Skip to main content
sharethis

8 ก.พ.2562 เมื่อเวลา 9.10 น. ที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พรรคไทยรักษาชาติ นำโดย ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคฯ ยื่นบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีในนามพรรค โดยรายชื่อที่พรรคฯยื่นคือ "ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี"

ร.ท.ปรีชาพล ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าชื่อดังกล่าว มาจากมติจากกรรมการบริหารพรรคหลังจากนั้นได้ติดต่อประสาน ท่านเองก็ตอบรับ อย่างไรก็ตามไม่สะดวกตอบในรายละเอียด

ขณะที่เช้ามืดที่ผ่านมา ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่าน instagram ว่า "เราจะเดินไปด้วยกัน"

"วันนี้จะเริ่มที่สะพานนวรัฐซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำปิงเก่าแก่ซึ่งทำด้วยไม้สัก สร้างเมื่อประมาณปี 2433 และได้รับการสร้างใหม่ให้เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กเมื่อปี 2510 หลังจากเราเดินข้ามสะพานนี้แล้ว เราก็เริ่มวันด้วยกาแฟที่ร้านกาแฟริมปิงซักแก้วนึงจะได้สดชื่นและกระฉับกระเฉง" ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ โพสต์

iLaw โพสต์ข้อมูลผ่านเฟสบุ๊คด้วยว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ประสูติเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2494 เข้าศึกษาสำเร็จระดับปริญญาตรีจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา และระดับชั้นปริญญาโทจาก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วันที่ 25 กรกฎาคม 2515 ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์ ด้วยทรงพระดำริว่า การดำรงฐานันดรศักดิ์เป็นกิจพิเศษ ไม่สามารถปฏิบัติให้ครบถ้วนสมบูรณ์ได้ จากนั้นทรงอภิเษกสมรสกับปีเตอร์ เจนเซน ชาวอเมริกัน ในพระบรมหาราชวังตามราชประเพณี และเสด็จประทับอยู่สหรัฐอเมริกา

ต่อมาในปี 2541 หย่ากับปีเตอร์ เจนเซน และเสด็จนิวัติไทยในปี 2544 หลังจากนั้นจึงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในด้านสังคมเช่น ทรงเป็นองค์ประธานโครงการ "TO BE NUMBER ONE" และตั้งมูลนิธิชีวิตสดใส ซึ่งดำเนินโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในจังหวัดชายแดนใต้ 

สำหรับประเด็นสถานะทางกฎหมายของ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ที่จะเป็นแคนดิเดตนายกของพรรคไทยรักษาชาติ มีกฎหมายที่สามารถนำมาพิจารณาได้ ดังนี้

สิ่งแรก คือ สถานภาพของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯอยู่ในสถานะสามัญชนคนธรรมดา หรือเป็นบุคคล สัญชาติไทยหรือไม่ จากประกาศพระบรมราชโองการ เรื่อง ลาออกจากฐานันดรศักดิ์ (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2515/A/112/1.PDF) มีผลทำทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯมีฐานะเป็นสามัญชน ออกจากการดำรงฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ในฐานะสมเด็จเจ้าฟ้า

เนื่องจากสถานะในทางกฎหมาย ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เป็นสามัญชนแล้ว จึงต้องมาดูกันต่อว่า คุณสมบัติของผู้ที่จะอยู่ในบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีอะไรบ้าง (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2515/A/112/1.PDF)

มาตรา 88 และ 89 กำหนดให้การเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี (1) ต้องมีหนังสือยินยอมของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อ โดยมีรายละเอียดตามที่คณะกรรมการ
การเลือกตั้งกําหนด (2) ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา 160

ซึ่งคุณสมบัติตามมาตรา 160 กำหนดให้ (1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ํากว่าสามสิบห้าปี
(3) สําเร็จการศึกษาไม่ต่ํากว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
*(6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98
(7) ไม่เป็นผู้ต้องคําพิพากษาให้จําคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ
เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
(8) ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุกระทําการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186
หรือมาตรา 187 (เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการ) มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง

ซึ่งข้อที่หน้าสนใจต่อไปคือ ลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98
ในมาตรา 98 กำหนดลักษณะต้องห้าม มีข้อที่น่าสนใจได้แก่ 
(4) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะเป็นภิกษุ หรือนักบวช, ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือ วิกลจริตจิตฟั่นเฟือน 
(5) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/068/40.PDF)
กำหนดเรื่องผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไว้ในมาตรา 35 ดังนี้

มาตรา 35 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ผู้นั้นถูกจํากัดสิทธิ ดังต่อไปนี้
(1) ยื่นคําร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(2) สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา
(3) สมัครรับเลือกเป็นกํานันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ 
(4) ดํารงตําแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา
(5) ดํารงตําแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหาร ท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

การจํากัดสิทธิตามวรรคหนึ่งให้มีกําหนดเวลาครั้งละสองปีนับแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และหากในการเลือกตั้งครั้งต่อไปผู้นั้นไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอีกให้นับเวลาการจํากัดสิทธิครั้งหลังนี้โดยนับจากวันที่มิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งใหม่ หากกําหนดเวลาการจํากัดสิทธิครั้งก่อนยังเหลืออยู่เท่าใดให้กําหนดเวลาการจํากัดสิทธินั้นสิ้นสุดลง

ซึ่งการจำกัดสิทธิเลือกตั้งมีระยะเวลาเพียงสองปีจากการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย ซึ่งปัจจุบัน ไม่มีการเลือกตั้งมาถึง 4 ปี 7 เดือนแล้ว ทำให้แม้พระองค์ท่านไม่เคยไปเลือกตั้งเลยการจำกัดสิทธิเลือกตั้งก็หมดสิ้นไป ทำให้มีสิทธิเลือกตั้งดังเดิม ถือว่า มีคุณสมบัติที่จะถูกเสนออยู่ในบัญชีว่าที่นายกฯ ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net