง’ คุณบุญส่งหันมายิ้มพยักหน้าให้ทีหนึ่ง และพูดด้วยสองสามคำ แต่คุณเสาวนีย์เพียงเหลือบมองด้วยหางตาเท่านั้น จนผมรู้สึกเขิน ในใจคิดว่าเขามันระดับชาติ เรามันเพียงภูธรเท่านั้น เลยตั้งแต่นั้นมาผมไม่ค่อยกล้าจะเข้าหาพวกผู้นำนักศึกษาที่ดัง ๆ อีก คุณธีรยุทธ บุญมี คุณเสกสรร ประเสริฐกุล หรือคุณจีรนันท์ พิตรปรีชา ก็เลยไม่รู้จักกัน กับคุณเสกสรรค์เคยพบหน้ากันแว่บเดียวที่ธรรมศาสตร์ ภายหลังจากได้รับการปล่อยตัวที่ถูกจับเรื่องเผาจวนในปี 2518 แกทักผม พูดคุยกันสองสามคำ” (น.21) 

สุรชัย แซ่ด่าน ยกให้การชุมนุมขับไล่หมอเป็นบทเรียนทางการเมืองบทแรกของเขา หลังจากนั้นเขาย้ายกลับไปอยู่นครศรีธรรมราชกับครอบครัว  วันหนึ่งได้ไปงานแต่งญาติในตำบลบ้านเกิด ได้พบปะพูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบกับคนบ้านเดียวกันที่ไม่ได้พบเจอกันมานาน  จึงได้รู้ว่าชาวบ้านล้วนเผชิญความทุกข์ยาก เนื่องจากโจรขโมยชุกชุม วัวควายถูกปล้นไม่เว้นแต่ละวัน เมื่อได้ฟังแล้วเขาไม่อาจเฉยชาอยู่ได้  

“ผมไปขอยืมเครื่องไฟขยายเสียงจากญาติของแม่ พอรุ่งเช้าวันพฤหัสมีตลาดนัดที่วัดสระ ผมก็ติดเครื่องขยายเสียงทำการกล่าวปราศรัยเรียกร้องให้ชาวตำบลท่าพญาลุกขึ้นมาเพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมของตน ในการจะได้รับความคุ้มครองจากรัฐ” (น.40) 

เมื่อกล่าวปราศรัยโน้มน้าวให้ชาวบ้านเข้าร่วมได้จำนวนหนึ่งแล้วก็พากันไปเปิดปราศรัยที่หน้าสถานีตำรวจ กระทั่งผู้หลักผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องยอมเดินทางมาพบและเจรจา จนได้คำมั่นสัญญาจากเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะดูแลทุกข์สุขของชาวบ้านให้ดีขึ้น จากนั้นเรื่องโจรผู้ร้ายก็เงียบหายไป เขาภูมิใจที่การประท้วงครั้งนั้นทำให้คนในตำบลบ้านเกิดของเขามองเห็นสิทธิของตัวเอง ไม่กลัวเจ้านายอย่างแต่ก่อน

จากนั้นคนเริ่มรู้จักเขาในฐานะแกนนำมวลชนและนักปราศรัยที่มีปฏิภาณไหวพริบ จนเป็นภาพจำของผู้คนละแวกนั้น  กระทั่งถึงจุดที่ชีวิตของเขาพลิกผัน เมื่อกลายไปเป็นผู้นำชุมนุมซักฟอกผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่องการแจกสิ่งของช่วยเหลือแก่ผู้ประสบวาตภัยไม่เป็นธรรมในเดือนมกราคม 2518  ทั้งที่เขาเพิ่งขี่มอเตอร์ไซค์เสยท้ายรถสองแถวขาหัก ยังเดินโขยกเขยก ต้องใช้ไม้ค้ำยัน  

“ผมเองในตอนแรกไม่ได้คิดจะไปร่วมหรือฟังพวกเขาหรอก เพราะต้องอยู่ทำงานที่ร้านและอุปสรรคเรื่องขาเจ็บ แต่มันถึงคราวที่วิถีทางชีวิตของผมจะเกิดการแปรผัน จึงเป็นเหตุให้พอตอนสาย ไอ้ชาติหรือสุชาติ ทางอาวุธ เจ้าของร้านนครเครื่องเย็นที่เป็นสมาชิกพรรคพลังใหม่ด้วยกัน และสนิทกับผมเพราะร้านอยู่ใกล้กัน มันขี่มอเตอร์ไซค์มาหาผมที่ร้านแล้วชวนว่า ‘เฮ้ย ชัย ไปฟังพวกนักศึกษาปราศรัยกันดีกว่าว่ะ’ ผมจึงซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ของมันไป มันพาผมไปจอดอยู่ห่าง ๆ จากเวทีแล้วขึ้นสแตนด์รถ ให้ผมนั่งบนเบาะฟังการปราศรัยของพวกนักศึกษา” (น.59-60) 

การชุมนุมซักฟอกผู้ว่าราชการจังหวัดครั้งนั้นเริ่มจากผู้ชุมนุมหลักพัน  แรกทีเดียวเขานั่งฟังปราศรัยเช่นมวลชนคนอื่น สักพักโฆษกบนเวทีเหลือบมาเห็นและจำเขาได้ จึงประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงเชิญเขาขึ้นไปพูด ครั้งแรกเขายังอิดออด โฆษกจึงประกาศซ้ำ มวลชนก็ปรบมือกันเกรียวกราว ที่สุดเขาต้องใช้ไม้เท้าค้ำยันเดินโขยกเขยกขึ้นเวทีท่ามกลางเสียงต้อนรับจากประชาชน  เขายอมรับว่าการปราศรัยของเขาในตอนนั้นยังไม่มีสาระทางการเมือง เพียงพูดจากไหวพริบและประสบการณ์ แต่ก็สร้างความประทับใจแก่มวลชน เกิดเสียงเรียกร้องให้เขาพูดต่อไปเรื่อย ๆ  นักศึกษาที่เป็นแกนนำจัดชุมนุมซึ่งยังไม่สันทัดในการปราศรัยจึงลงมติให้เขาช่วยเป็นโฆษกประจำเวที  

การชุมนุมส่อเค้ายืดเยื้อ ผู้ชุมนุมเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ  มีการจัดตั้งตัวแทนจากกลุ่มต่าง ๆ เช่น ตัวแทนพ่อค้า ตัวแทนกลุ่มรถแท็กซี่ ตัวแทนกลุ่มรถสองแถวรับจ้าง และตัวแทนจากนักเรียนนักศึกษา ทั้งยังจัดตั้งรองโฆษก ผู้ประสานงาน หน่วยรักษาความปลอดภัย รวมถึงสร้างเวทีใหญ่ที่แข็งแรงกว่าเดิม ติดตั้งเครื่องขยายเสียงกำลังสูง ติดต่อการไฟฟ้าให้จ่ายกระแสไฟให้และติดตั้งแสงสว่าง ต่อมาไม่นานผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นเป็นเรือนหมื่น เต็มสนามหน้าเมืองอันเป็นสถานชุมนุมในวันนั้น  เขานั่งอยู่บนเก้าอี้ประจำการเป็นโฆษกบนเวทีตลอดงาน มีคนคอยส่งข้าวส่งน้ำให้กินบนเวที 

ในที่สุดผู้ว่าราชการจังหวัดก็มาปรากฏตัวในที่ชุมนุม หนุ่มช่างซ่อมวิทยุในฐานะโฆษกฝีปากกล้าทำหน้าที่ซักฟอกผู้ว่าราชการจังหวัดต่อหน้าสาธารณชนนับหมื่น  ปะทะคารมกันไปมาจนผู้ว่าราชการจังหวัดตบะแตก

“ผมไม่ใช่อยากจะอยู่ไอ้เมืองนครศรีฯ เฮงซวยนี้ แต่ผมย้ายตัวเองไม่ได้ ถ้าอยากให้ผมย้ายไปผมจะบอกให้คนที่เซ็นสั่งย้ายผมได้คือปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชะลอ วนภูติ ตอนนี้พักอยู่ที่โรงแรมไทย ไปตามมาซิ มาเซ็นสั่งย้ายผมแล้วผมจะไปทันที” (น.57)

การโห่ฮาป่าขว้างปาข้าวของเข้าจึงเกิดขึ้น สถานการณ์ตึงเครียด เป้าหมายการชุมนุมเปลี่ยนจากการซักฟอกผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นขับไล่  เหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวายจนยากจะควบคุม

“และในขณะนั้นก็มีคนบ้าดีเดือดถึงขนาดเที่ยวหาน้ำมันจะจุดไฟเผาโรงแรมไทยด้วย ดีแต่เจ้าของร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ที่อยู่ใกล้ ๆ ได้ลงทุนยกมือไหว้วิงวอนขอร้องเอาไว้” (น.70) 

แกนนำหนุ่มช่างซ่อมวิทยุพยายามควบคุมมวลชนที่กำลังอารมณ์เดือดพล่านอย่างสุดกำลัง นั่นเป็นภารกิจใหญ่ที่เขาต้องรับผิดชอบ

“เราต้องต่อสู้ตามวิถีทางประชาธิปไตย ต้องไม่ใช้ความรุนแรง เพราะถ้าเราทำเช่นนั้นประชาชนโดยทั่วไปก็จะไม่เห็นด้วยกับเรา ที่เราต่อสู้นี้ก็เพื่อความถูกต้อง เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน แต่ถ้าเรากลับทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องเสียงเอง ทำความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเสียเอง เช่นนี้นับว่าเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง [...] ขอให้พวกพี่น้องที่ทำการล้อมโกดังข้าวสารอยู่นั้นได้โปรดกลับมาที่สนามหน้าเมืองด่วนทุกคน อย่าเที่ยวไปพังโกดังหรือยึดข้าวสารของเขา ให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเขา เราเพียงแจ้งให้เขาทราบและเรียกร้องให้เขาจัดการตามกฎหมายเท่านั้น เราอย่าไปทำผิดเสียงเอง มันไม่ใช่หน้าที่ของเรา ขอให้ทุกคนกลับมาและขอประกาศย้ำให้ทราบว่า ขอบเขตอาณาบริเวณในการชุมนุมของพวกเราอยู่เฉพาะสนามหน้าเมืองเท่านั้น ถ้าหากนอกเหนืออาณาบริเวณนี้แล้วพวกเราจะไม่ขอรับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น” (น.73)

แต่ที่สุดสถานการณ์ลุกลามบานปลายไปถึงขั้นมีการเผาจวนผู้ว่าราชการจังหวัด

“ผมใจหายวาบ พูดกับประคองว่า ‘ฉิบหายแล้ว! ไม่รู้ไฟไหม้อะไร จนพอเราไปถึงสนามหน้าเมืองก็เห็นคนวิ่งพล่านและจึงได้รู้ว่ามีคนเผาบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัด ผมใช้ประคองให้เลี้ยวรถเข้าไปที่เวทีทันที แต่ที่เวทีไม่มีใครอยู่เลย รองโฆษกและพวกกรรมการหายไปหมด มีแต่เครื่องขยายเสียงที่เอาผ้ายางคลุมไว้เพราะฝนตกลงมา พวกนี้คงตกใจเมื่อเกิดการเผาจวนขึ้นจึงพากันหนีไปหมด ผมจึงก้าวขึ้นไปบนเวที เปิดเครื่องขยายเสียง ประกาศก้องอย่างดุเดือดว่า ‘เราขอประณามอย่างรุนแรงต่อผู้ที่ก่อเหตุร้ายขึ้นในครั้งนี้ เพราะมันทำให้เกิดความด่างพร้อยขึ้นในการชุมนุมอันบริสุทธิ์และอย่างสงบของพวกเรา ทำไมจะต้องทำอย่างนั้น มันจะเกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา ผมขอประกาศไม่เห็นด้วยอย่างเด็ดขาด และขอให้ทุกคนที่อยู่ในจวนหรือนอกสนามหน้าเมืองกลับเข้ามาในบริเวณนี้ให้หมด เรื่องดับไฟปล่อยให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจัดการเอง […] ผมนึกเอะใจตั้งแต่ตอนแรกแล้วเพราะมีคนมาบอกว่าในตอนตีสามคืนนั้นได้มีการขนของจำนวนมากออกจากบ้านพักของนายคล้าย จิตพิทักษ์ไปลงเรือข้าง ๆ จวน ซึ่งต่อมานายสมจิตร ช่วยพิชัย หลานชายนายคล้าย จิตพิทักษ์ ที่อาศัยอยู่ในจวนและถูกจัดมาให้การเป็นพยานโจทก์เล่นงานผม ให้การว่าในคืนนั้นตอนตีสาม นายเรี่ยม เพชรกาฬ นายอำเภอปากพนัง ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดูแลจวนผู้ว่าในขณะนั้นปลุกเขาให้มาขนของออกจากบ้านพักของนายคล้าย จิตพิทักษ์ แต่เขาให้การว่าเป็นการขนเพียงเสื้อผ้าไปไว้ที่บ้านพักของรองผู้ว่าฯ เท่านั้น […] แล้วบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดมีกำแพงกั้น มีรั้วรอบขอบชิด มีประตูเหล็กปิดเปิดได้ ในขณะที่มีการชุมนุมเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาการณ์อยู่ไม่น้อยกว่าหนึ่งหมู่ และประตูก็ปิดไว้ ในขณะนั้นทำไมจึงปล่อยให้คนวิ่งเข้าไปง่าย ๆ ทั้ง ๆ ที่เมื่อวานก็มีตัวอย่างอยู่แล้วที่กลุ่ม วัยรุ่นเข้าไปทุบทำลายข้าวของ ปล่อยนกเขาของนายคล้าย และยังตบเอาคุณนายภริยาของนายคล้ายถึงกับล้มคว่ำ  เนื่องจากไปชี้หน้าด่าว่าพวกเขา.” (น.77-80) 

สุดท้ายเขากลับกลายเป็นจำเลยคดีเผาจวนฯ  

“ปรากฏว่าเรื่องนี้ในภายหลังมีผมเพียงคนเดียวที่ถูกตัดสินจำคุกด้วยข้อหาหนักที่สุดคือ ‘เผาจวน’ ถึง 20 ปี แถม ด้วยข้อหาเป็นหัวหน้าก่อการจลาจลอีก 3 ปี รวมเป็น 23 ปี และก็มีเพียงผมคนเดียวที่ถูกส่งฟ้องร้องต่อศาลทหาร ทั้ง ๆ ที่เป็นคดีเดียวกันในเวลาเดียวกัน ส่วนคนอื่น ๆ ที่ตัดสินไปแล้ว ตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนถึงศาลฎีกา พิพากษายกฟ้อง และมีบาง คนถูกตัดสินจำคุกคนละปีสองปี ก็ถูกส่งฟ้องร้องต่อศาลพลเรือนทั้งสิ้น” (น.85)   

ทางสายหนึ่งที่คนหนุ่มสาวหรือนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในยุคนั้นจำต้องเลือกเดิน คือการเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยต่อสู้ชิงอำนาจรัฐ  สุรชัย แซ่ด่าน ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงวิถีนี้  เส้นทางชีวิตของเขาจึงเปรียบเหมือนถนนสายยาวที่ทอดผ่านทั้งขุนเขา ราวป่า ดงคอนกรีต ไปจนถึงคุกตะราง กระทั่งข้ามลำน้ำโขงไปเป็นผู้ลี้ภัยในดินแดนอื่น และหายสาบสูญไปอย่างลึกลับที่อีกฝั่งแม่น้ำนั้น

หนังสือ “ตำนานนักสู้ สุรชัย แซ่ด่าน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสนามหลวง เล่ม 1” นอกจากพยายามเล่าถึงบทบาทนักต่อสู้อันเข้มข้นของเขาแล้ว ยังเสนอให้เห็นบทบาทอื่น ๆ ของเขาในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่ง  

ลูกที่ถูกทำให้เป็นอื่น

เขาเล่าถึงพ่อแม่ของเขาไม่มากนัก เรียกได้ว่ากล่าวถึงเท่าที่จำเป็น แต่ในข้อมูลเท่าที่จำเป็นนั้นทำให้ได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพ่อ ซึ่งไม่ได้ราบรื่น   

“เตี่ยอคติต่อผมตลอดมา เพราะแกหาว่าผมไม่ใช่ลูกของแก เนื่องจากตอนที่แม่กำลังท้องผมอ่อน ๆ แม่กับเตี่ยทะเลาะแยกทางกัน แม่ต้องไปอาศัยญาติของแม่อยู่และคลอดผมที่บ้านญาติในคืนที่เกิดวาตภัยปี 2485 แม่นอนคลอดผมในขณะที่ลมพัดจนจากมุงหลังคาปลิวหมด เหลือเพียงเจ็ดผืนเท่านั้น พอกำบังฝน ตั้งแต่จำความได้เตี่ยไม่เคยอุ้มหรือพูดดีกับผมเลย เวลาโกรธคว้าค้อนได้ขว้างผมกับค้อน คว้าจอบได้ไล่ตีผมกับจอบ เรียกผมว่า ‘ไอ้ขี้ริ้ว’ จนพี่ ๆ ผมพากันหัวเราะเยาะ ผมต้องเป็นเด็กที่วิ่งเร็วมาตั้งแต่เล็ก ๆ เพื่อให้พ้นภัยจากเตี่ย ผมต้องหนีออกจากบ้านบ่อย ๆ และอดข้าวบ่อย ๆ ตั้งแต่เป็นเด็ก นี่จึงเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งที่ทำให้ผมเกลียดความอยุติธรรม เป็นคนแข็งกร้าวทระนง ไม่งอนง้อและก้มหัวให้ใคร อีกทั้งปากจัดมหาวายร้ายตั้งแต่เล็ก ๆ โน้นแหละ ผมตอนนั้นอายุ 18 ปี ถูกเตี่ยไล่ออกจากบ้าน ต้องไปอาศัยวัดอยู่ที่วัดเสาธงทอง อำเภอปากพนัง เป็นลูกศิษย์วัดโค่ง” (น.47-48)

ตอนหนึ่งในหนังสือ เขาเปรียบเทียบพ่อของเขากับผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ไม่เข้าใจเจตนาดีของเด็ก

“ผมนึกถึงเรื่องผู้ใหญ่มองไม่เห็นเจตนาดีของเด็กเรื่องหนึ่ง คือเตี่ยผมเอง แกปลูกผัก ผมไปยืนดูแกทำงาน แกขุดดินแล้วถอนลูกผักเพื่อจะย้ายแปลงปลูก ผมเห็นแกเหนื่อยจนเหงื่อโทรมหน้า ก็อยากจะไปช่วย ผมยังเป็นเด็ก ยังไม่เข้าโรงเรียน ผมคิดว่าถอนลูกผักผมคงทำได้ จึงเข้าไปนั่งใกล้ ๆ แก ถอนลูกผักให้ พอแกหันมาเห็นก็คว้าจอบไล่ตีผม จนผมต้องวิ่งหนีแล้วไม่กล้ากลับบ้านหลายวัน ไปอาศัยนอนในวัด มันก็เหมือนผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้ที่ไม่เข้าใจพวกเราคนหนุ่มคนสาวในยุคนั้น เขาทำลายความตั้งใจดีของพวกเรา ทำลายไฟบริสุทธิ์ให้เผาทำลายตัวเขาเองและทำลายตัวของพวกเราด้วย สร้างบาดแผลให้เกิดขึ้นในชาติบ้านเมือง สร้างประวัติศาสตร์ที่สลดหดหู่และน่าขยะแขยงให้เกิดขึ้นในชาติไทยบทหนึ่ง” (น.38) 

อย่างไรก็ตาม แม้ความสัมพันธ์ช่วงต้นไม่สู้ดี แต่ตอนจบหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ต่างฝ่ายต่างผ่านการพิสูจน์ตัว จนเอาชนะใจกัน ดูเหมือนสงครามในชีวิตเขานั้นไม่ได้มีสมรภูมิเดียว

“เตี่ยก็ยังเป็นเตี่ย ถึงแกจะไม่รักผม แต่ผมก็ยังรักแก ผมไม่เคยเคียดแค้นชิงชังแกเลย เมื่อผมพอมีฐานะก็ส่งเสียดูแลแก แกยังเคยร้องไห้กับผม คงเพราะความสำนึกเสียใจที่เคยอคติต่อผม เมื่อคราวที่ผมติดคุกอยู่ที่ภูเก็ตแกไปเยี่ยมและผมกลับให้เงินแก เพราะตอนนั้นแกแก่แล้วและยากจน ต้องอาศัยลูก ๆ ส่งเสียดูแล ต่อมาแกก็รักและภูมิใจในการต่อสู้ของผมมาก ก่อนที่แกจะเสียชีวิต น้องชายเล่าให้ฟังว่าแกถามหาผมอยู่บ่อย ๆ ว่าไปอยู่ที่ไหน” (น.48) 

เขายังได้กล่าวความในใจถึงพ่อกับแม่ที่ล่วงลับไปแล้วไว้ในหนังสือเล่มนี้

“เตี่ยครับ ขอให้เตี่ยและแม่จงหลับให้เป็นสุขเถิด ลูกชายคนนี้แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีอิสรภาพ แต่ก็จะไม่ทำให้เตี่ยและแม่ต้องผิดหวังที่เกิดมาในชาติหนึ่ง จะขออุทิศตัวเพื่อคนผู้ยากไร้เพื่อเป็นการทดแทนบุญคุณของเตี่ยและแม่ โดยจะถือว่าคนแก่คนเฒ่าที่ยากไร้ทั้งแผ่นดินคือเตี่ยและแม่ของผมเช่นกัน” (น.48) 

พ่อของลูกสามขวบตลอดกาล

ก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมือง สุรชัย แซ่ด่าน ต้องเหินห่างจากลูก ๆ ของเขาเป็นครั้งคราว  ด้วยเงื่อนไขด้านปากท้องที่ต้องดิ้นรนตามประสาคนธรรมดาสามัญ แต่การพรากจากอันเนื่องมาแต่ปากท้องนั้นยังอนุญาตให้เขากลับไปพบหน้าลูกได้บ้าง ต่างอย่างสิ้นเชิงกับการพลัดพรากอันเนื่องมาจากการเมือง

“เหมือนเป็นลางสังหรณ์ว่าการจากไปในวันนั้นจะเป็นการจากพรากที่ไม่มีโอกาสกลับบ้านอีกแล้วตลอดกาล ลูกคนเล็กที่อายุเพียงสามขวบกว่าซึ่งปกติไม่ค่อยจะตามผมสักเท่าไหร่ เพราะผมต้องออกจากบ้านไปทำงานทุกวัน ก็เข้ามากอดแล้วร้องไห้ มองดูผมด้วยสายตาที่โศกซึ้ง เสมือนหนึ่งจะรู้ว่าพ่อจะจากไปอย่างยาวนานโดยไม่มีกำหนดกลับ ใจของผมก็วาบหวิวห่วงกังวลอย่างผิดธรรมดา หยาดน้ำตาของลูกที่เปียกชื้นอยู่บนหลังยังเกาะติดความรู้สึกอยู่จนบัดนี้ แววตาที่ละห้อยหาในวันจากพรากยังฝังแน่นอยู่ในมโนนึกอย่างไม่ลืมเลือน แม้วันเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานถึงสิบกว่าปีแล้ว แต่ภาพของลูกในความทรงจำยังคงเป็นภาพในวันสุดท้ายนั้น คิดถึงคราใดลูกก็ยังเป็นตัวน้อย ๆ ไม่เคยเติบใหญ่ในความรู้สึก” (น.164)  

อาจเป็นได้ว่าการพลัดพรากเหล่านั้นทำให้เขาไม่มีรูปธรรมความผูกพันระหว่างพ่อลูกมาบอกเล่าในหนังสือ มีเพียงภาพเก่าค้างในความทรงจำที่ไม่ว่ากี่ปีผันผ่าน ลูกของเขาก็ยังคงเป็นเด็กสามขวบตลอดกาล  
หลังถูกตัดสินประหารชีวิตและรอวันตายอยู่ในเรือนจำ เขาได้เขียนจดหมายถึงลูกฉบับหนึ่ง ซึ่งนำมาพิมพ์ไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย (น.164-166)

ลูกรักของพ่อ

พ่อรู้ดีว่าลูกจะต้องเสียใจเศร้าสลดใจเป็นอย่างมากจากเรื่องราวของพ่อที่ถูกศาลพิพากษาให้ประหารชีวิต ความหวังของลูกที่จะได้เห็นพ่อมีอิสรภาพไปอยู่ด้วยกันพร้อมหน้ากับลูกก็เป็นอันสูญหายมลายไป การจากพรากกันคราวนั้นเมื่อตอนที่ลูกมีอายุเพียงสามขวบกว่า ไม่นึกเลยว่าจะเป็นการจากพรากกันยาวนานเช่นนี้ พ่อคิดถึงลูกทุกลมหายใจ อยากกอดลูกมาแนบอก จูบประทับลงบนแก้มของลูกด้วยความคิดถึง

แม้ในปัจจุบันลูกจะอายุย่างสิบกว่าขวบแล้วก็ตาม แต่ในความทรงจำของพ่อ ลูกก็ยังเป็นลูกตัวเล็ก ๆ เพียงสามขวบกว่าเท่านั้น เพราะนั่นคือภาพประทับใจในวัยของลูกเมื่อวันที่พ่อจากมา พ่อยังจำได้ดีว่าในวันนั้นลูกวิ่งมากอดพ่อที่บันไดขณะที่พ่อกำลังสวมรองเท้า ลูกร้องไห้จะตามพ่อมาด้วย เหมือนรู้ว่าการจากมาของพ่อในวันนั้นจะเป็นการจากมาที่ไม่ได้หวนกลับ

ลูกรัก พ่อของลูกไม่ได้เป็นโจรหรือฆาตกรแต่อย่างใด แม้ศาลของรัฐบาลไทยปัจจุบันจะพิพากษาให้ประหารชีวิตของพ่อ แต่คุณค่าแห่งการต่อสู้ที่ถูกต้องของพ่อได้เป็นสิ่งที่จารึกอยู่ในหัวใจของผู้รักความเป็นธรรมทั่วโลก หนังสือเรียกร้องคัดค้านการประหารชีวิตของพ่อได้หลั่งไหลมาสู่รัฐบาลไทยจากหลายสิบประเทศ พร้อมทั้งองค์กรและบุคคลที่รักความเป็นธรรมอีกมากมายในประเทศ

ลูกเอ๋ย! อย่าเสียใจเลย ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่ด้วยกัน หรือไม่ว่าพ่อจะอยู่หรือตาย สายใยสัมพันธ์ที่ร้อยรัดความรักระหว่างเรา พ่อ+ลูก จะต้องเป็นอมตะที่ไม่มีอะไรจะพรากได้ เจ้าเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของพ่อ เป็นพืชพันธุ์ที่จะต้องสืบทอดจิตใจที่บริสุทธิ์ยุติธรรมของพ่อต่อไป ความหวังของพ่อนั้นต้องการเห็นเจ้ายืนอย่างทระนงองอาจในโลกนี้ ด้วยวิญญาณแห่งความเป็นวัตถุคมกล้าในยุคใหม่ เจ้าจะต้องสานต่อภารกิจในการสร้างสันติภาพและเสรีภาพของมวลหมู่มนุษย์แทนพ่อต่อไป วิญญาณแห่งการต่อสู้ของพ่อนี้จะต้องไม่ตายไปจากโลกนี้

ลูกรัก นี้แหละคือมรดกที่พ่อจะมอบให้เจ้าแทนเงินทองหรือทรัพย์สมบัติใด ๆ เพราะในชีวิตของพ่อมีเพียงสิ่งนี้เท่านั้น เจ้าอาจจะลำบากยากไร้เพราะขัดสน แต่ถ้าเจ้าเข้าให้ถึงคุณธรรมอันสูงสุดของการเป็นมนุษย์แล้ว นี้คือความสุขที่สุดแห่งการมีชีวิตของเรา ความสุขของมนุษย์ไม่ได้ชี้ขาดอยู่ที่วัตถุสิ่งของนอกกาย แต่อยู่ที่จิตใจเป็นสำคัญ ส่วนวัตถุสิ่งของเป็นเพียงเงื่อนไขภายนอกเท่านั้น ในการดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ เจ้าจงอย่าละโมบจนก่อให้เกิดกิเลสครอบงำใจ จงใช้ความสุขุมรอบคอบในการวางแผนชีวิตให้ดี จงอย่ามีชีวิตอยู่เพียงเพื่อตนเองเท่านั้น จงมีความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมให้มากนะลูกนะ

พ่อขออวยพรให้ลูกของพ่อจึงมีชีวิตที่รุ่งโรจน์ตลอดไป

ด้วยรักและห่วงใย

พ่อ  

คนรักของความรักสีแดง

เขาเล่าถึงความรักแบบหนุ่มสาวของเขาอยู่หลายครั้ง แต่เพียงเล่าผ่าน ๆ ไม่ลงรายละเอียดอย่างออกรสออกชาติเหมือนเวลาเขาเล่าเรื่องการต่อสู้ทางการเมือง  หญิงคนรักของเขาจึงราวกับถูกซ่อนให้ไร้ใบหน้าในเรื่องเล่าของเขา ที่พอจะปรากฏภาพแจ่มชัด (กว่าคนอื่น) เห็นจะเป็นสหายหญิงที่ชื่อ “พนารีย์” ซึ่งเป็นรักระหว่างรบ ที่เขาเรียกว่า “รักสีแดง” 

“หลังจากพักอยู่ที่ค่าย 508 สี่ห้าวัน จนเมื่อคุณศรีเสร็จจากการประชุมแล้วก็เดินทางกลับค่าย 357 ผมจึงร่วมทางไปด้วย คณะของเราเที่ยวนี้นอกจากคุณศรีและผมแล้วก็มีคุณหึก ทหารพิทักษ์คุณศรี และคุณพนารีย์ สหายนักศึกษาหญิงอีกคนหนึ่งด้วย คุณพนารีย์เป็นนักศึกษาจากสถาบันแห่งหนึ่ง เธอเป็นคนร่างเล็ก ขณะนั้นอายุประมาณ 23 ปี เป็นคนที่มีท่วงทำนองอ่อนโยนสุภาพเรียบร้อย พูดจานิ่มนวลอ่อนหวาน นับเป็นสหายหญิงที่ฉลาดหลักแหลม และมีคุณภาพมากคนหนึ่ง เธอมีความสามารถในการเป็นนักเขียน หน้าที่ของเธอจึงทำหนังสือพิมพ์อยู่ในป่า ต่อมาภายหลังเธอกับผมมีความผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง ก่อเกิดเป็น ‘รักสีแดง’ ต่อกัน เมื่อภรรยาของผมตัดสัมพันธ์จากไปแล้ว และเธอก็ผิดหวังจากคนรักเก่าของเธอ แต่ทว่าในที่สุดเราก็จำต้องพรากจากกันจนเหลือไว้เพียงความทรงจำอันแสนงามเท่านั้น เพราะผมต้องมาติดคุกเสียก่อน ก่อนที่เราจะแต่งงานกัน...” (น.222)  

ปะติดปะต่อจากคำบอกเล่าในหนังสือ เขาได้พบสหายหญิงพนารีย์คนนี้ตั้งแต่แรกเข้าป่า ทว่ากว่าจะรักกันก็หลังจากนั้นอีกหลายปี  เนื่องจากเมื่อแรกเข้าป่านั้นยังเขามีพันธะกับภรรยาคนที่สอง ในป่ามีกฎกติกาที่เคร่งครัดเกี่ยวกับความรักและการแต่งงาน  

“...หนุ่มสาวที่จะมีความรักและแต่งงานกันได้จะต้องมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ผู้ชายจะมีภรรยาสองคนขึ้นไปไม่ได้ ผู้ที่หลบเข้าอยู่ในป่าถ้ายังมีสามีหรือภรรยาที่เป็นพันธะผูกพันอยู่ภายนอก จะมีความรักหรือแต่งงานอีกไม่ได้ จะต้องรับผิดชอบต่อพันธะที่ยังอยู่ไม่ว่าจะนานเท่าใดก็ตาม ไม่มีการกำหนดเวลา และจะขอเลิกพันธะเพราะไม่สามารถจะเรียกร้องให้สามีหรือภรรยามาอยู่ด้วยกันก็ไม่ได้ จนกว่าอีกฝ่ายจะขอเลิกพันธะตัดสัมพันธ์ไปเอง ส่วนผู้ที่ลักลอบมีความสัมพันธ์ได้เสียกันถือเป็นความผิด จะต้องถูกลงโทษ ดังนั้นผู้ที่อยู่ในข่ายต้องห้ามเหล่านี้จึงไม่มีสิทธิ์? ในเรื่องความรัก” (น.323) 

ชีวิตในป่าช่วงแรก เขาจึงเป็นชายต้องห้าม ไม่มีสิทธิสานสัมพันธ์กับหญิงใด

“ผมก็เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในข่ายต้องห้ามนี้เพราะผมยังมีภรรยาเป็นตัวเป็นตนอยู่ภายนอก เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะว้าเหว่และเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวแค่ไหนก็ต้องอดทน จนกว่าฝ่ายภรรยาจะมีความคิดสุกงอมตามเข้าไปอยู่ในป่าด้วยกัน หรือไม่ก็จนกว่าจะได้ชัยชนะได้กลับบ้านกลับเมือง หรือจนกว่าฝ่ายภรรยาจะบอกเลิกความสัมพันธ์ไปเองนั่นแหละ ผมจึงจะมีสิทธิ์เรื่องความรักและแต่งงานใหม่ได้” (น.323)  

กระทั่งกลางปี 2523 ภรรยาของเขาแต่งงานใหม่ เขาทั้งเสียใจและโล่งใจระคนกัน ดังได้เขียนบรรยายไว้ว่า

“...ความรู้สึกในตอนนั้นมันมีทั้งหดหู่อาลัย เสียใจและโล่งใจ หดหู่อาลัยที่ต้องจากกันตลอดกาล เสียใจที่ความรักความผูกพันของเราต้องจบลงด้วยความเศร้า แต่โล่งใจที่เธอจะได้หลักยึดเหนี่ยวและพึ่งพิง ผมก็จะได้หมดห่วงกังวลเสียที พร้อม ๆ กับข่าวการแต่งงานใหม่ของภรรยา ก็ได้ข่าวการเสียชีวิตของแม่และเตี่ยที่ทยอยจากไปติด ๆ กันในปีนั้น ลูก ๆ ก็ต้องระเหเร่ร่อนกันไปคนละทาง 4 คน อยู่ 4 จังหวัด พลัดพรากจากกัน เสียสละและเสียสละเมื่อไหร่จึงจะเพียงพอ? เสียงร่ำร้องนี้เรียกถามอยู่ในหัวใจเหมือนกัน แต่ผมไม่อาจจะตอบได้ และไม่อาจจะถามใครได้ ค่าทดแทนเพื่อการต่อสู้นี้ผมยังต้องจ่ายต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหมดสิ้น ไม่มีเหลือจะจ่าย หรือจนถึงจุดสิ้นสุดเท่านั้น คือความตาย สี่ปีในป่ามันได้ขอดเอาความรักและความอบอุ่นจากครอบครัวไปจนหมดสิ้น สิ่งที่ค้ำจุนชีวิตให้เริงร่าอยู่ได้ก็คืออุดมการณ์และความใฝ่ฝันอันแสนงาม...” (น.324-325) 

เขาสารภาพกับผู้อ่านอย่างซื่อตรงว่า เมื่อภรรยาคนที่สองตัดสินใจหันหลังให้สามีที่เลือกจะอยู่ป่ามากกว่าร่วมทุกข์ร่วมสุขเคียงข้างกันนั้นเขาอายุ 37 ปี  ยังคงปรารถนาความรักและความอบอุ่นสำหรับตัวเองอยู่  จากนั้นรักสีแดงกับบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไฟลามทุ่งที่เคยเดินป่าด้วยกันเมื่อสี่ห้าปีก่อนก็เริ่มขึ้น 

“...ความรักของเราไม่ใช่เกิดจากบุพเพสันนิวาสหรือเพราะกามเทพแผลงศรรักปักใจแต่อย่างใด แต่ความรักของเราถูกสร้างขึ้นมาท่ามกลางภารกิจการปฏิวัติ ท่ามกลางกลิ่นคาวเลือดและควันปืน ความรักของเราเป็นความรักแห่งอุดมการณ์ เราจึงเรียกความรักชนิดนี้ว่า ‘ความรักสีแดง’ ที่จะผลิดอกออกชูช่อเป็นรักก่อกำเนิดไม่สิ้นแสง ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราสองคนจะคล้องแขนก้าวเดินไปบนเส้นทางนี้ด้วยกันอย่างมั่นคงตลอดไป” (น.329) 

แต่ผู้ริรักกลางสนามรบย่อมรู้ชะตากรรมของตนเองดี

“...แต่ทว่า ‘อนิจจา’ ความหวังก็พังครืนลงมาเมื่อมรสุมอีกลูกหนึ่งที่ใหญ่ยิ่งได้วิ่งเข้ามากระหน่ำชีวิตของผมอีกครั้ง เราตกลงกันว่าจะแต่งงานกันในต้นปี 2525 อีกหกเดือนที่จะถึง แต่แล้วผมต้องถูกการ ‘ตระบัดสัตย์’ จับยัดใส่คุกเสียก่อน จึงทำให้เราต้องจากกัน...” (น.329) 

สหายหญิงพนารีย์เคยเขียนจดหมายถึงเขาขณะถูกจองจำอยู่ในคุกกลางเมือง ความตอนหนึ่งของจดหมายบรรยายความรู้สึกด้วยบทกวี (น.331-333)

...แด่เธอ...สุดที่รักของฉัน
ขอฉันเป็นแผ่นพื้นดินน้ำฟ้า
ยามเธอเที่ยวไปทุกแห่งหน
ขอฉันเป็นทแกล้วกล้า
ยามเธอสู้ศึกเสือเหนือใต้
ขอฉันเป็นมิ่งมิตรชิดกมล
ยามเธอผจญหมู่มารร้าย
ขอฉันเป็นพลังกายพลังใจ
ยามเธอพบอุปสรรคขวากหนาม
ขอฉันเป็นสติปัญญาชาญ
ยามเธอขบคิดหนัก
ขอฉันเป็นเสียงนกร้อง
ยามเธอเหงาสุดเหว่ว้า
ขอฉันเป็นโอสถทุกขนาน
ยามเธอไข้เศร้าหมองศรี
ขอฉันเป็นทุกสิ่งสรรค์
ยามเธอนั้นปรารถนา...นิรันดร์กาล
(อันที่จริงบัดสีคุณจังเพราะฉันเขียนบทประพันธ์ไม่เป็นเอาเลย)
 

แม้รักครั้งนี้จะงดงาม แต่สุดท้ายก็ต้องจบลง  เขายอมรับความจริงอย่างสงบ

“แต่ชีวิตจริงย่อมมิใช่นิยายรักอมตะ ที่บทอวสานพระเอกกับนางเอกจะได้พบกันอย่างหวานชื่นหลังการพลัดพรากจากกันนานนับสิบปี ผมก็ไม่อาจเป็นคนเห็นแก่ตัวที่จะผูกมัดเธอเอาไว้กับความไร้อนาคตของตัวเอง ความเจ็บปวดครั้งนี้มันไม่ใช่ครั้งแรก มันผ่านมาจนชาชินเสียแล้ว ดังนั้นถ้ามันจะเจ็บปวดเพิ่มขึ้นอีกสักครั้งก็คงไม่เป็นไร ไม่ถึงกับทำให้ความเข้มแข็งทระนงของผมต้องถูกกัดกร่อนไป ผมยังจะต้องมีชีวิตอีกต่อไป ยังจะต้องอยู่ต่อสู้เพื่อคนทุกข์ยากอีกนานแสนนาน จนกว่าจะสิ้นอายุขัยตามธรรมชาติ ผมจะต้องไม่แตกสลายไปเพราะความพลาดหวังในรักส่วนตัวอย่างแน่นอน ความรักที่แท้จริงและยิ่งใหญ่คือรักมนุษยชาติและรักคนผู้ทุกข์ยาก ความผิดหวังที่แท้จริงก็คือ ถ้าหากต้องพ่ายต่อความรักเช่นนี้นั่นเอง...” (น.333) 

นักต่อสู้ปัญญาชนชาวบ้าน

“ผมเป็นคนที่เรียนหนังสือมาไม่มาก แต่ผมมีประสบการณ์ที่หลากหลาย เป็นประสบการณ์ที่ต่อสู้กับความอดอยากทุกข์ยากและเจ็บปวดในวิถีทางการดำรงชีวิต ผมไม่เคยผ่านโรงเรียนการเมืองหรือได้รับการอบรมทางการเมืองมาจากปรมาจารย์ใด ๆ แต่การเมืองของผมเกิดขึ้นมาจากความคิดที่แสวงหาการมีชีวิตที่ดีกว่า ผมไม่เคยผ่านการอบรมทางวิชาการใด ๆ แต่ผมเชื่อว่าการที่ประชาชนคนส่วนใหญ่ยากจนทนทุกข์ แต่คนส่วนน้อยมั่งคั่งมีสุข เป็นเพราะการจัดสรรปันส่วนทางเศรษฐกิจไม่เป็นธรรมนั่นเอง และแม้ผมจะไม่เคยผ่านโรงเรียนฝึกการพูด แต่ผมก็สามารถกล่าวคำพูดให้ประชาชนนิยมชมชื่นได้ เพราะสิ่งที่ผมกล่าว ก็คือคำพูดที่ถอดออกมาจากหัวใจอันเป็นดวงเดียวกันกับประชาชนผู้ทุกข์ยากนั่นเอง” (น.143)

หากปัญญาชนไม่เพียงหมายถึงผลิตผลจากมหาวิทยาลัย แต่หมายถึงผู้สามารถคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุผล กล้าวิพากษ์วิจารณ์สังคมฝ่ามายาคติ และรู้ว่าควรหยัดยืนเพื่อชนชั้นใด  สุรชัย แซ่ด่าน ก็คือปัญญาชนคนหนึ่ง เป็นปัญญาชนชาวบ้านที่ศึกษาเรียนรู้อย่างทะลุปรุโปร่งจากชีวิตคนยากไร้  หนังสือของเขาไม่กล่าวอ้างทฤษฎีของนักคิดที่ยิ่งใหญ่คนใด มีเพียงทฤษฎีของคนยากแค้น  และอาจเพราะเคยอดอยากหิวโซ เขาจึงเป็นนักต่อสู้ที่ตระหนักว่าปากท้องนั้นสำคัญยิ่งและมีอิทธิพลต่อหลายสิ่งในชีวิต ไม่เว้นแม้แต่ความรัก เขาถึงขนาดกล่าวว่า “ชีวิตจริงมิใช่นิยายรักอมตะ และสิ่งที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตอยู่ได้คือเศรษฐกิจ มิใช่ความรัก” (น.278)   

การเมืองก็เช่นกัน ในการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ทางการเมืองเพื่อกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวต่อสู้  เขาไม่เคยหลงลืมพิจารณาปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจและปากท้อง  

“การที่สหายกล่าวว่ามวลชนอิ่มตัวทางการเมืองจนมีสภาพซบเซานั้น ผมเข้าใจว่าสหายมองแต่การที่มวลชนจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมกับพรรคฯ เพียงด้านเดียว เช่น เข้าร่วมหน่วยจัดตั้ง เข้าร่วมศึกษา เข้าร่วมทำงานที่ทางพรรคฯ เรียกร้องเหล่านี้ แต่ครั้นเมื่อชาวบ้านไม่ค่อยจะสนใจในสามประการนี้ก็เลยเหมาเอาว่า มวลชนอิ่มตัวทางการเมือง เรื่องนี้ในความคิดเห็นของผมแล้วถือว่าเราต้องไม่ใช้รูปแบบที่ตายตัว แต่ต้องใช้เทคนิคและวิธีการในการสร้างสิ่งจูงใจเป็นแรงดึงดูดให้มวลชนเข้าร่วม สิ่งจูงใจที่สำคัญก็คือผลประโยชน์นั่นเอง ผลประโยชน์มันก็มีอยู่สองระยะคือเฉพาะหน้าและระยะยาว และก็มีอยู่สองประการ คือผลประโยชน์ทางรูปธรรม อันได้แก่ ทรัพย์สินวัตถุสิ่งของต่าง ๆ กับผลประโยชน์ทางนามธรรม อันได้แก่ เกียรติยศและชื่อเสียง การปฏิวัติก็คือการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์นั่นเอง แต่เป็นผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ส่วนนักปฏิวัติก็มุ่งหวังผลประโยชน์เช่นกัน แต่เป็นผลประโยชน์ทางนามธรรม คือเกียรติยศ ชื่อเสียง และความภาคภูมิใจ ความคิดเห็นของผมถือว่าจะต้องเริ่มจากความเป็นจริง เช่นนี้ไปกำหนดในการทำงาน ไม่ใช่เอาทฤษฎีสวยหรูไปโฆษณาแล้วเรียกร้องให้มวลชนเสียสละอย่างมองไม่เห็นสิ่งที่เขาจะได้รับ สังคมนิยมและสังคมคอมมิวนิสต์มันไกลเกินไปที่จะมีแรงดึงดูดพอให้มวลชนเข้าร่วมอย่างไม่ท้อแท้เบื่อหน่าย” (น.299)

ในฐานะผู้นำมวลชน เขามิได้เอาแต่เรียกร้องให้มวลชนเสียสละโดยไม่คำนึงถึงปากท้องและการทำมาหากิน

“...พอผมไปถึงพวกเขาก็ปรบมือต้อนรับอย่างดีอกดีใจ ครั้นพอผมปราศรัยในรอบแรกเสร็จเรียบร้อยแล้วก็เริ่มช่วยพวกเขาจัดระบบทันที โดยให้ไปถอนพวกที่ทำการปิดถนนกลับมาให้หมด ให้พวกเขาจัดสร้างเวทีที่แข็งแรง มีหลังคากันฝนขึ้นมา เขียนจดหมายไปขอยืมเครื่องขยายเสียงกำลังสูง พร้อมด้วยไมโครโฟนและลำโพงหนึ่งชุดจากร้านของเพื่อนที่อำเภอตะกั่วป่า แนะนำให้ฝ่ายพลาธิการปรุงอาหารพื้น ๆ ที่ราคาไม่สูง เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายเพื่อรับสถานการณ์ยืดเยื้อ แนะนำให้พวกเขาใช้วิธีผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาแต่ละครอบครัว ไม่ต้องมากันหมดคราวเดียวกันเพื่อให้ได้มีการพักผ่อนและไม่ต้องหยุดการหารายได้” (น.92) 

เฉกเช่นชาวบ้านทั่วไปที่ไม่อาจประกาศอิสรภาพทางเศรษฐกิจท่ามกลางความยากจน ปากท้องของคนในครอบครัวยังเรียกร้องเวลามากมายเพื่อการทำมาหากิน  การเบียดบังเวลาไปทุ่มเทต่อสู้ทางการเมืองจึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับชนชั้นชาวบ้าน อุดมการณ์บางคราวเป็นสิ่งสูงส่งและเลื่อนลอยไกลห่างเกินเอื้อมถึง สำนึกผิดชอบต่อครอบครัวกับสำนึกต่อมวลชนมักทะเลาะก่อศึกกันอย่างไม่อาจประนีประนอม  ถึงที่สุดก็จำเป็นต้องเลือก และนักต่อสู้ทั้งหลายย่อมต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า ไม่มีทางสายที่เจ็บปวดน้อยกว่า ไม่ว่าจะเลือกแบกภาระใดไว้บนบ่าและผ่อนวางภาระใดลง  

นักต่อสู้อย่างสุรชัย แซ่ด่าน อาจไม่ฟูมฟายถึงความเจ็บปวดจากศึกสงครามภายในนี้ให้เห็น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาไม่เคยเดินผ่านมา  เชื่อแน่ว่า เขาเคยบาดเจ็บปางตาย จากทั้งศึกภายในและภายนอก  

“ผมเองถึงตอนนี้ก็รู้ตัวว่าต้องตายแน่นอนแล้ว เลือดมนไหลออกมาเกือบหมดตัวจนซีดขาว เวลาจะตรวจเลือดต้องเจาะเอาจากเส้นเลือดและมันมีแต่น้ำเกลือเป็นส่วนใหญ่ มีเลือดปนอยู่ส่วนน้อยเท่านั้น ใจของผมเริ่มสั่นหวิว ความหนาวเย็นเริ่มแผ่ออกปกคลุม ความรู้สึกว่าเหว่าเริ่มเกาะกินใจ คิดถึงลูกเมียและพ่อแม่ว่าตัวเองต้องมาตายโดยไม่ได้พบเห็นหน้ากันอีกแล้ว คิดถึงการต่อสู้ของตนเองว่าช่างมาถึงจุดจบง่ายดายอะไรเช่นนี้ เสียงเรียกร้องภายในใจจึงฮึดสู้ขึ้นมาบอกว่าเราต้องไม่ตาย เรายังตายไม่ได้ ภารกิจยังรอเราอยู่ข้างหน้า ลมหายใจจึงถูกสูดลึกเข้าเต็มปอด ฟันกัดกันแน่น  ดวงตาเปล่งประกายเจิดจ้าท้าทายมัจจุราชอย่างเต็มที่ เป็นการฮึดสู้เพื่อกระชากเอาชีวิตออกมาจากเงื้อมมือมัจจุราช ใจที่อ่อนล้าเริ่มเต้นแรง ความหนาวเย็นเริ่มจางหายไป ความว้าเหว่ถูกแทนที่ด้วยความคึกคักจนร้อนปร่าไปทุกขุมชน […] จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ถ้าจะมีใครถามผมว่ารสชาติของความตายเป็นอย่างไร ผมก็จะตอบได้อย่างที่ดีที่สุดเพราะผมได้ผ่านความตายมาแล้ว ความรู้สึกสุดท้ายเมื่อความตายมาถึง มันว้าเหว่ หดหู่ และสิ้นหวังชนิดที่ไม่เหลืออะไรอีกแล้วในโลกนี้ สิ่งที่ห่วงใย อยากจะพบเห็นและสัมผัสก่อนตายก็คือคนที่รักใคร่ใกล้ชิด เป็นความห่วงหาอาลัยในห้วงสุดท้ายของลมหายใจ ความตาย ชีวิตมันก็เพียงเท่านี้ ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่จนคับฟ้าหรือต่ำต้อยจนติดดิน” (น.232-234) 

เขาผ่านความตายมาหลายครั้ง  แม้ขณะยืนปราศรัยอยู่ท่ามกลางมวลชน ความตายก็อาจเดินทางมาหาได้ทุกเมื่อ แต่ผู้ปวารณาตนเป็นนักต่อสู้เพื่อมวลชนอย่างเขา ทำได้เพียงยืนท้าความตายอย่างทระนง 

“ปกติเวลาปราศรัยครั้งสำคัญ ๆ ที่คนมาก ๆ ผมมักจะย้ำเตือนสติผู้ฟังก่อนเสมอว่า ถ้ามีอะไรขึ้นมาแล้วอย่าวิ่งให้เกิดชุลมุน คนที่ยืนอยู่ให้นั่งลงเสีย แล้วเราจะได้เห็นว่าไอ้คนที่ก่อเหตุมันยืนอยู่ตรงไหนหรือวิ่งไปทางไหน มิฉะนั้นมันจะอาศัยความชุลมุนหลบหนีไปหลังจากก่อเหตุแล้ว สำหรับผมเองขอรับรองว่า ถึงแม้จะถูกยิง แต่ถ้าไม่เจาะสมองหรือตัดขั้วหัวใจแล้วล่ะก็ ผมจะไม่หยุดพูด จะอาบเลือดปราศรัยต่อไป และจะไม่วิ่งหนีอย่างเด็ดขาด” (น.117) 

เขาเคยกล่าวถึงบทสรุปของชีวิตนักต่อสู้เพื่อผู้ยากไร้ไว้ตั้งแต่ปี 2530 เมื่อเขาเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นขณะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ รอคอยความตายเดินทางมาถึง

“ประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ของผู้รักชาติรักประชาธิปไตย ชาวไทยได้ถูกจารึกไว้บทแล้วบทเล่า หลายพันชีวิตหลายพันครอบครัวที่ถูกผลสะท้อนกลับอย่างเลวร้ายจากการต่อสู้นี้ การพลัดพราก ความเจ็บปวดและทุกข์ทรมาน ได้เกิดขึ้นรายแล้วรายเล่าอย่างต่อเนื่องตลอดมา จนกลายเป็นข้อเตือนใจว่า นักการเมืองของประชาชน เมื่อย่างก้าวเข้าสู่เวทีการต่อสู้ ก็จงเตรียมตัวให้พร้อมเถิดที่จะพบกับการสูญเสีย เช่น การพลัดพรากจากคนที่ตนรักและผูกพัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง เพราะว่าการต่อสู้นั้นจะต้องถูกตอบโต้อย่างรุนแรงแน่นอน ไม่ว่าจะใช้สันติวิธีหรือความนิ่มนวลสักขนาดไหนไปต่อสู้ก็ตาม ดังเช่นที่ผมได้ประสบกับตัวเองตลอดมา” (น.142)

ถ้อยคำของเขายังกระจ่างชัด แม้เดินทางผ่านกาลเวลาที่ผุพังไร้แสงสว่างมากว่า 30 ปี  หากตัดปี พ.ศ.ทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้ออก ผู้อ่านจำนวนไม่น้อยอาจเข้าใจว่าหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในปี 2562  

เป็นปีแห่งการมาถึงของเรื่องเล่าเกี่ยวกับศพลอยน้ำอันทำให้ฉันต้องค้นหนังสือเล่มนี้ (ที่ได้มาเมื่อสิบปีก่อน) ออกมาอ่านอีกครั้ง และอ่านย้ำทวนบทกวีของนักศึกษาที่เขาเคยซาบซึ้งจนถึงกับหลั่งน้ำตาซ้ำไปซ้ำมาอยู่หลายเที่ยว

ให้แดงฉาน    งามเลิศล้น
ก้าวไปรับใช้    ผู้ทุกข์ทน
ไม่หมองหม่น    แต่เริงร่า อย่างท้าทาย

              

แด่...สุรชัย แซ่ด่าน  
หญ้าดอกขาว/กลุ่ม 10เมษา
1 กุมภาพันธ์ 2562

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท