วิทยาศาสตร์กับสถาบันกษัตริย์ไทย: เมื่อหลอดทดลองกลายเป็นศาตราวุธของสมมติเทพ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ความเป็นกษัตริย์ของไทยได้รับแนวคิดทางศาสนามาอธิบายถึงสถานภาพของกษัตริย์ในฐานะที่เป็นจักรพรรดิแห่งสากล (Universal Emperor) หรือจักรวาทิน (Chakravartin) มีสถานะกษัตริย์เหนือกษัตริย์ นั่นก็คือ จักรพรรดิราช ถือเป็นยุคสมัยที่บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรือง(1) แนวคิดแบบพุทธมหายานและเถรวาทที่กล่าวถึงกษัตริย์มีฐานะเป็นพระโพธิสัตว์(bodhisattva)หมายถึงผู้จุติลงมาบำเพ็ญบารมีช่วยเหลือผู้คนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นพระพุทธเจ้าต่อไปในภพหน้า(2) และคติแบบฮินดูของการเป็นสมมติเทพที่ได้รับมาจากสมัยอยุธยา อย่างไรก็ตามคติความคิดดังกล่าวได้รับการสั่นคลอนในช่วงยุคล่าอาณานิคมจึงทำให้รัชกาลที่ 4 ทรงปรับภาพลักษณ์ในสถาบันกษัตริย์ให้ทันสมัยผ่านการรับวิธีการคำนวณดวงดาวด้วยวิธีการดาราศาสตร์แบบตะวันตกเพื่อทำนายช่วงเวลาเกิดสุริยุปราคาและรัชกาลที่ 5 ปรับปรุงระเบียบวิธีการปกครองที่เคยอ้างอิงกับสิทธิตามหลักศาสนาเพื่อเรียกเก็บภาษีจากกลุ่มประเทศราชในขอบขันต์สีมาเป็นการรับวิธีคิดรัฐชาติแบบตะวันตกที่มีขอบเขตและอำนาจในการปกครองอย่างชัดเจนถือเป็นการกระชับอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง
 
ชนชั้นนำไทยถือเป็นกลุ่มที่เลือกรับหรือผู้รักษาประตู(Gatekeeper) นำวิทยาการต่างๆ เข้ามาโดยที่สิ่งที่แรกรับเข้ามาต้องไม่ส่งผลกระทบกับกรอบคิดเดิม คือ พุทธศาสนาถือเป็นเสาหลัก (3) วิทยาการแบบใหม่ต้องถูกตีความให้กลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในลักษณะที่วิทยาการดังกล่าวเป็นเรื่องของทางโลก แต่คำสอนทางศาสนาเป็นเรื่องทางธรรม ดังเช่นในงานของทวีศักดิ์(2541)ได้กล่าวถึงชนชั้นนำได้เลือกรับวิทยาการตะวันตกอย่างเช่น การทหาร การสาธารณะสุข การขนส่ง เนื่องจากวิทยาการดังกล่าวไม่ได้กระทบกับกรอบคิดของสังคมสยามโดยชนชั้นนำสยามได้แยกแยะระหว่างความรู้ทางโลกและความรู้ทางธรรมที่ผูกพันกับพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น ด้วยวิธีคิดดังกล่าวจึงทำให้ความรู้แบบตะวันตกกลายเป็นเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของสยาม

กลุ่มบุคคลคนที่มีบทบาทสำคัญกับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา คือ ขุนนางเก่าที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ กระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครองกลุ่มขุนนางส่วนหนึ่งได้กลายมาเป็นข้าราชการในระบบการปกครองใหม่และท้ายที่สุดกลุ่มคนดังกล่าวได้กลับมาสนับสนุนสถาบันกษัตริย์อีกครั้งผ่านโครงการพระราชดำริต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์กล่าวคือ ระยะเริ่มต้นก่อตั้งวิชาเกษตรให้เป็นระบบโรงเรียนเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านทรงมีพระราชวินิจฉัยให้อุดหนุนการทำไหมและในภายหลังกลุ่มขุนนางเพิ่มวิชาการเพาะปลูกพืชเข้าในหลักสูตร หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2449 ได้เปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนช่างไหมเป็นโรงเรียนวิชาการเพาะปลูก กระทั่งในเวลาต่อมารัชกาลที่ 6 ส่งขุนนางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศเพื่อสร้างความทันสมัยในการผลิตพืชผลทางการเกษตร 

กลุ่มคณาจารย์ที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศและมีบทบาทสำคัญกับวงการเกษตรศาสตร์ต่อมา คือ พระช่วงเกษตรศิลปการ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจและหลวงอิงคศรีกสิการหรือที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการขนานนามทั้งสามท่านว่า “สามเสือเกษตร” ท่านทั้งสามมีบทบาทสำคัญในการขยายโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมไปทุกภูมิภาคและร่วมงานกับหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ก่อตั้งหนังสือพิมพ์กสิกรหนังสือพิมพ์การเกษตรสมัยใหม่ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัชกาลที่ 7 (4) โดยทั้งสามท่านมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในเวลาต่อมา 

วิทยาศาสตร์กลายเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ 

ความเป็นวิทยาศาสตร์ต้องต่อรองกับความคิดทางศาสนา ดั่งจะเห็นได้จากนักวิทยาศาสตร์ไทยเองกลับให้ความสำคัญกับศาสนาในฐานะความรู้ที่อยู่เหนือกว่าวิทยาศาสตร์ เช่น ศ.ดร.ระวี ภาวิไล(5)ราชบัณฑิตสาขาดาราศาสตร์ ที่กล่าวถึง พุทธศาสตร์เข้าถึงความจริงได้มากกว่าวิทยาศาสตร์ และเสน่ห์ จามริก ที่มองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเหมือนวัฒนธรรมอาณานิคมอีกแบบหนึ่งของต่างชาติที่เข้ามาตักตวงผลประโยชน์ของชาติ สิ่งที่เหมาะสมที่สุดในทัศนะของเสน่ห์ คือให้ความสำคัญกับ “วิทยาศาสตร์เชิงพุทธ” หมายถึงการนำพุทธศาสนาเข้ามาเป็นจุดเริ่มต้นของความรู้ที่เชื่อมโยง ความเป็นมนุษย์และชีวิตซึ่งแตกต่างจากทฤษฎีความรู้ภายใต้อารยธรรมตะวันตกสมัยใหม่หรือวิทยาศาสตร์ได้ปฏิเสธคุณค่านี้ (6)

วิทยาศาสตร์ถูกปรับให้เข้ากับบริบทของสังคมไทยโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ไทย กล่าวคือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ห่างไกลและนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ไปแก้ไขปัญหาให้พสกนิกร โครงการของสถาบันกษัตริย์เน้นในเรื่องดิน(แกล้งดิน) น้ำ(ฝนหลวง) ชลประทาน(แก้มลิง) ข้าว(พันธุ์) ส่วนหนึ่งภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์มีความซ้อนทับระหว่างความเป็นกษัตริย์ตามคติความเชื่อแบบโลกตะวันออก คือ พระโพธิสัตว์ แนวคิดเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานมีความหมายคล้ายคลึงกัน คือ บุคคลผู้ที่มีความมุ่งมั่นบำเพ็ญบารมีช่วยเหลือประชาชนเพื่อกลายเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต และคติแบบโลกตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับความรู้และผู้ชำนาญการด้านวิทยาศาสตร์ในฐานะความหวังใหม่เพื่อสร้างการพัฒนาให้กับประเทศ 

นักวิทยาศาสตร์ของไทยได้สร้างภาพลักษณ์และอัตชีวประวัติให้กับสถาบันกษัตริย์ผ่านกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่เคยทำงานร่วมกับพระมหากษัตริย์ของไทย อัตชีวประวัติของกษัตริย์ไทยมีความซ้อนทับระหว่างการเล่าเรื่องแบบมหาวีรบุรุษและอัจริยภาพทางวิทยาศาสตร์ ลักษณะการเขียนอัตชีวประวัติของสถาบันกษัตริย์มีความเป็นตำนานของมหาวีรบุรุษที่ให้ความสำคัญแก่ชนชั้นนำในฐานะที่กำหนดความเป็นไปของสังคมโดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ กษัตริย์แสดงถึงอัจริยภาพตั้งแต่วัยเยาว์จนกระทั่งเริ่มต้นโครงการพระราชดำริ ลักษณะการนำเสนอภาพลักษณ์ดังกล่าววางอยู่บนพื้นฐานของหลักธรรมตามพระราชปณิธานและปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ 

ตัวอย่างการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการสร้างภาพลักษณ์ให้กับสถาบันกษัตริย์ เช่น งานในด้านน้ำในปี พ.ศ. 2499 ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ และ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล สนองพระราชดำริ คิดค้นวิธีการทำฝนเทียม คณาจารย์ทั้งสามท่าน เริ่มต้นศึกษาและนำวิธีการทำฝนในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอิสราเอล มาประยุกต์ใช้กับสภาพอากาศของเมืองไทย ภายใต้การพระราชทานข้อแนะนำจากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เรื่องราวผ่านสื่อกระแสหลักได้กล่าวการทำฝนเทียมครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสาธิตการทำฝนหลวงให้คณะทูต คณะผู้บริหารและนักวิทยาศาสตร์จากประเทศสิงคโปร์ได้ชมที่เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยใช้สนามบินบ่อฝ้ายอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นฐานปฏิบัติการ การสาธิตครั้งนั้นใช้เวลารวมทั้งหมด 5 ชั่วโมง ฝนจึงตกลงมาอย่างแม่นยำในบริเวณอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ภาพ “ตำราฝนหลวง” ด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อแสดงขั้นตอนและกรรมวิธีการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนจากเมฆอุ่นและเมฆเย็น พระราชทานแก่นักวิชาการฝนหลวงเพื่อถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2542

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงปรับเปลี่ยนประเพณีโบราณในส่วนของพระราชตำหนักส่วนพระองค์อย่างเช่น พระตำหนักจิตรลดารโหฐานที่ถูกสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ตั้งชื่อพระตำหนักตามชื่อสวนแห่งหนึ่งของพระอินทร์ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่เป็นดั่งตัวแทนที่พำนักสมมติเทพให้กลายเป็นสถานีทดลองโครงการส่วนพระองค์ด้านการเกษตร และทรงเปลี่ยนพระตำหนักตามหัวเมืองต่างๆ ที่แสดงถึงขอบขัณฑสีมาของพระราชอำนาจ ให้กลายเป็นสถานีวิจัย ศูนย์ศึกษา เช่นที่ทรงพระราชดำรัสว่า “แล้วก็เลยถามผู้ที่ให้ที่นั้นนะ ถ้าหากไม่สร้างพระตำหนักแต่ว่าสร้างเป็นสถานที่ที่จะศึกษาเกี่ยวกับการเกษตรจะเอาไหม เขาก็บอกยินดี ก็เลยเริ่มทำในที่นั้น” (7) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2526 ความตอนหนึ่งว่า “ เป็นสาธิตการพัฒนาเบ็ดเสร็จ หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกด้านของชีวิตประชาชนที่จะเลี้ยงชีพในท้องถิ่นที่จะทำอย่างไร และได้เห็นวิทยาการแผนใหม่สามารถที่จะหาดูวิธีจะทำมาหากินให้มีประสิทธิภาพ ด้านหนึ่งก็เป็นจุดประสงค์ของศูนย์เป็นสถานที่สำหรับค้นคว้าวิจัยในท้องที่เพราะว่าแต่ละท้องที่มีสภาพฟ้า อากาศและประชาชนในท้องที่ต่างๆ กันก็มีลักษณะแตกต่างกันมากเหมือนกัน กรมกองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนทุกด้านได้แลกเปลี่ยน” (8)

เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์สายเกษตร 

จากรายงานวิจัยโครงการการศึกษาเชิงวิพากษ์: สถานภาพและทิศทางของการศึกษาเกษตรในประเทศไทย ผู้วิจัยได้กล่าวถึงรัชกาลที่ 9 ทรงมีส่วนในการวางรากฐานที่สำคัญในการศึกษาด้านการเกษตร กล่าวคือในปี พ.ศ.2502 มูลนิธิอานันทมหิดลขยายการให้ทุนออกไปในสาขาวิชาต่างๆ ในส่วนของสาขาเกษตร มี ศาสตราจารย์อินทรี จันทรสถิตย์ เป็นประธานคัดเลือกทุนแผนกเกษตรศาสตร์ มูลนิธิอานันทมหิดลได้สร้างคณาจารย์และบุคลากรทางด้านการเกษตรตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปี พ.ศ.2546 จำนวนทั้ง 56 คน คิดเป็นร้อยละ 22.31 ของผู้ได้รับทุนทั้งหมด และผู้สำเร็จการศึกษาเกือบทั้งหมดสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก(9) 

เวลาต่อมากลุ่มวิทยาศาสตร์สายเกษตรร่วมกันจัดตั้งสมาคมวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2512 โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์การเกษตรที่กลับจากต่างประเทศ เช่น ศ.ปวิณ ปุณศรี ดร.สันทัด โรจนสุนทร เป็นหัวเรือใหญ่ที่ได้รับความช่วยเหลือจากศาสตราจารย์อินทรี จันทรสถิตย์ (10) และ คณาจารย์กลุ่มดังกล่าวได้กลายเป็นนักวิจัยหลักของโครงการหลวงในเวลาต่อมา

กระทั่งในโอกาสเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษกแห่งรัชกาล เมื่อ พ.ศ. 2539 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนกก็ออกจำหน่ายและได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อโดยกลุ่มเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ ได้เปรียบเทียบพระมหาชนกในฉบับพระราชนิพนธ์เป็นในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงบำเพ็ญบารมี ช่วยเหลือพสกนิกรด้วยความเพียร เหมือนเช่นพระมหาชนก ฉบับพระราชนิพนธ์ที่พระองค์ทรงอยู่ช่วยเหลือพสกนิกรจนบ้านเมืองสงบสุขแล้วจึงออกผนวชและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ในหลวงรัชกาลที่ 9 สนับสนุนนักวิทยาศาสตร์สายเกษตรเปรียบเสมือนกับพระมหาชนกที่ทรงชุบเลี้ยงพราหมณ์ไว้เพื่อนำมาช่วยเหลือบ้านเมืองในยามเกิดวิกฤต เช่น การฟื้นฟูต้นมะม่วง พระมหาชนกมีบัณฑิต 2 คน คือ จารุเตโชพราหมณ์และคเชนทรสิงบัณฑิต คนแรกชำนาญการปลูก คนหลังชำนาญการถอน แต่บัณฑิตทั้งสองคนใช้ความรู้ที่ทางไม่ถูกต้อง เพราะพวกเขาไม่สามารถใช้ความรู้เพื่อทำนุบำรุงและขยายพันธุ์ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งคเชนสิงหบัณฑิตเป็นผู้นำ “ยันตรกลเก็บเกี่ยว” มาใช้เก็บมะม่วงเพื่อถวายให้พระอุปราช คือ ฑีฆาวุราชกุมาร ทำให้ต้นมะม่วงโค่นลงด้วยความเขลา ดังนั้นพระมหาชนกต้องคิดวิธีแก้ปัญหาโดยให้นักปราชญ์กลุ่มดังกล่าวเป็นผู้ช่วยในการดำเนินการเหมือนดั่งเช่นในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นผู้ชี้แนะเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมโครงการเพื่อนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ไปใช้ทำนุบำรุงประเทศชาติ

ดังนั้นชนชั้นนำเป็นผู้แลกรับและคัดสรรความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาในสังคม พวกเขาเลือกรับความรู้ที่ไม่กระทบกับระบบความเชื่อเดิมที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 9 ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มีลักษณะเฉพาะที่สำคัญ คือ ความรู้ดังกล่าวถูกพิจารณาจากนักวิทยาศาสตร์ที่ช่วยเหลืองานสถาบันกษัตริย์ว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบำเพ็ญบารมีเพื่อช่วยเหลือพสกนิกรและ ผู้ที่คู่ควรกับเครื่องมือดังกล่าวต้องเปี่ยมไปด้วยบุญญาบารมีและศีลธรรมตามคติความเชื่อของศาสนา

 

อ้างอิง
(1) Tambiah, Stanley. (1976). World Conqueror and World Renouncer: A Study of Buddhism and Polity in Thailand against a Historical Background. Cambridge: Cambridge University Press. p.96
(2) Reynolds, C. J. (2006). Seditious histories: contesting Thai and Southeast Asian pasts. Seattle: University of Washington Press. pp.205-206
(3) ทวีศักดิ์ เผือกสม. (2541). การทำตะวันตกให้เป็นตะวันออกของสยาม: การตอบโต้รับมือกับวาท กรรมความเป็นอื่น ของมิชชั่นนารีตะวันตกโดยปัญญาชนสยามในช่วงต้นศตวรรษที่ 19.รัฐศาสตร์สาร,21(3), 70-150.
(4) อินทรี จันทรสถิตย์. (2533). ชีวิตและงานศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ (หลวงอิงคศรีกสิการ). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.น.1-17
(5) พระเทพเวที(ประยุทธ์ ปยตโต). (2535). พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพุทธธรรม.น.1-2
(6) เสน่ห์ จามริก. (2532). การแสดงปาฐกถาพิเศษ "ป๋วย อึ๊งภากรณ์" ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์., น.39-47)
(7) ชัชชัย ภูวิชยสัมฤทธิ์. (2555). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: 84 พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.น.35-37
(8) มูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. (2543). วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย: จากอดีตสู่อนาคต.กรุงเทพฯ: ฝ่ายนิเทศสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ.น.39-42
(9) ผ่องพรรณ ตรัยมงคลกูล, ประสงค์ ตันพิชัย. (2547). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการการศึกษาเชิงวิพากษ์: สถานภาพและทิศทางของการศึกษาเกษตรในประเทศไทย. กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. น.127
(10) คณะกรรมการจัดทำหนังสือ 72 ปี ดร.สันทัด โรจนสุนทร. (2547). ครบ 6 รอบนักษัตร ดร.สันทัด  
โรจนสุนทร.กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดทำหนังสือ 72 ปี ดร.สันทัด โรจนสุนทร ,น.137
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท