สปสช.คุ้มครองสิทธิผู้พิการทางการได้ยินผนึก TTRS บริการล่ามผ่านสายด่วน 1330

สปสช.ร่วมกับศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) ช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิคนพิการทางการได้ยิน เปิดบริการล่ามทางไกลอำนวยความสะดวกผู้ใช้สิทธิบัตรทองให้เข้าถึงข้อมูล ผ่านแอปพลิเคชันเชื่อมต่อสายด่วน สปสช. โทร. 1330

10 ก.พ. 2562 ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พัฒนาระบบให้บริการผู้พิการทางการได้ยิน ด้วยการอำนวยความสะดวกให้สามารถเข้าถึงสายด่วน สปสช. โทร. 1330 สำหรับติดต่อสอบถาม ร้องเรียน ร้องทุกข์การใช้สิทธิบัตรทอง ผ่านล่ามแปลภาษามือ

สำหรับการช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิคนพิการทางการได้ยินดังกล่าว จะให้บริการผ่านตู้ TTRS ที่กระจายอยู่ตามสถานที่ต่างๆ 180 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงเว็บไซต์ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย www.ttrs.or.th และแอปพลิเคชัน mymmx ttrd video ที่จะส่งข้อมูลมายังสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อดำเนินการ พร้อมกันนี้ยังสามารถติดต่อด้วยตนเองที่ สปสช. ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่โทรติดต่อล่ามของ TTRS เพื่อช่วยแปลให้

นางสาววันทนีย์ พันธชาติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) กล่าวว่าผู้ใช้สิทธิบัตรทองส่วนใหญ่จะใช้ช่องทางสายด่วน 1330 เพื่อสอบถามสิทธิประโยชน์ และข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิบัตรทอง ซึ่งทาง TTRS เล็งเห็นว่านอกจากการให้บริการด้วยเสียง (call center) แล้ว น่าจะมีช่องทางในการให้บริการผู้พิการทางการได้ยินซึ่งใช้สิทธิบัตรทองด้วย จึงประสานความร่วมมือมายัง สปสช. ผ่านการหารือร่วมกับ นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. จนเกิดเป็นความร่วมมือสำหรับช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิคนพิการทางการได้ยิน ผ่านการเชื่อมต่อระหว่างศูนย์ทั้ง 2 ศูนย์ คือสายด่วน สปสช. โทร.1330 และ TTRS

นางสาววันทนีย์ กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วประเทศมีผู้พิการทางการได้ยินไม่ต่ำกว่า 3 แสนราย ขณะที่อัตราการผลิตล่ามมีเพียงปีละ 40 รายเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่ TTRS เป็นศูนย์ล่ามทางไกล คือตั้งเป็น call center ที่ใช้งานผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน โดยมีช่องทางต่างๆ ให้ผู้ที่ต้องการใช้ล่าม และผู้พิการทางการได้ยินสามารถติดต่อมาเพื่อขอรับบริการได้

ทั้งนี้ ประกอบด้วยแอปพลิเคชันที่มีลักษณะแตกต่างไปตามพฤติกรรมการใช้งานของผู้พิการทางการได้ยินแต่ละราย ได้แก่ 1.SMS 2.TTRS message เป็นการอัดคลิปภาษามือส่งมา 3. กรณีที่ผู้พิการพิมพ์เป็นก็จะมีบริการ live chat ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับไลน์ 4.กรณีผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนแต่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ได้ ก็จะใช้ช่องทางเว็บไซต์ ซึ่งสามารถทั้งฝาก e-mail หรือ สนทนาบนเว็บ 5.Video call 6.ตู้ TTRS ซึ่งมีประมาณ 180 แห่งทั่วประเทศ โดยกระจายตั้งอยู่ในสถานศึกษา โรงพยาบาล สถานีตำรวจ สมาคมคนหูหนวก ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น 7.สำหรับกลุ่มปากแหว่งเพดานโหว่ ก็จะมีโปรแกรมที่ช่วยทำให้ปรับเสียงพูดให้มีความชัดเจนขึ้น เพื่อส่งออกไปยังปลายสาย 8.กลุ่มคนหูตึงที่พูดได้แต่ไม่ค่อยได้ยิน ก็จะมีแอปพลิเคชันที่ช่วยแปลงเสียงปลายทางกลับมาเป็นตัวอักษร 

“ในกรณีนี้ หากผู้พิการทางการได้ยินต้องการประสานกับ 1330 ก็เพียงแค่ติดต่อมายัง TTRS เราก็จะเป็นด่านหน้าในการประสานกับ 1330 เพื่ออำนวยความสะดวก และในอนาคตก็จะยกระดับให้เมื่อผู้พิการใช้เบอร์ของตัวเองกด 1330 ก็จะติดที่ศูนย์ TTRS โดยอัตโนมัติ โดยทุกช่องทางที่กล่าวในข้างต้นสามารถเชื่อมต่อเข้ามายัง 1330 ได้ทั้งหมด” นางสาววันทนีย์ กล่าวและว่าทาง TTRS พร้อมที่จะเชื่อมต่อกับศูนย์ทุกศูนย์ โดยที่ผ่านมา TTRS ได้เชื่อมต่อกับสายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ไว้แล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท