Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ข่าวที่ออกมาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ มันเหมือนแผ่นดินไหว ที่สั่นสะเทือนมากๆ ระดับเขย่าเอมไพร์ได้ทีเดียว ความเห็นที่แสดงออกมาภายในวันเดียวนั้น จึงเป็นความเห็นที่ไม่ได้ผ่านการเสพสื่อ หรือการถูกชี้นำใดๆ เป็นความเห็นที่ออกมาจากพื้นฐานการคิดและการมองการเมืองของแต่ละคน รวมทั้งรสนิยมความชอบความไม่ชอบปนมาด้วย ไม่เว้นปัญญาชนหรือไม่ปัญญาชน 

ขอเว้นไม่พูดถึงฝ่ายอนุรักษ์นิยมจัดๆ หรือคนที่ไม่รู้เรื่องการเมือง เพราะพวกเขารอคอยแต่อำนาจนอกระบบมาจัดการการเมืองให้เป็นไปตามที่เขาต้องการ โดยไม่ได้คำนึงถึงอนาคตของประชาธิปไตยใดๆ

ขอพูดเฉพาะปีกประชาธิปไตย ในทวิตเตอร์และในเฟซบุ๊คจะเห็นชัดเจนว่า “แตก” เป็นสองขั้วแบบชัดมาก

ข้อแรก ข้อแตกต่างอันหนึ่งของคนศึกษาการเมือง เป็นเรื่อง การยึด "หลักการประชาธิปไตย" กับยึด “สถาบันทางการเมือง” 
พวกแรก เราใช้กันว่า “ยึดหลักการประชาธิปไตย” เกรงว่าจะสับสนกับคำว่ากติกาที่กำหนดไว้ (ทำให้เถียงกันไปว่าอะไรคือหลักการ) จริงๆควรใช้คำว่าคุณค่าประชาธิปไตย (democratic values) คุณค่าประการสำคัญ คือการยึดถือประชาชนเป็นสำคัญ ยึดถือความคาดหวังของประชาชนส่วนใหญ่ (ไม่ชอบการดีลหลังฉาก) ยึดถือหลักการที่ว่าผู้นำต้องมาจากการเลือกตั้ง (ไม่เอานายกคนนอก) ไม่ว่าการเมืองจะเป็นอย่างไรคนเหล่านี้จะเห็นว่านักการเมืองและพรรคการเมืองที่ดีคือการยืนหยัดคุณค่าประชาธิปไตยอันนี้ เพราะเป็นสิ่งหายาก และถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในบ้านเมืองของเรา สิ่งที่พวกเขาต้องการเห็นจาก political leadership คือการยืนหยัดในคุณค่าประชาธิปไตย การประกาศสู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง (ชื่อธนาธร อาจจะลอยมาในใจของคนหลายคน) คนพวกนี้ผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่ากับบ้านเมืองที่ขยี้คุณค่าเหล่านี้ลงไปทุกวันๆ เมื่อข่าวแคนดิเดทพรรคไทยรักษาชาติออกมา ก็คือขัดกันอย่างแรงกับคุณค่าประชาธิปไตย ทั้งเรื่องของนายกนอกสภา เรื่องการไม่ฟังเสียงประชาชน เรื่องการดีลทางการเมือง หมดสิ้นหวัง มืดมิด

กลุ่มนี้จะขัดกันอย่างแรงสุดโต่งกับพวกที่สอง คือมองการเมืองผ่าน “สถาบันทางการเมือง” (political institutions) คือมองว่าประชาธิปไตยจะจรรโลงไว้ได้ ไม่ใช่เรื่อง value เป็นหลัก แม้ว่าคุณค่าประชาธิปไตยจะสำคัญ แต่ประชาธิปไตยมันถูกจรรโลงโดยสถาบันทางการเมือง ได้แก่รัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง นักการเมือง การเลือกตั้ง รวมทั้งกฎกติกาต่างๆในสถาบันทางการเมือง และกติกาที่ระบุความสัมพันธ์ของสถาบันทางการเมืองเหล่านี้ คนที่มองการเมืองแบบนี้จะเชื่อมั่นพรรคการเมือง การเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญและกฎกติกา และคิดว่าต้องรักษาไว้มากที่สุด เมื่อมันถูกทำลายไปทีละอย่าง เริ่มจากฉีกรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่แปลกประหลาด สร้างระบบเลือกตั้งที่ขัดกับคุณค่าประชาธิปไตย พ่วงท้ายที่การให้มีนายกมาจากนอกสภาเข้าไปอีก เป็นกลไกที่พิลึกพิลั่น คนกลุ่มนี้ก็ผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่าไม่แพ้กัน เพราะสถาบันทางการเมืองถูกขยี้ไปทุกวัน พวกเขาเฝ้าติดตามมาตลอดว่าอะไรคือรอยแยกรอยปริในเชิง “สถาบันทางการเมือง” ที่จะใช้เป็นกลไกในการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยได้บ้าง เมื่อมีการเลือกตั้ง กลไกการคัดเลือกผู้สมัคร การอภิปรายหาเสียง การลงคะแนนเสียง และปฏิบัติการทางการเมืองของพรรคการเมือง คือรอยต่อที่สามารถจะหาช่องทางในการแทรกการพัฒนาประชาธิปไตยของสถาบันทางการเมืองเข้ามาได้ แม้ว่ามันไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ต้องหาช่องทางในกติกาที่มีอยู่แทรกเข้ามาให้ได้ และแอบลุ้นอยู่ลึกๆว่าถ้าได้เสียงข้างมากแล้ว รัฐธรรมนูญมันต้องแก้ (ไม่แก้จะเดินหน้าอย่างไร) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีต้องล่ม (ไม่ล่มจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร) พรรคการเมืองต้องมีความต่อเนื่องมีความเป็นสถาบัน (จึงมีแนวโน้มที่จะมองพรรคใหญ่ๆ) ไม่เช่นนั้นก็ไปต่อไปได้เช่นกัน การประกาศแคนดิเดตนายกของพรรคไทยรักษาชาติ จึงเป็นเรื่องตื่นเต้น ที่พรรคๆหนึ่งสามารถใช้กติกาที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองได้ (ไม่ได้ละเมิดกติกาที่ร่างไว้เลย) มันคือการหาช่องทางสถาบันทางการเมืองที่เหนือการคาดหมาย คนธรรมดานึกไม่ถึง จังหวะก้าวครั้งนี้สะเทือนสถาบันทางการเมืองทุกสถาบันที่เกี่ยวข้อง เมื่อมันถูกเขย่ามันจึงมีรอยแยก รอยปริที่จะแทรกเข้าไปก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ แม้ว่าจังหวะก้าวนี้จะไม่สอดคล้องกับคุณค่าประชาธิปไตยก็ตาม ก็ถือเป็นเรื่องดีน่าตื่นเต้นกว่าเดิม

กรณีนี้ อาจจะเปรียบได้กับมีการร่างกติกาให้ดูเป็นการแข่งขัน “ฟุตบอล” โดยเขียนกติกาว่าใช้มือปัดได้ กรรมการช่วยบางทีมได้ มีผู้เล่นหลายทีมลงแข่ง บางทีมก็ยึดถือคุณค่าของฟุตบอลที่แท้จริง คือยังคงยืนหยัดเล่นฟุตบอลด้วยเท้าอย่างเดียว และสู้ด้วยใจเพื่อชัยชนะ (ปรบมือให้) กับทีมอื่นๆที่ใช้มือปัดด้วย ใช้กรรมการช่วยด้วย โดยบอกว่าก็กติกามันว่าอย่างนั้น ลงมาเล่นแล้วก็ต้องเล่นตามกติกาใหม่ให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าชนะแล้วจะไปเปลี่ยนกติกากลับมาเหมือนเดิม (ปรบมือให้อีก) แน่นอนว่าเสียงที่เชียร์เกมส์ฟุตบอลรูปแบบนี้ จึงไม่ใช่เป็นเสียงเชียร์ให้กำลังใจทีมตัวเองเท่านั้น แต่มันเต็มไปด้วยการโห่ร้องเยาะเย้ยถากถาง เพราะมันมีอะไรผิดคาด ผิดธรรมเนียม ผิดคุณค่าของฟุตบอลเกิดขึ้นมากมาย สิ่งที่เกิดขึ้นคือกองเชียร์ทีมเดียวกันก็มาแตกกันในสนามกีฬาระหว่างการเล่นนัดสำคัญๆเลยทีเดียว

ข้อสอง คือพวกที่มองการเมืองเป็นเรื่องตัวบุคคลล้วนๆ แม้ว่าจะเป็นปีกประชาธิปไตย แต่ก็มีพลังของความรักความเกลียดในทางการเมือง ด้วยมีความนิยมในตัวนักการเมืองบางคน เกลียดนักการเมืองบางคน รักเจ้า เกลียดเจ้า (บางคน) คนพวกนี้ก็คือเมื่อตื่นขึ้นมารู้ข่าว ก็จะไปตามที่ตัวเองรักตัวเองเกลียด ถ้าเกลียดประยุทธมากกว่าทักษิณก็สะใจเลย หรือพวกที่ชื่นชอบทูลกระหม่อมฯก็มีไม่น้อย (คลิปร้องเพลงพร้อมเต้นโอนิกิริมียอดวิว 5 ล้านกว่านะ ทำเป็นเล่นไป) พวกที่เกลียดนักการเมืองทั้งหมดพอๆกับประยุทธ ไม่ไว้ใจใครเลย พอเห็นข่าวก็โกรธว่าเล่นการเมืองแบบโหนเจ้า (โดยมองว่าเจ้าคือพวกเดียวกันหมด) และพอข่าวรอบดึกมา ทีนี้ก็เยาะเย้ยกันไปมา เพราะเป็นไปตามที่เราขอบไม่ชอบ 

จริงๆแล้วเรื่องตัวบุคคลก็สำคัญและเป็นส่วนหนุนการคิดการตัดสินใจในทางการเมืองตลอดเวลา ปฏิเสธไม่ได้ เราจึงต้องจับตาก้าวย่างของนักการเมืองทุกคนว่าใครพูดอะไรถูกใจแค่ไหน แต่หลายปีที่ผ่านมาไม่มีใครสถิตอยู่ในใจใครได้ตลอดกาล คนเคยรักนับถือก็ไปพูดอีกอย่างนึงซะแล้ว การติดตามการเมืองจึงเป็นเรื่องคอยดูว่าจะรักใครหรือด่าใครดี โดยเฉพาะโลกโซเชียลมีเดียมันนำพาให้คนอยู่ในอารมณ์นี้กันอย่างต่อเนื่อง การโจมตีความชอบไม่ชอบส่วนตัวจึงออกมารุนแรงเป็นธรรมดา

สุดท้าย ณ นาทีนี้ เชื่อว่ายังไม่มีใครคาดเดาได้ว่าก้าวต่อไปคืออะไร เกมส์จะพลิกอย่างไร เชื่อว่าตัวผู้เล่นเอง (ต่อให้วงในของวงใน)ก็คงคาดเดาไม่ได้เช่นเดียวกัน ความคาดเดานี้ก็อาจจะทำให้เราทะเลาะกันต่อไป เพราะในความคาดเดาย่อมมีความคาดหวังต่ออนาคตการเมืองไทย ในมุมมองต่อการเมืองที่เรามีและยึดถืออยู่
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net