Skip to main content
sharethis

นักเศรษฐศาสตร์ชี้สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าอาจพลิกกลับเป็นเงินบาทอ่อนค่าลงจากปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองล่าสุด อย่างไรก็ตามยังมีโอกาสการลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกจากสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีน 


ที่มาภาพประกอบ: Wutthichai Charoenburi (CC BY 2.0)

10 ก.พ. 2562 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่าสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าอันเป็นผลมาจากการเกินดุลทางการค้าเกินดุลบัญชีเดินสะพัด การชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ กระแสเงินระยะสั้นไหลเข้าตลาดการเงินไทยหลังมีความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองล่าสุดได้สร้างความไม่แน่นอนทางการเมืองและเกิดข้อสงสัยในหมู่นักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติต่อกระบวนการเปลี่ยนผ่านจาก “ระบอบรัฐประหาร” สู่ “ระบอบกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตย” ผ่านการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้ภาคการลงทุนอาจจะชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด กระแสเงินทุนระยะสั้นไหลเข้าจะชะลอตัวลง มีโอกาสมากขึ้นที่สถานการณ์ค่าเงินบาทอาจพลิกกลับจาก “แข็งค่า” เป็นทะยอย “อ่อนค่า” ลงได้จากปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นบั่นทอนความเชื่อมั่นนักลงทุน แม้นโดยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะทำให้เงินบาทแข็งค่าก็ตาม 

ในช่วงที่ผ่านมาพรรคการเมืองต่างๆ ต่างแข่งขันกันนำเสนอนโยบายเพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชน แต่การแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จได้หากไม่มีแผนการในการปฏิรูประเทศเพื่อนำไปสู่ความปรองดองและลดปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง หลังประกาศวันเลือกตั้งชัดเจนทำให้ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยครั้งแรกในรอบ 15 เดือน กระแสเม็ดเงินอาจยังคงไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องหากความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลง นอกจากนี้การที่ MSCI เล็งปรับเกณฑ์นำเอา ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย (NVDR) ที่นักลงทุนต่างชาติถือมาร่วมคำนวณในดัชนีด้วย จะช่วยหนุนเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทยในเอ็มเอสซีไอ (MSCI) เพิ่ม เป็นผลให้กองทุนหรือนักลงทุนสถาบันเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในไทย ปัจจัยบวกเหล่านี้จะถูกหักล้างด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่สร้างบรรยากาศประชาธิปไตยหรือไม่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมในการเลือกตั้ง 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าการทำให้ระบอบประชาธิปไตยไทยมีความมั่นคงและการเมืองไทยมีเสถียรภาพนั้นเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการที่ไทยจะเกิดโอกาสการลงทุนภาคเอกชนท่ามกลางผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนที่อาจรุนแรงขึ้นในเดือนมีนาคม ผู้ผลิตและผู้ส่งออกในจีนที่ต้องเผชิญกับกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียนและประเทศไทย สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศไทยได้รับโอกาสเป็นฐานการผลิตใหม่ของจีนในบางอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่จีนจะได้รับผลกระทบทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมยางล้อ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังเกิดโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง ยานยนต์ ไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาเพื่อทดแทนสินค้าจากจีนที่เผชิญกับกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ เกิดโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรมากขึ้นเพื่อทดแทนสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมจากสหรัฐฯไปจีน มีแนวโน้มสหรัฐอเมริกาจะระบายถั่วเหลืองส่วนเกินจากการถูกตั้งกำแพงภาษีจากจีน ทำให้การผลิตอาหารสัตว์ในไทยมีต้นทุนวัตถุดิบถั่วเหลืองถูกลง นอกจากนี้สินค้าและวัตถุดิบหลายตัวอาจถูกทุ่มตลาดและราคาปรับตัวลดลง ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าบางอย่างได้ถูกลง ผู้ผลิตมีต้นทุนวัตถุดิบที่ถูกลงด้วย อย่างไรก็ตาม ผลบวกจากสงครามการค้าจะไม่สามารถชดเชยผลกระทบทางลบจากความเชื่อมโยงด้านห่วงโซ่อุปทานได้ทั้งหมดแต่จะช่วยบรรเทาผลกระทบทางลบจากสงครามทางการค้าได้บางส่วน 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net