Skip to main content
sharethis

ฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 73 ขบวนจุฬาฯ สะท้อนสังคม "อำนาจข้น ประชาชนจาง" ชักชวนออกไปเลือกตั้ง ด้านล้อการเมืองธรรมศาสตร์ ไม่ลืม #SaveHakeem ไม่ลืมสืบทอดอำนาจ คสช. และแผน 20 ปี ขณะที่แปรอักษรธรรมศาสตร์ สะท้อนสังคมไทยลุ้นประกาศแคนดิเดตนายกฯ ตั้งแต่ 9 โมงกว่าถึง 4 ทุ่ม 55 "เดาทางไม่ถูก จะจบแบบไหน ... ลุ้นกันต่อไป ... to be continued"

ที่มา: Facebook/Chulalongkorn University

9 ก.พ. 2562 การแข่งขันฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 73 ที่สนามศุภชลาศัย ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จัดในแนวคิด "The Way for Tomorrow อนาคตใครนิยาม" มีพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ผู้แทนพระองค์ เป็นประธาน สำหรับผลการแข่งขัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชนะธรรมศาสตร์ 2-1 คว้าแชมป์เป็นสมัยที่ 17

ขบวนสะท้อนสังคมจุฬาฯ ชี้ "อำนาจข้น ประชาชนจาง" 

ส่วนสีสันก่อนการแข่งขันฟุตบอล ก่อนหน้านั้นในเวลา 13.45 น. ขบวนสะท้อนสังคมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และขบวนล้อการเมืองของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เริ่มทยอยเดินเข้าสู่สนาม โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยส่ง 4 ขบวน ขบวนแรก "อำนาจข้น ประชาชนจาง" มีชายสองคนกำลังถือช้อนส้อมโต๊ะนั่งโต๊ะจีน มีนายทุนนั่งบนพานรัฐธรรมนูญ อีกตัวหนึ่งคือชายร่างท้วมสวมนาฬิกาเรือนโตนั่งบนเก้าอี้คนที่แปะบัตรคนจนไว้บนหน้า ขบวนที่สองคือ "มา (ไร่) หนูสิ" เป็นรูปชายคิ้วหนาสวมเสื้อสีเขียว จมูกยาว สามารถดึงยืดออกมาได้ เขียนว่า "ผมไม่ลง" มีข้อความรอบตัวเขียนว่า รักแกะยิ่งsheep มาไร่หนูสิ

ขบวนที่สาม เอทีเอ็มสีเขียว มีลายพรางด้านบน สามารถกดภาษีประชาชนได้ 24 ชั่วโมง และขบวนสุดท้ายเป็นหุ่น โทรโข่ง CU สีชมพู สะท้อนว่าถึงจุฬาฯ พร้อมเป็นปากเสียงให้ประชาชน นอกจากนี้ยังมีป้ายผ้ารณรงค์ให้นิสิตนักศึกษาไปเลือกตั้ง ระบุว่า "ทุกสิทธิทุกเสียงของคุณมีค่า การด่าไม่ช่วยอะไร"

มธ. ไม่ลืมฮาคีม ไม่ลืมสืบทอดอำนาจ คสช. และแผน 20 ปี

ที่มา: Amnesty International Thailand [1], [2]

ส่วนขบวนล้อการเมืองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขบวนแรก "ฮาคีม ลี้ภัย ใส่ตรวน" โดยถือป้ายผ้า #Savehakeem นำหน้าขบวน สะท้อนกรณี 'ฮาคีม อัลอาบี' ผู้ลี้ภัยการเมือง อดีตนักฟุตบอลบาห์เรน ที่ลี้ไปภัยออสเตรเลีย แต่กลับต้องสวมชุดสีน้ำตาล ถูกโซ่คล้องมือ ถือลูกฟุตบอล และรัฐบาลไทยถูกโลกประณามหลังจับกุมคุมขัง ใส่ตรวน และนำเขามาขึ้นศาล

ขบวนต่อมาคือ "game of trade" เป็นหุ่นของ ผู้นำสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ สไตล์การ์ตูนซิมสัน กับหมีพูห์ ที่ใช้เปรียบถึงสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ซึ่งสัญลักษณ์หมีพูห์นั้นถูกเซ็นเซอร์ในจีนแผ่นดินใหญ่

ขบวนที่สามคือ "เครื่องดูดฝุ่น พลังประชารัฐ" เป็นเครื่องดูดฝุ่นแปะรูปคล้าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครึ่งหน้า พร้อมหุ่นเทเลทับบี้ 4 ตัว มีโลโก้พรรค รปช. ปชป. ปชช. และภท. คอยเกาะเครื่องดูดฝุ่นอยู่ ด้านหลังเป็นลายธงชาติโลโก้พรรคพลังประชารัฐที่ พล.อ.ประยุทธ์ ลงในบัญชีนายกฯ สะท้อนถึงการเมืองที่ผู้นำรัฐบาล คสช. ด่านักการเมือง แต่พอตนเองเข้าสู่การเมือง กลับใช้วิธีน้ำเน่าเดียวกัน ผ่านอำนาจเงินตราและเส้นสาย

ขบวนที่สี่ "เลือกตั้งไม่ผิดผิดที่สัญญา” เป็นหีบบัตรเลือกตั้งสีเขียว ด้านหน้าเขียนว่า เขตเลือกตั้งที่ พร้อมจารึกปี พ.ศ.ที่ คสช. ยึดอำนาจเข้ามาตั้งแต่ปี 2557-2562 พร้อมป้ายผ้าสีขาวเขียนด้านหลังว่า "ผลการลากตั้งเขต 44 นายวุฒิ สภาทาส พรรคพลังประ…. 250 นายไทย ห้ามใช้สิทธิ์ พรรคประชาธิปไตย 0 ..."ส่วนด้านหลังหีบ มีหุ่นแปะหน้าธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ บัญชีนายกฯพรรคเพื่อไทย และสุดารัตน์์ เกยุราพันธุ์ บัญชีนายกฯ เพื่อไทย และ ส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับ 1 ถูกโซ่ล่ามไว้ สะท้อนถึงระบบประชาธิปไตย ที่ต้องใช้เสียงข้างมาก เคารพเสียงข้างน้อย แต่ปัจจุบัน การเลือกตั้งไม่ได้แสดงออกของประชาชน แต่เป็นการสืบทอดอำนาจ ที่รัฐบาล คสช. มีอำนาจตั้ง ส.ว.250 คน เตรียมไว้แล้วและขบวนสุดท้าย “มรดกบาป 20 ปี” เป็นหินสลักหน้า รูป 4 บุคคลในรัฐบาล คสช. และองค์กรที่เกี่ยวข้อง คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม, มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 และวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ที่สร้างสรรค์รัฐธรรมนูญ 2560, มาตรา 44, ยุทธ์ศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมรูปเรือดำน้ำ รถไฟจีน ด้านหลัง เขียนข้อความ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี บนลายพราง ฯลฯ

แปรอักษรธรรมศาสตร์ ทิ้งท้าย "To be continued"

ในอัฒจันทร์แปรอักษร ในช่วงแปรอักษรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแปรอักษรภายใต้ชุด "ซาวน์ ออฟ จุฬาฯ ปลุกเสียงที่มีพลัง ให้ดังยิ่งกว่าที่เคย" ระบุว่า

“พี่หมื่นขา เสียงพัฒนา จุฬามี 5G” “เสียงเจ้าพงพี ป่าไม้หาย” “เสียงความหลากหลาย LGBT” “เสียงบอกอากาศดี PM2.5” “เสียงข่าวซา เสือดำดับ” “เสียงสับปลับ เชื่อถือไม่ได้” “เสียงคนเดียวยังกล้าเรียก ประชาธิปไตย” “เสียงที่หายไป เสียงประชาชน” “เสียงของทุกคนต้องใช้อีกครั้ง” “ปลุกเสียงที่มีพลัง ให้ดังยิ่งกว่าที่เคย”

ที่มา: Facebook/Chula Alumni [1], [2]

ส่วนอัฒจันทร์แปรอักษรฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้หัวข้อ "แม่งูเอ๋ย" โดยประเด็นที่เรียกเสียงฮือฮามีการจิกกัดทั้งเรื่องครูที่มีทัศนะเหยียดเพศ เรื่องนักร้องไม่รู้ประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เชื่อมมาถึงเรื่อง 6 ตุลาคม 2519 รวมทั้งประเด็นการเมืองก่อนการเลือกตั้ง โดยมีข้อความมีดังนี้

"แม่งูเอ๋ย กินน้ำบ่อไหน" "กินการเมืองไทย วนไปก็วนมา" "เสือดำเอ๋ย คดีไปถึงไหน" "โถ ตำรวจไทย ไหว้ไปไหว้มา" "ท่านท่านเอ๋ย นอนหลับลงไหม" "บ้านในป่าใหญ่ แหว่งไปแหว่งมา" "ปปช.เอ๋ย นายทุนฝั่งไหน" "ประชาชนไทย หรือคนใส่นาฬิกา"

"ลูกงูเอ๋ย เอาน้ำบ่อไหน" "มาฉีดเล่นใส่ ไล่ฝุ่น 2.5" "เพ้อไป 4.0 มีครูเหยียดเพศ" "อดใส่ไปรเวท เพราะติดกะลา" "น้องน้ำขึ้นเวที จี้เพิ่มเนื้อหา" "หนูว่า 6 ตุลา น่ารู้กว่านาซี" "ลูกงูเอ๋ย … หาเสียงก่อนใคร ตุนไว้ครึ่งสภา"

"แบ่งเขตวุ่นวาย โปรยปรายภาษี" "อีก 125 ที่ ลุงชนะเห็นๆ" "พอ 9 โมงกว่า ดันมีเซอร์ไพรส์" "ประกาศชื่อใหม่ ถึงกับไปไม่เป็น" "แต่…. แม่งูเอ๋ย สนุกเป็นบ้า" "4 ทุ่ม 55 หักมุมอีกที" "เดาทางไม่ถูก จะจบแบบไหน" "ลุ้นกันต่อไป" "to be..." "to be continued"

ธนาธรให้กำลังใจกลุ่มล้อการเมืองจุฬา-ธรรมศาสตร์

อนึ่ง เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานด้วยว่าธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค, ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค, พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ มาร่วมงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์ - จุฬาฯ พร้อมกับให้กำลังใจนักศึกษาและนิสิตกลุ่มทำล้อการเมืองที่หน้าอาคารจันทนยิ่งยง

ทั้งนี้ธนาธรได้ชมหุ่นล้อการเมืองของทั้ง 2 สถาบัน และให้ความสนใจหุ่นล้อการเมืองของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ชื่อว่า เลือกตั้งไม่ผิด ผิดที่สัญญา ซึ่งเป็นรูปหีบบัตรการเมือง และมีหุ่นนักการเมืองที่ติดรูปหน้าของ ธนาธร ถูกล่ามโซ่พร้อมกับหุ่นที่มีรูปหน้านักการเมือง ได้แก่ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย, พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวช หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย โดยธนาธรให้สัมภาษณ์ชื่นชมกลุ่มพลังเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ร่วมแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง ถือเป็นสิ่งสะท้อนว่าคนรุ่นใหม่สนใจการเมือง เช่นเดียวกับสถานการณ์การเมืองช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา การใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เขียนข้อความและติดแฮชแท็กสะท้อนถึงความสนใจต่อสถานการณ์ทางการเมือง ติดอันดับของสื่อโซเชียลมีเดีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net