Skip to main content
sharethis

'ชลิดา ทาเจริญศักดิ์' ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน ออกจดหมายเปิดผนึกกรณี 'ฮาคีม อัล-อราบี' ชี้การตัดสินใจของกระบวนการยุติธรรมไทยกำลังอยู่ในขั้นตอนหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญว่าจะรักษากฎเกณฑ์นานาชาติ มนุษยธรรม ความสัมพันธ์กับนานาชาติ หรือจะรักษากฎหมายไทยและความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบาห์เรนเท่านั้น

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน ได้ออกจดหมายเปิดผนึกกรณีการจับกุมตัวนายฮาคีม อัล-อราบี โดยระบุว่ากรณีของ ฮาคีม นั้นแตกต่างซับซ้อนกว่ากรณีของ ราฮาฟ เด็กสาวจากซาอุ กรณีราฮาฟเป็นความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม กรณีราฮาฟจบลงอย่างงดงาม ขอบคุณประเทศแคนาดาที่ยินดีรับเธอไปเริ่มต้นชีวิตใหม่

กรณีของฮาคีม มีเรื่องการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ซับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง น่าเห็นใจอัยการสูงสุด และศาลอาญาที่ต้องทำหน้าที่ตามกฎหมายไทย กรณีของฮาคีมมิใช่แค่นั้น มีเรื่องของสิทธิมนุษยชน สิทธิผู้ลี้ภัย และอาญชกรรมข้ามพรมแดน การเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย การใช้แค่กฎหมายไทยอย่างเดียวพิจารณาเรื่องนี้เป็นการไม่เป็นธรรม สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนยิ่งกว่าการปฏิบัติตามกฎหมายฉบับเดียว เพราะชีวิตคนมีค่าและจะต้องไม่ถูกละเมิดโดยความไม่ชอบธรรม 

1.กรณีนี้ แม้ Interpol ออสเตรเลีย จะลบข้อมูลช้าทำให้ชื่อของเขาปรากฏขึ้นมา และถูกควบคุมตัว เมื่อ Interpol ออสเตรเลียได้ขอลบชื่อเขาออกและแจ้งให้เจ้าหน้าที่ไทยทราบ เรื่องน่าจะยุติเพราะคนที่ส่งหมายเตือนให้จับได้ขอยกเลิก การส่งหมายให้ควบคุมตัวแล้ว การใส่ชื่อในทางร้ายเจ้าหน้าที่ทำได้อย่างรวดเร็ว แต่การลบชื่อออกทำได้ช้าหรือไม่ได้ทำ มีหลายกรณี ตัวอย่างเช่น ดิฉันเคยโดยหมาย blacklist ห้ามเข้าประเทศพม่าอยู่หลายปีเพราะรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า และเมื่อพม่าได้เปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยมีการประกาศยกเลิกผู้ที่ถูก blacklist กว่า 200 กว่าคน รวมทั้งดิฉันด้วย ดิฉันไปยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศพม่าแต่ถูกปฏิเสธจากสถานฑูตว่าห้ามเข้าประเทศ ต้องพิสูจน์กันช้านานว่าชื่อดิฉันได้ถูกยกเลิกแล้ว กว่าจะได้วีซ่าเข้าประเทศพม่า กรณีของฮาคีมก็คงคล้ายๆกัน คือไม่ได้ลบชื่อออกจากฐานข้อมูล ทางการไทยควรต้องขอโทษฮาคีม และให้เธอกลับออสเตรเลียโดยเรียบร้อยปลอดภัย
 
2.ทำไมฮาคีมควรกลับไปออสเตรเลีย ฮาคีมได้รับการพิจารณาเป็นผู้ลี้ภัยจาก UNHCR และออสเตรเลียได้รับเขาเป็นผู้ลี้ภัยพำนักอยู่ใน ออสเตรเลียแล้วแสดงว่าขั้นตอนการร้องขอสถานภาพของฮาคีมได้สิ้นสุดแล้ว เขาได้รับการคุ้มครองจาก UNHCR และรัฐบาลออสเตรเลีย การที่ UNHCR พิจารณาว่าการหนีออกมาจากบาห์เรนมีภัยต่อชีวิต ต้องได้รับการคุ้มครอง การพิจารณาสถานภาพของ UNHCR เป็นขบวนการที่ละเอียด รอบคอบ ชักช้า แน่ใจได้ว่า UNHCR จะไม่พิจารณาผิดพลาด การจะส่งตัวฮาคีมกลับไปบาเรน ผิดด้วยหลักสิทธิมนุษยชน หลักกฎหมายระหว่างประเทศ ที่จะไม่ส่งผู้ใดไปเผชิญกับภัยประหัตประหาร ผิดหลักศีลธรรมด้วย 

3.การที่บาเรนอ้างว่า ฮาคีมได้กระทำผิดในประเทศ ยังเป็นข้อครหาว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่เพราะมีหลักฐานว่าเขาลงสนามแข่งขันในวันเดียว และเวลาใกล้กันกับการเกิดเหตุเผาสถานที่ราชการ การส่งตัวฮาคีมไปพิจารณาคดีในบาเรนนั้น ไม่ชอบ เขาอาจไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดี คดีที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีการเมืองที่อาจถูกกลั่นแกล้งได้ และไม่ใช่ข้อหาอุจกรรจ์ ต่อมนุษยชาติ ทำไมรัฐบาลบาเรนจึงไม่ขอตัวฮาคีมจากรัฐบาลออสเตรเลียกลับไปดำเนินคดี คำตอบคือรัฐบาลออสเตรเลียจะไม่ส่งมอบให้ แต่มาขอจากรัฐบาลไทย ถ้าฮาคีมไม่เดินทางมาประเทศไทยเขาก็ไม่ถูกควบคุมตัว สิทธิของผู้ลี้ภัยและกฏหมายสากลที่นานาประเทศปฏิบัติตามรวมทั้งประเทศไทยด้วย คือจะไม่ส่งใครกลับไปรับภัยประหัตประหาร ทั้ง UNHCR และรัฐบาลออสเตรเลีย ได้รับตัวเขาไว้ด้วยมนุษยธรรม เขากำลังจะเป็นพลเมืองของ ออสเตรเลียแล้วไม่ใช่พลเมืองของบาเรนอีกต่อไป 
 
4.การตัดสินใจของกระบวนการยุติธรรมไทยกำลังอยู่ในขั้นตอนหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญว่าจะรักษากฎเกณฑ์นานาชาติ มนุษยธรรม ความสัมพันธ์กับนานาชาติ หรือจะรักษากฎหมายไทยและความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบาห์เรนเท่านั้น 

"สุดท้ายดิฉันยืนอยู่ข้างการปกปักษ์รักษาชีวิต อิสรภาพ เสรีภาพ ความเป็นมนุษย์ ความมีศักดิ์ศรีของฮาคีม ขอให้รัฐบาลไทย ขบวนการยุติธรรมของไทยดำรงไว้ซึ่งความถูกต้อง เป็นธรรม มีความเป็นสากล และมีมนุษยธรรม" ชลิดา ระบุ
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net